-
ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในเป้าหมายขององค์กร และมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับพนักงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะใส่ใจลูกค้า และสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีมากขึ้น
-
ทุกคนสามารถนำเสนอถึงปัญหาและความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ ต้องมีการสื่อสารทั้งแบบบนลงล่างและล่างขึ้นบน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ จากผู้บริหารสู่พนักงาน ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง หรือให้พนักงานมีส่วนร่วมในเรื่องของนโยบาย การทำงาน หรือการแก้ปัญหาต่าง ๆ บ้าง รวมถึงมีการประเมินผลอยู่เป็นประจำ ทั้งการประเมินการทำงานของพนักงานหรือแผนก และการประเมินการฝึกอบรมต่าง ๆ
-
จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม ทรัพยากรบุคคลต้องเพียงพอและตรงกับความต้องการ ในขณะที่อุปกรณ์การทำงานควรจะทันสมัย และควรให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีด้วย เพราะเมื่อพนักงานทำงานได้สะดวกมากขึ้น อุปสรรคที่จะขัดขวางการสร้างสรรค์ผลงานของพนักงานก็จะลดลง
|
|
หลายครั้งการเปิดรับคำแนะนำ ไอเดียที่สร้างสรรค์ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คนทำงานรุ่นใหม่แนะนำ มันช่วยสร้างผลลัพธ์ทางบวกให้กับองค์กรได้จริง เพราะการที่องค์กรบางที่โตอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่นาน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็มาจากการที่พวกเขารู้จักที่จะทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และคิดล้ำหน้ากว่าคนอื่น จนทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า คำถามคือองค์กรเหล่านั้นทำได้อย่างไร วันนี้ JobThai จึงได้รวบรวม 3 เคล็ดลับเพื่อการสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมาให้ได้นำไปปรับใช้กับองค์กรตัวเองกัน
1. ให้อำนาจการตัดสินใจต่อพนักงาน
พนักงานที่จะทำงานออกมาดีได้พวกเขาต้องมีความสุขกับการทำงาน คุณต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีอิสระและสามารถตัดสินใจในงานที่พวกเขารับผิดชอบอยู่โดยตรงได้ เมื่อพวกเขามีอำนาจในขอบข่ายที่พอดีในการบริหารงาน พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะใส่ใจ เห็นใจ และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น สามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยดี และร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในมุมพนักงานกับลูกค้า และพนักงานกับเพื่อนร่วมงาน
องค์กรสามารถพิจารณาการให้อำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมต่อพนักงาน ดังนี้
- เปลี่ยนระบบการร้องเรียนปัญหาจากลูกค้าด้วยระบบการกรอกเอกสารแบบเดิม ๆ เป็นการให้บริการลูกค้าด้วยพนักงานโดยตรงให้มากขึ้น
- ให้รางวัลพิเศษแก่พนักงานที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์
- กระตุ้นให้พนักงานสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับลูกค้า และเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ
- พร้อมรับข้อเสนอแนะและคำวิจารณ์จากพนักงานในประเด็นการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหา
ประโยชน์ที่องค์กรจะได้จากการมอบหมายหน้าที่ให้พนักงาน ได้แก่
- พนักงานมีระดับความรับผิดชอบต่อหน้าที่รายบุคคลที่สูงขึ้น
- พนักงานเกิดความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของการทำงานต่อองค์กรโดยรวมมากขึ้น
- พนักงานมีความมุ่งมั่นในการวางแผนและการแก้ปัญหาเชิงรุก
สรุปแล้วการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมกับเป้าหมายและการแก้ไขปัญหาขององค์กรมากขึ้น รวมไปถึงการให้รางวัลตอบแทนพนักงานอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการลาออกได้ ซึ่งอัตราการลาออกที่ลดลงจะทำให้เห็นว่าพนักงานมีความสามัคคีกันและองค์กรนั้นจะเติบโตได้อย่างมั่นคง
2. มีการสื่อสารกันทุกระดับ
ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทั้งจากระดับบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน เรามาดูกันว่ารูปแบบของการสื่อสารสำหรับการจัดการที่ดีต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้างที่จะทำให้องค์กรได้ประโยชน์
- มีระบบการแบ่งปันข้อมูลทั้งจากผู้บริหารสูงสุดไปสู่พนักงานระดับล่าง หรือระหว่างพนักงานในระดับเดียวกันอยู่ตลอดเวลาและครอบคลุมในทุกประเด็น ทุกอย่างไม่ควรอยู่แค่ในห้องประชุมผู้บริหารสูงสุดเท่านั้น เพราะถ้าพนักงานทุกคนในบริษัทได้เข้ามามีส่วนร่วม พวกเขาจะรู้สึกผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น
- มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและแผนกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการปรับปรุงให้องค์กรดียิ่งขึ้นไปอีก เช่น การทบทวนการตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการกำหนดแผนการปฏิบัติงานที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน
- มีการวิจารณ์ระบบการฝึกอบรมขององค์กร เพราะการรักษามาตรฐานของตัวเองและการแข่งขันกับองค์กรอื่น ได้นั้นต้องอาศัยระบบการประเมินผลที่มีการรับฟังคำวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาจากผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้องค์กรได้ทราบว่าการฝึกอบรมนั้นมีประโยชน์ต่อพนักงานอย่างไร และยังต้องมีการปรับปรุงการฝึกอบรมตรงไหนอีกบ้าง
- มีที่ให้พนักงานทุกคนสามารถนำเสนอปัญหา แนวทางในการเปลี่ยนแปลงการทำงานได้ ในทางตรงกันข้ามองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพจะไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว และนั่นทำให้พนักงานในองค์กรไม่รู้สึกผูกพันธ์กับองค์กรและไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน
3. เพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของพนักงาน
ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานจะเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือทักษะและความใส่ใจในงานที่ทำของพนักงาน และทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการทำงานที่องค์กรจัดหาไว้ให้กับพนักงาน องค์กรที่มีประสิทธิภาพมักจะประเมิน 2 ประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
-
จำนวนคนในแผนกเหมาะสมหรือไม่
บางแผนกมีคนมากเกินไปในขณะที่บางแผนกพนักงานต้องทำงานหนักเพราะมีคนไม่เพียงพอหรือเปล่า องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะประเมินความเหมาะสมในการจัดสรรพนักงานให้ตรงกับทักษะและความสามารถอยู่เป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีใช้คนไม่ตรงกับงาน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมขององค์กรลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
-
สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการทำงานมีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อพนักงานไหม
เทคโนโลยีที่ล้าสมัยจะทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร องค์กรที่มีประสิทธิภาพจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทันสมัย ที่ช่วยให้การทำงานของพนักงานสะดวกสบายขึ้น เมื่อไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางการสร้างสรรค์ผลงานของพนักงาน พวกเขาจะทำงานได้ง่ายขึ้น และส่งผลดีต่อองค์กรของคุณโดยตรง
ประเมินความมีประสิทธิภาพขององค์กรด้วย 3 ปัจจัยพื้นฐาน ดังนี้
- ลูกค้าพึงพอใจในบริการหรือผลิตภัณฑ์ขององค์กรหรือไม่
- พนักงานรู้สึกผูกพันธ์กับองค์กรและมีความกระตือรือร้นในการทำงานหรือไม่
- เทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการทำงานมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่
ถ้าองค์กรของคุณมีปัจจัยครบทั้ง 3 ข้อนี้ องค์กรของคุณคือองค์กรที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 42,947 members |
|
|
|
ที่มา:
hrcsuite.com