-
ไม่มีความรู้ทางการเงิน และไม่รู้จักวางแผนการใช้เงิน จนทำให้บริหารเงินได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
-
ใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งไม่จำเป็นมากเกินไปและไม่ประเมินศักยภาพทางการเงินของตัวเอง จนไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
-
ใช้บัตรเครดิตไม่ถูกวิธี ทำให้การใช้จ่ายมากเกินไปและไม่สามารถจ่ายค่าบัตรได้ตรงตามเวลา
-
ไม่เคยจดบันทึกรายรับรายจ่ายต่าง ๆ จนไม่รู้ว่าแต่ละวันใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง
-
ไม่ยอมศึกษาการลงทุนเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวในขณะที่บางคนก็ประมาทกับการลงทุนมากเกินไป
-
ไม่ทำประกันในเรื่องที่จำเป็น จนทำให้ต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!
|
|
เรื่องเงินเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงานก็ตาม ซึ่งเมื่อมันเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ก็ส่งผลให้เราอาจละเลยและไม่ได้ใส่ใจมันสักเท่าไหร่ ยิ่งกับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนพาร์ทของชีวิต จากวัยเรียนมาสู่วัยทำงานและสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง อะไรที่ไม่สามารถซื้อได้เมื่อตอนที่เรียนอยู่ พอมีเงินเดือน ก็อาจทำให้ในหัวเต็มไปด้วยรายชื่อสิ่งของและกิจกรรมมากมายที่อยากซื้อด้วยเงินตัวเอง จนบางครั้งอาจลืมนึกถึงการออมเงินไป
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอีกหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินได้ในอนาคต ก่อนจะสายเกินไป JobThai จึงได้รวบรวมมาให้แล้วว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้แก้ไขพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง
1. ขาดความรู้ทางการเงิน
การเงินเป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาและวางแผนอยู่ตลอดเวลา การไม่มีความรู้ทางการเงิน จะทำให้เราไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย ไม่สามารถวางแผนทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ ส่งผลให้การบริหารเงินไม่มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งการเป็นหนี้และอาจนำไปสู่การไม่มีเงินสำรองในยามเกษียณ
2. ไม่มีเงินเก็บ
ตั้งแต่เด็กเรามักถูกปลูกฝังอยู่เสมอว่าต้องรู้จักเก็บเงิน รู้จักออมเงิน ซึ่งบางครั้งเราอาจมองว่าไม่สำคัญ เมื่อโตขึ้นเราจะรู้ว่าการไม่มีเงินออมหมายความว่าเราจะไม่มีเงินทุนสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน อย่างกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย หรือกรณีที่ต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน ยิ่งไปกว่านั้น การไม่มีเงินเก็บเหลือในบัญชีเลยในแต่ละเดือน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเงินในปัจจุบันของเราเองแล้ว สิ่งนี้ยังสามารถบ่งบอกได้ว่าชีวิตหลังเกษียณของเราจะเป็นเช่นไร
3. ไม่ประหยัด
“ต้องมี” และ “อยากมี” อาจดูเหมือนคำที่คล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองคำนี้แตกต่างกันอย่างมากเพราะ “ความจำเป็น” และ “ความต้องการ” นั้นไม่เหมือนกันสักนิดเลย การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งที่เราต้องการอยากจะมีแต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนั้น ทำให้เงินของเราไหลออกจากกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว คนที่บริหารเงินเป็นจะรู้ว่าต้องให้น้ำหนักกับสิ่งที่จำเป็นก่อน และถ้ามีเงินเหลือเพียงพอจึงค่อยใช้เงินเพื่อซื้อสิ่งของที่ต้องการเป็นครั้งคราว ซึ่งจะเป็นการฝึกนิสัยการออมเงินไปในตัวด้วย
4. ใช้บัตรเครดิต
“บัตรเครดิต” นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับการยับยั้งชั่งใจของเราเองทั้งนั้น หากใช้ให้เป็นบริหารให้ดี บัตรเครดิตก็จะให้ประโยชน์กับเรามหาศาลทั้งแลกแต้มกับของรางวัลต่าง ๆ แลกแต้มกับตั๋วเครื่องบิน หรือ Cash Back ที่จะคืนเป็นเงินให้เรา และที่สำคัญการใช้บัตรเครดิตจะทำให้เรารู้สึกสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะทำให้การใช้เงินแบบ “รูดก่อนจ่ายทีหลัง” ตามมา โดยอาจทำให้เรามีพฤติกรรมการใช้เงินที่ส่งผลเสียต่อการบริหารเงินโดยรวม ยิ่งหากเราจ่ายค่าบัตรเครดิตไม่ตรงเวลา เราต้องเสียค่าดอกเบี้ยเป็นจำนวนมากไปจนถึงการสูญเสียความน่าเชื่อถือและประวัติทางการเงินในตอนที่เราต้องการ
5. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
บัญชีรายรับรายจ่ายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เรานั้นถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเช่นกัน เพราะการจดบันทึกข้อมูลการใช้เงินจะทำให้เราสามารถประเมินสถานะทางการเงินของตัวเองได้ เราจะรู้ว่าแต่ละวันใช้เงินไปกับอะไรบ้าง สิ่งไหนที่จำเป็นและสิ่งไหนที่ควรประหยัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้ข้อมูลทางการเงินของเราในการวางแผนชีวิตเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างการซื้อบ้าน หรือรถ ได้อีกด้วย และการทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นยังต้องใช้ความมีวินัยและความสม่ำเสมออย่างมาก เพราะในปัจจุบันคนทำงานหลายคนยังเลือกที่จะละเลยกับตัวเลขในบัญชี ขอให้มีเงินให้ได้ใช้ในแต่ละวันก็เพียงพอ นี่คือพฤติกรรมทางการเงินที่คนทำงานควรรีบแก้ไขในทันที
6. ไม่ศึกษาการลงทุน
ในขณะที่คนทำงานบางคนคิดว่าการเล่นหุ้นหรือการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัวจึงไม่สนใจ แต่คนรุ่นใหม่หลายคนกลับชอบการเล่นหุ้น กล้าได้กล้าเสียเกินไปจนอาจไม่ได้ศึกษาความเสี่ยงมากพอ แน่นอนว่าการลงทุนเพื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ดีแต่บางคนเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่ใจร้อน และอยากได้ผลตอบแทนที่รวดเร็วทันใจ ทำให้พวกเขาเลือกลงทุนแต่กับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ตนเองสนใจ โดยไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากเพียงพอซึ่งจริง ๆ แล้วการลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการเล่นหุ้นเท่านั้น การลงทุนที่ว่านี้หมายถึงการทำอะไรก็ตามเพื่อให้เงินที่เรามีเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากรายรับประจำอย่างเงินเดือน ซึ่งอาจหมายรวมถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาล การทำประกันชีวิต การซื้อสลากออมสินพิเศษ หรือการลงทุนกับเพื่อนเพื่อทำธุรกิจขนาดย่อมก็ถือว่าเป็นการลงทุนแล้ว
7. ไม่ทำประกัน
ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันรถยนต์ ประกันเหล่านี้ต่างเป็นการลงทุนกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน การไม่ทำประกันอาจจบลงด้วยการเสียเงินจำนวนมาก เทียบง่าย ๆ กับประกันสินค้าที่ช่วยให้เราประหยัดเงินค่าซ่อมสินค้าเหล่านั้น เช่น หากเราซื้อสินค้าที่มีประกันเมื่อสินค้านั้นเสียหายระหว่างอยู่ในระยะประกัน เราจะไม่ต้องเสียค่าซ่อมสินค้านั้น ซึ่งแน่นอนว่าร้านค้าอาจคิดค่าประกันไปในตัวสินค้าอยู่แล้ว แต่รับรองว่าไม่ได้มากไปกว่าการซ่อมหนึ่งครั้ง ยิ่งกับสินค้าที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วย ดังนั้นก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องชั่งใจดูว่า จะยอมเสียเงินล่วงหน้าเพื่อประกันอนาคต หรือจะเสียเงินจำนวนมากในภายหลังเมื่อเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมา
8. ไม่ประเมินศักยภาพของตัวเอง
เป็นธรรมดาที่คนทำงานหลายคนติดนิสัยใช้เงินตามเพื่อนในกลุ่ม เพราะเพื่อนคือกลุ่มคนที่มีนิสัยหรือความชอบที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์สไตล์ การแต่งตัว หรือการเลือกร้านอาหาร ซึ่งถึงแม้ความชอบจะเหมือนกัน แต่สถานะทางการเงินของทุกคนนั้นไม่เท่ากัน หากเรามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเหมือนเพื่อนที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า เราอาจลงเอยด้วยการใช้จ่ายเงินเกินตัว ไม่มีเงินออม และอาจต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่มีมูลค่าเกินกว่ารายได้ของตัวเองจะรองรับได้
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 42,947 members |
|
|
|