“ช่วงนี้ไม่สบายบ่อยหรอ”
เสียงของ HR ทักขึ้นมาหลังจากที่เมษาวางใบลาพร้อมกับใบรับรองแพทย์ลงในตะกร้าใส่เอกสาร เธอไม่แปลกใจเลยที่ HR ถามคำถามนี้กับเธอ เพราะช่วงสองเดือนที่ผ่านนี่ เธอรู้สึกไม่สบายจนต้องลาป่วยค่อนข้างบ่อย ซึ่งเธอก็คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากที่ช่วงนี้เธอมีงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก จนทำให้เธอไม่ได้ดูแลตัวเองเท่าที่ควรนั่นเอง
แน่นอนว่าทุกคนก็คงอยากที่จะมีสุขภาพที่ดี แต่ด้วยภาระความรับผิดชอบในการทำงานทำให้คนทำงานส่วนใหญ่ไม่มีเวลาใส่ใจสุขภาพและมักจะละเลยการดูแลตัวเองอย่างที่เมษากำลังเป็นอยู่ แต่อาการเจ็บป่วยแม้เพียงเล็กน้อย นานวันเข้าอาจบานปลายกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ยากจะแก้ไข JobThai จึงมีวิธีที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ง่าย ๆ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ทุกวันโดยไม่รบกวนเวลาในการทำงานของคุณ
- ออกกำลังกายตอนเช้าเป็นประจำ และในช่วงระหว่างทำงาน อย่าลืมพักสายตา และยืดเส้นยืดสาย คลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ หรือหาโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง เช่น เดินไปคุยงานกับเพื่อนร่วมงานแทนการใช้โทรศัพท์
- อย่าใส่เสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว หรือใส่รองเท้าที่ทำให้เดินลำบาก และพยายามใส่สัมภาระในกระเป๋าสะพายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
- รับประทานอาหารเช้าให้เป็นนิสัย โดยเน้นอาหารประเภทโปรตีน และพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน เพราะจะทำให้คุณไม่จดจ่อกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า จนอาจทำให้ตามใจปากมากเกินไป
- ฟังเพลงระหว่างเดินทางมาทำงาน เพลงจังหวะช้าจะช่วยให้สมองคุณผ่อนคลาย ในขณะที่เพลงที่มีจังหวะเร็วจะช่วยให้คุณรู้สึกตื่นตัว
- ปิดอุปกรณ์สื่อสารเมื่อถึงเวลาเข้านอน และอย่าวางไว้ใกล้ตัว เพราะอาจจะทำให้คุเผลอหยิบขึ้นมาเล่นจนลืมเวลาเข้านอน
|
|
1. ออกกำลังกายในตอนเช้า
การตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้คุณสดชื่น กระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น หลังจากการออกกำลังกายร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการทำงานของร่างกายซึ่งจะเป็นการควบคุมระดับอัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน และการไหลเวียนของโลหิตให้เป็นปกติ
ยิ่งไปกว่านั้นการออกกำลังกายจะเร่งกระบวนการเผาผลาญพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจยาวนานถึง 24 ชั่วโมงหลังออกกำลังกายเสร็จแล้ว นั่นหมายถึงคุณจะสามารถเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่าปกติตลอดทั้งวัน เพียงแค่คุณลุกตื่นมาออกกำลังกายในตอนเช้า
2. แต่งตัวสบายๆ และลดจำนวนสัมภาระในกระเป๋า
แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ไม่คับหรืออึดอัดจนเกินไป ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกสวมใส่รองเท้าที่สบายเท้าอย่างรองเท้าผ้าใบ เพราะจะทำให้คุณสะดวกที่จะเดินออกกำลังระหว่างการทำงานได้มากกว่าคนที่แต่งตัวหรือสวมรองเท้าที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขยับเขยื้อนร่างกาย เช่น ชุดรัดรูป หรือ รองเท้าส้นสูง ลองนึกตามว่าถ้าคุณใส่รองเท้าที่บีบรัดหรือกัดเท้า คุณก็คงไม่อยากเดินไปไหนมาไหนถ้าไม่จำเป็น
สำหรับกระเป๋าที่เต็มไปด้วยสัมภาระหนัก ๆ จะทำให้เราปวดกล้ามเนื้อ เกิดการกดทับของเส้นประสาท และเกิดอาการปวดไหล่และหลังตามมาถ้าต้องแบกของนาน ๆ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เป็นโรคเรื้อรังเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและระบบประสาทได้ คุณควรเลือกเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นจริง ๆ ใส่กระเป๋า และอย่าลืมว่าแม้ข้าวของจะสำคัญแค่ขนาดไหน แต่ก็คงไม่สำคัญไปกว่าสุขภาพของตัวคุณเอง
3. รับประทานอาหารเช้าโดยเน้นสารอาหารประเภทโปรตีน
อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุดของวัน การเลือกอาหารเช้าที่อุดมไปด้วยโปรตีนจะทำให้คุณอิ่มท้องนานกว่าสารอาหารประเภทอื่น ๆ ทำให้คุณรับประทานอาหารมื้อต่อไปน้อยลง ไม่หิวง่ายและไม่เกิดพฤติกรรมการกินจุกจิกระหว่างมื้อ ซึ่งในท้ายที่สุดจะทำให้คุณได้รับแคลอรีโดยรวมน้อยลงในหนึ่งวัน ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน และโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการตามใจปากลดลง
4. ฟังเพลงระหว่างเดินทางมาทำงาน
การฟังเพลงที่มีจังหวะช้า ๆ เช่น เพลงคลาสสิก หรือเพลงบรรเลง จะช่วยให้สมองของคุณผ่อนคลาย มีสมาธิและมีอารมณ์แจ่มใส ในขณะที่เพลงที่มีจังหวะเร็วจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวและพร้อมที่จะทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นการฟังเพลงซึ่งอาจจะเป็นแนวเพลงที่ตัวคุณเองชื่นชอบ ยังจะช่วยลดความเครียดจากสิ่งรบกวนรอบข้างเมื่อคุณต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากการเดินทางมาทำงานในชั่วโมงเร่งด่วนได้อีกด้วย
5. ยืดเส้นยืดสายอยู่กับที่
ถึงแม้คุณจะนั่งอยู่แต่ที่โต๊ะทำงานไม่ได้ลุกไปไหน คุณก็สามารถบริหารร่างกายเพื่อลดความตึงเครียดจากการนั่งทำงานได้ การยืดเส้นยืดสายคลายกล้ามเนื้อตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มือ คอ ไหล่ หลัง ขา และเท้า เป็นระยะ ๆ ระหว่างการทำงานหรือในช่วงพัก จะช่วยลดอาการปวด อาการเมื่อยชา ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตทำงานเป็นปกติ
6. ลุกขึ้นยืนหรือเดินบ่อย ๆ
พยายามหาโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวัน อาจจะเป็นการลุกไปหยิบแฟ้มเอกสาร เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือการลุกจากที่นั่งไปคุยงานกับเพื่อนต่างแผนกแทนการใช้โทรศัพท์ หรือถ้าคุณมีเวลา และไม่ลำบากจนเกินไป ลองเปลี่ยนจากการนั่งรถ มาเป็นการเดินเท้า ในระยะสั้น ๆ เพื่อออกกำลังกายในระหว่างไปทำงานในตอนเช้า หรือเวลาเดินทางกลับบ้านในเวลาเย็นที่ไม่ต้องเร่งรีบ
7. ไม่รับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน
การรับประทานอาหารกลางวันหรือขนมขบเคี้ยวที่โต๊ะทำงานจะทำให้สมาธิของคุณจะไม่จดจ่ออยู่กับอาหารตรงหน้า และอาจทำให้คุณตามใจปากมากจนเกินไปเพราะมัวแต่สนใจงานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ดูว่าคุณกินขนมหมดไปมากเท่าไรแล้ว หรือการต้องรีบมาทำงานแต่เช้าทำให้คุณต้องหาอาหารตามร้านสะดวกซื้อมานั่งกินที่โต๊ะทำงาน ซึ่งอาหารพวกนั้นแม้จะสะดวก และช่วยประหยัดเวลา แต่มีแนวโน้มที่จะเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หากบริโภคจำพวกแป้ง หรือน้ำตาล อย่างขนมปังหรือน้ำอัดลม บ่อย ๆ อาจทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว
8. ละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง
การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันอาจทำให้กล้ามเนื้อดวงตาเกิดอาการเมื่อยล้า หรือเกิดอาการตาแห้งเพราะดวงตาต้องเพ่งไปที่หน้าจอเป็นเวลานาน นอกจากนี้การฝืนทำงานโดยไม่หยุดพัก อาจทำให้เกิดอาการเบลอ สายตาพร่ามัวและเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานตามมาได้ ลองพักสายตาจากคอมพิวเตอร์และบริหารดวงตา ซึ่งอาจจะเป็นการกระพริบตา การกลอกตาช้า ๆ ไปมาเพื่อป้องกันอาการตาแห้งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา หรือแม้แต่การมองออกไปนอกหน้าต่าง เพื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปก็จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตาและลดความเมื่อยล้าของสายตาลงได้
9. เก็บอุปกรณ์สื่อสารให้ห่างตัวเมื่อถึงเวลานอน
คุณควรปิดมือถือเมื่อได้เวลาเข้านอน การวางอุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไว้ใกล้ตัวคุณจะรบกวนเวลาในการนอนของคุณ คุณอาจจะนอนหลับยากขึ้น หรือนอนดึกกว่าเวลาที่คุณตั้งใจไว้ เพราะมัวแต่เล่น Social Media จนไม่ยอมหลับยอมนอน นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณตื่นสาย หรือตื่นมาแล้วไม่สดชื่น จนส่งผลเสียต่อการทำงานได้ และนานวันเข้าการพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายโดยที่คุณคาดไม่ถึง เช่น ระบบการเผาผลาญและระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี ฮอร์โมนต่าง ๆ ทำงานผิดปกติทำให้อารมณ์แปรปรวน ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอทำให้ป่วยได้ง่าย
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา:
thoughtpursuits.com
allaboutvision.com
thegrindstone.com