รู้สึกซึมเศร้าหลังเที่ยว ไม่ใช่เพราะเงินหมดแต่อาจเป็นอาการ PTD

17/04/23   |   51.4k   |  

 

  • อาการ Post-Travel Depression (PTD) เป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการท่องเที่ยว ยิ่งมีความสุขกับการพักผ่อนมากเท่าไหร่ เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตในกรอบตามปกติอาการก็อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากเท่านั้น

  • ในขณะที่เที่ยวอยู่เราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เวลาที่ต้องกลับมารับผิดชอบหน้าที่เดิม อยู่ในกรอบเดิม ๆ ทำให้เหมือนถูกยึดความเป็นตัวเองกลับไป

  • อาการ PTD นั้นสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน ซึ่งในตอนนี้เราก็หากิจกรรมหรืองานอดิเรกใหม่ ๆ เพื่อทำให้เราสามารถตั้งเป้าหมายใหม่แก่ตัวเองได้ 

 

 

 

หางานง่าย ได้งานที่ใช่ ใช้ JobThai Mobile Application โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

เคยรู้สึกไหมที่บางครั้งเมื่อเรากลับมาจากการท่องเที่ยว จากคอนเสิร์ต หรือกระทั่งงานปาร์ตี้ธรรมดา ๆ เช้าวันต่อมากลับรู้สึกไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกลับไปทำงาน แทนที่การได้ผ่อนคลายจะช่วยให้เราได้เติมพลัง อาการนี้ไม่ได้เป็นเพราะรู้สึกผิดที่กินเยอะไปหรือใช้เงินเก็บไปกับการท่องเที่ยวจนหมด แต่ความจริงแล้วปัญหานี้เกิดจากการที่ “เรามีความสุขมากเกินไป” ต่างหาก จึงทำให้การกลับมาอยู่ที่ความเป็นจริง จุดเดิม ๆ ที่เราต้องตื่นเช้าไปทำงาน เกิดอาการที่มีชื่อว่า Post-Travel Depression (PTD)

 

JobThai ขอเกริ่นก่อนว่า เจ้าอาการ Post-Travel Depression (PTD) นี้ เป็นอาการชั่วคราวอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคจิตเวชแต่อย่างใด งั้นเรามาทำความเข้าใจอาการนี้กันดีกว่า 

 

5 วิธีที่จะทำให้คนทำงาน กลับมามีความสุขกับงานอีกครั้ง

 

อาการ Post-Travel Depression (PTD) คืออะไร

อาการ Post-Travel Depression (PTD) แปลออกมาได้ตรงตัวเลย คือ “ซึมเศร้าหลังการท่องเที่ยว”ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ไปเพียงไม่กี่วันหรือไปเป็นเดือน แม้แต่เพียงการไปเที่ยวปาร์ตี้เล็ก ๆ สักที่ก็อาจเกิดอาการนี้ได้ เป็นภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับการเจอกิจกรรมหรือพบปะผู้คนใหม่ ๆ 

 

แต่ละคนอาจจะมีอาการแตกต่างกันออกไป อาจรู้สึกคิดถึงบรรยากาศในช่วงวันหยุดยาวหรือแค่คิดถึงความรู้สึกของการได้พักผ่อนที่ไม่มีเรื่องหน้าที่การงาน หรือการเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะยิ่งเรามีความสุขกับการพักผ่อนมากเท่าไหร่ เมื่อต้องกลับมาใช้ชีวิตตามปกติก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากเท่านั้น ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ไม่มีความสุข และไม่อยากทำอะไร ซึ่งปกติแล้วอาการนี้อาจเกิดขึ้นกับเราเพียงไม่กี่วันเท่านั้น 

 

เจาะอาการ PTD กับคนทำงาน 

การทำงานในแต่ละวันต้องมีความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย และความตรงต่อเวลา ทำให้คนทำงานอย่างเราต้องใช้ทั้งแรงกาย สมอง และแรงใจเป็นอย่างมาก ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันให้เราได้ การได้ออกเดินทางไปหาประสบการณ์ในสถานที่ที่ไม่เคยไป พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ได้ออกนอก Comfort Zone เดิม ๆ และเอ็นจอยไปกับสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว ไม่ต้องคอยพะวงว่าจะดูไม่ดีหรือวันนี้ยังมีงานที่ค้างอยู่ไหม ก็เลยเหมือนเป็นการที่เราสามารถกลับมาเป็นตัวเราเองได้อย่างเต็มที่ เมื่อต้องกลับมาทำอะไรปกติ กลับมาดำเนินชีวิตในกรอบ หรือรับผิดชอบหน้าที่เดิม ๆ ที่เคยทำค้างไว้ แค่คิดก็เหมือนถูกยึดความเป็นตัวเองกลับไปแล้ว 

 

ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่ไม่ค่อยไปเที่ยวหรือคนทำงานที่เที่ยวบ่อย อาการนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ดี หากเพื่อนร่วมงานใกล้ตัวที่เพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวดูเหี่ยวเฉาลงในเช้าวันถัดมา ก็อย่าเพิ่งสันนิษฐานว่าเขาขี้เกียจล่ะ เพราะเขาอาจเผชิญอาการ Post-Travel Depression อยู่ก็ได้

 

6 วิธีปลุกพลังในตอนเช้าสำหรับคนทำงาน

 

เมื่อเกิดอาการ PTD ควรต้องทำยังไง?

หากตอนนี้เรากำลังมีความรู้สึกว่าเกิดอาการ PTD ขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัวอยู่ แม้อาการนี้จะหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าเราอยากหายเร็วกว่านั้น ลองนำวิธีง่าย ๆ ในการจัดการความรู้สึกซึมเศร้าหลังจากการท่องเที่ยวเหล่านี้ไปทำกันดูสิ

  • ลองตั้งเป้าหมายในชีวิตประจำวันให้เหมือนเวลาเราตั้งเป้าหมายในการท่องเที่ยวดู อย่างการหาร้านอร่อยที่ยังไม่เคยไป หรือหาอาหารต่างชาติใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยลอง ไว้ไปกินหลังเลิกงานกับเพื่อน ๆ

  • หางานอดิเรกใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเราได้ไปโฟกัสกับสิ่งอื่น ๆ แทน อย่างช่วงนี้เราอาจหาต้นไม้มาปลูก เขียนรีวิวการเดินทางในโซเชียลมีเดีย หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ที่เราไม่เคยทำ

  • เริ่มตั้งเป้าหมายสำหรับทริปต่อไป ไม่ว่าจะวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพราะจะทำให้เรารู้สึกว่ากำลังมีความสนุกรออยู่

  • มองหาความสุขรอบตัว ลองเลือกมองชีวิตในวันธรรมดาให้มีความสุขมากขึ้น ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน อย่างการจัดโต๊ะทำงาน จัดห้องนอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น

 

คนทำงานกับการออกไปท่องเที่ยวนั้นเป็นของคู่กันอยู่แล้ว คงไม่มีใครมีความคิดว่า “ไม่อยากเที่ยวอยากทำงานตลอดไป” หรือ “เที่ยวทำให้มีความสุขน้อยลง” เพราะการออกเดินทางแต่ละครั้งเราได้ทั้งประสบการณ์ ข้อคิด เปิดมุมมอง และได้ไอเดียใหม่ ๆ กลับมามากมาย สิ่งที่เราควรทำคือจัดการกับความรู้สึกตัวเองหลังจากกลับมาต่างหาก บางคนอาจทำง่าย บางคนอาจทำยาก แต่หากอาการ Post-Travel Depression (PTD) นี้กินระยะเวลานานเกินไปจนถึง 2-3 สัปดาห์ การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดหรือแปลกอะไร และเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างเร่งด่วน

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 19 สิงหาคม 2020 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

ที่มา: 

manarcoasia.com

https://thereporters.co

happeningbkk.com

tags : jobthai, lifestyle, การท่องเที่ยว, post travel depression, ptd, อาการ ptd, ซึมเศร้าหลังท่องเที่ยว



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม