คณะนิติศาสตร์เป็นอีกคณะที่ได้รับความนิยมเลือกเรียน ซึ่งผู้ที่เรียนจบสามารถเลือกทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายได้ตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐหรือพนักงานเอกชน หากใครกำลังสงสัยว่านิติศาสตร์ต้องเรียนอะไรบ้าง จบไปทำงานอาชีพอะไรได้บ้าง JobThai จะพาไปทำความรู้จักคณะนิติศาสตร์กัน
คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่ศึกษาเรื่องกฎหมายอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน คนที่จบการศึกษาทางด้านนี้จะมีความรอบรู้เรื่องกฎหมาย ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เข้าใจในกฎหมาย และรู้จักใช้กฎหมายอย่างมีเหตุผล ภายใต้คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อรับผิดชอบในการทำงาน และใช้ความรู้ทางกฎหมายที่เรียนมาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรเอกชน
คณะนิติศาสตร์จะไม่มีสาขาแยกเหมือนคณะอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตจะมีวิชาให้นักศึกษาเลือกเรียนได้ตามความสนใจเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น
ผู้เรียนจะได้รับความรู้ทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านการเงิน สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกัน และการยกเลิกสัญญา การจดทะเบียนบริษัท หลักทรัพย์ และภาษีอากร รวมถึงภาพรวมโครงสร้างธุรกิจ ธุรกรรมรูปแบบต่างๆ ในทางธุรกิจ
การศึกษากฎหมายเอกชน (Private Law) ที่ทำหน้าที่คุ้มครองการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ระหว่างบุคคลกับบุคคล ในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ซึ่งก็จะมีทั้งกฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์
การศึกษากฎหมายระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับพลเมือง ซึ่งก็จะมีทั้งกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการกำหนดบทลงโทษ และกระบวนการดำเนินคดีอาญา เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ไปจนถึงกฎหมายปกครองและกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ
กฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน โดยจะแบ่งเป็นแผนกคดีเมือง (International Public Law) กับแผนกคดีบุคคล (International Private Law) รวมไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับทะเล ที่เรามักเห็นได้จากกรณีพิพาทระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยมักจะเปิดให้นักศึกษาเรียนวิชากฎหมายเฉพาะที่มีความเข้มข้นของเนื้อหามากขึ้นเมื่ออยู่ในชั้นปีที่ 3 เป็นต้นไป เมื่อสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต โดยไม่มีการระบุสาขาไว้ในปริญญาบัตร
นอกจากนี้ในการศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาโทขึ้นไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะมีสาขาวิชาเฉพาะทางให้เลือกอีกมากมาย เพื่อความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมได้มากขึ้น เช่น กฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Law and Criminal Justice Administration) กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Law) และ กฎหมายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources and Environmental Law)
คนที่เรียนจบนิติศาสตร์สามารถสมัครเข้าอบรมและสอบไล่ ณ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อให้มีคุณสมบัติในการสอบเป็นผู้พิพากษา สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาในขั้นแรกจะบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ มีตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน ต่อมาจะต้องเข้ารับการฝึกอบรม เรียนรู้กระบวนการทำงาน การร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง และการพิจารณาคดี จนได้รับการเลื่อนขั้นและแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาต่อไป
เงินเดือนเริ่มต้น: ผู้ช่วยผู้พิพากษาได้รับเงินเดือน 25,000 – 26,390 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท/เดือน รวม 35,000 – 36,390 บาท/เดือน
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 18 เมษายน 2568
พนักงานอัยการเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการสั่งฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ซึ่งในระดับแรกสุดจะมีชื่อเรียกตำแหน่งว่า อัยการผู้ช่วย (ข้าราชการอัยการชั้น 1)
เงินเดือนเริ่มต้น: อัยการผู้ช่วยได้รับเงินเดือน 25,000 – 26,390 บาท/เดือน และเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท/เดือน รวม 35,000 – 36,390 บาท/เดือน
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 18เมษายน 2568
นอกจากนี้คนที่จบคณะนิติศาสตร์สามารถทำงานในส่วนราชการอื่น ๆ เช่น ปลัดอำเภอ ตำรวจ ทหาร พนักงานคุมประพฤติ เจ้าพนักงานบังคดี หรือหน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีอย่าง กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนทั่วไปต้องสอบผ่านภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. ก่อนจึงจะสามารถสมัครสอบเฉพาะตำแหน่งได้
ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ฟ้องร้องคดีความ บังคับคดี และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ให้กับภาครัฐหรือเอกชน
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรืออาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานนิติกร ใน JobThai
ทนายความคือผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ว่าความแก้ต่างคู่ความในคดี ซึ่งทนายความแต่ละสายอาจมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป เช่น ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ทนายความด้านภาษีอากร ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์สามารถสมัครเข้าอบรมวิชาว่าความ ณ สภาทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อการสอบขอรับใบอนุญาตเป็นทนายความได้
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 35,000 บาท หรืออาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานทนายความ ใน JobThai
ผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเกี่ยวกับกฎหมายแก่องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนในการปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบข้อบังคับที่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย
เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับเด็กจบใหม่: ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท หรืออาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ทักษะทางภาษา ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ปฏิบัติงาน ขนาดบริษัทและโครงสร้างเงินเดือนขององค์กร
* หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลเงินเดือนจากตำแหน่งงานที่ปรึกษากฎหมาย ใน JobThai
คณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับทั้งกฎหมายพื้นฐานและกฎหมายเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพทางด้านกฎหมายอย่างถูกต้องตามจรรยาบรรณของอาชีพนักกฎหมาย จะเห็นได้ว่าการเรียนนิติศาสตร์เป็นหนทางสู่สายอาชีพที่หลากหลาย นอกจากการเป็นผู้พิพากษา อัยการ และทนายความแล้ว ยังสามารถทำงานในภาคเอกชนในฐานะนิติกรและที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้อีกด้วย เพราะทุกองค์กรธุรกิจล้วนมีส่วนงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายและต้องการผู้ที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในด้านนี้ เพื่อดำเนินกิจการและขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตาม กฎระเบียบและข้อบังคับของกฎหมายในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
ที่มา:
smartmathpro.com, law.tu.ac.th, law.chula.ac.th, upassiononline.com, ilaw.or.th, amarintv.com, ratchakitcha.soc.go.th