10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าที่ทำงานของเราเป็นพิษ (Toxic Workplace)

10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าที่ทำงานของเราเป็นพิษ (Toxic Workplace)
16/11/23   |   30.8k   |  

 

  1. พนักงานลาออกบ่อย

  2. การสื่อสารภายในองค์กรไม่มีประสิทธิภาพ (Poor Communication)

  3. พนักงานชอบซุบซิบนินทากันและกัน

  4. มีการกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bullying) หรือการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)

  5. การเมืองในที่ทำงาน

  6. หัวหน้างานขาดความเป็นผู้นำ

  7. ไม่มีพื้นที่ให้พนักงานทำผิดพลาด

  8. องค์กรมองพนักงานเป็นเครื่องจักร

  9. ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลางานและเวลาส่วนตัว

  10. องค์กรเต็มไปด้วยพนักงานหมดไฟ

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

Toxic Workplace หรือ Toxic Work Environment คือสังคมหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ มีบรรยากาศที่กัดกร่อนจิตใจ ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิต และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งถ้าเราต้องทำงานภายในบรรยากาศเช่นนี้ไปนาน ๆ ก็อาจบั่นทอนจิตใจและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว ทำให้อยู่ในองค์กรอย่างไม่มีความสุขและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพในการทำงานได้

ใครที่สงสัยว่าองค์กรของตัวเองมีแนวโน้มว่าจะเป็น Toxic Workplace หรือเปล่า วันนี้ JobThai มีเช็กลิสต์ 10 สัญญาณอันตรายที่เตือนว่าออฟฟิศของเราอาจเป็นภัยร้ายต่อจิตใจมาฝาก

 

6 สัญญาณที่บอกว่าคุณควรคิดเรื่องหางานใหม่

 

1. พนักงานลาออกบ่อย

แม้การลาออกจะเป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงาน แต่หากเราเข้ามาทำงานแล้วพบว่าองค์กรมี Turnover Rate หรืออัตราการลาออกของพนักงานที่สูงผิดปกติ พนักงานลาออกติดกันถี่ ๆ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน นี่ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าองค์กรนี้มีอะไรบางอย่างที่เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการทำงาน วิธีการสื่อสาร การบริหารจัดการภายในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนั้นถ้าพบว่าพนักงานในองค์กรหลายคนทำงานได้ไม่นานก็ลาออก เราควรสังเกตดูต่อไปว่ามีปัจจัยหรือสาเหตุอะไรที่ทำให้พนักงานลาออกบ่อย เพื่อประเมินว่าออฟฟิศของเราใช่ Toxic Workplace หรือเปล่า

 

2. การสื่อสารภายในองค์กรไม่มีประสิทธิภาพ (Poor Communication)

การสื่อสารคือรากฐานที่สำคัญของการทำงาน ซึ่งถ้าองค์กรไหนมีการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ การทำงานก็ย่อมมีอุปสรรคและอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ดีอย่างที่ตั้งเป้าไว้โดยการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพนั้นก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกันน้อย ไม่พูดคุยกันเมื่อเกิดปัญหา การสื่อสารอะไรไม่ชัดเจน สร้างความสับสนให้กับคนฟัง การสื่อสารกับพนักงานแต่ละคนไม่ตรงกัน ทำให้ได้รับสารคนละแบบ สร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับพนักงาน หรือการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานแบบ Passive-aggressive ไม่ยอมพูดอะไรตรง ๆ ซ่อนความไม่พอใจเอาไว้ภายใน หากเราต้องทำงานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไปนาน ๆ แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการทำงานย่อมลดลง การจัดการกับงานชิ้นหนึ่งใช้เวลานานขึ้น รวมถึงทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดและบั่นทอนจิตใจตลอดการทำงานได้

 

8 วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงาน Passive-Aggressive ดื้อเงียบ ร้ายลึก บอกโอเคแต่ไม่โอเค

 

3. พนักงานชอบซุบซิบนินทากันและกัน

ลองจินตนาการดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่เอาแต่ซุบซิบนินทากันตลอดเวลา พนักงานคอยจับกลุ่มเล่าเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ หรือเรื่องส่วนตัวของพนักงานคนอื่นทุกวี่วัน และวันดีคืนดีเราก็อาจตกเป็นขี้ปากหรือกลายเป็นประเด็นในวงสนทนาของคนเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน การทำงานในองค์กรที่พนักงานมีพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ส่งผลกระทบต่อทีมเวิร์กโดยรวมเพราะขาดความเชื่อใจกันและกัน รวมถึงทำให้เราเสียสุขภาพจิตตลอดการทำงานอย่างแน่นอน

 

4. มีการกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bullying) หรือการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)

นอกจากพฤติกรรมซุบซิบนินทา จ้องจับผิดกันและกันแล้ว การกลั่นแกล้งรังแกกันและการคุกคามทางเพศในออฟฟิศก็ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนสำคัญที่บ่งบอกว่าที่ทำงานของเราคือ Toxic Workplace เพราะถ้าเป็นองค์กรที่มีการจัดการพนักงานที่ดี ย่อมไม่มีทางปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในออฟฟิศแน่ ๆ

หากองค์กรที่เราอยู่หลับหูหลับตาปล่อยให้มีการกลั่นแกล้งกันในออฟฟิศ เช่น รวมหัวกันเมินพนักงานคนใดคนหนึ่งอย่างตั้งใจ พูดจาล้อเลียนเสียดสีพนักงานจนทำให้เกิดความอับอายและรู้สึกแย่จากเพศสภาพหรือรูปร่างหน้าตา เลือกปฏิบัติและประพฤติต่อกันแบบไม่ให้เกียรติอย่างเห็นได้ชัด หรือปล่อยให้มีการคุกคามทางเพศกันระหว่างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางวาจาอย่างการพูดแซวหรือแทะโลม การคุกคามทางสายตาอย่างการจ้องมองเรือนร่างของอีกฝ่ายจนทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือการคุกคามทางร่างกาย เช่น การแตะเนื้อต้องตัวโดยที่อีกฝ่ายไม่เต็มใจหรือยินยอม ก็มั่นใจได้เลยว่าองค์กรของเราไม่ใช่ Safe Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานแน่นอน

 

4 วิธีรับมือเมื่อถูกคนที่ทำงาน Bully

 

Sexual Harassment พฤติกรรมที่ควรแก้ก่อนจะแย่ไปทั้งองค์กร

 

5. การเมืองในที่ทำงาน

ต่อให้มีความมุ่งมั่นกับการทำงานเต็มเปี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าเข้ามาในองค์กรแล้วพบว่าบริษัทมีการแบ่งฝักฝ่าย เล่นพรรคพวก ชิงดีชิงเด่นและใช้อำนาจภายในออฟฟิศในทางที่ผิด เช่น หัวหน้าแผนกนี้ไม่ถูกกับหัวหน้าแผนกนั้น ก็เลยสั่งห้ามลูกน้องในแผนกตัวเองไม่ให้ไปพูดคุยหรือช่วยงานคนต่างแผนก ถ้าไม่ทำตามก็จะถูกเขม่น โดนเพิ่มภาระงานให้อย่างไม่มีเหตุผล หรือโดนหัวหน้าเอาการประเมินผลงานประจำปีมาข่มขู่ต่อรอง ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกเข็ดขยาดและไม่มีความสุขกับการทำงานแน่นอน แทนที่จะช่วยกันยกระดับการทำงานและพัฒนาองค์กร ก็ต้องมานั่งกังวลว่าตัวเองจะโดนใช้เป็นเครื่องมือในเกมการเมืองนี้หรือเปล่า หากเลือกข้างผิด ชีวิตก็อาจดิ่งลงเหวได้ พอจะวางตัวเป็นกลางก็ต้องทนรับแรงกดดันจากฝ่ายอื่น ๆ อีก เรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษต่อจิตใจและสร้างความปวดหัวให้กับพนักงานสุด ๆ

 

6. หัวหน้างานขาดความเป็นผู้นำ

หัวหน้างานที่ดีควรจะเป็นหัวหน้าที่มีความเป็นผู้นำ รับฟังลูกน้อง คอยให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา แต่ถ้าเราพบว่าหัวหน้างานของเราไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้เลย เรียกได้ว่าตรงข้ามทั้งหมด นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังตกอยู่ใน Toxic Workplace เพราะบทบาทของหัวหน้านั้นมีผลกับการทำงานของพนักงานอย่างมาก ถ้าเราต้องทำงานกับหัวหน้าที่ไม่มีเหตุผล เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ไม่รับฟังลูกน้อง ชอบโยนภาระมาให้ เมื่อเกิดปัญหาก็หายหน้าไปเสมอ พึ่งพาอะไรไม่ได้ และไม่เคยช่วยเหลือในเวลาที่ลูกน้องต้องการ ก็อาจทำให้พนักงานรู้สึกแย่ หงุดหงิดและสับสนกับการทำงานที่ไม่มีคนให้คำแนะนำ ต้องรับภาระหนักขึ้น และพากันหมดไฟในการทำงานได้

 

หัวหน้าแบบไหนที่กำลังสร้างความลำบากใจให้ลูกน้องอยู่

 

7. ไม่มีพื้นที่ให้พนักงานทำผิดพลาด

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอในการทำงาน ดังนั้นองค์กรควรมีพื้นที่และโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้เมื่อทำผิด ล้มลง และลุกขึ้นใหม่ ไม่เสียเวลาไปกับการโทษใครและพยายามช่วยกันมองหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้าความผิดพลาดคือสิ่งต้องห้ามสำหรับองค์กรของเรา เวลาพนักงานทำอะไรผิดพลาด แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะโดนตำหนิหรือต่อว่าอย่างรุนแรง และถูกเอาความผิดพลาดนั้นมาพูดตอกย้ำซ้ำ ๆ ให้พนักงานรู้สึกแย่ จมอยู่กับความผิด นี่ย่อมไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานอย่างแน่นอน ยิ่งองค์กรมีวัฒนธรรมที่ชอบต่อว่าและโทษคนทำผิด ก็ยิ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ในการทำงานที่แย่ลง เพราะอาจทำให้พนักงานมีพฤติกรรมชอบกลบเกลื่อนความผิด ซ่อนงานที่ตัวเองทำพลาดเอาไว้ ไม่ยอมบอกใคร หรือโยนความผิดให้กับพนักงานคนอื่นได้

 

8. องค์กรมองพนักงานเป็นเครื่องจักร

ถ้าองค์กรของเราให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าความเป็นอยู่ของพนักงาน ไม่มีความเห็นอกเห็นใจและใช้งานพนักงานเหมือนเครื่องจักร ต่อให้ติดธุระสำคัญหรือมีเหตุจำเป็นยังไง ป่วยหนักหรือสภาพร่างกายย่ำแย่แค่ไหนก็ต้องมาทำงานเพราะบริษัทไม่ยอมให้ลาเด็ดขาด นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าองค์กรไม่ได้แคร์อะไรเราเลย เมื่อองค์กรไม่ใส่ใจและไม่ให้ค่ากับคุณภาพชีวิตของพนักงาน ก็ปักธงแดงเอาไว้เลยว่าองค์กรประเภทนี้เป็น Toxic Workplaceอย่างไม่ต้องสงสัย

 

9. ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลางานและเวลาส่วนตัว

ไม่ว่าใครก็ต้องการเวลาพักผ่อนและช่วงเวลาที่ไม่ต้องคิดถึงงาน แต่ถ้าเรายังถูกตามงานในเวลาที่เลิกงานแล้ว หรือโดนทวงงานแม้กระทั่งในวันหยุด อีกทั้งยังถูกบริษัทคาดหวังให้พร้อมตอบข้อความหรือรับโทรศัพท์นอกเวลาทำการด้วยแล้ว นี่ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าที่ทำงานของเราคือ Toxic Workplace รวมถึงแสดงให้เห็นด้วยว่าองค์กรของเราไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ทำให้พนักงานไม่มี Work-life Balanceขาดสมดุลในการใช้ชีวิต ซึ่งอาจสร้างความรำคาญใจ เหนื่อยล้า และนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome หรือหมดไฟในการทำงานได้ในที่สุด

 

10. องค์กรเต็มไปด้วยพนักงานหมดไฟ

ถ้าองค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี แน่นอนว่าพนักงานก็ย่อมมีความสุขกับการทำงาน นำไปสู่การทำงานที่ Productive และมีชีวิตชีวา แต่หากองค์กรของเราเต็มไปด้วยพนักงานที่ทำงานกันแบบซังกะตาย ไม่ใส่ใจกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำงานแบบขอไปที ขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และไม่มีใครสนใจที่จะพัฒนาทักษะในการทำงานอีกต่อไป ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่าองค์กรของเรามีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการทำงาน ถ้าเราต้องทำงานในบรรยากาศแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าก็อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลง ปิดโอกาสในการเติบโตของตัวเอง และหมดไฟตามคนอื่น ๆ ไป

 

"Brownout" แค่เบื่องานหรือเป็นอาการหมดใจ

 

เวลาที่เราใช้ไปกับการทำงานในแต่ละวันนั้นไม่ใช่ระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าที่ทำงานของเรามีลักษณะเป็น Toxic Workplace นั่นก็แปลว่าเราต้องพบเจอกับความ Toxic ชวนประสาทเสียและรบกวนจิตใจเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง วนเวียนไม่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ดังนั้นเมื่อเราพบว่าออฟฟิศของเราไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยแต่เป็นแหล่งเพาะพิษร้าย เราก็ต้องเซฟใจตัวเองและหาวิธีรับมือหรือแก้ไขความ Toxic นี้ เพราะถ้าเราไม่หาวิธีจัดการตัวเองหรือจัดการกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ผลกระทบก็จะตกอยู่ที่สภาพจิตใจของเราที่อาจพังจนกู้คืนกลับมาไม่ไหวเอาได้

 

รับมือยังไง เมื่อต้องทำงานใน Toxic Workplace

มองหางานใหม่ที่ใช่ ฝากประวัติกับ JobThai ได้ที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

careercontessa.comfastcompany.comthemuse.comcareersherpa.netuk.indeed.comuk.indeed.comadaddictth.comthumbsup.in.thpurewow.com

tags : jobthai, career & tips, toxic workplace, toxic work environment, งาน, คนทำงาน, ปัญหาในการทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, หัวหน้างาน, เคล็ดลับการทำงาน, พนักงานออฟฟิศ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม