5 ผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการติดสมาร์ทโฟน

5 ผลเสียต่อสุขภาพที่เกิดจากการติดสมาร์ทโฟน
19/05/17   |   29.2k   |  

ภาพหญิงสาวที่กำลังนวดต้นคอตัวเอง ในขณะที่มืออีกข้างยังคงถือโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่งของตัวเองอยู่นั้น เป็นภาพที่ใครเห็นก็คงจะพอเดาได้ว่าเธอน่าจะนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือมาเป็นเวลานานพอสมควรจนเกิดอาการเมื่อยล้า

แต่นอกจากอาการเมื่อยล้าเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วการติดสมาร์ทโฟนจนมากเกินไปก็ยังสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งมีอะไรบ้างและจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร JobThai มีคำตอบให้ที่นี่แล้ว

 

 

  • ปวดกล้ามเนื้อคอและกระดูกสันหลังโค้งงอ จากการก้มมองสมาร์ทโฟน หรือจอคอพิวเตอร์เป็นเวลานาน วิธีแก้คือ ให้ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาในระยะห่างประมาณครึ่งช่วงแขน แล้วใช้สายตาเหลือบมองลงมา รวมทั้งปรับท่านั่ง ให้นั่งหลังตรง และปรับระดับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับเดียวกับสายตา
  • ดวงตาแห้งจากการมองจออุปกรณ์นานเกินไปจนทำให้เรากะพริบตาน้อยลงถึง 1 ใน 3 ของอัตราการกะพริบตาปกติ ดังนั้นเวลาจ้องจอนาน ๆ พยายามบังคับตัวเองให้กะพริบตาทุก 2 – 10 วินาที หรือ 15 – 30 ครั้งต่อนาที
  • นอนหลับไม่สนิท เพราะแสงและเสียงจากโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ไปหยุดยั้งการทำงานของเมลาโทนิน ฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ คุณจึงควรปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน
  • เกิดอาการเครียด จากการเสพข่าวสารต่าง ๆ มากจนเกินไป หรือแม้กระทั่งเสียงข้อความหรือแจ้งเตือนอีเมลเข้าที่ทำให้เราต้องคอยพะวงอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้คุณจึงควรที่จะปิดเสียงโทรศัพท์ และอยู่ให้ห่างจากมันบ้างอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง
     

 

1. อาการปวดกล้ามเนื้อคอและหลัง

การก้มมองสมาร์ทโฟนหรือ แท็บเล็ตบ่อย ๆ เพื่อใช้งาน จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและหลังส่วนบนเกิดอาการตึง เกร็ง และทำให้เกิดการเจ็บปวดตามมาได้ การแก้ปัญหาด้วยการยกมือถือขึ้นมาที่ระดับสายตาจะช่วยให้คุณไม่ปวดหลังและคอ แต่จะทำให้คุณปวดเมื่อยแขนของคุณแทน วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการพบกันครึ่งทาง ด้วยการยกมือถือขึ้นมาด้วยระยะห่างประมาณครึ่งช่วงแขนและใช้สายตาเหลือบมองลงมาแทนการก้มคอลงมาแบบแทบจะชิดกับหน้าอกของคุณ  แต่ถ้าเป็นไปได้พยายามใช้งานมือถือของคุณในระยะเวลาสั้น ๆ แต่บ่อยครั้งแทนการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ในคราวเดียว

 

2. ดวงตาแห้ง

ถามตัวเองว่าคุณใช้สายตากับการมองหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีแสงจ้า (ที่คุณไม่รู้ตัว) กี่ชั่วโมงในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ ตัวเลขรวมคร่าว ๆ คงทำให้คุณตกใจ ขณะที่เราเพ่งสายตาเพื่ออ่านอีเมล อ่านข่าว หรือดูคลิปวิดีโอ เราจะกะพริบตาของเราน้อยลงถึง 1 ใน 3 จากอัตราการกะพริบตาปกติ ซึ่งส่งผลให้ตาของเราเกิดอาการเมื่อยล้าและแห้ง ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการติดเชื้อจากการระคายเคืองของดวงตาได้ จำไว้ว่าเมื่อต้องจ้องมองหน้าจอ วิธีการป้องกันไม่ให้ดวงตาของคุณเกิดอาการดังกล่าวคือการพยายามกะพริบตาทุก ๆ 2 - 10 วินาที หรือ 15 - 30 ครั้งต่อนาที อาจจะฟังดูเยอะ แต่เมื่อทำจนเป็นนิสัยแล้ว อาการตาแห้งและการระคายเคืองตาของคุณจะลดน้อยลง

 

3. นอนหลับไม่สนิท

ภาพ (แสง) และเสียงที่เกิดจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ สามารถส่งผลกระทบต่อการนอนหลับพักผ่อนของคุณได้ อุปกรณ์ทุกชนิดที่มีหน้าจอส่องสว่างจะทำให้คุณนอนหลับได้ไม่เต็มที่และทำให้ร่างกายพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ โดยแสงและเสียงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะไปหยุดยั้งการทำงานของเมลาโทนิน (Melatonin) ฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระบบของร่างกายและสมองเกิดอาการแปรปรวนและทำงานผิดปกติ เช่น สมองล้า หรือร่างกายเผาผลาญได้น้อยลง 

สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พวกนั้นก่อนนอนอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และทางที่ดีคุณไม่ควรเก็บอุปกรณ์ไว้ในห้องนอน เพราะคุณอาจจะห้ามใจตัวเองไม่ไหวหยิบมือถือขึ้นมาเล่น และทำให้คุณนอนช้ากว่าที่ควร หรืออาจอดนอนเพราะเผลอเล่นเกมส์ในมือถือจนลืมดูเวลา

 

4. ความเครียด

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีสุดล้ำสมัยจะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอุปกรณ์เหล่านี้ก็ทำให้พวกเราเกิดความเครียดมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น เสียงเตือนข้อความหรืออีเมลเข้าที่ดังแทบทุก ๆ นาที จากบรรดาสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทำให้เราต้องคอยพะวงว่าจะมีใครติดต่อมาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้สมองของเรายังทำงานหนักเกินไปจากการเสพข่าวและข้อมูลจำนวนมหาศาลจากทั่วทุกมุมโลกผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้เราไม่รู้ว่าควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งไหนก่อนดี และสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้สามารถทำให้เราเกิดความเครียดได้ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตามคุณสามารถหยุดยั้งความเครียดจากการใช้เทคโนโลยีมากเกินไปได้ด้วยการไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตของคุณยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าให้ทำอีกเยอะ ปิดเสียงเตือน ปิดเสียงเรียกเข้ามือถือเมื่อคุณต้องการสมาธิ และพยายามใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงอยู่กับเพื่อนหรือครอบครัวโดยไม่แตะต้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ้าง 

 

5. กระดูกสันหลังมีปัญหา

การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้คุณหลังงอ หรือมีพฤติกรรมที่มีท่านั่งหรือยืนที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยไม่รู้ตัว เมื่อเวลาเรานั่งร่างกายของเราจะปรับสภาพให้ใช้พลังงานน้อยลงและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นลดลงเพราะเราไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานจะทำให้เราเผลอทิ้งน้ำหนักไปที่หลังส่วนล่าง เมื่อเราขยับตัวอาจทำให้เกิดอาการกดทับของกล้ามเนื้อหรือการเคลื่อนของกระดูกคอหรือหลังส่วนบนได้ 

หลีกเลี่ยงการโก้งโค้งขณะนั่งที่โต๊ะทำงาน ด้วยการพิงหลังส่วนล่างกับพนักเก้าอี้หรือหมอนรองเก้าอี้  และปรับระดับของหน้าจอให้อยู่ระดับเดียวกับระดับสายตา ถ้าคุณใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต อยู่กับที่โดยไม่ได้ลุกไปไหน ป้องกันการโค้งงอของกระดูกสันหลังของคุณด้วยการวางตั้งอุปกรณ์ของคุณไว้บนโต๊ะ หรือติดตั้งคีบอร์ดเสริมเพื่อให้จอของอุปกรณ์ตั้งฉากกับแนวพื้นโต๊ะ ท่าดังกล่าวจะไม่ทำให้คุณเกิดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งผิดวิธีอีกต่อไป

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา:
tescoliving.com

tags : ไลฟ์สไตล์, สุขภาพ, lifestyle, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม