11 แนวทางรักษาคนเก่งในองค์กรให้อยู่ได้นานโดยไม่ลาออก

23/02/24   |   8.8k   |  

 

สาเหตุที่ทำให้คนเก่งในองค์กรเลือกที่จะลาออก

ทำไมการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรถึงสำคัญ

11 แนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้คนเก่งอยู่กับองค์กรได้นาน

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมคนเก่งในหลายองค์กรมักจะอยู่ได้ไม่นานก็ลาออกไป ทั้งที่การทำงานก็ดูปกติราบรื่นดี ไม่ได้มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการลาออก หลายองค์กรมักจะสูญเสียบุคลากรที่ดีไปโดยไม่รู้สาเหตุ และมักจะไม่ได้รับคำตอบตรง ๆ จากคนที่เลือกจากไป วันนี้เราจะพาไปดูสาเหตุที่ทำให้คนเก่งส่วนใหญ่เลือกแยกทางกับองค์กร รวมไปถึงแนวทางในการรับมือเหตุการณ์นี้ ว่าต้องทำอย่างไรบ้างให้บุคลากรคุณภาพสามารถอยู่ได้ยาวโดยไม่ย้ายงาน 

 

สาเหตุที่ทำให้คนเก่งในองค์กรเลือกที่จะลาออก

ความสุข ความพึงพอใจในการทำงาน เป็นสิ่งที่สังเกตได้ยากจากตัวพนักงานบางคน ทำได้อย่างมากก็เพียงถามไถ่เป็นครั้งคราว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบที่ออกมาจากใจจริง ๆ มากน้อยแค่ไหน แล้วกว่าจะรู้ตัวอีกที ก็เป็นตอนที่พนักงานคนนั้นเข้ามายื่นใบลาออกซะแล้ว เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับองค์กรที่มีคนเก่งเยอะ และสาเหตุที่เกิดขึ้นก็ล้วนแตกต่างกันไป แต่โดยมากมักจะหนีไม่พ้นสาเหตุเหล่านี้ที่เรารวบรวมมาให้  

 

รูปแบบการทำงานไม่ที่ยืดหยุ่น

วิกฤตโรคระบาด คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้รูปแบบการทำงานนั้นยืดหยุ่นมากขึ้น พนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วันเต็มเหมือนในอดีตอีกต่อไป รวมไปถึงเวลาในการเข้างานก็อาจจะไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็น 9 โมงเป๊ะอีกแล้ว สิ่งนี้จึงเป็นเหมือนมาตรฐานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้บริษัทที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น อาจจะทำให้พนักงานภายในองค์กรเกิดความรู้สึกอยากย้ายงานได้เช่นกัน

 

รู้สึกไม่มีความสำคัญในที่ทำงาน

การมีตัวตน หรือได้รับการยอมรับในที่ทำงาน เป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับคนทำงาน หากพนักงานรู้สึกว่าตัวเขาเองไม่ได้มีความสำคัญกับที่แห่งนี้ โอกาสที่เขาจะมองหางานใหม่ก็เป็นไปได้สูง ซึ่งสาเหตุส่วนมากมักจะเกิดจากการไม่ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม ไม่สามารถเสนอไอเดีย ๆ ใหม่ได้ ไม่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ที่รู้สึกว่าสำคัญเท่าที่ควร รวมถึงไม่ได้รับการชื่นชมยินดี หรือการแสดงออกจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเมื่อเขาสามารถทำงานบางอย่างให้สำเร็จได้อย่างดี

 

หัวหน้างานไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

ปัญหาเรื่องคน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเลือกลาออกตามกันได้มากกว่าปัญหาเรื่องงาน โดยเฉพาะในแวดวงการทำงานยุคปัจจุบันที่การแข่งขันนั้นสูงขึ้นกว่าเดิมจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะสู้ดี ทำให้ความเห็นอกเห็นใจของคนทำงานภายในองค์กรอาจจะลดน้อยลง โดยเฉพาะในตำแหน่งหัวหน้างานที่มีเป้าหมายที่ต้องนำพาทีมไปให้ถึง การทำงานหรือมอบหมายงานหลายครั้งจึงไปกดดันลูกทีม โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของภาระงานที่ลูกทีมแบกรับอยู่ หรือไม่ใส่ใจพูดคุยเวลาที่ลูกทีมมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ เลยกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะลาออกแทนการอยู่ต่อ

 

ภาระงานที่หนักเกินหน้าที่

แม้ว่าการทำงานหนักจะทำให้เราได้รับประสบการณ์ และช่วยให้เราเติบโตทางความคิดมากขึ้นก็ตาม แต่ภาระงานที่หนักจนทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลา ต้องแบกงานกลับมาทำในช่วงวันหยุดเพิ่มโดยภาวะจำยอม หรือที่หนักกว่านั้น ก็คือการที่ต้องทำงานที่ไม่หน้าที่รับผิดชอบของตัวเองโดยตรง การต้องเจอสถานการณ์แบบนี้บ่อย ๆ ถึงต่อให้พนักงานคนนั้นจะเป็นคนเก่ง หรือมีไฟแรงสักแค่ไหน แต่การทำงานแบบไร้ซึ่งบาลานซ์ในชีวิตก็อาจทำให้เกิดการลาออกขึ้นได้

 

ไม่มีตำแหน่งให้เติบโตในองค์กร

ไม่ว่าใครก็ต้องการที่จะเติบโตในการทำงานทั้งนั้น แต่หากองค์กรไม่ได้มีตำแหน่งให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นด้วยขนาดโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวย หรืออาจจะใช้วิธีเลื่อนขั้นตามความอาวุโสของอายุงานโดยไม่สนใจเรื่องความสามารถ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเก่งมักจะเลือกเดินออกมาทันทีได้เช่นกัน 

 

ทำไมการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรถึงสำคัญ

ทำไมการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรถึงสำคัญ

 

การมีคนเก่งทำงานอยู่ในองค์กร ย่อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมให้ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือความต่อเนื่องของงาน คงจะไม่ดีแน่ถ้าองค์กรนั้นมีการหมุนเวียนเข้าออกของพนักงานเป็นประจำ จนทำให้ต้องคอยมานั่งเทรนงานกันใหม่ หรือส่งมอบงานกันไปมาอยู่เรื่อย ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการรักษาคนเก่งให้อยู่ได้นานนั้นถึงสำคัญ

 

11 แนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้คนเก่งอยู่กับองค์กรได้นาน  

11 แนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้คนเก่งอยู่กับองค์กรได้นาน

หากองค์กรไหนกำลังประสบปัญหาในการรักษาคนเก่งอยู่ ลองมาเอา 11 แนวทางปฏิบัตินี้ปรับใช้กันดู รับรองว่าอัตราการลาออกของพนักงานจะต้องลดน้อยลงแน่นอน 

 

1. สร้างเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน

คนเก่งทุกคนล้วนอยากเติบโต องค์กรที่ดีจึงควรมีเส้นทางให้เติบโตแบบชัดเจน ซึ่งนั่นต้องเริ่มต้นมาจากนโยบายการบริหารที่ชัดเจนจากผู้บริหาร และแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ที่ช่วยให้พนักงานมองเห็นภาพในอนาคตว่าบริษัทกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน 

 

2. มีคอร์สเสริมทักษะอยู่เป็นประจำ

การติดอาวุธทางการทำงานให้กับพนักงาน มีความสำคัญพอ ๆ กับเส้นทางการเติบโต เพราะคนเก่งทุกคนล้วนอยากจะรู้มากกว่าที่ตนเองเคยรู้ กระหายที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ  การสนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มเติมทักษะต่าง ๆ จึงส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต เช่น ความสำคัญของ Big Data ความสำคัญของภาษาที่ 3 ที่อาจต่อยอดในการทำงานระหว่างประเทศได้ ทักษะการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ หรือความสำคัญของการใช้ AI เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการทำงาน การที่พนักงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอจะช่วยให้พนักงานรู้สึกเติบโตร่วมไปกับการทำงานในองค์กรด้วย

 

3. ประเมินผลงานอย่างยุติธรรม

ความยุติธรรมในที่ทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดการลาออกกันมานักต่อนักแล้ว การประเมินผลงานของพนักงานทุกคนอย่างยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จะช่วยให้พนักงานทุกคนแข่งขันกันแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในคนเก่งที่ต้องการโอกาสในการโชว์ฝีมืออยู่แล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยให้การลาออกลดน้อยลง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมขององค์กรให้เพิ่มมากขึ้นด้วย 

 

4. ให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทน

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่มักเลือกย้ายงานมากกว่าอยู่ที่เดิม เกิดจากอัตราค่าจ้างที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ โดยเฉพาะคนเก่งที่มีความสามารถที่องค์กรไหน ๆ ก็ต้องการ เขาจึงไม่ลังเลที่จะเลือกย้ายงานเพื่อหาองค์กรที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้มากกว่า องค์กรที่ดีจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องการปรับเงินเดือนพนักงานให้เหมาะสม เพราะการที่พนักงานตำแหน่งสำคัญลาออกทุกปี อาจส่งผลกระทบต่อเนื้องานแบบประเมินมูลค่าไม่ได้ 

 

5. มีสวัสดิการที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนถวิลหา ทำให้องค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการดูแลสุขภาพ อย่างการเลือกทำประกันกลุ่มที่มีวงเงินคุ้มครองสูงขึ้นสักหน่อย หรือสวัสดิการอย่างค่าอาหารกลางวัน ขนมนมเนย และอื่น ๆ ที่ช่วยประหยัดเงินส่วนตัวพนักงานลงได้ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่กับองค์กรได้นานขึ้นได้ 

6. แบ่งขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน

การมีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน ไม่ทำเกินหน้าที่ เป็นอีกเรื่องที่องค์กรต้องใส่ใจเช่นกัน การเลือกประหยัดงบในการว่าจ้าง แล้วเลือกให้พนักงานทำงานหลายหน้าที่แทนอาจจะช่วยได้แค่ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อภาพรวมขององค์กรมากกว่าในแง่ของประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน ว่าแต่ละตำแหน่งต้องทำอะไรบ้าง และพยายามไม่ให้พนักงานต้องมาทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ของตัวเอง เพื่อที่ตอนวัดผลจะได้ประเมินการทำงานได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด อีกทั้งยังช่วยให้พนักงานไม่เกิดภาวะหมดไฟจากการทำงานล่วงเวลา หรือต้องทำงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัว

 

7. เปิดโอกาสให้ได้แสดงฝีมือ

ในการทำงาน ทุกคนล้วนอยากได้รับโอกาสในการแสดงความคิด และศักยภาพอย่างเต็มที่ องค์กรที่ดีควรจะให้พนักงานทุกคนได้มีโอกาสแสดงฝีมือตรงจุดนี้ ทั้งในเรื่องของการแชร์ไอเดียทางความคิด รูปแบบการทำงาน และการบริหารจัดการในแนวทางใหม่ ๆ โดยไม่ยึดติดกับระบบเดิม ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้พนักงานรู้สึกสนุก และท้าทายกับการทำงานมากขึ้น 

 

8. ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพจิต

บรรยากาศการทำงานที่ดี เป็นสิ่งที่องค์กรสามารถสร้างให้กับพนักงานได้ เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดมากถึงที่สุดในช่วงหลายปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการที่คนในองค์กรไม่ถูกกัน มีการเมืองภายในเกิดขึ้นจนไม่เป็นอันทำงาน การบูลลี่ การไม่ยอมรับความแตกต่างทางเพศสภาพ และปัญหาอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นส่งผลกระทบทางด้านจิตใจกับคนทำงานเป็นอย่างมาก ทุกองค์กรจึงควรจะออกกฎระเบียบอย่างชัดเจน รวมถึงพยายามดูแลและสังเกตพนักงานให้มากที่สุด

 

9. สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้บรรยากาศในการทำงาน ก็คืออุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน อย่างเก้าอี้ โต๊ะ จอเสริม และอื่น ๆ ที่ช่วยเอื้อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยดึงดูดให้คนเก่งอยากทำงานด้วย เพราะนี่หมายถึงความใส่ใจที่องค์กรมีให้กับพนักงาน

 

10. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในการทำงาน

การอยู่ร่วมกันในที่ทำงาน ก็เหมือนกับการอยู่ร่วมกันในสังคม พนักงานทุกคนต่างมีทัศนคติ และกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างกันตามสภาพสังคมที่เติบโตมา องค์กรจึงมีหน้าที่ในการกำหนดวัฒนธรรมที่ดีในการทำงานร่วมกันให้กับพนักงาน อย่างเช่น กฎระเบียบข้อบังคับที่เสมอภาคเท่าเทียม แนวทางในการปฏิบัติหรือใช้คำพูดในที่ทำงานแบบไม่ก้าวร้าว รวมไปถึงการให้ความร่วมมือในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจุดนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความกลมเกลียวให้เกิดขึ้น และช่วยลดช่องว่างที่ห่างเหินระหว่างพนักงาน

 

11. ให้ความใส่ใจในรายละเอียดส่วนตัว

ผลตอบแทน และสวัสดิการที่ตอบโจทย์ชีวิต อาจจะช่วยรั้งคนเก่งให้อยู่ได้นานขึ้นก็จริง แต่การให้ความสำคัญในเรื่องส่วนตัว อย่างเช่นวันเกิดของพนักงาน วันที่ลูกคลอด หรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว และองค์กรพยายามอย่างเต็มที่ในการยื่นมือให้ความช่วยเหลือ หรือแสดงความยินดีในทุกโอกาส จะเป็นการซื้อใจคนเก่งให้อยู่กับองค์ระยะยาวได้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าสถานที่ทำงานจะไม่ใช่บ้าน แต่การสร้างสถานที่ทำงานให้รู้สึกเหมือนบ้าน ก็จะช่วยให้พนักงานในองค์กรทุกคนรู้สึกผูกพัน และอยู่กับองค์ได้อย่างยาวนาน

 

ทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญเพื่อรักษาคนเก่งให้อยู่กับเราได้นานขึ้น เพราะเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จะไม่สามารถพิชิตได้เลย ถ้าองค์กรนั้นเกิดการหมุนเวียนของพนักงานอยู่ตลอดเวลา จนแผนการดำเนินการของธุรกิจขาดความต่อเนื่อง ไม่ต่างกันกับทางฝั่งของคนเก่งที่เป็นพนักงาน การเลือกมองหาองค์กรที่ตอบโจทย์การทำงานตั้งแต่แรกแทนการย้ายงานอยู่บ่อย ๆ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าใครที่กำลังมองหาองค์กรที่ตอบโจทย์ชีวิตการทำงาน ให้ JobThai ช่วยเฟ้นหางานที่ใช่ให้คุณเลย

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, hr, human resource, hr advice, employee retention, การรักษาพนักงาน, ลาออก, ฝ่ายบุคคล, การดูแลพนักงาน, หัวหน้างาน, พนักงาน, คนเก่ง, องค์กร, ทรัพยากรมนุษย์



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม