6 ทักษะแห่งอนาคตเมื่อถึงยุค AI

6 ทักษะแห่งอนาคตเมื่อถึงยุค AI
09/10/18   |   7.8k   |  

เราคงได้ยินการพูดถึง AI (Artificial Intelligence) กันมาบ้าง เรียกให้เข้าใจง่ายก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือระบบความฉลาดที่ถูกสร้างขึ้นในสิ่งที่ไม่มีชีวิต จากการสำรวจของ Pew Research Center ที่ทำการสอบถามผู้คนกว่า 9,670 คนจาก 9 ประเทศทั่วโลก คนส่วนใหญ่รับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึงในที่ทำงานของพวกเขา แถมยังกังวลว่างานที่มีในปัจจุบัน จะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเสี่ยงต่อโอกาสที่จะตกงานมากขึ้นในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือระบบแรงงานในภาคการผลิต ที่สหรัฐอเมริกามีค่าจ้างรายชั่วโมงอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท เยอรมนีอยู่ที่ราว 1,100 บาท ต่างกับหุ่นยนต์ที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 128 บาทเท่านั้น การเข้ามาของระบบปัญญาประดิษฐ์นี้คาดว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่องานกว่า 46 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และบทสรุปของรายงานนี้ยังปิดท้ายด้วยความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าหุ่นยนต์สามารถมาแทนที่ได้ในอนาคต

 

ถือว่าเป็นโชคดีที่การเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย คนทำงานจึงยังพอมีช่วงเวลาที่จะได้พัฒนาทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากทักษะหลักในงานของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตหุ่นยนต์จะแทนที่อาชีพที่ใช้ทักษะทางด้าน Hard Skills ส่วนใหญ่ได้ แต่ทักษะ Soft Skills จะกลับกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเจรจาต่อรอง การประสานงานกับผู้อื่น การตัดสินใจ ความฉลาดทางอารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์

 

นี่คือ 6 ทักษะ Soft Skills ที่ JobThai คิดว่าคนทำงานควรมีและพัฒนาเพื่อให้เราสามารถทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

 

 

  • ทักษะด้านการเจรจาที่จะไม่ได้สำคัญแค่สายงานขายหรือการตลาดอีกต่อไป 

  • การประสานงานที่จะช่วยให้มนุษย์ด้วยกันทำงานได้อย่างราบรื่น

  • การคิดวิเคราะห์และตัดสินใจจากจำนวนข้อมูลมหาศาลในยุค Big Data

  • ความฉลาดทางอารมณ์ที่ใช้ในการบริหารผู้คนจะเป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นผู้นำอาชีพ

  • รับมือปัญหาด้วยการแก้ไขจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์

 

 

การเจรจาต่อรอง

ในยุคที่มีหุ่นยนต์ถูกนำเข้ามาใช้ทำงานอย่างเต็มที่ ทักษะด้านสังคมอย่างการเจรจาต่อรองจะกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในออฟฟิศ มนุษย์ยังคงเป็นคนที่สามารถเจรจากับลูกค้าด้วยกันได้ดีกว่าหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นสายงานการตลาด งานขาย โดยเฉพาะสายงานทางด้านเทคโนโลยีหากสามารถทำระบบที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์ได้ แล้วมีทักษะด้านการเจรจาต่อรองด้วยจะยิ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าในการทำงานของเรา

 

การประสานงานกับผู้อื่น

การทำงานร่วมกันของมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งที่ทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ ทั้งด้านความรู้สึกและการปฏิสัมพันธ์ เพราะในโลกการทำงานจริงเรามีเพื่อนมัธยม เพื่อนมหาวิทยาลัย รวมถึงคนรู้จักอื่นซึ่งเป็นความได้เปรียบมากกว่าหุ่นยนต์เมื่อทำงานร่วมกันเป็นทีม มนุษย์ยังมีจุดเด่นตรงที่การตอบสนองต่อเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งมักไม่มีแบบแผนตายตัวอย่างหุ่นยนต์นั่นเอง

 

การตัดสินใจ

เมื่อมีข้อมูลข่าวสารมากมาย การตัดสินใจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางของงานหรือบริษัท มนุษย์จะเป็นผู้วางกลยุทธ์ กำหนดกรอบในการทำงานของ AI และจากข้อมูลที่มีมากขึ้นในยุค Big Data มนุษย์สามารถป้อนข้อมูลให้ AI เป็นตัวประมวลผล ข้อดีตรงนี้ยังช่วยให้เราประหยัดเวลาในการต้องคัดแยกข้อมูลจำนวนมหาศาลแถมยังตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ความฉลาดทางอารมณ์

บริษัทจะให้ความสำคัญในการเลือกคนเข้าทำงานโดยใช้ปัจจัยด้านความฉลาดทางอารมณ์เข้ามาพิจารณา โดยเฉพาะคนที่เข้าใจในความแตกต่างของเพื่อนร่วมงาน มีทักษะในการจัดการความแตกต่างนั้น และพร้อมรับมือการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบจากทั้งเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน
 
นอกจากเข้าใจในความแตกต่างแล้วการจัดการด้านทรัพยากรบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมนุษย์มีความรู้สึก ทั้งดีใจ เสียใจ ท้อแท้ หรือหมดหวัง ทักษะนี้จึงมีผลอย่างมากสำหรับคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำทางอาชีพในอนาคต

 

ความคิดสร้างสรรค์

สโลแกน “Everything is data – even art.” ของ Cloudpainter AI ที่สามารถวาดภาพแนว Abstract ได้ไม่แตกต่างจากฝีมือของมนุษย์น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าแม้แต่งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นจุดเด่นของมนุษย์ก็สามารถถูกทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ ในอนาคตความคิดสร้างสรรค์นี้จะยิ่งเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อการสร้างสรรค์งานศิลปะเท่านั้น แต่จะเน้นมากในการคิดแก้ไขปัญหาและสร้างระบบการจัดการแบบสร้างสรรค์ เพราะหุ่นยนต์ถูกโปรแกรมมาเพื่อแก้ไขปัญหาเดิมซ้ำ ๆ จากข้อมูลที่ได้รับ ต่างจากมนุษย์ที่สามารถสร้างวิธีการแก้ปัญหาใหม่ได้เสมอ

 

การคิดเชิงวิเคราะห์

แม้ว่าเราจะใช้หุ่นยนต์ในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น แต่การคิดวิเคราะห์ยังเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่มนุษย์ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ทักษะนี้ประกอบด้วยตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลของความคิด เป็นสิ่งจำเป็นมากในการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และชั่งน้ำหนักสำหรับการตัดสินใจเลือกตัวเลือกบางอย่างที่หุ่นยนต์ไม่สามารถรู้ได้ในบริบทแบบที่มนุษย์เข้าใจนั่นเอง

 

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานยังไม่มาถึงในเร็ววันนี้ แต่การรับรู้และเตรียมพร้อมรับมือก็ถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับคนทำงาน ซึ่งในอนาคตจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแทนที่ของ AI การพัฒนาทักษะ Soft Skills นั้นแทบไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงแต่เราต้องให้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัว นอกจากนี้หากสามารถเพิ่มความสามารถใน Hard Skills ได้ด้วยก็จะยิ่งเป็นผลดีกับการทำงานของเราในอนาคตอย่างแน่นอน

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงานที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา : 

pewglobal.org

careerfaqs.com

careeraddict.com

inc.com

tags : งาน, คนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, แนวคิดในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, การทำงาน, lifestyle, ความสุขในการทำงาน, วิธีการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม