6 สไตล์ของผู้นำ สำหรับการบริหารทีมให้ตอบโจทย์ในแต่ละสถานการณ์

24/07/24   |   329   |  

 

 

 

ปกติแล้วผู้นำต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังเสมอไป เช่น ในสถานการณ์ปกติ เป้าหมายยอดขายที่เราตั้งไว้อาจจะสำเร็จได้โดยไม่มีอุปสรรค แต่ในความเป็นจริง อาจมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นจนลูกค้ารัดเข็มขัดไม่ซื้อของเหมือนแต่ก่อน หรือเกิดปัญหากับสายการผลิตทำให้ส่งมอบสินค้าให้ถึงมือลูกค้าไม่ทันกำหนดการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ธุรกิจที่คาดไม่ถึง ผู้นำจึงต้องอาศัยการพลิกแพลงกลยุทธ์และเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารไปตามความเหมาะสม ต้องใช้ทั้งการคิดเชิงกลยุทธ์ที่เป็นการมองไปข้างหน้า วางแผนเพื่อเป้าหมายในอนาคต พร้อมกับการคิดเชิงปฏิบัติการสำหรับการทำงานที่กำลังเกิดปัญหาขึ้นอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังต้องคอยสังเกตอย่างใกล้ชิดว่างานที่ทำอยู่มีพัฒนาการยังไงและลงมือแก้ไขให้ทันท่วงที

 

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงปัญหาการทำงานแบบไหนคนเป็นผู้นำควรใช้สไตล์การทำงานแบบไหนให้ตอบโจทย์ วันนี้ JobThai จะพาไปค้นหาสไตล์การบริหารในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ โดย Daniel Goleman นักจิตวิทยาชื่อดังและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารคนและองค์กร ได้แบ่งสไตล์ของการเป็นผู้นำออกเป็น 6 ประเภทด้วยกัน

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

1. การนำแบบบังคับ (Coercive Style)

สไตล์การบริหารงานแบบนี้มีลักษณะการตัดสินใจแบบบนลงล่าง คนที่เป็นลูกน้องมีหน้าที่ทำตามอย่างเดียว และมักใช้เพื่อหวังผลในระยะสั้น เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามัวแต่ทำตามขั้นตอนปกติ ก็อาจจะไม่ทันเวลาและเกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมา

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

สไตล์การบริหารแบบบังคับอาจจะเป็นประโยชน์ในบางสถานการณ์ อย่างช่วงเวลาที่มีการควบรวมกิจการ หรือเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทกำลังได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ สถานการณ์เหล่านี้ต้องมีการตัดสินใจแบบเร่งด่วนเด็ดขาด เพราะถ้ายิ่งตัดสินใจช้าจะยิ่งเกิดความเสียหายกับบริษัทมากกว่าเดิม ผู้มีอำนาจจึงต้องแก้ไขปัญหาทันที เพื่อให้องค์กรสามารถไปต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อขึ้นชื่อว่าการบีบบังคับ แน่นอนว่าไม่มีใครชอบ สไตล์การบริหารงานแบบนี้ถ้าใช้อย่างไม่ระวังจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวกับวัฒนธรรมองค์กรโดยรวม และทำให้พนักงานที่อยู่ภายใต้การบริหารเกิดความรู้สึกไม่พอใจและนำไปสู่การลาออกได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อหมดช่วงเวลาที่คับขัน ก็ควรกลับไปใช้วิธีการทำงานตามขั้นตอนตามปกติ

 

สิ่งที่ผู้นำที่ดีควรมีนอกจากการทำงานเก่ง

 

2. การนำแบบไว้วางใจพนักงานและกระตุ้นให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเอง (Authoritative Style)

การเป็นผู้นำแบบนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนภายในทีมทำงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายหลักขององค์กร โน้มน้าวให้พวกเขาเข้าใจว่าแต่ละบทบาทของตัวเองส่งผลดีต่อส่วนรวมยังไง การนำทีมสไตล์นี้จึงเน้นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นแนวทางให้พนักงานได้ปฏิบัติตาม แล้วเชื่อใจว่าพวกเขาจะทำงานได้อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจและความไว้วางใจที่เรามอบหมายให้เขาตามความเหมาะสมแก่พนักงานแต่ละคน จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์และขับเคลื่อนองค์กรได้ในที่สุด การเป็นผู้นำแบบนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองและเห็นคุณค่าของงานที่ทำ รวมถึงอาจทำให้เกิดรู้สึกความผูกพันกับองค์กร

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

ในภาวะที่พนักงานกังวล เกิดความไม่มั่นใจกับผลลัพธ์การทำงาน ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำงานออกมาได้ดีอย่างที่ตั้งใจหรือเปล่า นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่สไตล์การบริหารแบบนี้จะส่งผลดี โดยผู้นำสไตล์นี้มีหน้าที่สื่อสารให้ชัดเจนว่างานที่พวกเขาทำจะช่วยทั้งลูกค้าและพัฒนาองค์กรได้อย่างไรบ้าง วิธีนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการทำงานประจำวันได้เป็นอย่างดี เช่น สมมติว่าเราเป็นบริษัทผลิตยารักษาโรคในช่วงที่กำลังเกิดโรคระบาดรุนแรง ทีมต้องเร่งทดลองและผลิตยาตัวใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า ผู้นำต้องย้ำเตือนให้บรรดาพนักงานเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ที่เขากำลังทำ ไม่ว่าจะเป็นคำชมว่าพวกเขากำลังพยายามได้ดีขนาดไหน หรือประโยชน์ที่ลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยจะได้รับจากงานวิจัยของเรา รวมถึงผลลัพธ์ที่ดีที่จะกลับมาสู่องค์กรเมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

 

การเป็นผู้นำสไตล์นี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการทำงานที่ทุกคนในทีมไว้วางใจซึ่งกันและกัน เมื่อพนักงานเชื่อมั่นว่าหัวหน้าทีมอย่างคุณมีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแนวทางในการทำงานที่ชัดเจน พวกเขาก็พร้อมที่จะรับฟังและปฏิบัติตาม แม้อาจมีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้พวกเขาเสียความมั่นใจไปบ้าง แต่ถ้าผู้นำมีความหนักแน่นและย้ำว่างานที่กำลังทำมาถูกทางแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามั่นใจและมีกำลังใจในการทำงานอีกครั้ง

 

หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากให้พนักงานกลับมามีไฟอีกครั้ง

 

3. การนำแบบคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (Pacesetting Style)

ผู้นำสไตล์นี้โดยส่วนตัวแล้วจะเป็นคนที่ชอบริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองและมีแรงบันดาลใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จสูงมาก อีกทั้งยังสื่อสารได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องการอะไรจากคนที่ร่วมงานกัน เมื่อต้องคุมทีมผู้นำประเภทนี้จึงคาดหวังให้คนในทีมผลิตผลงานที่ดีที่สุดให้แก่องค์กร ด้วยความคาดหวังมาตรฐานสูงนี้เองทำให้พวกเขามักจะมองหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อไปสู่เป้าหมายได้ ผู้นำแบบนี้จะประเมินทุกเรื่องอย่างรอบคอบ ถ้าเจออะไรที่จะเป็นปัญหาสำหรับการทำงาน พวกเขาจะไม่ปล่อยผ่านและรีบแก้ไขทันที

 

นอกจากนี้ผู้นำสไตลนี้จะเคารพในทักษะและความสามารถของผู้ร่วมทีม ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี รู้ว่าคนไหนถนัดงานอะไรและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้อย่างเหมาะสม เพราะเมื่อคนที่เก่งได้ทำงานที่ตัวเองถนัดพวกเขาก็จะมีแรงกระตุ้นในการทำงาน งานก็จะสำเร็จเร็วขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมออกมาดีขึ้น

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

สไตล์การบริหารงานแบบหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเหมาะกับทั้งการสร้างผลงานใหญ่ออกมาให้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด หรืองานที่ต้องการประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่าเดิม อย่างทีมขายที่ต้องทำยอดให้สูงกว่าเดิมเพื่อให้บริษัทมีกำไรและเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ หัวหน้าทีมขายสไตล์นี้จะกำหนดทิศทางให้กับคนในทีม พวกเขาจะประเมินความต้องการและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงและทำให้ทุกคนโฟกัสกับการดูแลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อทำตามเป้าหมายได้แล้วก็ยังมีวิธีกระตุ้นให้คนในทีมผลักดันตัวเองไปอีกขั้น ไม่พอใจแค่เป้าหมายที่องค์กรกำหนดมาเท่านั้น เช่น ให้โบนัสพิเศษสำหรับคนในทีมอันดับต้น ๆ ที่ทำยอดขายได้ทะลุเป้า นอกจากนี้การทำตัวอย่างให้เห็นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผล เช่น ผู้นำทีมที่มีผลงานทำยอดขายได้มากที่สุดทุกเดือนของบริษัท ใครก็ตามที่เข้ามาร่วมทีมก็ต้องมองว่าผู้นำแบบนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการทำงานและผลักดันตัวเองไปให้ใกล้เคียงหัวหน้าทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความก้าวหน้าในตำแหน่งที่น่าเจริญรอยตาม

 

อีกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นอาชีพผู้จัดการทีมกีฬาซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสำหรับการแข่งขันกีฬาแล้วผลการแข่งขันเท่านั้นที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผู้จัดการทีมเก่ง ๆ หลายคนที่เติบโตมาจากการเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าปัจจัยไหนที่จำเป็นต่อการชนะการแข่งขัน ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนการแข่งและกลยุทธ์ในการเอาชนะคู่แข่งในการแข่งขันเมื่อต้องลงสนามจริง ผู้นำที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่ามีทักษะและความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทำจึงเป็นผู้นำที่คนในทีมยอมรับและมั่นใจว่าผลลัพธ์จะออกมาดีถ้าทำตามคำแนะนำของพวกเขา

 

ผู้นำสไตล์นี้เน้นให้คนทำงานผลิตผลงานที่ดีที่สุดให้แก่องค์กร แน่นอนว่าการทำงานด้วยมาตรฐานสูงแม้จะเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งก็นำความกดดันมาให้พนักงานได้ ถ้าผู้นำชมเชยแต่พนักงานที่ทำงานเก่งที่สุด หรือองค์กรเน้นการวัดผลด้วยความสำเร็จปลายทางแต่ไม่ได้สนใจว่าระหว่างทางพนักงานได้เรียนรู้หรือมีปัญหาในการทำงานอะไรบ้าง บางทีพนักงานก็อาจจะเข้าใจผิดและมัวแต่กังวลกับความสมบูรณ์แบบ จนทำให้หลายคนคิดว่าพวกเขาดีไม่พอกับองค์กร การทำงานในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดสภาพการทำงานที่แข่งขันสูงเพื่อผลงาน จนทำให้พวกเขาลืมใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรด้วยกันไป อย่าลืมว่าไม่ว่าพวกเขาจะเก่งแค่ไหนก็หมดไฟได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ควรใช้สไตล์การบริหารนี้เฉพาะบางโอกาส และใส่ใจคนในทีมอย่างเหมาะสม จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังในวันที่พนักงานมาขอลาออกเพราะกดดันพวกเขามาเกินไป

 

หัวหน้ามือใหม่ต้องทำยังไงกับความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ที่ต้องเจอ

 

4. การนำแบบสานสัมพันธ์ (Affiliative Style)

สไตล์การเป็นผู้นำแบบนี้เน้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนที่ทำงานร่วมกันภายในทีม สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ทุกคนเข้าอกเข้าใจและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถนำเสนอความคิดได้อย่างอิสระ เมื่อมีปัญหาก็ปรึกษากันได้ จะทำงานอะไรก็ช่วยเหลือกันเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

สไตล์การบริหารนี้ควรนำมาใช้เมื่อต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นให้คนทำงานร่วมมือหรือพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น ผู้นำสไตล์นี้เชื่อว่าเมื่อคนที่ทำงานร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดี จะทำงานอะไรก็ราบรื่น ลองคิดดูว่าถ้าปกติคนในทีมก้มหน้าก้มตาทำแต่งานตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่เจอปัญหาพวกเขาอาจรู้สึกอึดอัดและไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่ถ้าพวกเขามีความคุ้นเคยและรู้จักกันดีในระดับหนึ่ง มีความสนิทชิดเชื้อกัน พวกเขาจะพูดคุยทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นประโยชน์กับองค์กรได้ ถ้ารู้สึกว่าพนักงานต่างคนต่างทำงานเหมือนหุ่นยนต์ ก็อาจจะเอาวิธีนี้ไปลองใช้กันดู

 

5 วิธีเพิ่มพลังในการทำงานสำหรับหัวหน้าทีม

 

5. การนำแบบเน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน (Democratic Style)

ผู้นำสไตล์นี้จะชอบรับฟังพนักงาน ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก เขาจะกระตุ้นให้ทุกคนได้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจเรื่องที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร เพราะการเปิดรับไอเดียที่หลากหลายจากพนักงานทุกคนจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน อาจได้วิธีแก้ปัญหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดจากมุมมองที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันพนักงานก็จะรู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีความสำคัญและมีค่าต่อองค์กร ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันธ์ต่อองค์กร ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีเพื่อเติบโตไปพร้อมกับองค์กรที่พวกเขารัก

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

วิธีนี้เหมาะกับช่วงเวลาที่องค์กรต้องการความรอบคอบในการตัดสินใจ ถ้าคุณคิดว่างานบางอย่างคุณไม่แน่ใจว่าทำออกมาได้ครอบคลุมดีพอหรือยังด้วยจำนวนคนเพียงไม่กี่คน วิธีการเรียกประชุมทุกคนในทีมมาช่วยออกความเห็นเป็นวิธีที่ดีในสถานการณ์นี้ ไม่แน่ว่าสมาชิกในทีมบางคนอาจเสนอแง่มุมของผลกระทบที่เราอาจตกหล่นหรือคิดไม่ถึงไปก็ได้

 

6. การนำแบบสอนงาน (Coaching Style)

สไตล์การบริหารทีมแบบนี้จะเป็นการใช้เวลากับเรื่องของการพัฒนาพนักงานแต่ละคน เพื่อให้เขาได้เติบโตได้ในแบบของพวกเขาเอง กระตุ้นให้คนในทีมขบคิดว่าแรงบันดาลใจหรือเป้าหมายในการทำงานคืออะไร และจะต้องทำอย่างไรถึงจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้บ้าง ผู้นำแบบนี้จะคอยเป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือพนักงานโดยอาศัยความรู้ความสามารถจากประสบการณ์ที่พวกเขาสั่งสมมาและทำให้พนักงานพร้อมรับมือกับทุกปัญหาและทำงานออกมาให้ดีได้ด้วยตัวเอง

 

สถานการณ์ที่ควรใช้:

ผู้นำที่เป็นที่ปรึกษาเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อองค์กรเจอปัญหาการพัฒนาบุคลากร ทั้งในกรณีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานรายบุคคลและกรณีที่องค์กรขาดผู้สืบทอดตำแหน่ง ผู้นำสไตล์นี้จะให้ฟีดแบ็กแก่พนักงานและผลักดันให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตไปในสายงาน จนกระทั่งประสบความสำเร็จในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในองค์กร หากองค์กรของคุณเจอปัญหาพนักงานขาดทักษะหรือไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวเข้ากับตำแหน่งใหม่ยังไง ผู้นำประเภทนี้จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

 

ในบางครั้งแม้แต่ตัวผู้นำเองก็ไม่ได้มีความมั่นใจเต็มร้อยเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกของการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้คือการทำให้เกิดบรรยากาศที่ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่าน่าจะจับมือ ร่วมกันแก้ปัญหายาก ๆ ที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อนได้ ผู้นำที่ดีจึงต้องปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ รู้ว่าปัญหาไหน ควรใช้สไตล์ในการบริหารจัดการแบบไหนเพื่อให้งานสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการบริหารสไตล์เดียว แต่ต้องรู้จักพลิกแพลง ผสมผสานเอาข้อดีของแต่ละสไตล์มาปรับใช้ให้ถูกจังหวะและเหมาะสมกับศักยภาพของคนในทีมของเราด้วย JobThai หวังว่าสไตล์การบริหารที่เราได้นำเสนอไปน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่เป็นผู้นำหรือกำลังจะก้าวไปเป็นผู้นำที่ต้องรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคต

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

aigroup.com.au, courses.lumenlearning.com, hbr.org, imd.org, journals.sagepub.com, mtdtraining.com, nspe.org, researchgate.net, taskworld.com, thepositiveencourager.global, thesellinglabs.ie

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ทำงาน, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, การทำงาน, ทักษะ, โลกการทำงาน, บริหารคน, พัฒนาองค์กร, การดูแลพนักงาน, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, ความเป็นผู้นำ, ทักษะการเป็นผู้นำ, การบริหารทีม, team management, leadership, ผู้นำ, หัวหน้าทีม



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม