- ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดคราบไขมันและหินปูนในเส้นเลือดและหลอดเลือด จนทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณของออกซิเจนและสารอาหารที่ไปเลี้ยงสมองลดลงตามไปด้วย
- อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป เพราะเมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งสาร Cortisol ออกมามากขึ้น ซึ่งหากสารนี้อยู่บริเวณสมองที่เกี่ยวกับความทรงจำระยะสั้นจำนวนมาก ก็จะทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ ๆ
- นอนหลับให้สนิท เพราะระหว่างหลับสมองจะเอาข้อมูลใหม่ ๆ ที่เราเพิ่งได้รับมาเก็บบันทึกเป็นความทรงจำระยะสั้นและพัฒนาต่อไปเป็นความทรงจำระยะยาว
- จดบันทึกหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้คนอื่นฟัง เพื่อดึงเอาความทรงจำในเรื่องนั้น ๆ กลับมาอีกรอบ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจและจดจำได้ดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันดี เพราะสมองมีไขมันอยู่ถึง 50 - 60 % ไขมันดีที่เราได้รับเข้าไปจะช่วยในการพัฒนาความทรงจำ
- จำเป็นภาพ หรือใช้ปากกาสีต่าง ๆ ในการช่วยจำ จะทำให้เราสามารถจดจำได้ง่ายขึ้น
- อ่านหนังสือ หรือเล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ เป็นประจำเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคสมองเสื่อม
|
|
JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว
|
|
อาการขี้หลงขี้ลืมอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าการหลงลืมมีบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน และเราไม่รีบแก้ไข อาการที่เราคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนก็เป็นอาจส่งผลเสียกับเราทั้งในเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้ในอนาคต ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงมีคำแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยขี้ลืมให้ความจำของคุณกลับมาดีขึ้น
1. การออกกำลังกายช่วยเรื่องการทำงานของสมอง
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยเรื่องการทำงานของสมองด้วย เพราะการไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดคราบไขมันและหินปูน (Plaque) ในเส้นเลือดและหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดลดลง นอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายแล้ว ยังทำให้ปริมาณออกซิเจนและสารอาหารที่เลือดนำไปเลี้ยงสมองลดลงอีกด้วย เมื่อสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ
2. อย่าเครียด เพราะมันส่งผลเสียต่อการจดจำ
ความโกรธหรือความกังวลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลเสียต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดจำ ในบรรดาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดทั้งหมด อาการซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทำร้ายสมองได้มากที่สุด เมื่อเรามีอาการซึมเศร้าจะทำให้สาร Cortisol หลั่งออกมามากขึ้น ซึ่งหากมีสารนี้อยู่บริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจทำลายความสามารถในการจดจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า หรือเครียดก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด
3. นอนหลับให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง
การนอนหลับ 7 – 8 ชั่วโมงจะช่วยให้ความจำดีขึ้น เพราะระหว่างที่เราหลับ สมองจะซึมซับเอาเหตุการณ์หรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้รับมา แล้วเก็บบันทึกไว้เป็นความจำระยะสั้น และพัฒนาต่อไปเป็นความจำระยะยาว ดังนั้นหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะทำให้สมองทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และการงีบระหว่างวัน โดยเฉพาะหลังจากได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นการช่วยเรื่องการจดจำได้เช่นกัน
4. จดบันทึก และบอกเล่าเรื่องราวหรือสิ่งที่เรียนรู้มาเป็นประจำ
การจดบันทึกที่เจอเป็นประจำ หรืออ่านหนังสือแบบออกเสียงจะช่วยให้คุณพัฒนาความสามารถในการจดจำ รวมไปถึงการอธิบายหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คนอื่นฟังก็ช่วยได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าเมื่อมีการให้นักเรียนสอนหรืออธิบายความรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียนคนอื่นฟัง จะเป็นการดึงเอาความทรงจำในเรื่องนั้น ๆ ที่มีอยู่กลับมาใช้อีกรอบ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และสามารถจดจำได้ดีขึ้น
5. กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง
น้ำหนักของสมองกว่า 50 - 60 % คือไขมัน ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากต่อเซลล์สมอง การกินอาหารที่มีไขมันเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาความทรงจำระยะยาว อย่างไรก็ตามเราควรหลีกเลี่ยงของทอดต่าง ๆ เพราะถึงแม้จะมีไขมันแต่เป็นไขมันชนิดที่ไม่มีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและสมอง เราจึงควรเลือกไขมันที่ได้จากผักใบเขียว หรือปลาต่าง ๆ เช่น แซลมอน แอนโชวี่ และแม็กเคอเรลแทน
6. จดจำเป็นรูปภาพ
ในการจดจำสิ่งต่าง ๆ หลายคนมีวิธีจดจำข้อมูลด้วยการจำแบบเป็นภาพ ซึ่งการให้ความสนใจและจดจำรูปภาพ หรือกราฟ ที่ประกอบอยู่ในหนังสือ หรือการจินตนาการสิ่งที่เรากำลังจดจำให้ออกมาในรูปแบบของภาพ รวมไปถึงการใช้ปากกาสีต่าง ๆ ไฮไลท์ส่วนที่สำคัญเอาไว้ ก็จะช่วยให้เราจดจำข้อความเหล่านั้นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
7. ทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองและความจำ
การทำกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ฝึกสมองอยู่เป็นประจำ เช่น การอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมฝึกสมองต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้สมองได้ทำงานอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องความจำหรือโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
รวมไปถึงการฟังเพลงก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะดนตรีสามารถดึงเอาความทรงจำต่าง ๆ กลับมา จากงานวิจัยพบว่าดนตรีเป็นตัวช่วยอย่างดีในการเรียกความทรงจำ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้เรียนรู้ขณะฟังเพลง มักจะถูกเรียกกลับคืนมาเมื่อเราได้ฟัง หรือนึกถึงเพลงนั้นในครั้งต่อ ๆ ไป
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่
|
|
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 200,000 members |
|
|
|
ที่มา:
lifehack.org