“ถ้าสินค้าดีมันก็ขายตัวเองได้อยู่แล้ว” คือความเชื่อของเจ้าของธุรกิจบางคนที่คิดว่าแค่ทำสินค้าให้ดี ยิงโฆษณาให้ปัง เดี๋ยวสินค้าก็ดังเป็นพลุแตกเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้สินค้าของเราขายได้ถล่มทลายหรือขายไม่ออกไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของสินค้า ราคาขาย แนวคิดทางการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และบริการหลังการขาย
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com รับรู้ด้วยตัวเองว่าการบริการลูกค้าหลังการขายนี่เอง ที่เป็นกลยุทธ์ทำให้สามารถครองใจลูกค้าไม่เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาแต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย วันนี้ JobThai จะพาไปดูแนวคิดการขายและการบริการลูกค้าของบริษัทค้าปลีกระดับโลกที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในสายงานบริการ งานขาย และเจ้าของกิจการ
- เจฟฟ์ เคยประกาศให้พนักงานระดับผู้จัดการเข้าร่วมอบรมการเป็น คอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ทุกคนได้พูดคุยกับลูกค้า ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค และสามารถวางแผนการทำงานได้
- เจฟฟ์ บอกกับทีมงาน ไม่ต้องสนใจคู่แข่ง และหยุดคิดว่าทำอย่างไรองค์กรถึงจะดีขึ้น แต่ให้พยายามคิดว่าทำอย่างไรลูกค้าถึงจะพึงพอใจมากที่สุด เพราะพวกเขาเป็นคนซื้อ และทุกคนควรยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ตัวเรา หรือคู่แข่ง
- ความสมบูรณ์ระดับ 99% ไม่ใช่ตัวเลขที่เขาพอใจ เพราะเขาเชื่อว่ายังมีอีก 1% ที่เหลือที่ยังทำได้อีก
- สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก มีของให้เลือกเยอะ และบริการดี เป็นความต้องการพื้นฐานของลูกค้าที่จะไม่มีวันเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะวางแผนกลยุทธ์อะไรก็ตาม ต้องไม่ละเลยสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด
- ครั้งหนึ่งในที่ประชุมเจฟฟ์เอาเก้าอี้ว่างมาวางไว้ แล้วบอกทุกคนให้คิดว่าเก้าอี้ตัวนี้มีลูกค้านั่งอยู่และเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในห้องนี้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า การทำงานต้องคิดถึงลูกค้าเป็นคนแรก
|
|
1. เข้าใจลูกค้าเป็นอย่างแรก
เจฟฟ์ประกาศให้พนักงานระดับผู้จัดการกว่าพันคนเข้าร่วมอบรมการทำงานในตำแหน่ง คอลเซ็นเตอร์ รวมถึงตัวเขาเองด้วย เพราะเขาเชื่อว่า “ทุกคนต้องทำงานคอลเซ็นเตอร์ได้” เจฟฟ์ใช้วิธีนี้เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักว่าการฟังเสียงลูกค้า และนำมาทำความเข้าใจเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดให้ลูกค้าคือสิ่งสำคัญ
2. ให้ความสำคัญกับลูกค้า ไม่ใช่คู่แข่ง
“เราไม่ให้ความสำคัญกับคู่แข่ง แต่เราให้ความสำคัญกับลูกค้าเท่านั้น เราเริ่มจากสิ่งที่ลูกค้าต้องการหลังจากนั้นค่อยคิดหาวิธีทำ” ผลิตภัณฑ์จากแนวคิดนี้ก็คือ Kindle (คินเดิล) อุปกรณ์สำหรับอ่าน E-Books ที่ไม่ได้มาจากความคิดของวิศวกรในองค์กรหรือตัวเขาเอง แต่เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นจากความต้องการของลูกค้า
เป็นที่มาที่ทำให้เจฟฟ์พูดกับคนในองค์กรว่า เราควรหยุดคิดที่จะทำอย่างไรให้องค์กรดีขึ้น แต่ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความพอใจกับการใช้สินค้าและบริการมากกว่า
3. 99% ก็ไม่เพียงพอ
“เราจะไม่มีวันพอใจกับงานจนกว่าที่มันจะออกมาสมบูรณ์แบบ 100%”
สำหรับเจฟฟ์แล้ว 99% ก็ยังไม่ดีพอ เพราะอีก 1% ที่ทำให้ดีขึ้นได้ก็จะส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าเหมือนกัน และเขาก็เชื่อว่าลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเงินมากกว่าสำหรับองค์กรที่สร้างความพึงพอใจให้ได้มากที่สุด
4. สร้างองค์กรที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
“ถ้าพวกเราสามารถทำงานอยู่บนพื้นฐานความต้องการของลูกค้าในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลดีต่อลูกค้ารวมถึง Amazon ด้วย” นี่คือสิ่งที่เจฟฟ์ปลูกฝังให้พนักงาน เรียกว่าเป็นปรัชญาที่ยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลักนั่นเอง
ครั้งหนึ่งเจฟฟ์เอาเก้าอี้ว่างหนึ่งตัวเข้ามาในห้องประชุม แล้วให้ทุกคนคิดว่าเก้าอี้ตัวนี้มีลูกค้าที่เป็นคนสำคัญที่สุดของเรานั่งอยู่ด้วย การประชุมของทีมจึงเต็มไปด้วยความคิดที่จะช่วยตอบสนองให้ลูกค้าได้มากที่สุด
5. ขอโทษ ไม่ใช่คำน่ากลัว
“เราจะนำข้อผิดพลาดมาเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นโดยลูกค้าต้องมาที่หนึ่งเสมอ” แม้แต่องค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon เองก็เคยผิดพลาดที่ลบ E-Book เรื่อง 1984 และ Animal farm ออกไปจากระบบเพราะเหตุผลทางลิขสิทธิ์ ถึงทีมบริการลูกค้าจะส่งอีเมลไปขอโทษแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีจริง ๆ ก็คือการส่งจดหมายเปิดผนึกของเจฟฟ์ไปแสดงความเสียใจ ขอโทษกับการตัดสินใจ และให้คำมั่นว่าจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
6. สร้างกลยุทธ์จากสิ่งที่ยั่งยืน
“วางแผนกลยุทธ์ จากสิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง”
คนมากมายถามเจฟฟ์ว่ามีอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า แต่กลับไม่เคยได้ยินใครถามว่ามีอะไรบ้างที่จะไม่เปลี่ยนแปลง
เขารู้ดีว่าอะไรคือความต้องการพื้นฐานของลูกค้าและหยิบแนวคิดนี้มาวางแผนกลยุทธ์ของ Amazon ไม่ว่าจะเป็น สินค้าราคาถูก มีของให้เลือกเยอะ ส่งของไว และบริการดี ผลก็คือ Amazon กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ได้คะแนนพึงพอใจสูงสุดเกือบทุกปีจากลูกค้าอเมริกันในหมวดร้านค้าปลีกออนไลน์
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา:
salesforce.com
forbes.com