“นาฬิกาเธอสวยจังเลย เหมือนของแท้มาก ๆ”
“งานชิ้นนี้ดีมาก… ดีเกือบเท่าชิ้นก่อนเลย”
“ทำงานกันเหมือนเล่นขายของเลยนะเนี่ย ฮ่าฮ่า แซวเล่นนน”
หลายคนน่าจะเคยเจอเพื่อนร่วมงานที่พูดจาทำนองนี้ หรือมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากความดื้อเงียบ หัวร้อนลึก ๆ แต่ไม่ยอมบอกตรง ๆ คนที่มีนิสัยแบบนี้คือคนที่ถูกเรียกว่าเป็น Passive-Aggressive คนเหล่านี้เป็นคนที่เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้ตัวเองไม่พอใจหรือไม่ถูกใจก็จะมีความรู้สึกโกรธ อิจฉา และความหงุดหงิดหัวเสียอยู่ในใจแต่ไม่ยอมเผยความรู้สึกออกมาตรง ๆ แต่ซ่อนมันเอาไว้ใต้รอยยิ้มและคำพูดว่า “ทุกอย่างดี” “ทุกอย่างโอเคแล้ว” คนเหล่านี้จะเลือกแสดงความไม่พอใจออกมาผ่านการกระทำก้าวร้าวเล็ก ๆ แทน อย่างเช่นการพูดจาประชดประชัน การพูดให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีแล้วตบท้ายด้วยคำว่า “ล้อเล่นน่า อย่าคิดมาก” การเอาเพื่อนร่วมงานไปนินทาว่าร้ายลับหลัง รวมไปจนถึงอาการดื้อเงียบที่บอกว่า “โอเคได้เลย” หรือ “เข้าใจแล้ว” แต่ถึงเวลาก็ไม่ยอมทำตามที่ตกลง
บางครั้งการที่เราต้องร่วมงานกับคนที่เป็น Passive-Aggressive เป็นอะไรที่น่าเหนื่อยหน่าย เพราะนอกจากจะคาดหวังความช่วยเหลือจากคนแบบนี้ไม่ค่อยได้แล้ว เรายังต้องเจอพฤติกรรมที่สร้างพลังลบในการทำงานอยู่เรื่อย ๆ แต่ยังไงก็ตามมันก็พอมีวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคน Passive-Aggressive อยู่นะ และวันนี้ JobThai ก็รวบรวมมาให้คุณแล้ว ลองไปดูกัน
ทุกการกระทำมีที่มาที่ไปเสมอ แม้แต่การพูดจาประชดประชัน กระแทกแดกดันหรือการทำน้ำเสียงไม่พอใจใส่ ยังไงก็ตามให้คุณมองข้ามสิ่งเหล่านี้และวิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมเขาถึงเป็นคนที่มีท่าทีแบบนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วการกระทำเหล่านี้มักเกิดจาก “ความกลัว” ในหลาย ๆ รูปแบบไม่ว่าจะเป็น การกลัวถูกปฏิเสธ กลัวว่าตัวเองจะไม่ดีเท่าคนอื่น ๆ หรือถ้าไม่ใช่ความกลัวก็อาจจะเป็นที่ตัวเขาเองที่มีทักษะด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังต้องตั้งคำถามต่อไปอีกว่าการที่เขาเลือกที่จะมีพฤติกรรม Passive-Aggressive ทำให้เขารู้สึกว่ามันส่งผลดีกับเขายังไงบ้าง เช่น เขาอาจเอาเราไปนินทาเพื่อให้ตัวเองเข้ากับคนในทีมได้ ถ้าเรารู้สาเหตุและเข้าใจแรงจูงใจตรงนี้แล้ว เราก็จะมองคนคนนั้นอย่างเข้าอกเข้าใจและแก้ปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
คำถามถัดมาที่ต้องนำมาวิเคราะห์คือ “สิ่งที่เขาทำนั้นสื่อความต้องการลึก ๆ ว่ายังไง” เพียงลองสังเกตให้ดีว่าในแต่ละการกระทำของเขามีความหมายแฝงมาด้วยรึเปล่า เช่น การที่เขาจิกกัดชิ้นงานของเราแรง ๆ อาจเป็นเพราะเขามองเห็นว่าเป็นการทำงานที่ไม่เวิร์ก ถ้าเราสืบจนเจอความต้องการลึก ๆ ของเขาแล้ว เราอาจจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ให้ตัวเองได้อีกด้วย
บางครั้งการกระทำของคน Passive-Aggressive อย่างความดื้อรั้น การปฏิเสธที่จะแก้ไขงานตามคำคอมเมนต์จากเราโดยไม่อธิบายเหตุผล ก็สามารถสร้างความรู้สึกหงุดหงิดใจได้ไม่น้อย แต่ยังไงซะ อย่าได้แสดงท่าทีหรือกิริยาแบบเดียวกันสะท้อนกลับไปเด็ดขาด เบรกตัวเองไว้ก่อน เวลาเจอคนแบบนี้มันต้องใจเย็นให้มากที่สุด เพราะไม่แน่ว่าสิ่งที่คนที่มีพฤติกรรม Passive-Aggressive ต้องการก็คือปฏิกิริยาสวนกลับ ในเมื่อเขาอยากหลีกเลี่ยงการพูดตรง ๆ เขาจึงเลือกใช้วิธีนี้เพื่อให้ให้มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น การที่เราโต้กลับไปนอกจากจะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพแล้วยังเข้าทางเจ้าตัวอีกต่างหาก
ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าได้เจอกับพฤติกรรมที่เหมือนจะเข้าข่าย Passive-Aggressive จากเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ไม่มั่นใจว่าคิดไปเองคนเดียวรึเปล่า กลัวว่าคิดมากเกินไปทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มีอะไรเลย คุณสามารถลองหาช่วงจังหวะพักเบรกสั้น ๆ ไปปรึกษากับเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ เล่าให้เขาฟังว่าที่คุณเจอมามันเป็นอะไรที่ต้องเก็บเอามาวิตกรึเปล่า ถ้ามีคนช่วยเราวิเคราะห์สถานการณ์ มันก็จะทำให้อะไร ๆ ชัดเจนมากขึ้นว่าตอนนี้เราแค่คิดมากไปเอง หรือว่าเรื่องที่เราเจอมันไม่ใช่เรื่องปกติแต่เป็นพฤติกรรม Passive-Aggressive จริง ๆ แล้วไม่แน่ว่าอาจจะไม่ใช่แค่เราที่เจอ เพื่อนร่วมงานที่เราเลือกไปปรึกษาเองก็อาจจะเคยเจอพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันจากเพื่อนคนนั้นมาแล้วเหมือนกันก็ได้ แค่เขายังไม่เคยเอามาปรึกษาใคร
สิ่งสำคัญในการสนทนาแบบนี้คือต้องเป็นการคุยเชิงเล่าปัญหาและปรึกษาเพื่อหาทางให้ยังทำงานร่วมกับคนคนนั้นได้ ไม่ใช่เพื่อเป็นการเมาท์อย่างสนุกปากและพากันรุมเกลียดเพื่อนคนนั้น
เมื่อรู้สึกรำคาญใจ หรือรู้สึกดาวน์เพราะการกระทำของคนที่เป็น Passive-Aggressive มันสร้างพลังลบต่อจิตใจในที่ทำงาน มีคนเดียวที่จะปกป้องสภาพจิตใจของเราจากความบอบช้ำได้ก็คือเราเอง โดยให้ลองสร้างกำแพงระหว่างเรากับเขาเพื่อกีดกันการกระทำและคำพูดเจ็บแสบออกจากใจ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจสวมหูฟังเพื่อเลี่ยงการต้องหันไปพูดคุยหรือได้ยินเรื่องแย่ ๆ จากเขา หรือ เวลาที่เราไม่โอเคกับการกระทำของเขาจนรู้สึกปวดหัว เหมือนประสาทกิน ถ้าไม่ได้ติดงานหรือยุ่งอะไรเป็นพิเศษ ก็เดินไปพักเข้าห้องน้ำหรือชงกาแฟแล้วออกมานั่งดื่มให้ห่างจากโต๊ะทำงานก็ได้
เวลาที่เราต้องการจะสื่อสารเรื่องงานหรือเรื่องบางอย่างที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนกับคน Passive-Aggressive เราจำเป็นต้องรู้จักใช้คำพูดให้ถูก ถ้าจะพูดถึงเรื่องงานก็สามารถใช้คำพูดที่ฟังดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น “โปรเจกต์ของพวกเราชิ้นนี้ต้องเริ่มเดินหน้าแล้วล่ะ”
บางครั้ง Message เดียวกันสามารถพูดได้หลายแบบ เช่น ถ้าเขาส่งงานให้เราช้ากว่ากำหนด แทนที่เราจะพูดว่า “เธอส่งงานเลทนะ” ก็สามารถเลี่ยงไปพูดว่า “อย่าลืมงานชิ้นนี้นะ” หรือเปลี่ยนไปถามแทนก็ได้ว่า “งานชิ้นนี้พวกเราใกล้ต้องพรีเซนต์แล้ว พอดีอยากทำความเข้าใจก่อนพรีเซนต์จริง ขอดูเร็วสุดได้เป็นวันไหน?” โดยน้ำเสียงที่ใช้ควรเป็นเชิงถามอย่างเป็นมิตร ไม่กดดัน
ถ้าเราจำเป็นต้องตักเตือนคนเหล่านี้ เรายิ่งต้องระมัดระวังและใช้ศิลปะการพูดไม่ให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกเราพูดโจมตี ถ้าเป็นไปได้ก็ควรพูดเตือนแบบเห็นหน้าเห็นตากันเป็นการส่วนตัวมากกว่าการฝากข้อความเอาไว้ผ่านอีเมล หรือถ้าบริษัทไหนยังต้อง Work from Home กันอยู่ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธี Video Call แบบส่วนตัวแทนก็ได้
คน Passive-Aggressive บางประเภทก็มีพฤติกรรมหาข้อแก้ตัว ไม่ยอมบอกคำตอบและสาเหตุออกมาตรง ๆ และเมื่อพฤติกรรมเหล่านี้เริ่มมามีผลกระทบกับเรื่องการงาน เราก็ต้องรู้จักแสดงความเด็ดขาดออกไปเพื่อรักษามาตรฐานการทำงานในส่วนของเราและทีมให้ยังดีอยู่ ไม่ให้คนคนเดียวมาทำให้การทำงานต้องรวนไปหมด เช่น ถ้ามีเพื่อนร่วมงานที่มักจะมาสายกว่าเวลานัดประชุมเป็นประจำ พูดคุยตักเตือนกันไปหลายรอบแล้ว ปากบอกว่าเข้าใจ แต่สุดท้ายเขาก็ยังเลททุกครั้ง คราวหน้าถ้าเรานัดประชุมตอน 8 โมงเช้าก็แจ้งเอาไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าถึงเวลา 8 โมงเช้าแล้วจะขออนุญาตเริ่มประชุมไปก่อนเลย เมื่อถึงวันประชุมแล้วเขามาสายจริง ๆ เราก็เริ่มประชุมตามเวลาที่นัดได้เลยเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเพราะได้แจ้งเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว ถึงเขาจะมีเหตุผลอะไรก็ตามเขาก็จะรู้จุดนี้ดีว่าต่อไปนี้ถ้าเขามาสายอีกจะไม่มีใครรอเขาแล้ว
คราวนี้ถ้าการกระทำของเพื่อนร่วมงานคนนั้นเริ่มกระทบกับการงานในส่วนของเราจนเราเริ่มเดือดร้อน ทำงานไม่ลื่นไหลเหมือนก่อน แนะนำให้ลองปรึกษากับหัวหน้าทีมดู โดยหาจังหวะที่เหมาะสมเข้าไปขอคำปรึกษาแต่อย่าลืมเช็กดูให้ดีว่าหัวหน้าเราเป็นกลางรึเปล่า หรือว่าหัวหน้าสนิทกับเพื่อนร่วมงานคนนี้จนเอนเอียงไปทางเขามากเป็นพิเศษไหม ถ้ารู้สึกว่าสามารถคุยได้อย่างสบายใจก็ลองเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างไม่ใส่อารมณ์ว่าเราเจออะไรมา และเราได้รับผลกระทบยังไงบ้าง รวมถึงขอคำแนะนำว่าควรจัดการปัญหานี้อย่างไร ถ้าปัญหานี้อยู่นอกเหนือขอบเขตความสามารถของเราคนเป็นหัวหน้าจะเอาประเด็นนี้ไปคิดต่อและหาทางช่วยเราเอง แต่ถ้าหัวหน้าสนิทกับเพื่อนร่วมงานคนนั้น ดูแล้วมีแนวโน้มที่จะไม่เป็นกลาง และเราไม่สบายใจที่ปรึกษาด้วย ก็อาจจะต้องไปคุยกับ HR ให้เขาช่วยเราแทน
อย่างที่เรารู้กันว่าคน Passive-Aggressive บางคนมีปัญหาด้านการแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย พฤติกรรมแย่ ๆ ที่ออกมาอาจเป็นเพราะลึก ๆ แล้วเขาเพียงแค่อยากจะสื่อสารสิ่งที่เขารู้สึกออกมาในรูปแบบใดรูปแบบนึงโดยอาจจะไม่ทันได้คิดว่ามันจะส่งผลเสียยังไงบ้าง ดังนั้นเพื่อให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพที่ดีและการทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น เราก็ควรจะแสดงตัวว่าตัวเองเป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นทุกรูปแบบ โดยจำเป็นที่จะลดอคติที่มีในใจกับคนคนนี้แล้วลองเปิดใจฟังอย่างจริงจัง เขาเองที่รู้ว่าเราพร้อมจะเปิดรับก็จะรู้สึกสบายใจที่พูดกับเราตรง ๆ มากขึ้น หรือถ้าในห้องประชุมไม่มีใครพูดอะไร จะบอกทิ้งท้ายคนในห้องประชุมว่าถ้าใครมีข้อเสนออะไรเพิ่มเติมก็เดินมาบอกเรานอกรอบหรือพิมพ์เข้ามาทางแชทโปรเจกต์งานได้เลย
ยิ่งถ้าเราเป็นหัวหน้าก็ควรสร้างวัฒนธรรมในทีมหรือในองค์กรด้วยการยอมรับความคิดเห็นและคำวิจารณ์อย่างเปิดกว้าง แจ้งกับลูกทีมว่าถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็สามารถทักแชทมาปรึกษาหรือเดินมาเล่าให้หัวหน้าฟังที่โต๊ะได้เสมอ หรือจะหาวิธีเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างการตั้งกล่องรับ Feedback ที่คนเขียนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวด้วยก็ได้
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความเป็น Passive-Aggressive ไม่ได้เป็นตัววัดศักยภาพในการทำงานของคนคนนั้น เขาอาจเป็นคนนึงที่ทำงานเก่งมากก็ได้ เพียงแค่เขายังไม่เก่งด้านการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นการจับจุดและหาวิธีดีลกับเพื่อนร่วมงานแบบนี้ให้ได้ ก็จะทำให้ทีมของเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
hbr.org
mindtools.com
psychologytoday.com