- Mindset มีความหมายลึกซึ้งกว่าคำว่า “ความเชื่อ (Belief)” ทั่ว ๆ ไป เพราะมันคือ “ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม” ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ Growth Mindset (กรอบแนวคิดแบบเปิดกว้าง) และ Fixed Mindset (กรอบความคิดแบบปิดตาย)
- คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Growth Mindset เขาเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่ยังบกพร่องอยู่ได้ ส่วนคนที่มี Fixed Mindset มักจะเชื่อว่าคนเรามีทักษะที่จำกัด ไม่สามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้แล้ว
- ขั้นตอนแรกของการปรับ Mindset จำเป็นต้องมีการฟังเสียง Mindset ของเรา ว่าบอกให้เราทำอะไรเมื่อเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ถ้าเสียงในหัวเราบอกให้ยอมแพ้แสดงว่าเราอาจเป็นคนที่มี Fixed Mindset
- ถ้าเสียงในหัวเรามีทั้ง Fixed Mindset และ Growth Mindset ให้เราเลือกที่จะฟัง Growth Mindset
- ถ้าเราเป็นคนที่มี Fixed Mindset ให้เริ่มเปลี่ยนความคิดด้วยการใช้ Growth Mindset เถียงกลับ
- เปลี่ยนความคิดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการหมั่นฝึกฝนผ่านการลงมือทำ
- ถ้าสิ่งที่ทำไม่ประสบผลสำเร็จ ให้บอกตัวเองว่า “เรายังทำไม่ได้” ไม่ใช่ “เราทำไม่ได้”
|
|
Mindset เป็นคำศัพท์ที่นำมาใช้กันบ่อยขึ้นในแง่การสร้างแรงจูงใจและพัฒนาตนเอง โดยศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ให้คำนิยามไว้ว่า Mindset หรือ “กรอบความคิด” สิ่งสำคัญคือ Mindset นั้นมีความหมายลึกซึ้งกว่าคำว่า “ความเชื่อ (Belief)” ทั่ว ๆ ไป เพราะ Mindset คือ “ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม” ซึ่ง Mindset จะมีอยู่ 2 แบบ คือ Growth Mindset (กรอบแนวคิดแบบเปิดกว้าง) และ Fixed Mindset (กรอบความคิดแบบปิดตาย)
จากงานวิจัยของ Carol Dweck นักจิตวิทยาพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมี Mindset คนละแบบกับคนทั่วไป โดยคนที่ประสบความสำเร็จจะมี Mindset แบบ Growth Mindset พวกเขาเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่ตัวเองบกพร่องได้ ในขณะที่คนทั่วไปมักมี Fixed Mindset หรือคิดว่าคนเรามีทักษะที่จำกัด ไม่สามารถพัฒนาได้แล้ว
ไม่ว่าเราจะมี Mindset แบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะพื้นฐานของมนุษย์เราอยากอยู่ในที่ที่เคยชิน ไม่อยากจะเสี่ยง แต่สำหรับคนทำงานแล้วการมี Growth Mindset จะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้นลองมาตรวจสอบตัวเองว่าเรามี Mindset แบบไหน แล้วถ้าอยากจะพัฒนา Mindset ของเรา จะมีวิธีการอย่างไรได้บ้าง
1. ฟังเสียง Mindset
ขั้นตอนแรกคือเราต้องรู้ Mindset ของเราว่าเป็นแบบไหน ลองคิดดูว่าถ้า Mindset เป็นคน ๆ นึงในหัวของเราเขาจะพูดกับเราว่ายังไง เมื่อต้องเจองานใหม่ที่ท้าทายแล้ว Mindset พูดกับเราว่า “จะทำได้เหรอ” “เก่งพอหรือเปล่า” “ถ้าพลาดนี่อายนะ” ถ้าได้ยินคำพูดเหล่านี้ออกมาจากหัวเราบ่อย ๆ เรามีแนวโน้มว่าจะเป็นคนที่มี Fixed Mindset ซึ่งจะทำให้ไม่กล้าพัฒนาตนเอง และมันอาจทำให้อาชีพการงานถึงทางตันได้ง่าย ๆ เลย
2. เลือกที่จะฟัง Growth Mindset
เมื่อเรารู้แล้วว่า Mindset ของเราเป็นแบบไหนต่อมาคือหาสาเหตุให้ได้ว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองคืออะไร ถ้าหากพบแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเราแล้วว่า เราจะมองสิ่งนั้นเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เราพลาดท่าต้องหลีกเลี่ยง หรือมองเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ถ้าเราเลือกอย่างแรกนั่นคือเราใช้ Fixed Mindset แต่ถ้าเราเลือกอย่างหลังเรากำลังก้าวเข้าสู่การใช้ Growth Mindset แล้ว
3. เถียงกลับ
Mindset เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามานาน การจะปรับเปลี่ยนให้ได้ในความพยายามครั้งแรกนั้นเป็นไปยากมาก Fixed Mindset ที่อยู่ในหัวเราจะคอยมาพูดกับเราตลอดเวลา วิธีการจัดการก็คือการเถียงกลับไป เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย Fixed Mindset จะส่งเสียงมาหาเรา ให้เราตอบกลับเสียนั้นไปด้วย Growth Mindset เช่น
- Fixed Mindset ในหัวบอกว่า: จะทำงานนี้ได้หรอ ความสามารถไม่น่าถึงนะ
- Growth Mindset ตอบกลับไปว่า: ก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าพยายามก็น่าจะเรียนรู้ได้
- Fixed Mindset ในหัวบอกว่า: ถ้าพลาดขึ้นมา อายเขานะ
- Growth Mindset ตอบกลับ: ไม่มีใครไม่เคยทำพลาด เราเรียนรู้จากมันได้
4. ลงมือทำ
เป้าหมายการเปลี่ยน Mindset ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนความคิด แต่ต้องส่งผลถึงพฤติกรรมด้วย สิ่งที่ทำให้เราติดอยู่กับ Fixed Mindset เป็นเพราะว่าไม่กล้าที่จะออกจาก Comfort Zone เมื่อเราเปลี่ยนเสียงของ Growth Mindset ให้เป็นพฤติกรรมได้ รู้สาเหตุว่าอะไรที่เราบกพร่องทำให้เราไม่มั่นใจ เราก็หาวิธีฝึกฝนในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยาย Comfort Zone ของเราออกไปได้ ความสามารถในการพัฒนาตนเองเราก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
5. ไม่มีอะไร “ทำไม่ได้” มีแค่ตอนนี้ “ยังทำไม่ได้”
เราต้องยอมรับว่าในหลายเรื่องเราไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ทันทีอย่างที่คิด เมื่อทำแล้วผิดพลาด อาจจะยิ่งตอกย้ำแล้วพาเรากลับไปอยู่ Fixed Mindset อีกครั้ง สิ่งที่เราจะทำได้เมื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ประสบผลสำเร็จก็คือ บอกตัวเองว่ามันก็แค่เรายังทำไม่ได้ในตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราทำมันไม่ได้เลย การเติมคำว่ายังเข้าไป จะช่วยเปลี่ยน Mindset ของเราให้กลายเป็น Growth Mindset ได้ ตัวอย่างเช่น เราทำไม่ได้ จะทำให้เราหยุดพัฒนาตนเองเป็น Fixed Mindset แต่ถ้าเราพูดว่าตอนนี้ยังทำไมได้ โดยนัยของมันแล้วหมายความว่ามันจะมีโอกาสทำได้ในอนาคต ซึ่งคือ Growth Mindset นั่นเอง
Mindset มีผลมากกับกระบวนการทางความคิดและการตัดสินใจของเราในอนาคต ดังนั้นลองเปลี่ยนความคิดจากการติดอยู่ในกรอบ Mindset เดิม ๆ แล้วก้าวออกมาพัฒนา Mindset ของตัวเองให้เป็น Growth Mindset หรือแนวความคิดที่มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ 'ลอง' สิ่งใหม่ เราเชื่อเสมอว่าโลกใบนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นมนุษย์เองก็ไม่ควรหยุดพัฒนาเช่นกัน
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
inc.com