- ทบทวนตัวเองให้แน่ใจว่าต้องการเปลี่ยนสายงานจริง ๆ ใช่ไหมและทำไมจึงอยากเปลี่ยน ประเมินความเสี่ยงที่จะตามมาหากย้ายสายงานและถามตัวเองว่าสามารถยอมรับได้หรือเปล่า
- เมื่อมั่นใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนสายงานแน่นอน ขั้นต่อไปคือการศึกษาข้อมูลและทำการบ้านเกี่ยวกับสายอาชีพที่ต้องการทำ รวมถึงวางแผนและเตรียมความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้าให้เรียบร้อย
- พิจารณาดูว่าตนเองยังขาดคุณสมบัติอะไรอยู่บ้างสำหรับตำแหน่งงานใหม่ จากนั้นก็เสริมทักษะในสิ่งที่ตัวเองขาดไป เช่น ลงเรียนคอร์สเรียนเพิ่มเติม ทบทวนความรู้เก่าที่มี ฝึกปรือฝีมือด้านนั้น ๆ ให้เชี่ยวชาญขึ้น
- มองหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ ลองดูว่าประสบการณ์จากการทำงานในสายงานเก่ามอบทักษะติดตัวอะไรให้บ้าง จากนั้นหยิบจุดแข็งเหล่านี้ไปปรับแต่งในเรซูเม่ให้เหมาะสมกับสายงานใหม่ และเขียน Cover Letter เพื่อเล่าที่มาที่ไปของการเปลี่ยนสายงานครั้งนี้แนบไปพร้อมกับเรซูเม่ด้วย
- คอนเน็กชันที่มีเองก็สำคัญ อย่าลืมมองหาเครือข่ายเพื่อนและคนรู้จัก ไม่แน่ว่าอาจทำให้เราได้ Offer งานที่ถูกใจไวขึ้นกว่าเดิม
- เตรียมคำตอบเวลาสัมภาษณ์ให้ดี เพราะองค์กรย่อมอยากรู้ว่าทำไมถึงอยากเปลี่ยนสายงาน พยายามแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าตัดสินใจแน่วแน่แล้ว กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้งานใหม่ และอายุไม่ใช่อุปสรรค
|
|
การเปลี่ยนสายงานของคนทำงานที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานอาจไม่ใช่เรื่องแปลกและทำได้ไม่ยาก เพราะอายุยังน้อยและถือว่ายังอยู่ในช่วงค้นหาแนวทางการทำงาน งานที่ชอบ ยังมีเวลาให้ได้ฝึกฝน เรียนรู้และลองอะไรใหม่ ๆ อีกมาก แต่กับคนทำงานที่อายุเข้าวัยเลขสามหรือสี่ การเปลี่ยนสายงานอาจต้องคิดหนักและมีเรื่องให้เตรียมความพร้อมเยอะกว่าเดิม
สำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหาอยากย้ายสายงาน แต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มจากตรงไหนเพราะอายุมากแล้ว ไม่ต้องกังวลใจไป ไม่มีคำว่าสายเกินย้ายงานแน่นอน JobThai ขอแนะนำแนวทางการเตรียมตัวให้ดังนี้
ทบทวนตัวเองให้แน่ใจว่าต้องการเปลี่ยนสายงานจริง ๆ
สิ่งแรกที่ควรทำคือการไตร่ตรองกับตัวเองให้ถี่ถ้วนดีก่อนว่าต้องการเปลี่ยนสายงานจริง ๆ ใช่ไหม ไม่ได้เป็นแค่อาการเบิร์นเอาต์เพียงชั่วคราว เบื่อรูทีนการทำงานเดิม ๆ เนื้องานหมดความท้าทาย หรือเกิดจากการมีปัญหากับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ปัจจัยเหล่านี้อาจแก้ไขได้ด้วยการพักผ่อนและออกไปหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ การพูดคุยปรึกษากับหัวหน้างานโดยตรงเพื่อหาทางออกร่วมกัน หรือมองหางานในบริษัทใหม่โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสายงาน เพราะต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนสายงานในวัยสามสิบขึ้นไปนั้นอาจไม่ได้เรียบง่ายและมีความเสี่ยงไม่น้อย
แต่หากไม่ใช่ความเบื่อหน่ายหรืออาการหมดไฟชั่วคราว และมั่นใจว่าต้องการเปลี่ยนสายงานจริง ๆ ก็ควรระบุเหตุผลกับตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนสายงานเพราะอะไร เพื่อจะได้วางเป้าหมายสำหรับการเปลี่ยนเส้นทางอาชีพให้แน่ชัดและมั่นคง ไม่เกิดคำถามหรือความลังเลใจขึ้นอีกในอนาคต เช่น ต้องการย้ายสายเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาตลอดไม่ใช่ตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ความสนใจเปลี่ยนแปลงไปและอยากทดลองทำสิ่งใหม่ดู สายงานที่ทำอยู่นั้นโอกาสเติบโตน้อย ความก้าวหน้าไม่เท่าสายงานอื่น แม้จะอายุงานเยอะแล้วแต่เงินเดือนที่ได้ก็ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ จึงอยากเปลี่ยนสายงานเพราะโครงสร้างเงินเดือนของสายงานใหม่ค่อนข้างดี เรามีโอกาสได้เงินเดือนสูงกว่าเดิมเมื่อมีประสบการณ์ในสายงานนั้นมากขึ้น เพิ่มโอกาสการต่อยอดในอนาคต ฯลฯ
เมื่อได้คำตอบที่แน่ชัดแล้วก็ต้องประเมินความเสี่ยงของการเปลี่ยนสายงาน ว่าตัวเองสามารถยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ไหม หากต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยขั้นตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าเดิม เช่น งานที่เราทำอยู่เป็นระดับหัวหน้าทีม แต่งานใหม่เราต้องไปเริ่มใหม่ เป็นลูกทีมของคนอื่น ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่กว่าจะเชี่ยวชาญ รวมถึงเงินเดือนที่ได้ในช่วงแรกอาจลดน้อยลงจากฐานเงินเดือนในปัจจุบันด้วย
ตัดสินใจว่าจะเบนไปทางไหนและศึกษาข้อมูล
หลังจากทบทวนกับตัวเองจนแน่ใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนสายงานแน่ ๆ ขั้นต่อไปคือตัดสินใจว่าจะเบนหัวเรือไปยังเส้นทางไหน สำหรับคนที่มีจุดมุ่งหมายในใจอยู่แล้วก็คงไม่ต้องคิดหนักเท่าไหร่นัก สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานและคุณสมบัติที่สายอาชีพนั้นต้องการได้เลย แต่สำหรับคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี รู้แค่สิ่งที่ทำอยู่นี้ยังไม่ใช่ อาจลองพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคนที่ทำงานสายอื่น ๆ ดูว่าเนื้องานในแต่ละสายอาชีพนั้นเป็นอย่างไร ฟังแล้วรู้สึกสนใจไหม หรืออาจลองศึกษาข้อมูลตามเว็บไซต์แนะนำงานต่าง ๆ หรือแพลตฟอร์มหางาน เพราะประกาศงานที่แต่ละบริษัทลงไว้ เขาจะเขียนรายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบของนั้น ๆ เอาไว้ ก็จะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่างานนั้นเขาทำอะไรกันบ้าง และทำแบบทดสอบสาขาอาชีพที่ใช่เพื่อค้นหาตัวตนดู
ทั้งนี้อย่าลืมคำนึงถึงสาเหตุแรกเริ่มที่ทำให้อยากย้ายสายงานด้วย หากต้องการเปลี่ยนสายงานไปเพื่อทำสิ่งที่เป็นตัวเองมากกว่า ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมก็อาจเลือกจากความสนใจหรือความชอบส่วนตัวได้ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนสายงานเพื่อหวังโครงสร้างเงินเดือนที่สามารถต่อยอดในอนาคตได้มากกว่าเดิม ก็อาจต้องนำปัจจัยนี้เข้ามาใช้พิจารณาเลือกเส้นทางใหม่ที่จะก้าวเดินไปด้วย
วางแผนและเตรียมความพร้อมด้านการเงิน
พออายุมากขึ้น ภาระและค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับก็มีมากกว่าในตอนที่อายุยังน้อย หลายคนอาจต้องคอยดูแลอุปการะพ่อแม่ ส่งเสียลูกเรียนหนังสือ เก็บเงินเพื่อครอบครัวหรือผ่อนชำระหนี้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ หรือคอนโด การวางแผนด้านการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ ก่อนก้าวออกจากงานสายเดิมไปเริ่มต้นใหม่ควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้ดี อย่างน้อยควรมั่นใจได้ว่าในช่วงที่ยังตั้งหลักกับเส้นทางใหม่ไม่ได้ รายได้อาจลดลงและไม่แน่นอน เงินที่เก็บสำรองไว้จะยังมีพอให้ใช้ได้แบบไม่ลำบาก มีเผื่อไว้สำหรับยามฉุกเฉิน และสามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายรายเดือนได้ไม่ติดขัด
ในกรณีที่ตั้งใจจะเปลี่ยนสายงานโดยลาออกจากงานเดิมมาตั้งหลักชั่วคราวก่อน อาจต้องวางแผนโดยคำนวณช่วงที่ว่างงานตรงนี้เข้าไปด้วยว่าระยะเวลาประมาณกี่เดือนและสำรองเงินเพิ่มเติมเอาไว้ นอกจากนี้อย่าลืมจัดการหนี้สินให้ได้มากที่สุดก่อนออกจากงาน วางแผนการลงทุนในกรณีที่ต้องการเงินปันผลเป็น Passive Income อีกทาง รวมถึงวางแผนการทำบัตรเครดิตหรือทำประกันอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะหากพ้นจากสถานะพนักงานเงินเดือนแล้ว สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทก็จะหายไปด้วย และการทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ก็อาจติดขัดเพราะ Statement รายได้ในแต่ละเดือนหายไปแล้วนั่นเอง
เสริมทักษะในส่วนที่ขาด
เมื่อจัดการกับตัวเองในเรื่องการเงินเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็มาจัดการกับตัวเองในด้านทักษะที่ยังขาดไปสำหรับสายงานใหม่ หลังจากทำการบ้านและศึกษาข้อมูลจนรู้แล้วว่าตัวเองยังขาดคุณสมบัติอะไรอยู่บ้าง ก็ได้เวลาเพิ่มพูนทักษะที่สายอาชีพใหม่ต้องการ ทั้งนี้แต่ละสายงานอาจต้องการทักษะการทำงานที่แตกต่างกัน การเสริมทักษะในส่วนนี้จึงอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีไปตามสายงาน รวมถึงพิจารณาทักษะเดิมที่เคยมีอยู่ด้วยว่าต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์หรือสามารถต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วได้
หากสายงานที่ต้องการทำนั้นอาศัยความรู้ความเข้าใจเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต หนังสือ สื่อออนไลน์ หรือลงเรียนคอร์สเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรหรือใบรับรองมาเพื่อช่วยทดแทนการเรียนหรือทำงานมาไม่ตรงสายและขาดประสบการณ์ เช่น หากต้องการเบนเข็มไปทำงานสายเทคโนโลยีและไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลย ก็อาจลงเรียนคอร์ส Coding หรือ Data Science โดยเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นปูพื้นฐาน หรือหากเป็นสายงานด้านออกแบบหรืองานสายภาษา ก็อาจศึกษาการใช้โปรแกรมในการทำงาน ทบทวนความรู้เก่าที่มีในกรณีมีพื้นฐานมาก่อนแล้ว เตรียมตัวสอบวัดระดับทางภาษาใหม่ รวมถึงฝึกปรือฝีมือเพื่อเตรียมตัวเองให้คุ้นชินกับเนื้องานที่กำลังจะโยกย้ายไปทำ โดยอาจฝึกแปลบทความ ทำโปรเจกต์ออกแบบสร้างสรรค์เล็ก ๆ ส่วนตัว หรือรับงานที่ต้องใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อเก็บประสบการณ์ในระหว่างนี้ไปด้วย
มองหาจุดเด่นของตัวเองและปรับแต่งเรซูเม่ให้น่าสนใจ
การปรับแต่งเรซูเม่สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนสายงานนั้นอาจต้องใช้พลังมากพอสมควร เพราะต้องพยายามเชื่อมโยงงานเก่าเข้ากับงานใหม่ รวมถึงหาวิธีการนำเสนอตัวเองให้น่าสนใจที่สุดเพื่อจะได้เข้าตาบริษัทในสายงานที่มุ่งหวัง พอถึงขั้นตอนนี้ หลายคนในวัยสามสิบขึ้นไปก็อาจถอนหายใจและคิดว่าตัวเองไร้จุดแข็งที่จะสู้กับผู้สมัครคนอื่น ๆ เพราะอายุเริ่มมากแล้ว แถมยังไม่มีประสบการณ์ในสายงานที่จะสมัครอีกต่างหาก แต่ใช่ว่าคนวัยนี้จะไม่มีข้อได้เปรียบเลย เพราะถึงแม้จะไม่มีประสบการณ์ในสายงานใหม่ แต่ประสบการณ์จากสายงานเก่าก็อาจกลายเป็นจุดแข็งของคนกลุ่มนี้ได้
ยกตัวอย่างกรณีที่เปลี่ยนสายงานแต่กลุ่มบริษัทที่ต้องการสมัครยังอยู่ในธุรกิจแวดวงเดิมหรือเกี่ยวข้องกับสายงานเก่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็อาจพลิกให้กลายเป็นข้อได้เปรียบได้ เพราะบางธุรกิจก็ต้องอาศัยความเข้าใจเฉพาะทาง ส่วนทักษะเสริมอื่น ๆ อาจไปขัดเกลาทีหลังได้ เช่น ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นครูสอนภาษามาก่อน แต่อยากเปลี่ยนมาทำงานสายการตลาดดู หากได้ลองเรียนคอร์สเรียนด้าน Marketing เพิ่มแล้วสมัครงานตำแหน่งการตลาดในสถาบันสอนภาษาก็อาจกลายเป็นแคนดิเดตที่น่าสนใจ เพราะเข้าใจลักษณะของธุรกิจ รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ความยากในการเรียนคืออะไร Pain Point เป็นอย่างไร และสามารถนำความรู้ทางภาษาที่มีมาประยุกต์ใช้กับการคิดกลยุทธ์การขายหรือโปรโมตได้ เพียงแต่อาจต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเท่านั้น
แต่หากสายงานใหม่ที่ต้องการเบนเข็มไปทำนั้นไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงกับสายงานเดิมมากนักก็ไม่เป็นไร เพราะจุดแข็งอีกอย่างของคนที่มีอายุงานเยอะคือ Soft Skills ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา แม้จะดูเป็นทักษะแฝงที่ไม่ใช่ทักษะหรือความรู้เฉพาะทางในการทำงาน แต่ Soft Skills เหล่านี้ก็สามารถนำไปปรับใช้กับงานใหม่ได้เหมือนกัน เช่น ก่อนหน้านี้เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการหรือซีเนียร์ ก็อาจมีความเป็นผู้นำและมีทักษะการบริหารจัดการที่ดีกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ หากบริษัทกำลังมองหาคนที่มีสกิล Management และให้น้ำหนักกับคุณสมบัติข้อนี้เป็นพิเศษ เราก็อาจตอบโจทย์องค์กรและผ่านการคัดเลือก ดังนั้นคนทำงานในวัยสามสิบขึ้นไปที่ต้องการเปลี่ยนสายงานจำเป็นต้องมองหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ ลองพิจารณาดูว่าประสบการณ์ในการทำงานหลายปีที่ผ่านมาให้ทักษะและความรู้ความเข้าใจในด้านไหนติดตัวมาบ้าง จากนั้นก็หยิบสิ่งเหล่านี้มาใส่ในเรซูเม่ให้เหมาะสมกับสายงานที่ต้องการมุ่งหน้าไป
ทักษะการทำงานที่อาจเป็นจุดแข็งของคนวัย 30+
-
ทักษะการสื่อสาร สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ เจรจาต่อรอง โน้มน้าวใจ อธิบายหรือนำเสนองานได้อย่างคล่องแคล่ว
-
ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น สามารถปรับตัวเข้ากับคนได้หลายรูปแบบ พลิกแพลงสไตล์การทำงานให้เข้ากับตำแหน่งอื่น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นแผนกเดียวกันหรือต่างแผนก สามารถสร้าง Teamwork ที่ดีให้กับองค์กรได้
-
ทักษะความเป็นผู้นำ สามารถบริหารจัดการงานและคนได้ วิเคราะห์และตัดสินใจได้ดี สามารถให้คำปรึกษาและสนับสนุนเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ได้
-
ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานมามาก พบเจอปัญหามาหลายรูปแบบ ทำให้มีวุฒิภาวะมากขึ้น รับมือกับปัญหาได้ไวและเก่งขึ้น
เขียน Cover Letter เพื่อบอกเล่าที่มาของการเปลี่ยนสายงาน
นอกจากการปรับแต่งเรซูเม่แล้ว การเขียน Cover Letter หรือจดหมายสมัครงานเพื่อบอกเล่าที่มาที่ไปของการตัดสินใจย้ายสายงานในครั้งนี้ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย เพราะหากเราสมัครงานด้วยการส่งเรซูเม่ไปเพียงอย่างเดียว เมื่อทางองค์กรเปิดใบสมัครของเราดูแล้วพบว่าประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร หรือคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ประกาศรับสมัครระบุรายละเอียดเอาไว้ ฝ่าย HR ก็อาจเข้าใจผิดได้ว่าเราสมัครงานผิดตำแหน่ง หรือสมัครงานแบบหว่านตำแหน่งและบริษัท ทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพและอาจส่งผลให้ใบสมัครของเราถูกคัดออกได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามการเขียน Cover Letter โดยอาจเขียนแนะนำตัวเองคร่าว ๆ ว่าเราเป็นใคร เคยทำงานในตำแหน่งใดมาก่อน และอธิบายว่าเราต้องการย้ายสายงานด้วยเหตุผลอะไร ทำไมถึงเลือกสมัครตำแหน่งงานนี้ เพื่อที่ HR จะได้เข้าใจว่าเราต้องการย้ายสายงานจริง ๆ ไม่ได้สมัครงานผิดตำแหน่ง นอกจากนี้การเขียน Cover Letter ยังช่วยแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเรา ช่วยให้เราดูเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือขึ้นอีกด้วย
Connection ที่ผ่านมาใช่ว่าไม่สำคัญ
ข้อได้เปรียบของคนที่ทำงานมานาน นอกจากเรื่องของ Soft Skills แล้ว ยังมีเรื่องของ Connection อีกด้วย หลายครั้งหลายคราเรามักได้ยินข่าวสารตำแหน่งงานว่างจากบริษัทที่เพื่อนหรือคนรู้จักกำลังทำงานอยู่ หากกลุ่มคนเหล่านี้รู้ว่าเรากำลังมองหางานใหม่ในแวดวงของพวกเขาหรือธุรกิจที่พวกเขามีข้อมูล ก็อาจช่วยแนะนำงานที่น่าสนใจให้กับเราได้เช่นกัน ยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้นด้วยแล้ว การเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยิ่งทำได้ง่าย บางทีคนรู้จักของเพื่อนที่กำลังมองหาคนไปทำงานร่วมกันบังเอิญมาเห็นโปรไฟล์ของเราและรู้สึกว่าน่าสนใจ ก็อาจสอบถามข้อมูลการทำงานผ่านทางเพื่อนของเราและชักชวนให้เราไปร่วมงานด้วยก็เป็นได้
นอกจากนี้ในบางบริษัทยังมีระบบ Employee Referral หรือการสมัครงานแบบเพื่อนแนะนำเพื่อนที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแนะนำคนรู้จักเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับด้วย ซึ่งเคยมีการสำรวจพบว่าโอกาสที่แคนดิเดตที่สมัครงานผ่านวิธีนี้จะได้งานนั้นสูงกว่าปกติถึง 4 เท่า เพราะบริษัทสามารถพิจารณาและสอบถามข้อมูลเชิงลึกของแคนดิเดตจากพนักงานที่แนะนำได้โดยตรง และข้อมูลที่ได้ก็อาจตรงไปตรงมากว่าข้อมูลที่ปรากฏบนเรซูเม่เพราะมาจากคนที่รู้จักจริง ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Connection มีส่วนช่วยในการหางานอย่างมาก ยิ่งคนที่ทำงานมานานก็ยิ่งมีโอกาสได้พบปะทำความรู้จักผู้คนมากขึ้น และในเครือข่ายของกลุ่มคนที่เรารู้จักเหล่านี้ก็อาจทำให้เราได้ Offer งานที่ต้องการด้วย สำหรับคนที่กำลังวางแผนเปลี่ยนสายงานอยู่ อาจลองมองหา Connection ที่มีดู ไม่แน่ว่าอาจทำให้การย้ายสายงานในครั้งนี้สำเร็จผลเร็วขึ้นก็เป็นได้
พกความมั่นใจเข้าห้องสัมภาษณ์
หากผ่านด่านต่าง ๆ จนมาถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์ได้แล้วย่อมแปลว่าองค์กรสนใจในตัวเราระดับหนึ่งและอาจมองข้ามประสบการณ์ที่ไม่ตรงสายของเราไปได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำมีเพียงปล่อยใจให้สบายแล้วก้าวเข้าห้องสัมภาษณ์ไปพร้อมความมั่นใจเท่านั้น แน่นอนว่าเมื่อเปลี่ยนสายงาน องค์กรย่อมอยากรู้ว่าสาเหตุที่ตัดสินใจเช่นนี้คืออะไร ยิ่งเป็นการย้ายสายงานตอนอายุมากด้วยแล้ว เหตุผลยิ่งต้องมีน้ำหนักระดับหนึ่ง การเตรียมคำตอบไปให้พร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้สมัครควรตอบเหตุผลออกไปให้ชัดเจน อธิบายให้เขาเห็นถึงข้อดีและจุดเด่นต่าง ๆ ที่เรามีซึ่งทดแทนประสบการณ์ในสายงานที่ขาดไปให้ได้ แสดงให้องค์กรเห็นว่าตัวเองได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้ว ไม่ลังเลและพร้อมเริ่มต้นใหม่ แม้อายุจะเยอะแต่ไม่เป็นอุปสรรคกับการเรียนรู้งานแน่นอน
การเปลี่ยนสายงานนั้นหมายถึงการเดินออกจากเส้นทางที่ตัวเองชำนาญและมีประสบการณ์เพื่อไปแข่งขันกับเด็กจบใหม่ คนที่เรียนหรือทำงานมาตรงสาย ตลอดจนคนอื่น ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานเหมือนกัน การเริ่มต้นใหม่จึงอาจไม่ได้ราบรื่นและพบเจออุปสรรคระหว่างทางบ้าง สัมภาษณ์แล้วผลไม่เป็นดังใจบ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะบางสายงานก็ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาก่อน และมีทักษะเฉพาะทางจริง ๆ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานจึงไม่ควรรีบร้อนและให้เวลากับตัวเอง พยายามมองหาจุดแข็งที่มีอยู่จากการสั่งสมประสบการณ์ในสายงานเดิม ลับคมเสริมเขี้ยวและเพิ่มทักษะให้ตรงกับที่สายงานใหม่ต้องการ โอกาสในการเปลี่ยนสายงานก็จะเพิ่มขึ้น
หากอยากเปลี่ยนสายงาน ฝากประวัติเพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานใหม่กับเราได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 400,000 members |
|
|
|
ที่มา:
marieclaire.co.uk, lifehack.org, online.wharton.upenn.edu, indeed.com, reed.co.uk, resources.workable.com, scb.co.th, resumegenius.com, novoresume.com, linkedin.com