ไม่ว่าจะเก่งกาจมากความสามารถมาจากไหน เมื่ออยู่ในองค์กรแล้วก็ไม่มีใครทำงานคนเดียวได้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เอาไว้ ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะมันจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานได้อย่างมาก เราคงไม่อยากจะให้งานพัง เหมือนความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงานหรอกใช่ไหม?
JobThai จะพาไปดูกันว่าวิธีสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ทำได้ง่าย ๆ มีอะไรบ้าง
- อย่าเป็นฝ่ายพูดอยู่คนเดียว ให้รับฟังคนอื่นบ้าง เพื่อให้รู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้น รวมทั้งแสดงออกว่ากำลังตั้งใจฟังขณะที่คู่สนทนากำลังพูด และอย่าขัดจังหวะเวลาที่คนอื่นพูดถ้าไม่จำเป็น
- รักษาน้ำใจและให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน อย่าแสดงอาการไม่สนใจ ถึงเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่สนใจก็ตาม และก่อนที่จะพูดอะไรออกไป อย่าลืมคิดให้ดีก่อน
- เมื่อมีเรื่องราวดี ๆ ที่น่าจะมีประโยชน์ก็อย่างลืมแบ่งปันให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วย เพราะข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจสร้างโอกาสอะไรดี ๆ ให้พวกเขาได้
- อย่าคิดว่าความคิดของตัวเองถูกต้องเสมอ และเมื่อเพื่อนร่วมงานทำอะไรดี ๆ ก็อย่าลืมที่จะชื่นชมเขาอย่างจริงใจด้วย
- เวลาทำอะไรผิดพลาด ให้กล้าที่จะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน แต่อย่าพูดถึงความผิดพลาดของคนอื่นลับหลัง
|
|
“คิดก่อนพูด” ประโยคคลาสสิกที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์
คำพูดเพียงคำเดียวส่งผลกระทบได้กับทั้งตัวเราเองและเพื่อนร่วมงาน ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปทุกครั้ง ลองคิดดูให้ดีก่อนว่าเรื่องที่เราจะพูดมันจะส่งผลดีหรือผลเสียอะไร ต่อใครบ้างไหม
นอกจากนั้นเลือกวิธีการพูดและภาษาที่ใช้ให้เหมาะสม รวมไปถึงการแสดงออกทั้งน้ำเสียง สีหน้าและท่าทางด้วย อย่าวางมาดโดยไม่สนใจคนอื่น หรือใช้มาตรฐานและความคิดของตัวเองเป็นใหญ่และตัดสินทุกคน เพราะการทำอย่างนั้นรังแต่จะทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นเบือนหน้าหนีและไม่อยากจะคุยด้วย
ปล่อยให้คนอื่นพูดบ้าง แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ
การพูดคุยเป็นสื่อสารแบบสองทางที่ต้องมีทั้งคนพูดและคนฟัง คงรู้สึกไม่ดีใช่ไหมล่ะถ้าไม่มีใครสนใจฟังเวลาที่เรากำลังพูด หรือต้องเอาแต่เป็นฝ่ายฟังทั้งที่มีเรื่องอยากจะพูด เพราะคนอื่นพูดไม่หยุด ดังนั้นเราเองก็ไม่ควรจะทำพฤติกรรมแบบนั้นกับคนอื่นเหมือนกัน
เวลาที่พูดคุยกันเราจึงไม่ควรเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว แต่ต้องฟังคนอื่นบ้าง และถ้าเราเป็นฝ่ายฟัง ก็ไม่ใช่ฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาให้จบ ๆ ไป หรือทำเป็นฟังแต่สมาธิไปอยู่กับโทรศัพท์ที่กำลังเลื่อนดู แต่เราต้องฟังอย่างตั้งใจ แม้ว่าเรื่องที่พูดจะไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจสักเท่าไหร่ก็ตาม รวมถึงกระตือรือร้นที่จะถามในเรื่องที่สงสัย แสดงออกว่าเรากำลังฟังเขาอยู่ อาจจะแค่ยิ้ม หรือพยักหน้า โดยไม่ต้องพูดแทรกขึ้นมาถ้าไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญจริง ๆ
ยิ่งเราฟังมากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการมากเท่านั้น นอกจากนั้นเรายังอาจจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากการฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยก็ได้
หยุดซ้ำเติม หยุดนินทา แล้วหาโอกาสชมคนอื่นบ้าง
ไม่ว่าใครก็ต้องเคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น เรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้างต่างกันไป และถ้าทำผิดไปแล้วก็คงไม่มีใครอยากที่จะถูกต่อว่าซ้ำเติม หรือถูกเอาไปนินทาลับหลัง ความคิดเห็นบางอย่างเราก็อาจจะต้องเก็บเอาไว้ในใจ เพราะถ้าเผลอไปพูดต่อกับคนอื่น แล้วเรื่องไปถึงหูคนที่เราพูดถึงเข้า นอกจากจะซ้ำเติมเขาแล้ว ถ้าเขาไม่พอใจขึ้นมาก็อาจจะบาดหมางกันจนมองหน้าไม่ติด ดีไม่ดีอาจจะส่งผลไปถึงการทำงานเลยด้วย
นอกจากนั้นก็หาโอกาสส่งเสริมคนอื่นด้วยคำชมที่จริงใจด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการให้กำลังใจและทำให้เขาเห็นว่าคนอื่น ๆ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำแล้ว ยังจะทำให้เห็นด้วยว่าเราเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียดหรือเรื่องราวความเป็นไปของเพื่อนร่วมงาน
อย่าหวงวิชา และกล้าที่จะเปิดเผยความผิดพลาดของตัวเอง
นอกจากเรื่องดินฟ้าอากาศ ชีวิตประจำวัน หรือเรื่องรอบตัวทั่ว ๆ ไปแล้ว ลองหยิบเอาข้อมูลความรู้หรือเรื่องราวดี ๆ ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ มาแชร์ดูบ้าง ใครจะรู้ข้อมูลแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราพูดไป อาจจะทำให้พวกเขาเกิดไอเดียดี ๆ อะไรขึ้นมา จนกลายเป็นโอกาสหรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็ได้
ไม่ใช่แค่เรื่องดี ๆ อย่างเดียว แต่เรื่องที่เราเคยทำพลาดก็เล่าได้เหมือนกัน มันจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราเองก็เป็นเหมือนคนอื่น ๆ ทั่วไปที่เคยทำผิดพลาด หลายคนอาจจะกลัวถูกหัวเราะเยาะเวลาทำพลาด แต่เราต้องกล้าที่จะหัวเราะกับความผิดพลาดของตัวเอง แล้วใช้มันเป็นบเรียนไปซะ ถ้าเรายอมรับกับความผิดพลาดของเราได้ คนอื่น ๆ ก็จะหัวเราะและเปิดใจไปกับเรา
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา:
businessinsider.com