ความผิดซ้ำซากที่คนเป็นหัวหน้ามักทำในการประเมินปลายปี

ความผิดซ้ำซากที่คนเป็นหัวหน้ามักทำในการประเมินปลายปี
08/12/23   |   32.1k   |  

 

  • ไม่ว่าลูกทีมจะมีผลงานที่ดีหรือไม่ดี หัวหน้าก็ควรจะพูดให้เฉพาะเจาะจงไปถึงรายละเอียดนั้นว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ควรแก้ไขหรือพัฒนาจุดใดเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อดีได้ถูกต่อยอดและพัฒนาขึ้น ในขณะที่ข้อเสียก็จะได้ถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุด

  • อย่าเอาแค่ผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงใกล้ประเมินมาตัดสินผลการประเมิน แต่ให้ดูถึงภาพรวมทั้งหมดที่ผ่านมา และควรนำผลการประเมินครั้งก่อนหน้ามาพิจารณาด้วย เพื่อให้เห็นว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเขาทำผลงานได้ขึ้นหรือไม่อย่างไร

  • ประเมินจากเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่เอาผลงานของคนในทีมมายึดเป็นเกณฑ์และเปรียบเทียบกันเอง รวมถึงอย่าเอาความสามารถของคนในทีมมาเปรียบเทียบกับตัวเอง เพราะเรื่องง่ายสำหรับคุณ อาจไม่ได้ง่ายสำหรับคนในทีม

  • แยกแยะข้อดีข้อเสียให้ชัดเจน อย่าให้ข้อดีของเขา และความรู้สึกส่วนตัวมาทำให้คุณละเลยข้อเสียที่เขาควรปรับปรุง แสดงความเห็นอย่างจริงใจโดยมีเหตุผลรองรับเสมอ และอย่ารักษาน้ำใจกันด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเชิงลบ เพราะการไม่ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องก็เป็นการทำร้ายเขาทางอ้อมเช่นกัน

  • เปิดโอกาสให้คนในทีมได้แสดงความเห็นด้วย เพราะมันอาจจะทำให้คุณได้เห็นถึงความคิดที่แปลกใหม่ หรือมุมมองที่คุณคิดไม่ถึง

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ใคร ๆ ก็ทำผิดได้ แต่ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่ทำผิดในการ “ประเมินลูกทีม” ก็คงจะไม่ค่อยดีนัก การประเมินในแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก ซึ่งหัวหน้าเองก็มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเอยะ ทำให้พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือละเลยต่อการประเมินไป และเมื่อทำบ่อยครั้งเข้าก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อองค์กรโดยไม่รู้ตัวได้ ตัวอย่างเช่น คนไม่มีผลงานก็ไม่พัฒนาเพราะไม่มีคำแนะนำ คนผลงานดีถูกมองข้ามจึงต้องลาออกในที่สุด หรือคนที่ทำพฤติกรรมไม่ดีก็ไม่เคยถูกตักเตือนแล้วสร้างปัญหาให้กับทีมไม่จบ

 

วันนี้ JobThai ได้รวบรวมข้อผิดพลาดมาให้คนเป็นหัวหน้าได้ลองเช็กกันว่า คุณมักจะพลาดข้อไหนกันบ้างเพื่อให้การประเมินที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการประเมินที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงเสียที

 

ไม่ดีตรงไหนบอก ชอบตรงไหนต้องชม

เพียงประโยค “ผลงานดี รักษามาตรฐานนี้ไว้นะ” หรือ “ผลงานยังไม่น่าพอใจ พยายามให้มากขึ้นนะ” อาจยังไม่พอ เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าควรจะพัฒนาอะไรเพิ่มเติม หรือตรงไหนที่อยากให้แก้ไข คุณควรเจาะจงมากกว่านี้ไม่ว่าลูกทีมจะมีผลงานดีหรือไม่ก็ต้องบอกว่าดีอย่างไร แก้อย่างไร และต้องมีคำแนะนำเพื่อให้พวกเขาได้ต่อยอดและพัฒนา รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เจอให้ตรงจุดด้วย

 

พลาดตอนปลายปี ความดีทั้งหมดก็ไร้ค่า

สิ่งที่คนเป็นหัวหน้ามักทำผิดตอนประเมินคือไม่ได้ดูที่ภาพรวมของตัวผลงานทั้งปี แต่มาวัดจากผลงานในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนการประเมิน เมื่อคนที่ผลงานดีมาตลอดพลาดในช่วงนี้ หรือคนที่พลาดมาตลอดเพิ่งจะมีผลงานดี ก็ทำให้ผลการประเมินต่างกันลิบลับ คุณต้องระวังเรื่องนี้ให้ดีเพราะผลงานของลูกทีมควรถูกประเมินโดยภาพรวม อย่าให้เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมาทำให้การประเมินของคุณผิดพลาด

 

ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการประเมิน

หลายครั้งที่การประเมินไม่ถูกต้องเพราะคุณไม่ได้มองผลงานจากเกณฑ์มาตรฐาน แต่ใช้การเปรียบเทียบกับลูกทีมที่คุณคิดว่าเขามีผลงานโดดเด่นมาก “ทำไมคนนี้ยังทำได้แต่คุณทำไม่ได้” ถึงหัวหน้าอยากได้ลูกทีมที่เก่งที่ดีแค่ไหน แต่คำพูดเช่นนี้อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ เพราะบางเรื่องที่เป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับคุณอาจไม่ง่ายสำหรับคนอื่น ซ้ำยังทำให้พวกเขาถูกประเมินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งคงจะไม่เป็นธรรมต่อลูกทีมคุณสักเท่าไหร่เลย

 

เมินทุกข้อเสียที่มีเพราะข้อดีมันบังตา

ลูกทีมคนนี้เป็นคนเก่งและสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทมากมาย ในขณะที่ลูกทีมคนเดียวกันนี้ก็ไม่รักษาเวลาและสร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมงานมากมายเช่นกัน เมื่อคุณเลือกที่จะมองข้ามข้อเสียอื่น ๆ ไปหมดจะทำให้ผลการประเมินไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น คุณต้องพยายามแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อดีและข้อเสีย ไม่อย่างนั้นเขาก็จะทำข้อเสียนั้นต่อไปเรื่อย ๆ และแน่นอนว่ามันจะส่งผลโดยตรงต่อภาวะผู้นำของคุณในสายตาลูกน้องคนอื่นด้วย

 

แยกแยะไม่ได้ว่าอันไหนถูกใจอันไหนถูกต้อง

จิตใจคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่ประมวลทุกอย่างตามข้อมูลที่มีอยู่อย่างถูกต้องเพราะจิตใจนั้นสามารถถูกชี้นำด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย ความสัมพันธ์ของคนก็เช่นกัน หลายครั้งที่คุณรู้สึกสนุกที่ได้ร่วมงานกับลูกทีมคนนี้ คุณรู้สึกว่าเขาเข้ากับคุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่นได้ดีจนกลายเป็นลูกน้องที่คุณรักมากคนหนึ่ง แม้ว่าเขาอาจจะมีข้อผิดพลาดในการทำงานมากมาย แต่ด้วยความที่คุณเอ็นดูเขาก็อยากให้เขาเติบโต ข้อดีก็บวกเพิ่มให้และเลือกที่จะใส่คะแนนในจุดด้อยไม่น่าเกลียดเกินไปด้วย

 

5 คำถามสำคัญ ที่หัวหน้าต้องหมั่นถามลูกน้องให้เป็นนิสัย

 

กลัวว่าถ้าพูดตรงไปจะทำให้ผิดใจกัน

การรักษาน้ำใจลูกทีมของตัวเองมากเกินไป นอกจากลูกทีมของคุณจะไม่รู้ข้อบกพร่องของตัวเอง ไม่พัฒนา ยังจะทำให้องค์กรเสียหายด้วย จริงอยู่ที่การวิจารณ์อาจจะทำให้ลูกทีมรู้สึกไม่ดี แต่การไม่ชี้ให้พวกเขาเห็นถึงข้อบกพร่องอะไรเลยก็ไม่ต่างจากการทำลายพวกเขาทางอ้อมเช่นกัน ซึ่งมันจะไม่ดีในระยะยาวแน่นอน

 

Comment งานยังไงให้ไกลความขัดแย้ง

 

ปล่อยให้ผลประเมินครั้งก่อนเป็นอดีตที่ถูกลืม

หลายครั้งผู้ประเมินไม่ได้เอาผลประเมินครั้งก่อนมาประกอบการประเมิน ส่งผลให้คุณไม่สามารถรู้ว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งปีลูกน้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หากยังทำแบบนี้ต่อไปการประเมินก็จะไม่เกิดประโยชน์ บางข้อเคยให้คะแนน “ดี” แต่รอบนี้ดันให้ “พอใช้” ทั้งที่ผลงานของเขาไม่ได้แย่ แต่คุณกลับไปลดคะแนนเพราะไม่ได้ดูผลการประเมินครั้งก่อน ทำให้ลูกน้องคนนี้มีผลงานแย่ลงทันที ดังนั้นต้องพิจารณาผลการประเมินครั้งล่าสุดก่อน เพื่อที่คุณจะได้เห็นภาพชัดขึ้นว่าที่ผ่านมาลูกทีมมีการพัฒนายังไง รักษามาตรฐานได้ไหม หรือสิ่งที่พวกเขาเคยบอกว่าจะปรับปรุงพวกเขาได้ทำแล้วหรือยัง เพื่อที่การประเมินครั้งนี้คุณจะได้รู้ว่าคุณต้องกระตุ้นหรือให้คำแนะนำพวกเขาอย่างไร

 

สุดท้ายแล้วการประเมินปลายปียังเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้กระตุ้นลูกทีมของคุณทีละคนเพื่อชี้ให้พวกเขาเห็นถึงเป้าหมายในปีที่กำลังจะมาถึงใช้โอกาสนี้บอกให้พวกเขารู้ว่าคุณต้องการแรงสนับสนุนและความสามารถของพวกเขาแค่ไหน ถ้าปีที่ผ่านมาทำผลงานได้ถึงเป้าคุณก็อาจจะใช้โอกาสนี้ในการบอกถึงเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าปีที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดีนักก็ต้องให้กำลังใจ และกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกกระหายที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จต่อไป

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : การพัฒนาตนเอง, การประเมิน, หัวหน้า, เคล็ดลับการทำงาน, งาน, career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม