ทำความรู้จัก Workplace Survivor Syndrome ไม่โดนปลดออกจากงานแต่ทำไมยังเครียด?

07/08/24   |   442   |  

 

 

 

ในสถานการณ์ที่บริษัทต้องปลดพนักงานออกจำนวนมากในครั้งเดียว แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่โชคร้ายโดนเลิกจ้างและต้องหางานใหม่ แต่บางครั้งพนักงานที่ได้อยู่ต่อก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีหรือมีความสุขกว่าคนที่ออกไป พวกเขาอาจกังวลอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่รู้ว่าจะเป็นรายต่อไปเมื่อไหร่ ความเครียดจากเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เป็นแค่การคิดมากไปเอง แต่อาการนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Workplace Survivor Syndrome ถ้าอยากรู้ว่าอาการนี้เกิดจากอะไร แก้ไขยังไงได้บ้าง JobThai จะพาไปหาคำตอบกัน

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

Workplace Survivor Syndrome คืออะไร

Workplace Survivor Syndrome คืออาการกระทบกระเทือนทางจิตใจของพนักงานที่รอดจากการโดนองค์กรปลดอย่างกะทันหัน ในฐานะคนที่ได้อยู่ต่อพวกเขาอาจเกิดความรู้สึกที่ปะปนกันทั้งรู้สึกผิด เห็นใจและเสียใจแทนเพื่อนร่วมงานเมื่อต้องเห็นพวกเขาโดนเลิกจ้างทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่โชคร้ายกลายเป็นผู้ที่บริษัทเลือกให้ออกเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แม้ตัวเองจะไม่ได้โดนให้ออก แต่บางคนที่เจอกับเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจมีความรู้สึกสะเทือนใจไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงจนเกิดอาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เลยทีเดียว

 

สัญญาณเบื้องต้นที่มักพบหลังมีการปลดพนักงานครั้งใหญ่ ได้แก่

  • เสียใจและเห็นใจเพื่อนร่วมงานที่โดนปลด

  • วิตกกังวลถึงสถานะความมั่นคงของตำแหน่งของตัวเอง

  • รู้สึกผิดที่ตัวเองเป็นคนได้ทำงานต่อ

  • โกรธแทนเพื่อนร่วมงานที่โดนออกอย่างไม่ยุติธรรม

  • รู้สึกเครียดที่เกิดจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น

  • เกิดปัญหาทางสุขภาพ เช่น เกิดความเครียดสะสมจนทำให้นอนไม่หลับ ปวดหัว หรือปวดท้อง

อาการทั้งหมดที่พูดถึงนี้นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจแล้ว ในระยะยาวยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดลงด้วย

 

6 วิธีควบคุมอารมณ์โกรธในที่ทำงาน

 

ผลกระทบของ Workplace Survivor Syndrome

พนักงานที่เป็นเหลือรอดจากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ แม้พวกเขาจะไม่ได้แสดงอาการและพยายามตั้งใจทำงานตามปกติ แต่ภายในใจลึก ๆ แล้วพวกเขาอาจจะจมกับความรู้สึกทุกข์แทนเพื่อนและกังวลกับอนาคตของตัวเองอยู่ตลอด นั่นอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานในภายหลังได้ไม่ต่างจากคนที่รู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และมีความผันผวนทางอารมณ์ Workplace Survivor Syndrome จึงอาจส่งผลกระทบในเชิงลบกับพนักงานที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงการปลดพนักงานได้อีกหลายอย่าง ดังนี้

 

1. สูญเสียกำลังใจในการทำงาน

การสูญเสียกำลังใจในการทำงานเป็นผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด พนักงานที่เหลืออยู่จะมีความอาลัยอาวรณ์เพื่อนร่วมงานที่จากไป ทั้งในฐานะคนที่สนิทกันเป็นการส่วนตัวและฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ทำงานเข้ากันได้เป็นอย่างดี เคยทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุข ผ่านประสบการณ์การทำงานมาด้วยกัน เมื่อเพื่อนร่วมทีมหายไป งานที่เคยร่วมกันทำหรือขั้นตอนการทำงานขององค์กรก็อาจจะสะดุด ไม่ราบรื่นเหมือนแต่ก่อน จนอาจสูเสียกำลังใจในการทำงานและอาจลามไปถึงส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมอย่างเห็นได้ชัด

 

2. สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวองค์กร

แม้พวกเขาจะเป็นผู้โชคดีที่ไม่ต้องเดินจากไปแต่ลึก ๆ แล้ว พวกเขาจะเริ่มไม่รู้สึกมั่นคงเหมือนเดิม เพราะอาจเห็นตัวอย่างจากเพื่อนร่วมงานคนที่ขยันและทำงานเพื่อองค์กร ก็ยังโดนให้ออกได้ นำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเอง คนที่ทุ่มเทเพื่อบริษัทก็อาจจะไม่ได้ทุ่มเต็มร้อยแบบเมื่อก่อน เพราะทำงานหนักไปก็เสี่ยงจะโดนปลดได้ไม่ต่างกัน รวมถึงยังไม่มั่นใจในความมั่นคงขององค์กรด้วย เพราะมองว่าการปลดพนักงานออกอาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรอาจจะเริ่มมีปัญหา

 

3. ลาออกก่อนเพราะทนความกดดันไม่ไหว

เมื่อความรู้สึกที่เกิดจาก Workplace Survivor Syndrome สะสมนาน ๆ เข้าอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมในแง่ลบอื่น ๆ อย่างการไม่ตั้งใจทำงานเหมือนเดิม อาการหมดไฟ หรือ Quiet Quitting ซ้ำรายคนที่ทนความกดดันไม่ไหวขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจชิงลาออกไปหางานใหม่ที่รู้สึกสบายใจมากกว่า ซึ่งคนที่ลาออกอาจเป็นคนที่ทำงานดีและองค์กรไม่เคยมีความคิดจะปลดเลย แต่ความเสียหายกับองค์กรก็อาจเกิดขึ้นและลุกลามใหญ่โตไปเกินกว่าที่คิด เพราะไม่มีวิธีรับมือที่เหมาะสม

 

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพนักงานทั่วไปแล้ว พนักงานระดับหัวหน้าก็ต้องเจอกับ Workplace Survivor Syndrome เช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นกระแสการปลดพนักงานออกจำนวนมากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ในปี 2023 บริษัท APN ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจิต ได้เผยผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าการปลดพนักงานออกอย่างกระทันหันนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนที่เหลือ โดยในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 501 คนที่เป็นผู้บริหารระดับผู้อำนวยการขึ้นไปของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีพนักงานมากกว่า 1,000 คน พบว่า 38% รู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นหลังมีการปลดพนักงานออกครั้งใหญ่ และ 7 ใน 10 บอกว่าการปลดคนออกส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อองค์กรมีการปลดพนักงานออก แม้แต่พนักงานระดับผู้บริหารก็ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหนในบริษัทก็มีโอกาสเจอกับ Workplace Survivor Syndrome ได้

 

หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากให้พนักงานกลับมามีไฟอีกครั้ง

 

วิธีรับมือสำหรับพนักงานที่ได้ทำงานต่อ

1. ให้เวลาตัวเองได้ประมวลอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

เมื่อเกิดเหตุการณ์ปลดพนักงานขึ้นใหม่ ๆ บางคนอาจแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน บางคนอาจทำอะไรไม่ถูกและต้องใช้เวลาในการปรับตัว การพูดคุยปรึกษาคนรอบข้างเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เราได้คลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเรารู้แล้วว่าเรารู้สึกแบบไหนเพราะอะไรเป็นสาเหตุ ก็ควรแก้ให้ตรงจุด เช่น ถ้าเรารู้สึกผิดกับเพื่อนร่วมงานที่ออกไปก็ควรพูดคุยกับพวกเขาแสดงให้เห็นว่าเรายังห่วงใยและพร้อมจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น พูดคุยปรับทุกข์ หรือเป็นบุคคลอ้างอิงในการสมัครงานที่ใหม่ให้เพื่อนร่วมงานที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน

 

หากเรากังวลเรื่องงานที่เราต้องทำแทนคนที่ขาดหายไป เราก็ควรพูดคุยกับหัวหน้างานว่าเราต้องรับผิดชอบหน้าที่ใหม่อะไรบ้าง เรามีความกังวลตรงไหน หรืออยากให้หัวหน้าช่วยเหลืออะไรบ้าง ท้ายที่สุดแล้วหากรู้สึกว่ายังมีความผันผวนทางอารมณ์อยู่หรืออาการวิตกกังวลยังไม่หายไป การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะ Workplace Survivor Syndrome เป็นอาการที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในโลกธุรกิจ และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไข

 

2. ทบทวนเป้าหมายในการทำงาน

ให้เราถามตัวเองว่าเป้าหมายในการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในสถานการณ์ที่เพิ่งมีคนโดนปลดออก ลองนึกย้อนไปเมื่อตอนที่เราสมัครเข้ามาทำงานใหม่ ๆ เราอาจจะตัดสินใจเลือกทำงานกับบริษัทปัจจุบันด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น บริษัทดูมั่นคงและมีลู่ทางให้เราได้ก้าวหน้า มีการให้ค่าตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อแถมยังมีโบนัสให้ทุกปี เพื่อนร่วมงานนิสัยดี สภาพแวดล้อมดี ทำงานได้อย่างมีความสุขในทุก ๆ วัน แต่ในวันนี้ที่อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน การปลดคนออกแม้เราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างการลดโบนัสการทำงาน เงินเดือนที่ปรับขึ้นให้อาจจะไม่ได้เยอะเท่าเดิม สำหรับคนที่มีภาระเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ต้องดูแลครอบครัว ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ยังรับได้หรือเปล่า หรือในแง่ของการทำงาน เพื่อนร่วมทีมที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาก็ไม่อยู่แล้ว หรือโอกาสในการเติบโตในบริษัทมีแนวโน้มลดลง อาจไม่มีช่องทางให้เราก้าวหน้าได้เหมือนก่อน เราจะต้องเอาปัจจัยเหล่านี้มาทบทวนให้ดีว่าเหตุผลที่ทำให้เราทำงานที่นี่ยังตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิตของเราได้อยู่เหมือนเดิมไหม คำตอบที่ได้จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่าจะเลือกทำงานต่ออย่างมุ่งมั่น หรือถึงเวลาที่ต้องไปหาโอกาสใหม่ ๆ

 

3. ใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น

พนักงานที่เหลืออยู่ในองค์กรต่างก็ผ่านอะไรมาเหมือนกัน ถ้าเราเลือกแล้วว่าจะสู้ไปกับบริษัท ช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายิ่งต้องกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ลงเรือลำเดียวกัน อะไรที่ช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยกัน เราในฐานะสมาชิกในทีมที่เหลืออยู่ก็ต้องเตรียมใจว่างานที่เคยทำในสถานการณ์ปกติอาจยากขึ้นหรือใช้เวลานานขึ้น อาจต้องการกำลังใจและความเห็นอกเห็นใจกันมากกว่าที่เคย เพราะฉะนั้นนอกจากจะใส่ใจงานแล้วอย่าลืมใส่ใจเพื่อนร่วมงานให้สามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปพร้อมกันด้วย

 

4. ปรับตัวให้เข้ากับภาระงานใหม่

ถ้าเราตัดสินใจที่จะทำงานที่เดิมและสู้ไปพร้อมกันกับคนที่ยังเหลืออยู่ เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังมีพนักงานออกไปจำนวนมาก ก่อนอื่นให้พูดคุยกับหัวหน้าให้ชัดเจนว่าขั้นตอนการทำงานใหม่เป็นอย่างไร งานที่เพิ่มขึ้นเพราะคนทำงานน้อยลงจะถูกแบ่งไปให้ใครรับผิดชอบแทนบ้าง ถ้าเรายังเชื่อมั่นในบริษัท ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ งานไหนที่ทำไหวก็ควรทำให้เต็มที่ แต่สิ่งไหนที่เราไม่ถนัดจริง ๆ แล้วถูกเพิ่มภาระก็ควรปฏิเสธให้เป็น ตกลงกันให้เคลียร์เพราะ ระยะยาวจะได้ไม่เพิ่มความกดดันในการทำงานให้ตัวเอง

 

ทำความรู้จัก The Great Resignation และ Quiet Quitting เมื่อพนักงานไม่ได้แค่หมดไฟแต่หมดใจในการทำงาน

 

วิธีดูแลพนักงานที่ยังอยู่ สำหรับองค์กรที่จำเป็นต้องปลดพนักงานออก

เมื่อมีความจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วนออกจริง ๆ นอกจากการชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกให้ออกแล้ว พนักงานที่ได้อยู่ต่อก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเช่นกัน สิ่งที่องค์กรควรทำคือต้องสื่อสารให้ชัดเจนในเรื่องที่พนักงานอาจเป็นกังวล ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางการเงินของบริษัท การเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบายหรือโครงสร้างการทำงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่ามีอะไรบ้างและส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ต้องบอกให้พนักงานที่เหลืออยู่ทราบโดยทั่วกัน เพราะถ้าเราเก็บไว้เป็นความลับ ไม่บอกพนักงาน อาจส่งผลเสียตามมาภายหลังในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข่าวลือที่บั่นทอนจิตใจ ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง หรืออาจลุกลามไปจนถึงการตัดสินใจลาออกซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายขึ้นไปอีก

 

นอกจากนี้องค์กรควรสอบถามความต้องการของพนักงานว่าพวกเขาขาดเหลืออะไรไหม อยากปรึกษาเรื่องอะไรเป็นพิเศษหลังเกิดเหตุการณ์การปลดคนหรือเปล่า ผ่านการพูดคุยโดยตรงกับหัวหน้างาน หรือการทำแบบสอบถามแบบไม่เปิดเผยชื่อเพื่อให้พนักงานได้ระบายความในใจและให้องค์กรได้รับรู้ว่ากำลังมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อที่องค์กรจะได้แก้ปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือได้ถูกจุด ในกรณีพนักงานบางคนไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาและไม่ได้อยากเข้ามาคุยให้เป็นเรื่องยาวใหญ่โต แต่ลึก ๆ แล้วก็อาจมีความกังวล

 

ถ้าพนักงานไม่ได้แสดงสัญญาณหรืออาการออกมาอย่างชัดเจน องค์กรก็อาจจะต้องพี่งพาพนักงานระดับหัวหน้าทีมให้คอยสังเกตเป็นพิเศษในสถานการณ์แบบนี้ รวมไปถึงการเป็นฝ่ายเข้าหาพนักงานก่อน แล้วช่วยเป็นตัวกลางในการรับฟังพนักงานเพื่อสื่อสารให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจรับรู้และหาวิธีแก้ไขต่อไป ในขณะเดียวกันหัวหน้างานก็มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกห่วงใยขององค์กรไปให้ถึงบรรดาพนักงานว่าตอนนี้บริษัททำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง เช่น อาจมีโปรแกรมหรือช่องทางปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตสำหรับพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือแบบเป็นส่วนตัวและไม่ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด

 

5 คำถามสำคัญ ที่หัวหน้าต้องหมั่นถามลูกน้องให้เป็นนิสัย

 

แน่นอนว่าการปลดคนออกเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าบริษัทกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงินครั้งใหญ่ที่กระทบกับการบริหารธุรกิจโดยรวม แต่การปลดคนออกก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทนั้นจะสูญเสียความมั่นคงไปเสียทั้งหมด หากองค์กรต้องการสื่อสารให้พนักงานเห็นว่าธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ ก็อย่าลืมที่จะบอกพนักงานว่า การปลดคนนั้นเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่พนักงานที่เหลืออยู่ก็ยังสามารถเติบโตก้าวหน้าได้อยู่ องค์กรยังมีการส่งเสริมให้พนักงานได้เสริมสร้างทักษะการทำงานใหม่ ๆ ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์กับองค์กรแล้วยังส่งผลดีต่อพนักงานด้วย เช่น การเปิดโอกาสให้พนักงานได้ริเริ่ม Projectใหม่ ๆ ได้ทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน รวมไปถึงมีโอกาสในการเข้ารับการอบรม Reskill หรือ Upskill ให้ทันโลกธุรกิจ การที่พนักงานรับรู้ได้ว่าองค์กรมีโอกาสในความก้าวหน้ารอพวกเขาอยู่จะทำให้พวกเขาเห็นอนาคตของตัวเองกับบริษัทได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และคลายความวิตกกังวลในใจไปได้ นอกจากนี้ถ้าองค์กรมีความพร้อม ก็อาจให้ความช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสบายใจในเรื่องที่กำลังเป็นกังวลและมีเวลาโฟกัสกับงานอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงกับเรื่องอื่น ๆ

 

Workplace Survivor Syndrome อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนทำงานหลายคนเคยมองข้าม แต่ความคับข้องใจและอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากการปลดคนออกอย่างกะทันหันอาจกลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้องค์กรต้องปวดหัวซ้ำสองหากไม่หาวิธีป้องกัน เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว JobThai หวังว่าทั้งคนทำงานและองค์กร จะรู้ทันและรับมือกับอาการ Workplace Survivor Syndrome ได้เป็นอย่างดี

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

apn.com, coachhub.com, hcamag.com, indeed.com, lattice.com, peoplehum.com, springhealth.com

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ทำงาน, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, การทำงาน, โลกการทำงาน, บริหารคน, พัฒนาองค์กร, การดูแลพนักงาน, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, workplace survivor syndrome, ความเครียด, mental health, สุขภาพจิต



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม