RMF กองทุนรวมแฝดน้องของ LTF

22/12/17   |   3.3k   |  

เมื่อทำความรู้จักกับกองทุน LTF แล้ว คนทำงานทั้งหลายก็ควรจะต้องทำความรู้จักกับฝาแฝดผู้น้องของกองทุน LTF อย่างกองทุน RMF เพราะสองกองทุนนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง ทั้งสิทธิประโยชน์ในแง่ของการประหยัดภาษี และการออมเงิน แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง LTF และ RMF คือ "เป้าหมายของกองทุน" เพราะกองทุนนี้เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อการเกษียณ แต่บางคนก็อาจจะยังสงสัยว่าถ้าต้องเอาเงินไปลงทุนในกองทุนซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง แล้วสุดท้ายเรายังจะมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอยู่หรือเปล่า

ด้วยประการนี้ JobThai จึงอยากจะแนะนำอีกหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจอย่างกองทุน RMF ให้เข้าใจง่ายที่สุด เพื่อเป็นความรู้ให้คนทำงานได้เข้าใจว่า RMF คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วต้องซื้ออย่างไรถึงจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ และที่สำคัญก็เพื่อให้รู้ว่ากองทุน RMF เป็นกองทุนที่เหมาะกับเราหรือไม่

 

 

  • RMF เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการออมเงินระยะยาวไว้ “ใช้ยามเกษียณอายุ”
  • กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง กลาง ต่ำตรงกับความต้องการของเราเองได้ ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ
  • ต้องซื้อทุกปีขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเงินจำนวนไหนมันน้อยกว่ากัน
  • จะต้องไม่ขายคืนจนกว่าจะถึงอายุ 55 ปี และต้องถือครองไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน รวมทั้งยังต้องซื้อทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • เหมาะกับฟรีแลนซ์และคนทำงานประจำที่ต้องการที่ต้องการมีเงินออมหลังเกษียณ

 

 

RMF คืออะไร ทำไมต้องเป็นฝาแฝดกับ LTF ด้วย

นอกเหนือจากกองทุนรวมระยะยาว หรือ กองทุน LTF ที่เป็นกองทุนยอดฮิตเวลาพูดถึงเรื่องของการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกองทุนที่คนทำงานมักจะได้ยินชื่อพร้อมกันหรืออาจจะเห็นว่ามันอยู่ติดกันตลอดเวลานั่นก็คือกองทุน RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่มักมาพร้อมกันก็เพราะว่าลักษณะที่คล้ายคลึงกันของ LTF และ RMF มีหลายอย่าง ทั้งการลดหย่อนภาษี การฝึกความอดทนและฝึกวินัยในการออม จึงเป็นเหตุผลให้ทั้งสองกองทุนนี้มักจะถูกหยิบยกนำมาพูดพร้อม ๆ กัน

 

เป้าหมายของ RMF คืออะไร ทำไมถึงใช้ลดภาษีได้

ในขณะที่กองทุน LTF มีนโยบายเอาเงินไปไว้ในตลาดหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ของมูลค่ากองทุน กองทุนนี้เลยช่วยเพิ่มสัดส่วนของผู้ลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็เลยต้องมีแรงจูงใจให้คนมาลงทุนด้วย "การลดหย่อนภาษี" ส่วน RMF เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการออมเงินระยะยาวไว้ "ใช้ยามเกษียณอายุ" เพิ่มเติมจากระบบสวัสดิการที่มีอยู่ เช่น กองทุนประกันสังคมที่ต้องถูกหักเงินเดือนไปจ่ายทุกเดือน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเอกชน หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เป็นต้น

 

เป้าหมายเหมือนกับกองทุนสวัสดิการที่มีอยู่ แล้วจะซื้อ RMF ทำไมอีก

เหตุผลก็คือในขณะที่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ เป็นกองที่อยู่นอกเหนือการจัดการของเรา คือหมายความว่าเงินออมในส่วนนี้อาจจะไม่ได้เยอะอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้เพราะขึ้นอยู่กับกรรมการที่จัดการกองทุน แต่ว่ากองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง กลาง ต่ำและผลตอบแทนตรงกับความต้องการของเราเองได้ ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงปานกลาง ไปจนถึงความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้น กองทุนที่ลงทุนในทองคำ ลงทุนในฟิวเจอร์สก็ยังมีให้เลือก เป็นต้น

ดังนั้นถ้าเราซื้อกองทุน RMF เราก็จะสามารถวางแผนเงินที่จะใช้ช่วงเกษียณอายุได้ตามความเสี่ยงในการลงทุนที่เราเลือกเอง ซึ่งการซื้อหน่วยลงทุนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่ซื้ออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เงินขั้นต่ำที่ต้องลงทุนก็ไม่สูงมากคล้าย ๆ LTF เลย

 

เพิ่งเริ่มทำงานเองจะซื้อกองทุนเพื่อใช้ยามเกษียณอายุเลยหรอ

คำตอบคือถึงจะอายุเท่าไหร่ก็ซื้อเถอะ เพราะยิ่งวางแผนเกษียณเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีกับตัวเองเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานที่นายจ้างยังไม่มีความสามารถจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เลยทำให้พนักงานพลอยไม่มีเงินสะสมลงทุนเพื่อวัยเกษียณตามไปด้วย เหล่าฟรีแลนซ์ และผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระแบบไม่มีนายจ้าง ไม่มีเงินประจำยิ่งต้องซื้อ เพราะถือเป็นการเก็บออมเงินไปในตัว จะได้ไม่ลำบากยามเกษียณ

และสำหรับคนที่งานที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ก็ยังควรซื้อไว้อยู่ดีเพราะว่าเราจะได้กำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนเองได้ ซึ่งก็อาจจะดีกว่าการฝากธนาคารไว้เฉย ๆ แต่ก็ต้องประเมินตนเองด้วยว่าไม่ได้มีความจำเป็นรีบร้อนที่จะต้องใช้เงินในเร็ววันนี้ เพราะว่าเมื่อซื้อกองทุน RMF แล้วจะต้องไม่ขายคืนจนกว่าจะถึงอายุ 55 ปี และต้องถือครองไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน รวมทั้งยังต้องซื้อทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เรียกได้ว่าเป็นกองทุนรวมระยะยาวจริง ๆ

ย้ำอีกทีปีปฏิทินคืออะไร

สมมติว่าวันเกิดปีนี้คุณจะอายุครบ 25 ปี และคุณเกิดเดือนพฤศจิกายน ถ้าสมัครงานแล้วต้องกรอกอายุก็จะถือว่าคุณอายุ 25 ปีตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วเพราะนับตามปีปฏิทิน ซึ่ง RMF นั้นก็นับตามปีปฏิทินเช่นเดียวกัน โดยถึงจะซื้อเดือนไหนก็จะครบกำหนดขายคืนในเดือนมกราคมของอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็คือเดือนมกราคมในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นเอง เช่น ถ้าซื้อเดือนธันวาคม 2560 ก็ต้องถือไว้จนถึงเดือน มกราคม 2564 ก็จะได้รับสิทธิพิเศษนั่นก็คือการลดหย่อนภาษี

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเลือกซื้อกองทุนรวม RMF ในช่วงปลายปีเพราะจะได้ลดระยะเวลาในการถือกองทุนนี้ไว้กับตัว แต่ความจริงแล้วนี่เป็นเรื่องของความรู้สึก เพราะว่ากองทุนรวม RMF นั้นมีขายตลอดทั้งปี และช่วงเวลาที่ดีสำหรับการซื้อกองทุนรวมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นปลายปีเสมอไป!

 

มีอะไรที่ต่างจากกองทุนอื่น ๆ บ้าง

"ห้ามขายคืนจนกว่าจะอายุครบ 55 ปี" และ "ต้องถือไว้ 5 ปี" เลยทีเดียว ยังไม่พอต้อง "ซื้อต่อเนื่องทุกปี" ห้ามขาดอีกด้วย โดยจะต้องซื้อขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเงินจำนวนไหนมันน้อยกว่ากัน

แต่สำหรับบางคนแล้วกว่าจะอายุ 55 เป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควรและหากไม่มีเงินสำรองเพียงพอมาซื้ออย่างต่อเนื่องทุกปีก็ถูกลงโทษอีกด้วย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อก็ความจะคิดให้รอบครอบและเปรียบเทียบกองทุนอื่น ๆ รวมทั้งดูเป้าหมายทางการเงินของเราด้วย

 

สิทธิลดหย่อนภาษีล่ะ ลดได้เท่าไหร่

ลดได้ไม่เกิน 15% ของเงินที่จะต้องจ่าย แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซื้อปีไหนก็ลดปีนั้นได้เลย แต่ก็อย่าลืมว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อเต็มสิทธิ์ก็ได้เพราะต้องลองดูว่าเรามีอะไรมาลดหย่อนภาษีได้อีกหรือเปล่า เพราะสำหรับบางคนแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว เช่น ซื้อประกันภัยไว้ ลดหย่อนเงินบุตร ดอกเบี้ยกู้ยืม และอื่น ๆ อีก ดังนั้นหากคำนวณดูแล้วเราลดภาษีได้เต็มฐานภาษีแล้วเราก็อาจจะซื้อกองทุนรวม RMF ไว้เพื่อการออมสำหรับใช้หลังเกษียณแทนการลดหย่อนภาษี

 

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ถึงจะบอกว่าลดภาษีได้ก็จริงแต่เราก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดด้วย

  1. ถ้าซื้อ RMF ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปแล้ว แต่ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะโดนปรับ คือต้องไปทำเรื่องเอาเงินภาษีที่เคยไม่ต้องจ่ายไปคืน และต้องจ่ายในอัตรา 1.5% ต่อเดือนอีกด้วย ยังไม่จบยังมีค่าธรรมเนียมการขายคืน RMF อีกต่างหาก
  2. ต้องจ่ายเงินคืน 3% ของกำไรที่เกิดจากการขายคืน
  3. ต้องซื้อทุกปีอย่างน้อย 5 ปี ขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าเงินจำนวนไหนมันน้อยกว่ากัน แต่สมมติปีไหนไม่มีเงินได้เลย สามารถขอระงับได้ 1 ปีเท่านั้น

 

สรุปกันสักหน่อยเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน

  1. กองทุน RMF ไม่ได้มีไว้เพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว แต่เพื่อเป็นเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ
  2. กองทุน RMF ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการตรงที่เราเลือกลงทุนได้เอง
  3. เหมาะกับฟรีแลนซ์และคนทำงานประจำที่ต้องการที่ต้องการมีเงินออมหลังเกษียณ
  4. สำคัญสุด กองทุนคือเรื่องของการลงทุนและการออมเงิน ส่วนการลดหย่อนภาษีเป็นเรื่องผลพลอยได้

 

คำแนะนำ: การลงทุนก็เหมือนการปลูกดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะบานหรือไม่นั้นเราต้องทำความเข้าใจสายพันธุ์และการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี

ความรู้ทางการเงินสำหรับคนทำงานที่เข้าใจง่าย อ่านฟรี อ่านเถอะ อ่านได้ที่ JobThai

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

อ่านเพิ่มเติม :

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

tags : คนทำงาน, การลงทุน, การลงทุนสำหรับคนทำงาน, คนทำงานกับการเริ่มลงทุน, กองทุนรวมสำหรับคนทำงาน, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, การออมเงิน, บริหารการเงิน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม