คนทำงานควรรู้จักตัวเองให้ดี ก่อนเริ่มลงทุน

20/12/17   |   6.6k   |  

เมื่อพูดถึงเรื่องของเป้าหมายในชีวิตแล้วหลายคนกลับยังรู้สึกหลงทางอยู่ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่เลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานโดยยังไม่มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่ชัดเจน ใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบไปตามกระแสสังคม หลายคนอาจไม่รู้ว่าต้องบริหารเงินเดือนอย่างไรดี ไหนจะส่งให้ที่บ้านใช้ ซื้อของที่อยากได้ ไปฉลองกับเพื่อนเมื่อถึงวันศุกร์ แล้วยังต้องซื้อของเล่นใหม่ให้น้องเหมียวอีก มารู้ตัวอีกทีก็มีภาวะเงินช็อตเข้าเสียแล้ว ไม่มีเงินเหลือไปใช้เพื่อค้นหาสิ่งที่อยากทำ หรือสร้างความฝันให้เป็นจริง

เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะกำลังแสดงว่าเราไม่รู้จักการวางแผนการเงินและการลงทุนที่ดีพอ ก็เลยทำให้เงินมักหายไปแบบไม่รู้ตัว แต่การจะวางเป้าหมายทางการเงินได้นั้นก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน แล้วการออกไปแตะขอบฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

วันนี้ JobThai จะช่วยให้เป็นกระจกที่สะท้อนให้คุณรู้จักกับตัวเองได้ดีขึ้น เพื่อให้คุณได้ประเมินตัวเองว่าคุณรู้จักตัวเองดีพอขนาดไหน ด้วยการตอบ 5 คำถามง่าย ๆ เบื้องต้นเพื่อเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน

 

 

  • ก่อนลงทุนควรมีเงินออมในธนาคารที่เพียงพออย่างน้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายได้สำหรับ 6 เดือน
  • แบ่งอายุออกเป็นช่วงวัย ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มเร็วมีชัยไปกว่าครึ่ง
    • ช่วงเริ่มทำงานอาจเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย เพราะว่าถ้าเกิดพลาด เรายังมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ไม่ยาก เช่น ตราสารทุนเยอะ ๆ หน่อย แต่ก็เริ่มต้นทำประกันไว้ด้วย
    • ช่วงวัยกลางคนอาจเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงกลางถึงต่ำ การลงทุนประเภทที่ได้กำไรจากการเก็บเงินปันผลเป็นหลักก็ได้ เช่น ตราสารหนี้ ประกันชีวิตและหุ้นนิดหน่อย
    • ใกล้เกษียณอาจเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงกลางถึงต่ำ การลงทุนประเภทที่ได้กำไรจากการเก็บเงินปันผลเป็นหลักก็ได้ เช่น ตราสารหนี้ ประกันชีวิตและหุ้นนิดหน่อย
  • การลงทุนมีสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน อาจเลือกเอาสิทธิประโยชน์เหล่านี้มากำหนดเป็นเป้าหมายในการลงทุน เช่น ต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นหลัก ก็เลือกรูปแบบการลงทุนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เรามีกิจกรรมการใช้ชีวิตแบบไหน เพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการลงทุน เพื่อให้ชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงานและชีวิตทางการเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

ทำไมบอกว่าเราจะไม่รู้จักตัวเอง ก็เราไง นี่เราเอง

คนเรานั้น มีความความชอบในหลายแง่มุม และเราเชื่อว่าทุก ๆ คนก็คงจะรู้จักตัวเองในระดับหนึ่ง เช่น หน้าตาฉันเป็นอย่างไร ชอบกินอาหารร้านไหน ชอบใส่เสื้อผ้าสีอะไร แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแง่หนึ่งชีวิตเท่านั้น เรากำลังพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับตัวเองในแง่มุมของ "เป้าหมายทางการเงิน" เพื่อที่จะได้เลือกลงทุนได้ สบาย ๆ ไม่เครียดกับชีวิตมากเกิดไป

 

1. ใช้เงินเท่าไหร่ดี มีอยู่เท่านี้จะพอไหม

ถ้าเรามีเงินพร้อมจะเข้าไปลงทุนนั้นต้องเริ่มต้นวางแผนดี ๆ เพราะว่าหากเราเข้าไปโดยไม่รู้อะไร หรือเพราะรู้สึกว่าฟังแล้วดูดี ดูสมาร์ทเพราะ "เป็นนักลงทุน" คุณก็อาจกลายเป็นนัก "ลงทุน" ตัวจริง นั่นคือเอาทุนไปลงแต่เอากลับขึ้นมาไม่ได้อีกเลย ดังนั้นก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าเราแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนถูกต้องหรือยัง เช่น มีเงินออมในธนาคารที่เพียงพออย่างน้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายได้สำหรับ 6 เดือน แล้วแบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายประจำออกเป็นอีกส่วน

แบ่งเงินดี มีเงินออม พร้อมเริ่มต้นแล้ว

ไม่ว่าจะมีเงินอยู่เท่าไหร่ เราก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ เพราะสมัยนี้ แค่มีเงิน 1,000 บาท* ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ แต่หากมีเงินจำนวนมากขึ้น ก็เลือกลงในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ผลตอบแทนก็จะมากขึ้นด้วย เพียงแต่ต้องย้ำอีกครั้งว่าเงินที่นำมาลงทุนนั้น ต้องเป็นส่วนที่เราแบ่งมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ได้เบียดเบียนกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ

*ขึ้นอยู่กับรูปแบบและนโยบายของการลงทุน

 

2. เอาฤกษ์เอาชัย อายุเท่าไหร่ดีถึงควรเริ่ม

อายุอาจไม่สำคัญเท่ากับใจที่พร้อมจะพาเงินไปทำงาน แต่ถ้าหากเป็นไปได้ยิ่งเร็วก็คงยิ่งดี เพราะทำให้เรามีโอกาสได้ลองผิดลองถูกกับวิธีการลงทุนแบบต่าง ๆ เพื่อทดลองหาสไตล์ที่โดนใจ หรือเราอาจใช้อายุเป็นเกณฑ์ในการประเมินสิ่งต่าง ๆ โดยอาจลองแบ่งอายุออกเป็นช่วงวัย ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มเร็วมีชัยไปกว่าครึ่ง

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยนั้นนอกจากเราจะทำกิจกรรมและตั้งใจเรียนแล้ว เราอาจเริ่มต้นการลงทุนจากการทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงิน ซึ่งข้อดีของการทำงานพาร์ทไทม์ก็ยังมีมากมายนอกจากการหาเงินเพียงอย่างเดียวและสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานพาร์ทไทม์ก็สามารถเริ่มจากการประหยัดเงินค่าขนมทีละเล็กละน้อยเพื่อเริ่มต้นสะสมเงินก็ได้เช่นเดียวกัน จากนั้นก็เปิดบัญชีออมทรัพย์เอาไว้ เพื่อให้มีเงินก้อนสำหรับเตรียมพร้อมในช่วงระหว่างเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางาน การทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้จักสังเกตและเปรียบเทียบดอกเบี้ยของธนาคารต่าง ๆ ว่าธนาคารใดให้ผลตอบแทนสูง ธนาคารใดให้ผลตอบแทนต่ำ ก็นับว่าเป็นก้าวแรกของการให้เงินไปทำงานที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ช่วงเริ่มทำงาน 21 ถึง 30 ปี

เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มชีวิตการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเลือกรับราชการ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำงานบริษัทใหญ่ เล็ก หรือทำงานอิสระ บางคนอาจจะเอาเงินที่เก็บช่วงสมัยมหาวิทยาลัยมาเริ่มต้นกิจการเล็ก ๆ ของตัวเองเลยก็ได้ โดยในช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่รายได้เริ่มเข้ามามากกว่าสมัยเรียนหนังสือ ดังนั้นเราก็ควรเริ่มเก็บเงินมากขึ้นมาหน่อย แล้วหลังจากจ่ายรายจ่ายประจำครบหมดแล้ว ก็อาจเริ่มจากการแบ่งเงิน 10% ของรายได้มาลงทุน เช่น เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท ก็เก็บเงินสัก 1,000 – 1,500 บาทมาลงทุน

ในช่วงวัยนี้ อาจจะเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากหน่อย เพราะว่าถ้าเกิดพลาด เรายังมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ไม่ยาก เช่น ตราสารทุนเยอะ ๆ หน่อย แต่ก็เริ่มต้นทำประกันชีวิตไว้ด้วย เพราะเป็นทั้งการออมทรัพย์และเผื่อใช้ในกรณีจำเป็น

คนทำงานเต็มตัว 31 ถึง 55 ปี

ในช่วงวัยนี้ หลาย ๆ คนเริ่มอยู่ตัวกับการทำงานแล้ว ไม่ได้โยกย้ายงานบ่อยนัก จึงสามารถกำหนดหรือคิดล่วงหน้าได้ว่า ในแต่ละเดือน แต่ละปี จะมีรายได้เท่าไหร่มีมาจากกี่ช่องทาง แล้วมีค่าใช้จ่ายประจำอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งรายได้ก็มักจะสูงขึ้นตามช่วงอายุ นับว่าการเงินในช่วงนี้ ถ้าไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินอะไร เราก็สามารถวางแผนการล่วงเงินระยะยาวได้นานขึ้นพอสมควร ซึ่งในตอนนี้บางคนอาจจะเริ่มสร้างครอบครัว ซื้อบ้านใหม่ มีค่าใช้ต่าง ๆ เข้ามามากขึ้น ก็อาจจะยังคงการลงทุนที่ 10% ของรายได้ แต่หากบางคนเริ่มต้นการลงทุนตั้งแต่ช่วง 21 ถึง 30 ปี ก็อาจจะทำให้ภาระตรงนี้ลดลง หรือบางคนที่ไม่ได้มีภาระการซื้อบ้านใหม่ การซื้อรถใหม่ ก็อาจเพิ่มเงินลงทุนเป็น 20% ของรายรับก็ได้

ในช่วงวัยนี้ อาจจะเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงกลางถึงต่ำ การลงทุนประเภทที่ได้กำไรจากการเก็บเงินปันผลเป็นหลักก็ได้ เช่น ตราสารหนี้ ประกันแบบต่าง ๆ และหุ้นนิดหน่อย

 

3. มีงานทำก็คิดว่าชีวิตดีในระดับหนึ่ง เลยไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้จะกำหนดเป้าหมายจากอะไร

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานอาจจะรู้สึกโล่งใจว่าเรามีงานทำ มีเงินเดือนสามารถส่งเงินให้พ่อแม่ใช้และจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วก็อยู่ให้ถึงสิ้นเดือน พอเริ่มต้นเดือนก็ทำเหมือนเดิม ก็รู้สึกว่า "ฉันพอใจแล้ว" หรือบางคนอาจตั้งเป้าหมายเอาไว้ เช่น จะมีบ้านที่มีสวนเล็ก ๆ มีรถ 2 คัน แต่อันที่จริงนั้นนอกเหนือจากเป้าหมายที่เป็นสิ่งของต่าง ๆ การแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนจะทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยหากยังไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเริ่มจากอะไรดี เราก็สามารถเริ่มจากการเอาสิทธิประโยชน์เหล่านี้มากำหนดเป็นเป้าหมายในการลงทุนก็ได้

เอาไปลดหย่อนภาษีปลายปี

สิ่งที่คนทำงานคุ้นเคยกันอยู่แล้วก็คือการจ่ายภาษี ซึ่งหากเราสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงไปได้ เราก็จะมีเงินเก็บมากขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมจะลงทุนก้อนใหญ่ ๆ หรือยังรู้สึกว่ายังไม่พร้อมจะเริ่มลงทุนจริงจัง อาจจะลองซื้อกองทุนรวมที่แสนนิยมในช่วงปลายปีอย่างกองทุน LTF และกองทุน RMF ซึ่งสามารถนำไปใช้ลดภาษีได้

เบื่อเงินฝาก อยากชนะเงินเฟ้อ

สำหรับคนที่มีบัญชีเงินฝากประจำแล้วรู้สึกเบื่อเพราะได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตัวเลขเงินเฟ้อเลยรู้สึกเหมือนว่าฝากเงินแล้วสูญเปล่า กว่าจะครบกำหนดถอน เงินก็มีค่าน้อยลงแล้ว แต่ยังชอบสไตล์การทิ้งเงินไว้นาน ๆ โดยไม่ต้องดูอะไรมาก ก็มีทางเลือกในในการลงทุนก็มีทั้งกองทุนรวมและตราสารหนี้แบบต่าง ๆ ที่จ่ายผลตอบแทนให้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ต้องการให้เงินทำงานเต็มตัว

เนื่องจากการลงทุนให้ผลตอบแทนที่สูง ทำให้บางคนอาจจะเลือกลงทุนเต็มตัว คือติดตามข่าวสาร อ่านหนังสือเพิ่มเติมความรู้สม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายว่าถ้าลงทุนต้องจะต้องได้เงินกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ใช้ลงทุนไป และใช้เวลาเท่าไหร่ ถึงจะได้เงินจำนวนนั้นมา

เป้าไหนก็ไม่โดนใจ เก็บไว้เป็นเงินเกษียณก็ได้

การเตรียมตัวเกษียณนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเตรียมอยู่แล้ว แต่ถึงไม่เตรียมตัวเพื่อการเกษียณก็อาจจะการเก็บเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินซึ่งการเอาส่วนหนึ่งเอามาเก็บไว้ที่บ้านเฉย ๆ ก็คงไม่เติบโต แต่ถ้าเราปล่อยให้เงินช่วยเติบโตไปพร้อมกับเราก็คงจะดีกว่า

 

4. เขียนเป้าหมายลงสมุด ชัด ๆ ไว้เช็กระยะ สั้น กลาง ยาว

เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ขั้นต่อมาเราก็มาแบ่งเป้าหมายออกเป็น เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวเหมือนกับเวลาที่เราแบ่งเวลาการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและทำให้ติดตามผลง่าย แต่จะมีทั้ง 3 ระยะเลยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเราเองด้วย จากนั้นก็จดเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน และทำการตรวจสอบว่าเมื่อครบกำหนดแล้วเราทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่

ไม่ถึง 1 ปี ตั้งชื่อว่า "สั้น"

ในส่วนของเป้าหมายระยะสั้น เราอาจจะตั้งเอาไว้เพื่อหาเงินในช่วงสั้น ๆ สำหรับเอาไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น เพื่อการท่องเที่ยว หรือ ซื้อของใช้ต่าง ๆ

ถือไว้ 3 ถึง 5 ปี ตั้งชื่อว่า "กลาง"

เป้าหมายของการเก็บเงินระยะกลางอาจจะเป็นการกันเงินเอาไว้ เพื่อที่พอครบกำหนดลงทุนจะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อยอดไปเรื่อย หรืออาจจะเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มใส่การลงทุนระยะยาวก็ได้ แล้วแต่เป้าหมายที่อยากได้

อดทนได้ไม่รีบ มากกว่า 5 ปี ตั้งชื่อว่า "ยาว"

หากเรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่งและไม่ได้มีความจำเป็นต้องรีบใช้ทำอะไร เราอาจจะเลือกลงทุนที่ออกดอกออกผลในระยาว เช่น หุ้นพื้นฐานดี กองทุนรวมระยะยาว

 

5. ปีนผา เดินป่า หรือซาเซ็น

เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทำให้วิธีเลือกการลงทุนก็ไม่เหมือนกันด้วยเช่นเดียวกัน อย่างบางคนชอบใช้เวลาวันหยุดไปกับกิจกรรมหนัก ๆ ท้าทายความสามารถ บางชอบออกไปเดินเล่นทำกิจกรรมเบา ๆ หรือบางอาจจะแค่อยากนอนกลิ้งไปมาก็พอใจแล้ว ดังนั้นเราก็อาจจะดูว่าเรามีกิจกรรมการใช้ชีวิตแบบไหน เพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการลงทุน

ปีนผา : ยิ่งสูง ยิ่งดี         

สำหรับคนที่ไม่กลัวคลื่นลมและความผันผวน ชอบความท้าทายกล้าได้ กล้าเสียเพราะมีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนว่าจะต้องได้ผลตอบแทนสูงเท่านั้น ๆ ก็อาจจะลงทุนให้หุ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนไปเลย

เดินป่า : ท้าทายแต่ก็ร่มรื่น          

สำหรับคนที่ชอบความร่มรื่นแต่ก็ชอบความตื่นเต้นจากการได้เจอสัตว์ป่า ก็อาจจะเลือกลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินต้นไม่ต้องมากนัก แต่อย่างน้อยก็เพิ่มขึ้น การลงทุนแบบเสี่ยงกลางเยอะกว่าอย่าง กองทุนรวม ก็จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า

ซาเซ็น : เงียบ ๆ ไม่หวือหวา เชื่องช้าแต่ก้าวหน้า     

สำหรับคนที่ชอบความสงบและไม่อยากเจอความโลดโผน แต่ก็อยากให้เงินของตนเองนั้นงอกเงยกว่าเงินฝากอยู่บ้าง การลงทุนในตราสารหนี้เยอะกว่าก็อย่างอื่นก็อาจจะเหมาะกว่า

 

สรุปต้องดูอะไรบ้าง

1. ดูว่าเงินลงทุนอยู่ที่เท่าไหร่ จะได้รู้ว่าเราลงทุนในอะไรได้บ้างเพราะการลงทุนบางอย่างก็จำกัดเงินเริ่มต้น

2. ดูว่าอายุเท่าไหร่ จะได้รู้ว่าต้องแบ่งเงินออกเป็นภาระค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้างและเหลือมาลงทุนเท่าไหร่

3. ดูว่าเป้าหมายคืออะไร จะได้เลือกลงทุนถูกประเภทได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการ

4. ดูว่าจะใช้เวลาลงทุนนานเท่าไหร่ จะได้ติดตาม ประเมินผลและเปลี่ยนแผนได้ถูกต้อง

5. ดูว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเป็นอย่างไร จะได้รู้ว่าเราควรเลือกลงทุนรูปแบบใดดี

 

ถ้ายังไม่แน่ใจว่าสไตล์ของเราชอบแบบใดจริง ลองทำแบบทดสอบ

ถ้ายังไม่แน่ใจว่ารับความเสี่ยงได้เพียงใด ลองทำแบบทดสอบ

 

คำแนะนำ: การลงทุนก็เหมือนการปลูกดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะบานหรือไม่นั้นเราต้องทำความเข้าใจสายพันธุ์และการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี

ความรู้ทางการเงินสำหรับคนทำงานที่เข้าใจง่าย อ่านฟรี อ่านเถอะ อ่านได้ที่ JobThai

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

อ่านเพิ่มเติม :

เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

tags : คนทำงาน, การลงทุน, การลงทุนสำหรับคนทำงาน, คนทำงานกับการเริ่มลงทุน, กองทุนรวมสำหรับคนทำงาน, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, การออมเงิน, บริหารการเงิน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม