คนทำงานจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมอย่างไรดี

04/12/17   |   4.8k   |  

เวลาทำงานยาวนานกว่า 8 ชั่วโมงและไม่ค่อยยืดหยุ่น ทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการจัดการงานที่ได้รับมอบหมายให้เรียบร้อย ส่งผลให้เวลาเพื่อการศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนน้อยตามไปด้วย และยังมีเรื่องข้อจำกัดอื่น ๆ อีก เช่น เงินที่จะใช้ลงทุนมีไม่เยอะมาก คนทำงานหลายคนมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องที่ยังไกลตัว ยากที่จะศึกษาและเริ่มต้นอย่างจริงจัง

แต่เพื่อให้คนทำงานผู้มีเวลาน้อยอย่างเรา ๆ สามารถเริ่มต้นลงทุนได้อย่างไม่ยาก JobThai ขอแนะนำให้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "กองทุนรวม" ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับคนทำงาน เพราะจุดเด่นของกองทุนรวมคือ ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก บวกกับการให้ผู้ที่มีความรู้มาจัดการบริหารเงินให้ ผู้ที่มีเวลาน้อยอย่างคนทำงานประจำก็เลยได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้นมาเริ่มทำความรู้จักและทำความเข้าใจขั้นตอนในการเลือกกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ เพื่อเริ่มต้นลงทุนกันเถอะ

 

 

  • กองทุนรวมเป็นรูปแบบการลงทุนที่ระดมเงินจากผู้คนที่เงินลงทุนยังไม่หน มารวมกันให้ได้เยอะ ๆ เพื่อจะได้มีความสามารถในการลงทุนสูงขึ้น
  • ปกติการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีจะใช้เงินค่อนข้างสูง การลงทุนในกองทุนรวมที่เอาเงินของเราไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่ง
  • หน่วยลงทุน (Unit Trust)” คือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายยืนยันการซื้อกองทุนรวม
  • กองทุนรวมมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ มีให้เลือกเยอะตามความต้องการ เช่น ซื้อเพื่อการลดหย่อนภาษี ซื้อเพื่อการลงทุนความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น จึงเหมาะกับผู้ทำงานที่เป็นมือใหม่สำหรับการลงทุน

 

 

"กองทุนรวม" คืออะไร

ลองจินตนาการว่าหากเราเป็นบุคคลหนึ่งผู้ซึ่งมีความฝันอยากจะสร้างตึกสำหรับให้เช่าทำสำนักงาน แต่เรายังไม่มีเงินมากพอที่จะลงทุนสร้างตึกในฝันนี้ขึ้นมาได้ วิธีที่จะทำให้เราเข้าใกล้ความฝันได้มากที่สุดวิธีหนึ่งคือการกู้เงินมาเพื่อซื้อที่และสร้างตึกเองเสียเลย แต่วิธีนั้นก็คงต้องใช้เงินมากพอสมควร วิธีที่สองเราก็สามารถซื้อหุ้นบริษัทที่เขาทำธุรกิจประเภทนี้ เราก็จะมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการร่วมไปกับเขาด้วย

แต่ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก คือเราก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่าเรารู้ลึก รู้จริงเรื่องธุรกิจประเภทนี้มากน้อยขนาดไหน หรืออาจจะไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าไปร่วมหุ้น การลงทุนในหุ้นก็อาจจะยังเสี่ยงสำหรับมือใหม่อย่างเราพอสมควร ดังนั้นจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่ากองทุนรวม ที่มีจุดประสงค์จะรวบรวมเงินจากคนที่ตกอยู่ในปัญหาคล้าย ๆ กันแต่ก็มีความฝันแบบเดียวกับเรา เพื่อเอาเงินกองนี้ไปซื้อหุ้นที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

สรุปก็คือ กองทุนรวมเป็นรูปแบบการลงทุนที่ระดมเงินจากผู้คนที่เงินลงทุนยังไม่หนามาก มักจะเป็นเงินที่มาจากเหล่าคนทำงานหรือผู้ลงทุนตัวน้อยรายย่อยที่มีความฝันแต่ยังไม่มีเงินมากมายนักมารวมกันให้ได้เยอะ ๆ จากนั้นก็จดทะเบียนให้กองทุนกลายเป็นคน หรือที่เรียกกันว่าเป็นนิติบุคคล แล้วให้ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) เป็นผู้เข้ามาดูแลจัดการเงินกองนี้ โดยที่ผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ที่มีความรู้ เข้าใจเรื่องการลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งการรวมเงินกันก็เพื่อจะได้มีความสามารถในการลงทุนสูงขึ้น

และนอกจากนี้กองทุนรวมถือว่ามีความยืดหยุ่นมาก คือมีการลงทุนให้เลือกซื้อ เลือกชมในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงใน หุ้น พันธบัตร น้ำมัน ทองคำ เงินตราต่างประเทศ จะเลือกถือระยะสั้นหรือถือระยะยาว และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่เราไม่ต้องวิเคราะห์ในรายละเอียดเยอะเกี่ยวกับของเหล่านี้ เพราะจุดประสงค์ของกองทุนรวมก็คือ ให้คนที่มีความรู้เข้ามาบริหารเงินจากคนที่ไม่ค่อยมีเวลาและยังเป็นมือใหม่ในโลกของการลงทุน ทำให้กองทุนรวมเป็นรูปแบบการลงทุนแบบหนึ่งที่แนะนำสำหรับคนทำงาน เพราะถึงจะมีเงินเก็บไม่มาก ก็สามารถลงทุนในสิ่งที่เรามีความสนใจได้

 

เรื่องน่ารักของกองทุนรวม

1. เงินเริ่มต้นไม่เยอะ

หากเราต้องการเป็นเจ้าของกิจการบริษัทที่แข็งแกร่ง เราจะต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่หากเราซื้อกองทุนรวมที่เอาเงินของเราไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่ง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะมาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ขายกองทุนว่ากำหนดขั้นต่ำไว้เท่าไหร่ ซึ่งบางกองทุนสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ที่ราคา 1,000 บาท

2. มีคนจัดการให้

ข้อดีอีกประการของกองทุนรวมก็คือ แม้ว่าเราจะมีความฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ แต่ยังไม่มั่นใจว่าเรามีความรู้พร้อมที่จะลงทุนในหุ้นนั้นโดยตรงดีหรือไม่ ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้าไปเล่นเอง กองทุนรวมก็โอกาสให้เราเข้าไปลงทุนได้โดยให้ผู้ที่มีความเข้าใจในธุรกิจนั้น ๆ มาจัดการกองทุนให้

3. มีตัวเลือกเยอะ

กองทุนรวมมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ มีให้เลือกเยอะตามความต้องการ เช่น ถ้าเราชอบหุ้นและอยากลองดูว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้นจะได้เท่าไหร่ แต่ยังไม่อยากที่จะลงทุนในหุ้นด้วยตัวเอง ก็สามารถเลือกกองทุนที่มีการลงทุนในสัดส่วนของหุ้นมาก ๆ หรือถ้าชอบทองคำแต่ไม่อยากซื้อเก็บไว้กับตัวเอง ก็เลือกกองทุนที่ลงทุนในทองคำมาก ๆ และนอกจากนี้ยังมีกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร ลงทุนในต่างประเทศอย่างหุ้นต่างประเทศ หรือแค่ต้องการจะลงทุนเพื่อประหยัดภาษีก็มีให้เลือกทุกรูปแบบ

4. กระจายความเสี่ยงดี

กองทุนหนึ่ง ๆ มักจะกระจายสัดส่วนของการลงทุนไปในหลายช่องทาง เพื่อลดความเสี่ยงลง ซึ่งถือเป็นการปกป้องเงินของเราได้ในระดับหนึ่ง ถ้าเรามีเงินเริ่มต้นอยู่ 1,000 บาท เราก็อาจจะซื้อหุ้นได้แค่ 1 ตัว ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก คือถ้าบริษัทนั้นไม่สามารถทำกำไรได้ เราก็จะไม่ได้อะไรกลับคืนมานั่นเอง

 

แล้วกองทุนรวมให้อะไรบ้าง

วลาที่เราซื้อกองทุนก็จะได้รับหลักฐานที่แสดงว่าเรามีส่วนร่วมในกองทุนนั้น สิ่งนั้นมีชื่อเรียกว่า "หน่วยลงทุน (Unit Trust)" เหมือนเวลาที่ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อแล้วได้ใบเสร็จ เมื่อกองทุนได้กำไร ก็จะนำกำไรมาหารเฉลี่ยกับหน่วยลงทุนซื้อไว้มาก เราก็ได้ผลตอบแทนมากเช่นเดียวกัน โดยแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ

แบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล (Dividend)

แต่ละกองทุนมีนโยบายเกี่ยวกับลงทุนที่แตกต่างกัน

  • บางกองทุนก็มีนโยบายที่เมื่อได้กำไรจะเอากำไรมาเป็นปันผลคืนให้กับผู้ที่ซื้อกองทุน ก็จะเหมือนกับได้ดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร
  • บางกองทุนมีนโยบายที่จะเอากำไรไปสมทบกับเงินต้น เพื่อทำให้กองทุนใหญ่ขึ้น จะได้กระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น หรือทำกำไรได้มากขึ้นแล้วค่อยจ่ายคืนให้เมื่อระยะเวลาของกองทุนสิ้นสุดลง         

ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ลงทุนนั้นชอบแบบใด ถ้าชอบแบบได้นิดได้หน่อยก็อุ่นใจดี เพราะรอไม่ไหวอยากเห็นเงินเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ก็อาจจะเลือกแบบที่จ่ายปันผล แต่ถ้าอดทนถือยาว ๆ ได้ ไม่ต้องการติดตามบ่อย ๆ ก็อาจจะเลือกแบบหลังที่ปล่อยให้กองทุนทบต้นไปเรื่อย ๆ

ส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain)

ส่วนเกินนี้จะได้ตอนที่เราเอาหน่วยลงทุนของเราไปขายคืนให้กับบริษัทที่จัดการกองทุนให้ ในราคาที่สูงกว่าราคาที่เราซื้อมาตอนแรก แต่ว่าจะขายคืนได้หรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนเช่นเดียวกันว่าเปิดให้ขายคืนได้หรือเปล่า

 

ข้อพึงระวังของกองทุนรวม

อย่าลืมว่ากองทุนรวมก็เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่ที่ว่าเราชอบความเสี่ยงแบบใดก็ควรจะประเมินตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อน ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้อย่างรอบคอบ

1. ความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ขายกองทุน

มีสถานที่ตั้ง เข้าไปได้สะดวก มีนโยบายที่ชัดเจน บริการดี ตอบคำถามที่เราสงสัยให้เราเข้าใจได้หรือเปล่า

2. การบริการ

ต้องพิจารณาว่ากองทุนนั้นเปิดช่องทางให้ซื้อในรูปแบบใดบ้าง เช่น ซื้อขายครั้งแรกทำอย่างไร การซื้อขายครั้งถัดไปสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันของบริษัทหรือ มีช่องทางอื่น ๆ อีกหรือไม่ และช่องทางเหล่านั้นสะดวกต่อเราหรือเปล่า

3. ผู้จัดการกองทุนเป็นใคร

เราควรจะทำความรู้จักไว้บ้างว่ากองทุนนั้น ๆ มีประวัติเรื่องการลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง เคยบริหารงานที่ใดมาก่อนหรือเปล่า น่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วบริหารเป็นทีม หรือบริหารคนเดียว เพราะบางครั้งการบริหารคนเดียวก็อาจจะเข้าข่าย “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” แต่ก็มีข้อดีคือสามารถตัดสินใจได้เร็ว

4. ผลการดำเนินการ

เราควรดูผลการดำเนินงานย้อนหลังที่ผ่านมาว่าผลตอบแทนและกำไรอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้หรือไม่ และควรที่จะเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของบริษัทอื่น ๆ ด้วยว่าผลตอบแทนเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณา

 

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนรวม

NAV คืออะไรจำไว้ให้ดี

NAV ย่อมาจาก Net Asset Value มีชื่อภาษาไทยว่า "มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม" คือตัวเลขที่บอกว่าเราได้กำไรหรือขาดทุน โดยตัวเลข NAV เกิดจาก ผู้จัดการกองทุนเอาเงินไปลงทุนแล้วได้กำไร แต่ว่าในระหว่างการลงทุนก็มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกิดขึ้น ก็เอากำไรมาลบออกจากค่าใช้จ่ายทั้งหลาย จากนั้นก็หารกับหน่วยลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมด พอเราซื้อกองทุน เราก็ดูตัวเลข NAV นี้ไว้ ซึ่งตัวเลข NAV ก็จะประกาศทุกวันที่มีการทำการซื้อขาย

  • ถ้า NAV สูงขึ้นกว่าที่ลงทุนวันแรก ก็คือได้กำไร
  • ถ้า NAV ต่ำลงกว่าที่ลงทุนวันแรก ก็คือขาดทุน

แต่เราจะไม่เปรียบเทียบ NAV ข้ามกองทุนนะ

เพราะว่าแต่ละกองทุนมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นกองทุนที่ต้องใช้การวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายส่วนของการบริหารก็จะสูงตามไปด้วย ดังนั้น NAV จึงมีไว้ “เปรียบเทียบวันแรกกับวันสุดท้าย” ของกองทุนที่เราซื้อมาว่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าเท่านั้นเอง บางครั้งถ้าสูงจนถึงระดับที่พอใจก็อาจจะขายกองทุนเพื่อเอา Capital Gain ก็ได้ หรือจะอดทนรอเก็บปันผลไปเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ก่อนจะซื้อต้องอ่านหนังสือชี้ชวน "หนังสือชี้ชวน" บอกอะไรบ้าง

หนังสือชี้ชวนคือเอกสารที่จะบอกข้อมูลทุกอย่างของกองทุนนั้น เช่น

  • ประเภทของกองทุน
  • นโยบายการจ่ายปันผล
  • ค่าธรรมเนียมการซื้อ ค่าใช้จ่าย
  • ระดับความเสี่ยงของกองทุนนั้น
  • ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
  • ข้อมูลวิธีการซื้อขายหน่วยลงทุน
  • ข้อมูลอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน

ดังก่อนที่จะซื้อหน่วยลงทุนใดควรที่จะอ่านให้เรียบร้อยทั้งหมดก่อนว่ามีเงื่อนไขใดที่เรารับได้ รับไม่ได้เปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนที่ลงทุนคล้าย ๆ ของแต่ละบริษัท และพิจารณาเรื่องผลตอบ ระยะเวลาการถือครองต่าง ๆ จนเจอรูปแบบกองทุนที่เราถูกใจ

 

คำแนะนำ: การลงทุนก็เหมือนการปลูกดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะบานหรือไม่นั้นเราต้องทำความเข้าใจสายพันธุ์และการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี

ความรู้ทางการเงินสำหรับคนทำงานที่เข้าใจง่าย อ่านฟรี อ่านเถอะ อ่านได้ที่ JobThai

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

อ่านเพิ่มเติม :

investopedia.com
เว็ปไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

tags : คนทำงาน, การลงทุน, การลงทุนสำหรับคนทำงาน, คนทำงานกับการเริ่มลงทุน, กองทุนรวมสำหรับคนทำงาน, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, การออมเงิน, บริหารการเงิน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม