การค้นพบในสิ่งที่ตัวเองรัก เกิดขึ้นเป็นเป้าหมายใหม่ให้เดินก้าวต่อไป จนกระทั่งมีปัจจัยภายนอกมาเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่ด้วยความอดทนและลูกบ้าที่มีมากกว่าใครทำให้เขาฝ่าฟันมันมาได้ตลอด ซึ่งทุกครั้งที่ล้มลงเขามักจะได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองค้นหา ทีละเล็กละน้อยจนสิ่งเหล่านั้นค่อยๆ เชื่อมโยงจนกลายมาเป็น HUBBA หรือที่ตัวเขาให้คำนิยามสั้นๆ ว่า ศูนย์รวมของคนบ้า นั่นเอง
ทุกวันนี้ HUBBA เปรียบเสมือนศูนย์รวมของกลุ่ม Startup ที่มาพร้อมกับไอเดีย ความฝันและหลายคนคงจะเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ HUBBA มาพอสมควรแล้ว JobThai ขอนำเสนออีกหนึ่งแง่มุมซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของ คุณ เอม อมฤต ที่มีครบทุกรสชาติและด้วยตัวตนของเขานั่นเองที่กลายมาเป็น DNA ของ HUBBA แต่กว่าที่จะมาถึงตรงจุดนี้ชีวิตของเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และอะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้
ความคิดตกผลึก ยึดมั่นในอุดมการณ์เดิมแค่เปลี่ยนวิธีการใหม่
ในเมื่องานที่เคยทำไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ บวกกับไอเดียที่เขาเจอขณะหนีน้ำท่วมที่ชลบุรี ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน จนตกผลึกเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนนั่นคือ การออกมาเป็นผู้ประกอบการ โดยที่ธุรกิจนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งสุดท้ายเขาก็ได้มาเจอกับธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Co-working Space
ล้มลุกคลุกคลานกับความฝันครั้งใหม่
เขาได้รวบรวมหาเงินทุนก้อนสุดท้าย เรียกได้ว่าเทหมดหน้าตักสำหรับโปรเจ็คในฝันครั้งนี้ ซึ่งในช่วง 1 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจเขาต้องประสบกับปัญหามากมาย ไม่มีคนรู้จัก ลูกค้าน้อย เงินไม่พอจ่ายค่าเช่า จนต้องออกไปตระเวนหาเงินมาโปะ ขายรถ และต้องทำหลายสิ่งอย่างที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้มาก่อน แต่ตัวเขาเองก็ไม่เคยท้อถอยซึ่งสุดท้ายเขาก็ได้รับเงินทุนก้อนสำคัญมาจากรุ่นพี่คนหนึ่งที่เหมือนเป็นการต่อลมหายใจสุดท้ายซึ่งจังหวะนั้นนั่นเองที่ HUBBA เริ่มจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นพอดี เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขารู้สึกได้ทันทีว่าการที่จะทำธุรกิจให้อยู่รอดได้นั้น บางครั้งก็อาจจะต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากคนอื่น
Ecosystem ของเหล่าผู้ประกอบการ Startup
“ถ้าเขามีไอเดียแล้ว แต่เขาไม่มี developer เขาจะทำอย่างไร แล้วถ้าคุณมีครบทุกอย่างแล้วแต่คุณไม่มีเงินทุนหละจะทำอย่างไร” ตัวเขาเองนั้นตอนแรกสุดเลยก็คิดว่าการทำ Co-working Space มันก็แค่ทำที่ทำงานสวยๆเอาโต๊ะมาเรียงกันมีอินเทอร์เน็ตแรงๆ ให้ฟรีแลนซ์ หรือผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ มาเช่าพื้นที่ทำงาน แต่พอนึกถึงประสบการณ์ครั้งก่อนเขาจึงคิดว่าแค่ที่ทำงานสวยๆคงไม่พอ ผู้ประกอบการต้องการปัจจัยรอบตัวที่มากกว่านั้น HUBBA จึงกลายเป็นเหมือนจุดนัดพบของคนกลุ่มหนึ่งที่บางคนอาจจะเดินเข้ามาพร้อมกับไอเดียมากมาย บางคนมาพร้อมกับความรู้ บางคนก็มาพร้อมกับเงินทุน ซึ่งเมื่อทุกอย่างมันลงตัวและสามารถเชื่อมโยงกันได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
โดยสถานที่แห่งนี้ยังมีบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับ Startup ด้วย เพราะที่นี่มีผู้มีประสบการณ์มากมายที่เขาชักชวนเข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำ “เราพยายามสร้าง ecosystem ในบ้านของ Hubba เรารู้ เราเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับ Startup และเรายังมีเครือข่ายที่แข็งแรงมากด้วย และเราจะลากคุณให้ได้รับระดมทุนให้ได้” ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกคนใน HUBBA มีเหมือนๆกันคือ ความบ้า บ้าในสิ่งในที่ตัวเองเชื่อ บ้าที่ไล่ตามความฝันของตัวเอง หรือบ้าที่จับมือกันสร้างสิ่งที่คนทั่วไปคาดคิดไม่ถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองที่กลายเป็น DNA ของสถานที่แห่งนี้
Dumb luck กับชีวิตที่ไม่ได้ถูกกระแสหลักพัดพาไป
เมื่อเขามองย้อนไปในอดีต เขากลับมองว่าการที่เรียนจบช้ากว่าเพื่อนคือโชคดีของชีวิต เพราะมันทำให้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตไหลไปตามกระแสของคนหมู่มากในสังคม “สมัยนั้นคนเรียนโฆษณาก็ต้องไปทำเอเจนซี่ คนเรียนบัญชีก็ต้องไปเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แต่เรามีเวลาได้ศึกษาและมีเวลาได้ไปลองอย่างอื่นเราได้เห็นมุมมองที่แปลกกว่าคนอื่น”
หลังจากที่ได้ทำธุรกิจเครือข่าย ทำงานเพื่อสังคม การทำค่ายอาสา การเสียเวลาลองผิดนับไม่ถ้วนและพบว่า สิ่งที่เจอทุกอย่างล้วนเป็นบทเรียนสำคัญ ชีวิตเหมือนเป็นการต่อจุดมาเรื่อยๆ มันมีที่มาที่ไป จนมาเจอจุดที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแต่ละจุดนั้นเขามักจะได้มาหลังจากที่ประสบกับความล้มเหลว แต่ความล้มเหลวเหล่านั้นเองที่ทำให้เขามีทุกวันนี้ได้
แนวคิด 3 ข้อที่ยึดมั่นก่อนทำ HUBBA
ถึงแม้ว่าในช่วงก่อนเริ่มทำ HUBBA เขาก็มีความลังเลอยู่บ้าง เพราะ Co-Working Space สำหรับคนไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเวลาไปทำ Research ก็มักจะได้คำตอบในเชิงลบโดยตลอด แต่ตัวเขาเองก็ยังมีความมั่นใจโดยมีแนวคิดหลักสามข้อที่ทำให้เขากล้าลงมือทำคือ
1. เราต้องรู้จักตัวเองให้ดี ยอมรับว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่รู้ เพื่อที่เราจะได้ศึกษา และนำมาพลิกแพลงใช้ ตัวเขาเองไม่เคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับ Co-Working space เลย แต่เขาก็ใช้วิธีศึกษาด้วยตัวเองจนเข้าใจรูปแบบในที่สุด
2. โอกาสต้องทำเดี๋ยวนี้ ไม่มีเวลาที่ดีที่สุด “วิธีการของผมคือกระโดดออกไปก่อน แล้วค่อยออกไปประกอบร่าง และต้องทำให้ได้ก่อนตกถึงพื้น”
3. Take risk คุณต้องกล้าเสี่ยง แต่ต้องเป็นการเสี่ยงที่ผ่านการคำนวณไว้แล้วเพราะธุรกิจไม่ใช่การพนัน
ภูมิคุ้มกันความล้มเหลว สิ่งสำคัญที่เขาอยากให้ทุกคนมี
คุณเอมบอกว่า ถ้าเปรียบตัวเขาเป็น Application หนึ่งที่คนสามารถดาวน์โหลดไปลงในชีวิตได้ เขาก็คงจะเป็น Application สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลว “ถึงแม้มันเฟล แต่มันเป็น pattern ของชีวิตผมไปแล้ว ทุกครั้งที่เฟล มันมีจุดเรียนรู้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ตอนนั้นเราดูไม่ออก บางครั้งต่อให้คุณพยายามอย่างดีแล้วมันก็อาจจะยังล้มเหลวเจ๊งไม่เป็นท่าได้ แต่เราต้องลุกขึ้นมาและพัฒนาตัวเองให้ได้จากจุดนั้น”
มีสุภาษิตญี่ปุ่นเคยว่าไว้ “แม้ล้ม 7 ครั้ง ต้องลุกขึ้นให้ได้ 8 ครั้ง” ซึ่งคงจะเหมือนเส้นทางสู่ความสำเร็จของคุณเอม เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่า ความสำเร็จของคนเราไม่เคยได้มาง่ายๆ และความพยายามที่เราลงแรงไปนั้นก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลลัพธ์กลับมาเมื่อไหร่ ทุกช่วงชีวิตที่เราคิดว่าใช่ มันก็อาจจะมีจุดที่ดึงให้เราล้มเหลวได้เสมอ แต่ถ้าเรามีภูมิคุ้มกัน และความพยายามที่ไม่ลดละ แม้จะล้มเหลว แต่ถ้าเราสามารถเรียนรู้จากความพ่ายแพ้เหล่านั้น แล้วนำกลับมาเป็นพลังให้เราเดินต่อไป สุดท้ายผลของความพยายามนั้นก็จะได้ผลิดอกออกผลอันหอมหวานให้กับเราแน่นอน
9 แนวคิดในการสร้าง Hubba ในแบบฉบับของ เอม อมฤต ที่ Startup ต้องรู้