เอม อมฤต ความสำเร็จที่เกิดจาก ลูกบ้า และความกล้าที่จะล้มเหลว 1/2

เอม อมฤต ความสำเร็จที่เกิดจาก ลูกบ้า และความกล้าที่จะล้มเหลว 1/2
10/06/16   |   9.8k   |  

ถ้าจะพูดถึงใครสักคนหนึ่งที่เป็นไอดอลให้กับคนที่อยากจะเป็น Startup หรือมีกิจการเป็นของตัวเอง หลายๆ คนคงจะนึกถึงชื่อ เอม อมฤต เจริญพันธ์ CEO และ Co-Founder ของ HUBBA Thailand  เป็นคนแรกๆ ไม่เพียงแต่ว่าเขาจะเป็นผู้ก่อตั้ง Co-Working Space ของประเทศไทย แต่ยังได้รับการจัดอันดับจาก Forbes Asia ให้เป็น Top Young Leader under 30 in 2016 ของนิตยสาร Forbes ในสาขา Enterprise Technology อีกด้วย 

 

แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ล้ำหน้ากว่าใครในวัยเดียวกัน แต่ใครจะไปคิดว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้นั้น เริ่มต้นช้ากว่าคนวัยเดียวกันไปก้าวหนึ่งด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะมาจากการที่เขายังไม่เข้าใจความต้องการของตนเอง ทำให้เลือกทำในสิ่งที่ไม่ชอบนั่นเอง กว่าคุณเอมจะกลับมาตั้งต้นเริ่มเดินใหม่อีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย JobThai ได้รับเกียรติจากคุณเอมมาแบ่งปันประสบการณ์การค้นหาตัวเองในช่วงนั้นให้เราได้ฟังกัน

 

วัยเด็กกับชีวิตที่ไม่รู้จักตัวเอง ครอบครัวว่าดี ก็ว่าตาม
“เป็นเด็กไม่รู้ตัวเอง ติดเกมส์ แต่ก็เรียนโอเคอยู่นะ พ่อทำงานธนาคาร และเชื่อว่าการจะเป็นนักธุรกิจที่ดีได้นั้น ต้องมีความรู้ด้านบัญชีที่ดี” ด้วยความที่เป็นเด็กที่มีความสนใจด้านการค้าขาย และช่างสงสัยโดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจเป็นทุนเดิม จึงทำให้เขาเกิดความคิดคล้อยตามและตัดสินใจเรียนบัญชีในที่สุด

 

หลงเข้ามาในเส้นทางที่ไม่ใช่ แต่กว่าจะรู้ตัวก็เดินมาไกลเกินไปเสียแล้ว
แม้จะไม่รู้สึกชอบเสียทีเดียวแต่ก็ยังทนเรียนมาตลอด จนมาถึงปีสามเทอมหนึ่ง เริ่มรู้ตัวแล้ว่าสิ่งที่เรียนอยู่ไม่ได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง “เราอยากเป็นผู้ประกอบการ เราไม่ได้อยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี สิ่งที่เราต้องการรู้ มันอาจจะแค่ 30% ของทั้งหลักสูตรเท่านั้นเอง”  เขายืนอยู่ตรงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกทางเดิน คือ ฝืนเดินต่อไปแม้รู้ว่ามันไม่ใช่เส้นทางที่ชอบ หรือ ย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ในด้านมาร์เก็ตติ้งที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งหลังจากที่ได้ปรึกษาเพื่อนฝูง และคนรอบตัวแล้ว เขาตัดสินใจที่จะเรียนต่อให้จบเพราะไม่อยากเสียเวลาไปตั้งต้นใหม่อีก

 

เริ่มมองหาทางเลือก แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
หลังจากที่ตัดสินใจที่จะลุยต่อเขาก็เริ่มมองหาทางเลือก จนไปเจอกับธุรกิจเครือข่าย “จริงๆแล้วตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องเงินสักเท่าไหร่นะ แต่ตอนนั้นเราก็อยากรู้ process ว่าเขาทำงานกันอย่างไร แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะเราไม่ถนัดงานขาย”  นอกจากต้องสูญเงินเป็นแสนกับการลองผิดลองถูกครั้งนี้ เขายังต้องเสียเวลามากมายซึ่งสุดท้ายได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตการเรียนของเขาอีก

 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญ เรียนไม่จบพร้อมเพื่อน
หลังจากที่เสียเวลามากมายไปกับการขายตรงจนทำให้ขาดสมาธิในการเรียน สุดท้ายแล้วเขาต้องติดอีกหนึ่งวิชาต้องเรียนเพิ่มอีกหนึ่งเทอมซึ่งในช่วงเวลานี้นี่เองที่เป็นอีกช่วงที่เขารู้สึกแย่ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต “เราไม่ได้เป็นคนโง่นะแต่เราไม่ถนัดจริงๆ เรารู้แล้วว่าถ้าเราอะไรที่เราไม่อินเนี่ย เราก็คงทำได้ไม่ดี”  เนื่องจากมีเวลาว่างเหลือเยอะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เพื่อนได้งานทำกันแล้วแต่เขายังต้องเรียนต่อ “เราแย่แน่ เพื่อนทำงานก่อนเราตั้งหกเดือน แถมพวกเขายังเก่งและรักในเรื่องนี้ด้วย แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้”  หลังจากผ่านชีวิตช่วงหนึ่งไปกับความซึมเศร้า และรู้สึกว่าชีวิตไร้ซึ่งจุดหมาย จนถึงวันหนึ่งที่รู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาใหม่แล้วบอกกับตัวเองว่า “พอแล้ว เราจะไม่ยอมให้สิ่งที่คอนโทรลไม่ได้มากระทบหรือควบคุมเราอีก”

 

ลองทุกอย่างเพื่อแสวงหาหนทางที่คิดว่าใช่
เราต้องเก่งอะไรสักอย่างแล้ว ด้วยความรู้สึกนี้จึงผลักดันให้เกิดเป็นพลังอันแรงกล้าที่จะออกไปค้นหาสิ่งที่คิดว่าใช่สำหรับตัวเอง มีอะไรให้ลองทำเขาเอาหมด เดินข้าออกงานสัมมนาเป็นว่าเล่น ขายของออนไลน์ เรียนรู้การลงทุน ไปทำงานร้านอาหาร จนถึงไปเรียนการดูฮวงจุ้ย แต่ทุกสิ่งที่ลองทำเหมือนยังไม่มีงานไหนเลยที่ตอบโจทย์ แต่ตัวเขาเองก็ยังมองโลกในแง่ดีเพราะงานไหนที่ไม่ใช่ก็ถือว่าได้ตัดตัวเลือกออกไป ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่จิตใจก็ได้ทยอยสร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวไว้ ความผิดพลาดต่างๆ จึงไม่ได้สร้างปัญหามากนัก   

 

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ที่ได้มาจากการออกค่ายอาสา
ในช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเองนี้นี่เองที่เขาได้มีโอกาสไปออกค่ายอาสา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคิดมาตลอดว่าเป็นเรื่องไร้สาระเหนื่อยและเสียเวลา แต่การออกค่ายครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดมุมมองครั้งใหม่ให้กับชีวิต เขารู้สึกว่าการทำเพื่อสังคม หรือทำประโยชน์ให้กับคนอื่น มันเป็นความรู้สึกที่เติมเต็มชีวิตส่วนหนึ่งของเขา และนี่เองคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เข้ามาเติมในส่วนที่ขาดหาย

 

การผสมผสานกันระหว่างความชอบในเรื่องธุรกิจ และ การทำเพื่อสังคม
หลังจากที่ได้แนวคิดเรื่องการทำเพื่อสังคมมาบวกรวมกับความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ เขาเริ่มค้นหาข้อมูลทันทีว่ามีงานประเภทนี้บ้างไหมในโลกใบนี้ ซึ่งสิ่งที่เขาเจอ คือสิ่งที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หลังจากนั้นเขาก็เริ่มปฏิบัติการตามล่าหาความฝันอีกครั้งโดยใช้เวลาในการฝึกงานในองค์กรเพื่อสังคมทั้งในฐานะเด็กฝึกงาน และพนักงานประจำหลังจากเรียนจบ  ซึ่งในตอนแรกนั้น ไม่มีที่ไหนรับเขาเข้าทำงานเลย แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ เขาได้เขียนจดหมายส่งถึง CEO ขององค์กรหนึ่งพร้อมทั้งบรรยายถึงสาเหตุว่าทำไมเขาถึงต้องการทำงานนี้ จนเขาได้งานในที่สุด

 

 

เข้าไปด้วยไฟที่แรงกล้าแต่พบว่าโลกแห่งความจริงไม่ได้สวยงาม
หน้าที่ของเขาในตอนนั้นคือ หัวหน้าโครงการเพาะบ่มผู้ประกอบการ คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษารวมถึงช่วยผู้ประกอบการหาทุน แต่สิ่งที่พบคือ ผู้ประกอบการหลายคนไม่สนใจคำแนะนำของเขา “ผมทำมายี่สิบปี คุณเป็นแค่เด็กจบใหม่ทำไมผมต้องเชื่อคุณ” สิ่งที่คิดว่ากำลังจะใช่ก็กลับไม่เป็นไปดังตั้งใจไว้ เพราะเหมือนทุกอย่างจะดูไร้ประโยชน์ “ถ้าเราช่วยสังคมได้ พวกเขาต้องรอดแต่นี่คือพวกเขาไม่รอด” ช่วงเวลานี้เขาได้พบเห็นว่ามีนักธุรกิจมากมายที่ไปไม่รอด เขาจึงกลับมาคิดต่อว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจริงๆ ต้องการอะไรมากกว่าแค่คำแนะนำ รอบตัวพวกเขาต้องมีอะไรที่เกื้อกูลส่งเสริมกันมากกว่านี้ โครงการนี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการทำธุรกิจเท่านั้นเอง

 

อุทกภัยที่มาพร้อมกับไอเดียที่เปลี่ยนชีวิต
ในการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ในช่วงชีวิตของคนเราหลายครั้งเราเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัจจัยภายนอกมากดดันทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่คุณเอมพบเจอในการทำงานคือโจทย์ใหม่ในชีวิตที่ทำให้ต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าเขาจะสามารถทำในสิ่งที่รัก และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งในขณะที่ยังขบคิดอยู่นั้นเอง ปัจจัยภายนอกที่ไม่มีใครคาดถึงก็เกิดขึ้นคือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตใครหลายคน คุณเอมก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน  

 

เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ น้ำท่วมบ้านและที่ทำงาน ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ที่ชลบุรี เขาต้องไปนั่งทำงานในร้านกาแฟและพบเห็นความไม่สะดวกมากมายในการทำงาน ทั้งเรื่องอินเทอร์เน็ตไม่แรง เสียงดังรบกวน หาปลั๊กไฟไม่ได้ เขาจึงคิดว่าถ้ามีสถานที่ให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันก็น่าจะดี ยิ่งคนที่จะเริ่มทำธุรกิจแทนที่จะเอาเงินไปลงทุนแต่กลับต้องไปเสียเงินมากมายให้กับค่าเช่าออฟฟิศค่ามัดจำและค่าตกแต่ง  ความคิดต่างๆ รวมถึงประสบการณ์ทั้งหมดที่เขามีมา เริ่มเชื่อมต่อกัน แล้วเกิดเป็นความคิดหนึ่งคือ Co-Working Space

 

เอม อมฤต ความสำเร็จที่เกิดจาก ลูกบ้า และความกล้าที่จะล้มเหลว 2/2

tags : inspiration, co-working space, startup, แรงบันดาลใจ, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม