ในมุมมองขององค์กรต่าง ๆ การพิจารณารับคนเข้าทำงานโดยทั่วไปต้องอาศัยความเหมาะสมในหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน รวมถึงทัศนคติของตัวผู้สมัครงานที่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Skills-Based Hiring หรือการให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานเป็นหลักซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นจากบริษัททั้งในประเทศไทยของเราและต่างประเทศ
วันนี้ JobThai เลยขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเทรนด์การจ้างงานแบบ Skills-Based Hiringกัน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนในการพัฒนากระบวนการจ้างงานขององค์กรคุณ
Skills-Based Hiring คือการจ้างงานที่มุ่งเน้นไปที่การประเมินทักษะและความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถในการทำงานที่ตอบโจทย์กับสิ่งที่องค์กรกำลังมองหาอยู่ในปัจจุบัน มากกว่าการพิจารณาประวัติการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น วุฒิการศึกษา คณะหรือสาขาวิชาที่เรียนจบมา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ได้การันตีว่าผู้สมัครงานจะทำงานได้เสมอไป หรือบางคนอาจต้องปรับตัวนานเพราะยังขาดทักษะบางอย่างเมื่อทำงานจริง การจ้างงานรูปแบบใหม่นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการได้พนักงานไม่ตรงคุณสมบัติ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรได้เจอกับผู้สมัครที่หลากหลายมากขึ้น
แม้Skills-Based Hiring จะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่อยากได้คนที่มีทักษะตรงตามที่ต้องการและพร้อมทำงานได้ทันที แต่การปรับเปลี่ยนไปใช้วิธีการจ้างงานรูปแบบนี้ ต้องอาศัยการปรับตัวของทั้งองค์กรและตัวผู้สมัครงาน ฝั่งองค์กรเองก็ต้องปรับวิธีการทำงานตั้งแต่การคัดเลือกผู้สมัครงาน เปลี่ยนเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของผู้สมัครให้เน้นที่เกี่ยวข้องกับทักษะการทำงานเป็นหลัก ตลอดจนคิดค้นวิธีการทดสอบทักษะรูปแบบต่าง ๆ ตามที่องค์กรเห็นว่าเหมาะสม ในขณะที่ฝั่งผู้สมัครงานก็ต้องปรับตัวในการสมัครและสัมภาษณ์งาน จากการเตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาในมหาวิทยาลัย (สำหรับเด็กจบใหม่) หรือประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา (คนที่ทำงานอยู่แล้ว) ก็ต้องเตรียมตัวพิสูจน์ให้ได้ว่าเรามีทักษะอะไรบ้าง และมีความชำนาญในการทำงานด้วยทักษะนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด สรุปง่าย ๆ ว่า Skills-Based Hiring เป็นแนวทางใหม่ในการจ้างงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้องค์กรธุรกิจสามารถหาคนได้ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการและพร้อมทำงานได้เลยนั่นเอง
การจ้างงานรูปแบบเดิมที่บริษัทส่วนใหญ่ทำกันอยู่จำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งวุฒิการศึกษา และทักษะความสามารถเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรจะได้คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่กำลังต้องการมากที่สุด วิธีแบบนี้อาจจะเหมาะและจำเป็นสำหรับบางสายงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องดูวุฒิการศึกษา หรือใบรับรองวิชาชีพ รวมถึงประสบการณ์และความรู้เฉพาะทางที่ลงลึกมาก ๆ อย่างสาขาอาชีพวิศวกรรม สาธารณสุข หรือ วิทยาศาสตร์ เพราะเกี่ยวข้องกับมาตรฐานในการปฏิบัติงานบางอย่าง
สำหรับSkills-Based Hiring นั้นจะโฟกัสไปที่กระบวนการหาคนที่มีทักษะพร้อมทำงานทันที ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาที่ตรงกับสายงาน โดยทีมที่คัดเลือกพนักงานจะออกแบบการประเมินผลวัดระดับความชำนาญในสิ่งที่ผู้สมัครทำได้ในปัจจุบันหรือดูว่าพวกเขามีแนวโน้มในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์การทำงานของบริษัทได้มากน้อยขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้น Skills-Based Hiring ยังเปิดโอกาสให้องค์กรเข้าถึงกลุ่มผู้สมัครงานได้มากขึ้น เพราะไม่ได้จำกัดเฉพาะคนทำงานที่จบตรงสายมา แต่ยังมีโอกาสได้ผู้สมัครที่ต้องการย้ายสายงานซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีแรงจูงใจในการทำงานสูง และตั้งใจพัฒนาทักษะด้วยตัวเอง Skills-Based Hiring จึงถูกออกแบบมาเพื่อคัดเลือกคนทำงานให้มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งงานมากที่สุด วัดผลได้ชัดเจนว่ามีความพร้อมทำงานได้ และเป็นเครื่องมือที่หลายบริษัทใช้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามถึงจะเน้นการประเมินทักษะการทำงานเป็นหลัก แต่หลาย ๆ บริษัทที่ใช้การจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring ก็มักจะใช้อีกเกณฑ์หนึ่งควบคู่ไปด้วย นั่นก็คือเรื่องความเข้ากันได้ระหว่างตัวผู้สมัครงานกับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่านอกเหนือจากทักษะที่จำเป็นแล้ว พนักงานก็จะมีเคมีที่ดี ปรับตัวเข้ากับทีมและองค์กรได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับบริษัทที่อยากจะเริ่มกระบวนการจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในฝั่ง HR และแผนกที่ต้องการจะทดลองรับสมัครพนักงานด้วยวิธีนี้ คนที่เป็นระดับ Line Manager จะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าอยากได้พนักงานใหม่ที่มีคุณสมบัติและทักษะอะไรบ้าง ในขณะที่ HR ก็ต้องทำความเข้าใจกับการทำงานและความคาดหวังในการหาคนที่เหมาะสมกับแผนกนั้น ๆ มากขึ้นกว่าการจ้างงานรูปแบบเดิม และต้องร่วมมือกันทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อคิดค้นวิธีในการคัดคนจากทักษะด้วยเครื่องมือหรือแบบทดสอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คำแนะนำสำหรับบริษัทที่อยากจะลองคัดคนด้วยทักษะจึงเป็นการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มที่บางตำแหน่งหรือบางทีมก่อน เมื่อองค์กรเริ่มคุ้นเคยจึงค่อยขยายผล และเปลี่ยนแปลงไปทั้งแผนก หรือทั้งองค์กร
นอกจาก Skills-Based Hiring จะทำให้องค์กรได้คนทำงานตรงตามคุณสมบัติมากกว่าการจ้างงานรูปแบบเดิมแล้ว เรามาดูกันว่าข้อดีของการคัดเลือกคนรูปแบบนี้มีประโยชน์ในด้านไหนบ้าง
- ช่วยเพิ่มคุณภาพการจ้างงานขององค์กร เพราะบริษัทที่จ้างงานโดยเน้นทักษะ สามารถหยิบยกกลุ่มทักษะสำคัญที่จำเป็นในการทำงานแต่ละวันของทีมหรือแผนกมาใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงานได้ เพียงแค่ออกแบบวิธีการ หรือ เลือกใช้เครื่องมือวัดระดับทักษะของผู้สมัครงาน ตัวอย่างเช่นตำแหน่งงานในสายงานไอทีก็ให้ผู้สมัครงานทดสอบระดับความชำนาญในการใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เมื่อผ่านการทดสอบ บริษัทก็จะรู้ได้ในทันทีว่าผู้สมัครคนนั้นมีทักษะอยู่ในเกณฑ์ไหน เพียงพอกับการทำงานหรือไม่ เมื่อได้เริ่มงานจริงบริษัทก็จะสามารถวางแผนลดช่องว่างของทักษะของพนักงานใหม่ได้ ทำให้มอบหมายงานหรือช่วยเหลือพนักงานพัฒนาทักษะได้อย่างเหมาะสม การปรับตัวเพื่อเข้ากับองค์กรก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น
- ได้กลุ่มผู้สมัครกลุ่มใหญ่ขึ้น เพราะการคัดเลือกคนแบบ Skills-Based Hiring เปิดโอกาสให้ทั้งคนที่จบตรงสายและคนที่จบไม่ตรงสายมีโอกาสเท่ากันทุกคน เมื่อการคัดเลือกนั้นไม่ได้พิจารณาวุฒิการศึกษา ทำให้ไม่ว่าจะเป็นใครก็สมัครเข้ามาลองทดสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สมัครที่ตั้งใจจะเปลี่ยนสายงาน แม้เรียนจบมาไม่ตรงสายแต่ก็อาจมีความมุ่งมั่นเรียนรู้และพัฒนาทักษะนั้น ๆ ด้วยตัวเองจนมากเพียงพอที่จะทำงานและเติบโตไปกับองค์กรได้ การลดข้อจำกัดในการสมัครงานที่ไม่จำเป็นออกไป จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจอผู้สมัครที่มีศักยภาพในปริมาณที่มากขึ้นกว่าแค่ในตลาดของคนที่จบตรงสาย ไม่แน่ว่าอาจทำให้บริษัทของคุณเจอพนักงานดาวรุ่งคนต่อไปก็เป็นได้
- ช่วยลดอคติในการพิจารณารับเข้าทำงานที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา บริษัทที่เคยทำมาก่อนหน้า หรือจำนวนประสบการณ์การทำงาน สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้การันตีเรื่องระดับความชำนาญของทักษะการทำงานเสมอไป การมุ่งไปที่การประเมินทักษะเพียงอย่างเดียวจะทำให้เกิดความยุติธรรม ไม่ว่าผู้สมัครจะมีปูมหลังทางการศึกษาอย่างไร ก็จะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
- ช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ เพราะเมื่อพนักงานได้รับการคัดเลือกมาแบบ Skills-Based Hiring ย่อมต้องผ่านการทดสอบแล้วว่ามีทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน การที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ด้วยทักษะที่มีอย่างเต็มศักยภาพย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่างานที่ทำมีคุณค่า มีความสุขกับการทำงาน อีกทั้งยังเกิดความรู้สึกผูกพันธ์และอยากเติบโตไปพร้อมกับองค์กร
ท้ายที่สุดแล้วการจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring จะยิ่งทำให้องค์กรนั้นได้คนทำงานที่ตรงตามคุณสมบัติมากที่สุด และยังลดปัญหาการลาออกได้มากเพราะกระบวนการคัดสรรสามารถกรองผู้มัครได้อย่างแม่นยำตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจ้างงาน
จากเวทีเสวนาหัวข้อ “Skill-Based Hiring กลยุทธ์การจ้างงานเน้น ‘ทักษะ’ ทางออกของวิกฤติขาดคนไอที” ที่มีขึ้นในงานแถลงข่าวและการลงนามความร่วมมือ 5 ปี ระหว่างบริษัท เจเนเรชั่น ยู เอมพลอยด์เอ็ด (ประเทศไทย) จำกัด กับสำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อร่วมผลักดันกลยุทธ์จ้างงานเน้นทักษะแก้วิกฤตขาดบุคลากรอาชีพด้านเทคโนโลยี ด้วย GenNX Model เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าในภาพรวม ตลาดแรงงานบ้านเรานั้นมีความท้าทายเรื่องการขาดแคลนแรงงานมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีทักษะในระดับปานกลาง หรือ ระดับสูง แทบทุกธุรกิจต่างก็อยากหาพนักงานใหม่ที่เก่งและตอบโจทย์ความต้องการและเป้าหมายขององค์กร การจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring เลยถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยในไทยก็มีตัวอย่างให้เห็นจากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่ได้ทดลองใช้การจ้างงานแบบเน้นทักษะกันบ้างแล้ว
บริษัทเทคโนโลยีในไทยมองว่าเทรนด์ Skills-Based Hiring เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม คุณณัฐนันท์ ฉันทานุรักษ์ General Manager ของ Skooldio บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ธุรกิจต้องแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการดึงดูดแรงงาน อีกทั้งการรอนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยแต่ละปีก็ใช้เวลานานและจำนวนก็ยังไม่เพียงพอ และถึงแม้ว่าจะจบมาตรงสาย เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู้โลกการทำงานน้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มงานก็ต้องมาอัปเดตความรู้ ตามเทรนด์และเทคโนโลยีของแต่ละบริษัทให้ทันเช่นกัน เพราะกว่าจะจบความรู้ในการทำงานจริงก็อาจจะมีอะไรพัฒนามากขึ้นไปกว่าหลักสูตรที่เรียนมา 4 ปี ทำให้ไม่ว่าจะเป็นคนที่จบตรงสายหรือคนที่เปลี่ยนสายงานก็ต้องปรับตัวไม่ต่างกัน องค์กรก็เลยเปิดกว้างมากขึ้น รับคนที่จบตรงสาย และเริ่มมีการมองหากลุ่มคนที่จบไม่ตรงสายแต่มีทักษะตรงกับความต้องการของตำแหน่งเพื่อทดแทนกับการขาดแคลนแรงงาน
ในขณะที่คุณอุราภรณ์ เอียดการ HR Director ของ MFEC บริษัทเทคโนโลยีที่ได้ลองใช้การจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring มาแล้ว มองว่าข้อดีของการรับคนรูปแบบดังกล่าวมีหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทได้ Candidate Pool กว้างขึ้นกว่าเดิม บริษัทไม่ต้องรอแต่นักศึกษาจบใหม่ ฝั่งคนสมัครงานก็จะไม่ถูกจำกัดโอกาสการหางานอยู่ที่สาขาวิชาที่ตัวเองเรียนจบมาเท่านั้น แต่วัดกันที่ความสามารถและการพัฒนาทักษะของตัวเองเพื่อตำแหน่งงานเป็นสำคัญ
การจ้างงานแบบ Skills-Based Hiring จึงเปิดโอกาสให้องค์กรได้เจอกับผู้สมัครงานที่มี Passion และมีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สูงมาก เมื่อได้คนเหล่านี้เข้ามาในองค์กรพวกเขาก็จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยลดอคติเรื่องของสถาบันการศึกษาของผู้สมัครงานได้ด้วย เพราะพิจารณาความเหมาะสมในการรับเข้าทำงานที่ทักษะการทำงานเป็นหลัก อย่างประกาศงานของ MFEC ก็จะไม่ระบุวุฒิการศึกษา เพศ และอายุที่บริษัทต้องการ จะบอกแค่ว่าต้องการคนที่มีทักษะการทำงานอะไรบ้าง และความชำนาญของทักษะนั้น ๆ อยู่ในระดับไหน นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า Skills-Based Hiring ช่วยลดอคติในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัคร ทำให้ผู้สมัครแต่ละคนสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมนั่นเอง
จากตัวอย่างของทั้งสองบริษัทในธุรกิจเทคโนโลยี พอจะทำให้เราได้เห็นว่า Skills-Based Hiring เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การจ้างงานในบ้านเราได้เป็นอย่างดี การจ้างแบบเดิมอาจยังไม่ได้หายไปไหน แต่ตราบใดที่การขาดแคลนคนทำงานยังเป็นความท้าทายของธุรกิจ ในอนาคตข้างหน้า Skills-Based Hiring จะเข้ามามีบทกับโลกธุรกิจมากขึ้นอย่างแน่นอน
แม้หัวใจของ Skills-Based Hiring อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับทั้งองค์กรและคนทำงานหลาย ๆ คน แต่เราน่าจะได้เห็นลักษณะการจ้างแบบนี้มากขึ้นในอนาคต ถ้าโจทย์เร่งด่วนขององค์กรของคุณคือการคัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งงานและอยากได้บุคลากรที่พร้อมทำงานเลย คุณอาจจะต้องทดลองปรับวิธีการจ้างงานและเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
adaface.com, compensationworks.com, forbes.com, linkedin.com, testgorilla.com