-
อย่าเพิ่งเหมารวมว่าเด็กจบใหม่ไม่ทนงาน เพราะการลาออกเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับทัศนคติในการทำงานของแต่ละคน ทำให้ไม่สามารถเหมารวมว่า “เด็กจบใหม่” เท่านั้นที่ไม่ทนงาน
-
HR ชอบผู้สัมภาษณ์ที่มาตรงเวลา ผู้สมัครงานก็ชอบเหมือนกัน หาก First Impression ของผู้สมัครคือ HR มาสายเป็นชั่วโมง ก็อาจทำให้ผู้สมัครต้องคิดใหม่ให้ดีอีกครั้งว่าหากถึงเวลาทำงานจริงแล้วจะเกิดปัญหาอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า
-
อย่าพูดไม่ดีใส่ หากผู้สมัครตอบคำถามไม่ได้ตามที่คุณต้องการ เพราะคิดว่าเขามาของานทำจะพูดยังไงก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วทุกฝ่ายต่างมีสิทธิ์เลือก และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทุกคนควรให้เกียรติกัน
-
หากไม่ผ่านการสัมภาษณ์ก็บอกมาตรง ๆ ได้เลย เพราะบางครั้ง HR มักจะบอกกับผู้สมัครว่า“หากสัมภาษณ์ผ่านจะติดต่อกลับไป” ซึ่งมันทำให้ผู้สมัครใจจดใจจ่อ แม้จะผ่านมาหลายวัน การบอกตรง ๆ จะทำให้ผู้สมัครได้มูฟออนต่อ
|
|
กว่าที่จะรับพนักงานเข้าทำงานสักคน คนหางานก็ต้องเจอกับประตูด่านแรกอย่าง HR ก่อน ที่มีหน้าที่สแกนเรซูเม่ ติดต่อคนหางานเพื่อนัดสัมภาษณ์ รวมไปถึงการแจ้งรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับเอกสารที่ใช้ในการสมัครงาน และการสัมภาษณ์ แต่ไม่ว่ายังไง HR ก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องมี Human Error บ้าง มี Bad Day บ้าง รวมทั้ง HR แต่ละคน แต่ละบริษัทก็อาจจะมีรูปแบบการทำงานและทัศนคติที่แตกต่างกัน ซึ่งบางอย่างก็อาจส่งผลกระทบกับผู้สมัครได้โดยไม่รู้ตัว และสิ่งเหล่านั้นก็อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทได้เช่นกัน
วันนี้ JobThai เลยอยากมาแชร์ความในใจของคนหางานบางส่วน และเคล็ดลับที่จะทำให้คุณเป็น HR ที่ Professional มากขึ้นให้ลองนำไปปรับใช้กัน
อย่าเหมารวมว่าเด็กจบใหม่ไม่ทนงานเลย
“ที่พวกเราลาออกเร็วเพราะอาจเห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรไม่เข้ากับตัวเอง
หรือสถานการณ์บางอย่างในบริษัทอาจส่งผลกระทบต่อพวกเรา เลยยอมออกมาเร็ว
ดีกว่าต้องทนทำงานต่อ เพราะอาจส่งผลเสียต่อการทำงานในอนาคตได้”
ปัญหาการลาออกเร็วของพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่หรือแม้แต่คนที่เคยทำงานมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่อดทนกับการทำงานเสมอไป ในฐานะ HR แล้วต้องมองสาเหตุให้รอบด้านมากขึ้น อาจจะเกิดได้จากทั้งปัญหาการทำงาน การเดินทาง หรือเมื่อทดลองทำงานจริงแล้วพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตนถนัดและมีความสุข หรือเห็นตัวเองเติบโตไปกันงานนั้นได้ เมื่อรู้ตัวแล้วก็เปลี่ยนเลย ดีกว่าที่จะเสียเวลาทั้งฝั่งพนักงานและฝั่งองค์กร นอกจากเรื่องการทำงานแล้ว ก็อาจจะมีเรื่องของการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่อาจจะเหมาะสมและดีในการทำงานรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะไม่ดีกับการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ ซึ่งเรื่องการลาออกจึงเป็นเรื่องที่เป็นปัจเจกและขึ้นอยู่กับทัศนคติในการทำงานของแต่ละคน ทำให้ไม่สามารถเหมารวมว่า “เด็กจบใหม่ทุกคน” ไม่ทนงาน เพราะจริง ๆ แล้วก็ยังมีเด็กจบใหม่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยากร่วมงานกับองค์กรของคุณ และคิดว่าเขาชอบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของคุณ
ในขณะเดียวกันหากพนักงานที่เข้ามาใหม่ในแผนกเดียวกัน ลาออกบ่อย ๆ คุณอาจลองไปตรวจสอบแผนกนั้นด้วยว่ามีปัญหาตรงไหนหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำงาน การดูแลพนักงานในทีมของหัวหน้าแผนก หรือหากอยากรู้จริง ๆ ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้พนักงานใหม่อยากลาออก คุณอาจทำ Exit Interview เพื่อเป็นการสอบถามพนักงานใหม่คนนั้นดูก็ได้ หากเจอสาเหตุและสามารถแก้ไขได้ ก็อาจจะเป็นโอกาสให้ได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพ และทำงานให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่
HR ชอบผู้สัมภาษณ์ที่มาตรงเวลา พวกเราก็ชอบคนตรงเวลาเหมือนกัน
“ถ้าผู้สัมภาษณ์อย่างเรามาตรงเวลา HR ก็อย่าสายเลย เราเข้าใจดีว่าทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเยอะ
ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินจริง ๆ ก็อยากให้แจ้งหน่อย จะได้ไม่เกิดความรู้สึกไม่ดีตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้ทำงาน”
พนักงานทุกคนเป็นหน้าตาขององค์กร HR เองก็เช่นกัน หาก First Impression ของผู้สมัครคือการต้องนั่งรอ HR หรือรอสัมภาษณ์เป็นชั่วโมง โดยไม่รู้เลยสักนิดว่าต้องรออะไร และรออีกนานแค่ไหน ก็อาจทำให้พวกเขาคิดว่าความไม่เป็นมืออาชีพตรงนี้ อาจเกิดมาจากความไม่มีระเบียบในองค์กร ไม่มีระบบการทำงานที่ดี และไม่เคารพเวลาซึ่งกันและกัน สุดท้ายอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตหากต้องร่วมงานกับองค์กรนี้ ซึ่งผู้สมัครคนนี้อาจเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพตรงกับที่องค์กรมองหาทุกอย่าง แต่ก็หลุดมือไปเพราะความไม่ตรงต่อเวลา
ทางที่ดี หากคุณเป็น HR ที่มีงานด่วนและสำคัญซึ่งกำลังทำค้างอยู่หรือมีสถานการณ์บางอย่างทำให้คุณยังไม่สามารถไปหาผู้สัมภาษณ์ได้ ก็ควรจะแจ้งเขาด้วย โดยบอกเหตุผลว่าให้รอเพราะอะไร อย่างคุณกำลังติดประชุมที่ยืดเยื้อเกินเวลา แต่เป็นประชุมที่สำคัญมาก ปลีกตัวออกมาไม่ได้จริง ๆ หรือเกิดอุบัติเหตุบางอย่างขึ้น อาจบอกผ่านการโทรศัพท์หรือส่งคนไปบอกกับผู้สมัครต่อหน้าเพื่อแสดงความจริงใจ รวมทั้งบอกกับผู้สัมภาษณ์ด้วยว่าเขาต้องรออีกนานแค่ไหน หากใช้เวลานานก็อาจจะเสนอให้เขาไปหาอะไรทานก่อนระหว่างรอ หากคุณพร้อมแล้วจะโทรไปแจ้งอีกที และกล่าวขอโทษกับตัวผู้สมัคร ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สมัครรู้สึกว่าเขาไม่โดนทิ้งให้นั่งรอเป็นชั่วโมงแบบไม่รู้สาเหตุ
อย่าพูดไม่ดีใส่ หากพวกเราตอบคำถามไม่ได้ตามที่คุณต้องการ
“การที่ HR พูดไม่ดีหรือกดดันเรา มันไม่ได้ส่งผลดีอะไรเลย
มันไม่ได้ทำให้รู้สึกอยากตกลงร่วมงาน หรือทำตามข้อเสนอ เพื่อให้ HR พอใจ”
ในการสมัครงานจริง ๆ แล้วทุกฝ่ายต่างมีสิทธิ์เลือก บริษัทมีสิทธิ์เลือกพนักงานที่เหมาะกับตำแหน่งที่สุด คนหางานเองก็มีสิทธิ์เลือกบริษัทที่จะเข้าไปทำงานด้วย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทุกคนควรให้เกียรติกัน อย่ามองว่าผู้สมัครคือคนที่มาของานทำ จะพูดยังไงก็ได้ แต่ให้มองว่าเขาจะเป็นเพื่อนที่เข้ามาช่วยทำให้องค์กรของเราเติบโต ซึ่งสถานการณ์ที่ผู้สมัครงานส่วนมากเจอประสบการณ์ที่ HR พูดไม่ค่อยดี มักมีอยู่ 2 กรณี
กรณีนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้สมัครได้งานหรือบริษัทที่ตัวเองสนใจมากกว่าแล้ว ทำให้ผู้สมัครจำเป็นต้องปฏิเสธ หรือบางครั้ง HR ก็เห็นเรซูเม่และคิดว่าคุณสมบัติของเขาตรงเลยเป็นฝ่ายติดต่อไปหาเอง แต่พอผู้สมัครได้ฟังรายละเอียดหรือหาข้อมูลบริษัทเพิ่มเติมแล้วอาจรู้สึกว่าเขาไม่เหมาะเลยปฏิเสธไป ซึ่งก็มีหลายปัจจัย อย่างการเดินทางที่ไกลและใช้เวลานาน รายละเอียดงานบางอย่างไม่เหมาะสมกับคุณสมบัติของตัวเอง หรือศึกษาวัฒนธรรมองค์กรแล้วคิดว่าไม่ใช่สไตล์ที่ชอบ
ระหว่างการสัมภาษณ์งาน บางครั้งผู้สมัครที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์อาจเกิดอาการประหม่าหรือตื่นเต้น ทำให้พวกเขาอาจตอบไม่ตรงกับที่คุณคาดหวังไว้ หรือไม่เข้าใจคำถามจนตอบผิดประเด็นไป ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น HR บางคนก็อาจเผลอทำหน้าผิดหวังหรือพูดไม่ดีใส่ผู้สัมภาษณ์ ซึ่งหากเป็นแบบนี้นอกจากจะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกแย่ กังวล เกิดความไม่มั่นใจจนไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่แล้ว บริษัทก็อาจพลาดโอกาสได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงมาร่วมงานด้วย
การที่ผู้สมัครเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี นอกจากจะสร้างแผลในใจของผู้สมัครแล้ว มันก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรคุณดูไม่ดีไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น อย่าลืมว่าผู้สมัครเขาก็ยังมีเพื่อนและคนรู้จักอีกหลายคนที่ต้องหางานเหมือนกัน นอกจากคุณอาจจะพลาดผู้สมัครคนนี้แล้ว คุณก็อาจพลาดเพื่อนรอบตัวของผู้สมัครคนนั้นด้วยเช่นกันถ้าเขาเอาประสบการณ์ไม่ดีที่เขาเจอไปเล่าต่อ
หากไม่ผ่านการสัมภาษณ์ก็บอกมาตรง ๆ ได้เลย
“ถ้าเราไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน
ก็อยากให้บอกตรง ๆ ให้ชัดเจน เราจะได้มูฟออนต่อ”
ด้วยความที่วัฒนธรรมการทำงานของประเทศมักจะประนีประนอม ถนอมน้ำใจ และเกรงใจซึ่งกันและกัน ทำให้ HR หลายคนไม่แจ้งผู้สมัครตรง ๆ ว่าเขาไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน เพราะกลัวว่าผู้สัมภาษณ์จะเสียใจ และมักจะบอกกับผู้สมัครกลาง ๆ ไปว่า “หากสัมภาษณ์ผ่านจะติดต่อกลับไป” ซึ่งมันทำให้ผู้สมัครใจจดใจจ่อ แม้จะผ่านมาหลายวัน จนเป็นเดือนแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็อาจให้ความหวังไว้อยู่ดีเพราะคิดว่าบางที HR อาจจะยุ่งเลยยังไม่ได้แจ้ง
ซึ่งความจริงแล้วผู้สัมภาษณ์ส่วนมากอยากให้ HR บอกมาตรง ๆ มากกว่า ดังนั้นเมื่อรู้ผลแล้วว่าผู้สมัครคนไหนไม่ผ่าน ก็ควรจะส่งอีเมลหรือโทรไปแจ้งผลกับเขา ให้พวกเขาตัดใจ ไม่ต้องรอจนทำให้เขาอาจจะเสียโอกาสในการร่วมงานกับบริษัทอื่น ๆ ในกรณีที่มีผู้สมัครงานหลายคน และต้องการเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนก่อน คุณอาจนัดสัมภาษณ์ตำแหน่งเดียวกันมาในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน จากนั้นค่อยคำนวณระยะเวลาตั้งแต่ผู้สมัครคนแรกถึงคนสุดท้ายว่าคุณและหัวหน้าแผนกนั้น ๆ จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการพิจารณาหาผู้สมัครที่เหมาะกับตำแหน่งงานมากที่สุด เมื่อจบการสัมภาษณ์ก็แจ้งพวกเขาไปว่า หากเขาผ่าน จะแจ้งผลภายในกี่วัน วิธีนี้จะทำให้พวกเขาทราบเองว่าเขาไม่ผ่านการสัมภาษณ์หากเลยวันที่กำหนดไปแล้ว
แม้ในปัจจุบันคุณสมบัติบางอย่างของผู้สมัครอาจยังไม่ตรงกับสิ่งที่บริษัทหรือคุณคาดหวังไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นแบบนี้ตลอดไป หากคุณแสดงออกกับผู้สมัครว่าพวกเขามีคุณค่า และทำให้เขาได้รับประสบการณ์และความรู้สึกดี ๆ จากบริษัท เขาก็อาจจะกลับมาสมัครงานกับบริษัทใหม่อีกครั้งในวันที่พวกเขากลายเป็นผู้สมัครที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือหากไม่ได้กลับมาสมัครงานก็อาจจะกลายมาเป็นว่าที่ลูกค้าในอนาคต ซึ่งคุณค่าและความรู้สึกดี ๆ ที่พวกเขาได้รับในวันนั้นก็จะส่งต่อไปยังงานของพวกเขา และส่งต่อไปถึงองค์กรของคุณในท้ายที่สุด
ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Source:
JobThai Official Group