8 เรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังในการสัมภาษณ์งาน

8 เรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังในการสัมภาษณ์งาน
16/02/23   |   11.2k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ในการสัมภาษณ์งาน หลายครั้งที่ HR ต้องการความมั่นใจว่าคนที่จะเลือกเข้ามาทำงานนั้นมีความสามารถที่จะทำงานออกมาได้ดี หรือเข้ากับคนอื่น ๆ ในองค์กรได้ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามลงลึกเรื่องส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นการละเมิด ดูถูก หรือตำหนิโดยที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน ประสบการณ์ และความสามารถ หรือ HR บางคนก็เกิดการเผลอวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัครมากไปจนทำร้ายความรู้สึกของคนฟัง ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงจะมาบอก 8 เรื่องเซนซิทีฟที่คุณไม่ควรหยิบมาพูดในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

 

รับมือยังไงเมื่อถูกคนสัมภาษณ์งานดูถูก

 

ถามถึงรสนิยมทางเพศของผู้สมัคร และเอามาพูดเล่นสนุกสนาน

 

“เป็นใช่ปะ?”

“น้องชอบผู้หญิงหรือผู้ชาย”

 

HR บางคนมีการถามถึงรสนิยมทางเพศในระหว่างการสัมภาษณ์งาน โดยอ้างเหตุผลว่ารู้แล้วจะได้วางตัวถูก ซึ่งความเป็นจริงแล้วเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเลย การถูกถามถึงรสนิยมทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้นในการสัมภาษณ์งาน เพราะนอกจากจะก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวแล้ว เรายังจะดูเป็น HR ที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพเอาซะเลย ในกรณีที่รสนิยมทางเพศส่งผลต่อการพิจารณาหรือการทำงานจริง ๆ เราสามารถถามได้ด้วยคำพูดที่สุภาพ และอธิบายให้ชัดเจนว่าสาเหตุที่ถามเพราะอะไร ให้เขาเข้าใจและรับรู้ว่าเราไม่ได้ถามเอาสนุกเฉย ๆ แต่หากถามแล้วเขาดูอึดอัด ไม่อยากบอก นั่นหมายความว่าเขาไม่สะดวกที่จะบอก เราก็ไม่ต้องถามต่อ

 

อย่างไรก็แล้วแต่ การถามถึงรสนิยมทางเพศก็เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดในการสัมภาษณ์งาน เราควรที่จะให้เกียรติผู้สมัคร ไม่เอาเรื่องรสนิยมทางเพศมาคุยเล่นสนุกปาก อย่าทำให้ผู้สมัครคิดว่าการเป็นเพศทางเลือกคือเรื่องผิดปกติหรือเรื่องไม่ดี เพราะยุคสมัยนี้ หลายองค์กรเปิดกว้างและไม่จำกัดเรื่องเพศกันแล้ว

 

แซวรูปลักษณ์ของผู้สมัครในเชิงล้อเล่น

 

“น้องไม่คิดจะลดน้ำหนักบ้างหรอ”

“แต่งหน้ามาสัมภาษณ์งานหรือไปเล่นงิ้ว”

 

อีกหนึ่งเรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังคือเรื่อง Body Shaming หรือการวิจารณ์ร่างกายหรือรูปลักษณ์ของผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงรูปร่าง หน้าตา ส่วนสูง สีผิว การแต่งหน้า การแต่งตัว ซึ่งบางทีเราอาจจะแค่อยากพูดเล่นกับผู้สมัครโดยไม่ได้จริงจัง แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าคำพูดหรือการกระทำของของเราจะไปสะกิดโดนปมของใครไหม เขาจะเกิดความรู้สึกอายรึเปล่า หรือไม่มั่นใจในตัวเองจนเสียเซลฟ์ ดังนั้นเรื่องเซนซิทีฟแบบนี้ไม่ควรเอามาล้อเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่ถ้าอยากพูดเพราะเป็นห่วงจริง ๆ หรือมีผลต่อการทำงาน ควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพ เช่น ถ้าผู้สมัครงานน้ำหนักเยอะ และตำแหน่งงานนี้ต้องมีการเดินเอกสารบ่อย เราก็อาจจะชวนเขาคุยเรื่องออกกำลังกาย และแนะนำเรื่องการออกกำลังกายจะดีกว่า

 

ก้าวก่ายเรื่องฐานะทางบ้านของผู้สมัคร

 

“ขับรถอะไร รุ่นไหน ยี่ห้ออะไร”

“ดูเป็นคุณหนู จะทำงานไหวเหรอ”

 

ในการสัมภาษณ์งานมักจะมี HR บางคนที่อยากรู้ฐานะทางบ้านของผู้สมัคร อาจจะเพราะความอยากรู้อยากเห็น หรืออาจจะเคยมีประสบการณ์รับพนักงานฐานะทางบ้านดีเข้าทำงาน แล้วพบว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่ไม่ทน เจอปัญหานิดหน่อยก็ลาออก เนื่องจากไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น การถามถึงฐานะทางบ้านก็ดูก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวมากไปสำหรับคนเป็น HR รวมถึงไม่อยากให้เอาฐานะทางบ้านมาเป็นเกณฑ์การรับคนเข้าทำงาน เพราะไม่ใช่ว่าคนฐานะดีทุกคนจะไม่สู้งาน หรือคนฐานะยากจนทุกคนจะขยันหาเงินเลือดตาแทบกระเด็นเสมอไป เรื่องพวกนี้เป็นทัศนคติของแต่ละคนไม่เกี่ยวกับฐานะเลย

 

ดูถูกวุฒิการศึกษา เกรดเฉลี่ย หรือเปรียบเทียบสถาบัน

 

“ทำไมถึงเลือกเรียนที่แบบนี้”

“ได้เกรดน้อย ไม่ตั้งใจเรียนสิท่า”

 

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ HR ทุกคนจะอยากรู้ว่าผู้สมัครเรียนจบจากที่ไหน วุฒิการศึกษาอะไร หรือได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ เพื่อมาประกอบการพิจารณาในการรับคนเข้าทำงาน แต่การดูถูก หรือวิจารณ์สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณดูไม่ดีแล้ว ยังทำให้ผู้สมัครรู้สึกอับอายและไม่อยากร่วมงานกับบริษัทของคุณ ดังนั้นอย่าวิจารณ์ ดูถูก หรือเปรียบเทียบวุฒิการศึกษา สถาบัน หรือเกรดเฉลี่ยของผู้สมัครกับแคนติเดตคนอื่น เพราะคนที่เรียนสถาบันไม่ดัง วุฒิการศึกษาน้อย หรือเกรดเฉลี่ยไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะไม่เก่ง คุณควรลองเปิดใจรับฟังเขาดูก่อน มองถึงทักษะและความสามารถของเขาที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานดีกว่าโฟกัสแค่เรื่องการศึกษา บางคนอาจจะโดดเด่นเรื่องกิจกรรม หรือมีการทำงานฟรีแลนซ์ระหว่างที่เรียน ซึ่งได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานนั้นโดยตรงมากกว่าวิชาเรียนก็ได้

 

ตัดสินว่าเด็กจบใหม่ทุกคนทำงานได้ไม่นาน ความอดทนต่ำ

 

“จะอยู่ได้สักกี่เดือนเนี่ย”

“เด็กจบใหม่แบบน้องไม่ค่อยสู้งานหรอก”

 

ในสายตา HR จำนวนไม่น้อยมองว่าการรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน ต้องเสียเวลามาสอนงาน และมองว่าเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่ค่อยสู้งาน เจอปัญหาอะไรก็ลาออก หรือบางคนก็มองว่าเด็กจบใหม่ไม่มี Employee Loyalty ถ้าเจองานที่ใหม่เสนอเงินมามากกว่าก็ไม่ลังเลที่จะไป แต่คุณเองก็ไม่ควรที่จะตัดสินว่าเด็กจบใหม่ทุกคนเป็นแบบที่คิด และกล่าวหาเขาออกไปในระหว่างการสัมภาษณ์ แต่ควรที่จะถามคำถามเชิงจิตวิทยาเพื่อวิเคราะห์ความน่าจะเป็นแทน เช่น คุณเคยลาออกจากงานเร็วที่สุดกี่เดือน? ถามเพื่อดูว่าเขาลาออกเร็วแค่ไหน และสาเหตุที่ออกเพราะอะไร? เพื่อดูว่าสาเหตุที่เขาออกมีน้ำหนักมากพอไหม ถ้าสาเหตุที่ออกไม่โอเค เราก็ค่อยทดไว้ในใจเงียบ ๆ ว่าเขามีทัศนคติในการทำงานแบบนั้น เพราะพฤติกรรมในอดีต มีแนวโน้มที่จะทำให้ก่อพฤติกรรมเช่นนั้นอีกในอนาคต หรืออาจจะให้เขายกตัวอย่างสถานการณ์ในการทำงานที่เขาไม่โอเค และถามถึงวิธีรับมือกับปัญหา เพื่อดูว่าเขามีวิธีรับมือปัญหาดีแค่ไหม ไม่ใช่อะไร ๆ ก็จะลาออกอย่างเดียว

 

4 วิธีทำให้ผู้สมัครรู้สึกผ่อนคลายขณะสัมภาษณ์งาน

 

บอกว่าผู้สมัครที่เปลี่ยนสายงานมีประสบการณ์น้อย ไม่น่าทำงานไหว

 

“เปลี่ยนสายงานทำไม ทำไม่ไหวหรอ”

“ประสบการณ์น้อยแบบนี้ จะทำงานรอดไหม”

 

การจ้างคนเปลี่ยนสายงานอาจจะดูเสี่ยงไปซักหน่อยในความคิด HR เพราะพวกเขาไม่เคยทำงานในตำแหน่งนี้ หรือสายงานนี้มาก่อน เราจะต้องมาสอนงานใหม่ทุกอย่าง ดังนั้น HR จึงมักจะติดใจว่าถ้ารับมาจะสามารถทำงานได้ไหม หรือเข้ากับคนในตำแหน่งนี้ หรือสายงานนี้ได้รึเปล่า จึงทำให้เกิดความลังเลกับความสามารถของผู้สมัคร และเผลอพูดออกไปด้วยถ้อยคำที่ทำให้อีกฝั่งรู้สึกเหมือนถูกตัดสินว่าไม่เก่งพอที่จะทำงานนี้ วิธีแก้คือ ลองให้ผู้สมัครบอกข้อดีว่าทำไมเราถึงต้องรับคนเปลี่ยนสายงาน? คุณมีความโดดเด่นและดีกว่าคนในสายงานนี้อย่างไร? ถ้าเขาตอบคำถามที่ไขข้อข้องใจของคุณได้ ก็อย่าลังเลใจหรือปิดโอกาสเขาเลย

 

มองว่าผู้สมัครที่เปลี่ยนงานบ่อย ทำงานไม่เก่ง เข้ากับใครไม่ได้ หรือย้ายเพื่อเพิ่มเงินเดือน

 

“ถ้าทำงานเก่งจริง ที่เก่าไม่ให้ลาออกหรอก”

“เปลี่ยนงานบ่อย ๆ เพราะอยากอัปเงินเดือนรึเปล่า”

 

คนที่เปลี่ยนงานบ่อย หรือ Job Hopper มักเป็นอีกกลุ่มคนที่ HR ไม่ค่อยอยากรับ เนื่องจากบางคนเชื่อว่าพวกเขาย้ายงานบ่อยเพราะทำงานไม่ดี เข้ากับคนอื่นไม่ได้ หรือมองว่าเปลี่ยนเพราะอยากอัปเงินเดือน จึงทำให้ HR บางคนพูดกับผู้สมัครในเชิงกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นแบบนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าเป็นการกล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐาน ดังนั้นสิ่งที่ HR ควรทำคือไม่ควรที่จะกล่าวหาใคร แต่ควรสอบถามสาเหตุที่เขาต้องเปลี่ยนงานแทน หรือถามด้วยคำถามจิตวิทยา เช่น เขาเห็นภาพตัวเองเป็นยังไงในอีก 3 ปี? เพื่อดูว่าเขามีบริษัทคุณในอนาคตเขาบ้างไหม หรืออาจจะถามถึงเป้าหมายในชีวิตว่าคืออะไร ถ้าเขามองทุกอย่างเป็นเรื่องเงินโดยไม่สนใจอย่างอื่น ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เขาจะลาออก ถ้าได้ข้อเสนอที่ดีกว่า

 

รับคนเปลี่ยนงานบ่อย (Job Hopper) เข้าทำงาน เสี่ยงไหม?

 

วิจารณ์ว่าผู้สมัครเรียกเงินเดือนสูงไป และดูถูกความสามารถ

 

“กล้าเรียกเงินเดือนสูงขนาดนี้เลยหรอ”

“เรียนมาจริงรึเปล่า… ทำไมพูดได้แค่นี้”

 

แน่นอนว่าแต่ละองค์กรก็จะมีโครงสร้างเงินของแต่ละตำแหน่งอยู่แล้วว่าควรเป็นเรทประมาณไหน แต่พอได้มาเจอผู้สมัครที่เรียกเงินเดือนไม่สัมพันธ์กับโครงสร้างเงินเดือนหรือความสามารถในเรซูเม่ ก็ทำให้ HR บางคนเผลอหลุดวิจารณ์ออกมาด้วยถ้อยคำคล้ายดูถูก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สมัครรู้สึกอับอายแล้ว คุณยังถูกมองว่าเป็น HR ที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นอีกด้วย ถ้าเจอผู้สมัครที่เรียกเรทเงินสูงกว่าโครงสร้างและความสามารถที่ระบุในเรซูเม่ อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าเขาไม่เก่งแต่เรียกเงินสูง แต่ควรลองถามถึงเหตุผลของจำนวนเงินที่เขาขอดูก่อนว่าเหมาะสมไหม รวมถึงอย่าลองภูมิความสามารถของผู้สมัคร แล้วพอเขาตอบไม่ได้ก็หัวเราะใส่ หรือพูดจาดูถูกความสามารถของเขา เพราะการที่ผู้สมัครตอบคำถามไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไปด่าหรือดูถูกเขา

นอกจากการที่ HR ต้องระวังเรื่องคำพูดแล้ว ยังต้องระวังในเรื่องของพฤติกรรมด้วย เช่น ไม่ควรมาสายกว่าเวลานัด หรือขอขยับเวลานัดหมายเลื่อนออกไปบ่อย ๆ เพราะคำพูดและพฤติกรรมที่แสดงออก มันมีผลต่อการเลือกเข้าทำงานของผู้สมัครด้วยเหมือนกัน ถ้าเราวางตัวไม่ดีในการสัมภาษณ์ ผู้สมัครก็คงไม่ชอบใจ และเหมารวมไปว่าบริษัทนี้มีบุคลากรและวัฒนธรรมการทำงานที่แย่ รวมทั้งหัวหน้างานเองก็ไม่น่าจะเป็นหัวหน้างานที่ดีเช่นกัน ดังนั้นถ้า HR อยากได้คนเก่ง หรือคนที่เหมาะสมกับบริษัทจริง ๆ ก็ไม่ควรพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่งั้นบริษัทของคุณอาจจะเสียโอกาสที่จะได้คนเก่งเข้ามาทำงานอีกมากมาย

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา : blog.jobthai.comfacebook.com/groups/jobthaiofficialblog.jobthai.com

posttoday.compantip.comprakal.com

 

tags : หางาน, งาน, สมัครงาน, คนทำงาน, hr, สัมภาษณ์งาน, jobthai, career & tips, job interview, หาคน, recruitment, เคล็ดลับการหาคน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม