เมื่อพูดถึงปัญหาในการทำงานที่ทุกองค์กรมี Generation Gap น่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่องค์กรยุคปัจจุบันต้องเจอ ด้วยประสบการณ์ ความคิดและมุมมองชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กจบใหม่ ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกการทำงานก็ตาม วันนี้ JobThai เลยจะมาเจาะประเด็นเรื่อง Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัยและแนะนำแนวทางแก้ไขให้ทุกคนกันในบทความนี้
Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย คือ คำที่ใช้อธิบายความแตกต่างทางความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมระหว่างคนต่างรุ่น ซึ่งมักนำไปสู่ความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจกันในที่ทำงาน โดยมีสาเหตุหลักมาจากประสบการณ์ชีวิต การเลี้ยงดู และค่านิยมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยี และสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนแต่ละรุ่นมีมุมมอง และวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน
การทำความเข้าใจวิธีคิดและรูปแบบการทำงานของคนแต่ละรุ่น ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลดช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมดในทันที แต่การเข้าใจภาพรวมจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานต่างวัยได้ดีขึ้น เราลองมาดูมุมมองการทำงานของคนแต่ละช่วงวัยกัน
Gen X
คนกลุ่ม Gen X หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1965-1980 มักเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงในองค์กร เช่น ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าฝ่าย คน Gen X ส่วนใหญ่มักจะมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญกับการทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายเป็นความก้าวหน้าของตัวเองและขององค์กร รวมถึงความมั่นคงในชีวิต
Gen Y
กลุ่ม Gen Y หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1981-1996 เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร ซึ่งกลุ่มคนในช่วงวัยนี้มักมีความคิดที่ทันสมัย มีความตั้งใจในการทำงาน แต่ก็ให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน คน Gen Y จึงมักสนับสนุนแนวคิด Work-life Balance และต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน กับชีวิตส่วนตัว ที่สำคัญคือพวกเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนงานได้ตลอด หากพบว่าที่ทำงานปัจจุบันนั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเอง
Gen Z
Gen Z หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่โลกการทำงาน กลุ่มคนในช่วงวัยนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล จึงมีความคุ้นเคย และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว เลยทำให้คน Gen Z มักมีความคิดสร้างสรรค์สูงจากการเข้าถึงสื่อที่หลากหลาย เรียนรู้ไว ชอบความท้าทาย และต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง และการมีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม จึงมักมองหางานที่ตอบโจทย์กับอุดมการณ์ หรือความต้องการจริง ๆ ในชีวิตเป็นหลัก
ความแตกต่างระหว่างวัยในที่ทำงาน ส่งผลกระทบต่อองค์กรหลายด้านกว่าที่คิด ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน บรรยากาศในที่ทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร การทำความเข้าใจ และจัดการกับ Generation Gap อย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความขัดแย้งภายในองค์กร และทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น พนักงานทุกคนสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
ทัศนคติในการทำงาน
ทัศนคติในการทำงานของแต่ละ Generation นั้นค่อนข้างแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น คน Gen X มักให้ความสำคัญกับความมั่นคงและความก้าวหน้าในสายอาชีพเป็นหลัก ในขณะที่คน Gen Y และ Gen Z อาจมองหาความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่า ซึ่งความแตกต่างนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องของวิธีการทำงานและวิธีการประเมินผลงานในองค์กรได้ องค์กรจึงต้องหาวิธีสร้างความเข้าใจ และประสานความแตกต่างเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการสื่อสาร
การสื่อสารเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เพราะคน Gen X อาจชอบการสื่อสารแบบเป็นทางการและมีขั้นมีตอนในการสื่อสาร แต่คน Gen Y หรือ Gen Z อาจชอบแนวทางการสื่อสารแบบตรงไปตรงมามากกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะชอบแชร์ไอเดียในการทำงานแบบเต็มที่ จึงอาจกลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใจกันได้เมื่ออยู่ในที่ประชุม
การใช้เทคโนโลยี
การใช้เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน เพราะคน Gen Z มักมีความคุ้นเคยและสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วจากการเติบโตมาในยุคดิจิทัล ในขณะที่คน Gen X อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และปรับตัวเยอะกว่า ซึ่งความแตกต่างนี้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง องค์กรจึงควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และทักษะระหว่างพนักงานต่างวัยกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการกับ Generation Gap ในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราพร้อมที่จะปรับตัว เปิดใจทำงานร่วมกันกับคนทุกช่วงวัย และฝั่งองค์กรเองก็ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ ช่องว่างระหว่างวัยก็ไม่ใช่เรื่องยากที่แก้ไขไม่ได้ โดยแนวทางที่ควรปรับใช้มีดังนี้
ปรับระบบการทำงานให้ยืดหยุ่น
การสร้างระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรควรพิจารณาการนำระบบการทำงานแบบยืดหยุ่นมาใช้ เช่น การทำงานรูปแบบไฮบริด (Hybrid Working) หรือเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Hours) ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของพนักงานทุกวัย โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาโครงสร้างและระเบียบวินัยที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คน Gen X ให้ความสำคัญเช่นกัน
เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างวัยได้ ทางองค์กรจึงควรจัดให้มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ สำหรับพนักงานทุกระดับ เช่น การจัดประชุมระดมความคิด การสำรวจความคิดเห็นพนักงานประจำปี รวมถึงผลักดันให้พนักงานทุกคนในองค์กรสามารถเสนอไอเดียในที่ประชุมได้อย่างเสรีบนพื้นฐานของการเคารพกันและกัน โดยไม่มีกำแพงด้านตำแหน่งหรือความอาวุโส เพราะการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และลดความรู้สึกแบ่งแยกกันระหว่างรุ่นหรืออายุการทำงานที่ไม่เท่ากัน
จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ร่วมกัน
การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างพนักงานต่างวัย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งทางองค์กรสามารถจัด Mentoring Program โดยให้พนักงานรุ่นอาวุโสเป็นพี่เลี้ยงให้กับพนักงานรุ่นใหม่ หรือจัดการอบรมแบบ Reverse Mentoring ที่ให้พนักงานรุ่นใหม่สอนทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงานรุ่นอาวุโส นอกจากนี้ ยังสามารถจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ (Team Building) ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างวัย เพื่อสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน
แม้ปัญหา Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัยจะเป็นปัญหาที่หลายองค์กรต้องเผชิญ แต่ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจและจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสม ความแตกต่างนี้ก็สามารถกลายเป็นจุดแข็งที่สร้างความหลากหลาย และไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้