- ปฐมนิเทศผ่าน Video Conference ถ้าพนักงานใหม่ใช้อุปกรณ์ IT ของตัวเองในการทำงาน ฝ่าย IT ต้องถามรายละเอียด เพื่อให้คำแนะนำในการติดตั้งโปรแกรมที่จำเป็น แต่ถ้าบริษัทต้องจัดหาอุปกรณ์ IT ให้ ก็ต้องส่งให้ถึงมือพนักงานใหม่ก่อนถึงวันเริ่มงาน
- ทำคู่มือแนะนำบริษัท กฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์กร การใช้งานเครื่องมือ ระบบ หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ในรูปแบบเอกสาร หรือไฟล์ Video และอัปโหลดขึ้นออนไลน์ให้พนักงานใหม่ดาวน์โหลดได้
- จัด Welcome Party สบาย ๆ ผ่าน Video Conference ให้พนักงานใหม่มีโอกาสคุยกับคนอื่น ๆ ในแผนกนอกเหนือจากเรื่องงาน เขาจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ให้เป้าหมายที่ชัดเจนกับพนักงานใหม่ บอกเขาว่าคาดหวังอะไร ควรเป็นเป้าหมายระยะสั้น ประมาณ 1 สัปดาห์
- หัวหน้าต้องอัปเดตการทำงาน และถาม Feedback ต่าง ๆ กับพนักงานใหม่ทุกวัน
- จับคู่พนักงานใหม่กับพนักงานคนอื่นในทีมที่ทำงานมานานแล้ว เป็นเหมือน Buddy ที่คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการทำงานและเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัท
|
|
หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่บริษัทต่าง ๆ ใช้กันมากขึ้น นอกจากจะลดโอกาสในการแพร่เชื้อไวรัสแล้ว ยังส่งผลดีต่อบริษัทและพนักงานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพในการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย หรือมีเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
ซึ่งการให้พนักงานออฟฟิศไปทำงานแบบ Work from Home อาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนักเพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องรับผิดชอบงานส่วนไหน รูปแบบการทำงานและระบบของบริษัทเป็นยังไง แค่เปลี่ยนสถานที่ทำงานและปรับตัวกับการทำงานแบบออนไลน์มากขึ้น แต่การที่ต้องรับพนักงานใหม่เข้ามาร่วมทีมตอนบริษัทมีนโยบาย Work from Home ต่างหากที่ยาก เพราะเขาต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่หมด ทั้งกฎระเบียบ การทำงาน และเนื้องาน วันนี้ JobThai ก็เลยมีวิธีดูแลพนักงานใหม่สำหรับบริษัทที่ให้พนักงาน Work from Home มาฝากคนที่เป็น HR และ หัวหน้างาน
เตรียมอุปกรณ์ IT และคู่มือ กฎระเบียบการทำงาน ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
ปกติแล้วในวันแรกของการเริ่มงานบริษัทก็จะมีการจัดปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ให้รวมตัวกันในห้องประชุมฟัง HR อธิบายกฎระเบียบของบริษัทและพาเดินทัวร์ออฟฟิศแนะนำแผนกต่าง ๆ รวมทั้งให้ฝ่าย IT ได้แนะนำการใช้งานอุปกรณ์ IT หรือระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งการที่บริษัทมีการ Work from Home แบบเต็มตัวไม่ได้หมายความว่ากระบวนการพวกนี้จะต้องยกเลิกไป
HR อาจจะเปลี่ยนจากการเข้าประชุมที่ออฟฟิศเป็นการประชุมผ่าน Video Conference แทน โดยก่อนที่จะถึงวันปฐมนิเทศก็ควรทำคู่มือแนะนำบริษัท อธิบายกฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์กรในรูปแบบเอกสาร หรือไฟล์ Video แล้วอัปโหลดขึ้นออนไลน์ให้พนักงานดาวน์โหลดไปดูเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้นถ้าปกติบริษัทคุณมีการพาพนักงานใหม่ไปแนะนำกับหัวแต่ละแผนกอยู่แล้ว ก็อาจขอเวลาส่วนหนึ่งจากหัวหน้าแผนกต่าง ๆ เข้ามาร่วมประชุมทักทายและต้อนรับพนักงานใหม่ผ่าน Video Conference ด้วย
สำหรับฝ่าย IT ก็ต้องทำคู่มือสอนใช้งานเครื่องมือ ระบบ หรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในรูปแบบเอกสาร หรือไฟล์ Video แล้วอัปโหลดขึ้นออนไลน์เช่นกัน โดยหากพนักงานใหม่ใช้อุปกรณ์ IT ที่เป็นของตัวเองในการทำงาน ฝ่าย IT ก็ต้องสอบถามรายละเอียดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนวันเริ่มงาน เช่น ถ้าใช้โน้ตบุ๊กส่วนตัว ก็ต้องสอบถามให้ชัดเจนถึงรุ่นและรายละเอียดของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คำแนะนำในการติดตั้งโปรแกรมที่จำเป็นต่อการทำงาน แต่ถ้าบริษัทต้องจัดหาอุปกรณ์ IT ให้พนักงานใหม่ ก็ควรส่งอุปกรณ์เหล่านั้นให้ถึงมือพวกเขาตั้งแต่ก่อนถึงวันเริ่มงาน ซึ่งหากจำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ก็อาจจะมอบหมายให้บางคนในทีม IT ไปช่วย
จัด Welcome Party ผ่าน Video Conference
หลังการปฐมนิเทศกับ HR แล้ว ก่อนจะเริ่มทำงาน แต่ละแผนกที่มีพนักงานเข้าใหม่ควรจะมีการ Video Conference เพื่อแนะนำทุกคนในแผนกก่อนว่าใครชื่ออะไร ทำงานรับผิดชอบส่วนไหน และมีการจัด Welcome Party สบาย ๆ กินข้าวพูดคุยทำความรู้จักกัน ผ่าน Video Conference ตอนกลางวันหรือเย็นหลังเลิกงาน การทำแบบนี้จะทำให้พนักงานใหม่ได้คุยกับคนอื่น ๆ ในแผนกนอกเหนือจากเรื่องงานบ้าง เขาจะได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม และกล้าที่จะสอบถามและปรึกษาเรื่องงาน หรือถ้าเป็นไปได้ อาจหาวันเหมาะ ๆ สักวันเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยกันทั้งทีม เพื่อเจอหน้ากันจริง ๆ ก็ได้
มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานช่วงแรก
การทำงานอยู่ที่บ้านบางครั้งอาจจะทำให้พนักงานใหม่กังวลได้ว่างานที่เขาทำนั้นดีหรือยัง ปริมาณและคุณภาพของงานเป็นที่น่าพอใจรึเปล่า ดังนั้นสำหรับพนักงานใหม่ที่ต้องทำงานที่บ้าน หัวหน้าควรจะให้เป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้ บอกเขาเลยว่าคาดหวังอะไร ให้ To-do List กับเขาว่าต้องทำอะไรบ้าง และมีอะไรที่ต้องทำให้เสร็จ ซึ่งควรเป็นเป้าหมายระยะสั้น ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนอกจากจะมีประโยชน์กับตัวพนักงานใหม่เองแล้ว ยังช่วยให้หัวหน้าสามารถประเมินการทำงานในช่วงทดลองงานของเขาได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย ว่าเขาสามารถทำงานตามที่เราคาดหวังได้ไหม
มีเวลาคุยกับพนักงานใหม่ทุกวัน
หัวหน้ามักจะมีการพูดคุยกับพนักงานใหม่แบบจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนที่ถึงเวลาประเมินงานในแต่ละเดือน แต่การทำงานแบบ Work from Home ไม่ควรปล่อยเวลานานขนาดนั้น หัวหน้าควรหาเวลาตอนช่วงเย็นของแต่ละวัน Video Conference กับพนักงานใหม่ โดยใช้เวลานี้ในการสอบถาม Feedback ต่าง ๆ เกี่ยวการทำงานจากเขาว่าสงสัยหรือมีปัญหาอะไรไหม โอเคกับการทำงานตรงไหนรึเปล่า จะได้แก้ไขและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรอจนถึงเวลาประเมินงาน
นอกจากนั้นก็ควรมีการนัดประชุมออนไลน์กันทั้งแผนกเป็นประจำทุกวันเช่นกัน ให้แต่ละคนได้อัปเดตงานของตัวเอง และคนในแผนกทุกคนได้มีเวลาพูดคุยกัน
จับคู่พนักงานใหม่ กับคนที่ทำงานอยู่แล้ว
การนั่งทำงานที่ออฟฟิศเราสามารถหันไปถามเพื่อนร่วมงานข้าง ๆ ได้ทันทีที่มีปัญหา แต่การ Work from Home ทำอย่างนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับพนักงานใหม่ ที่ไม่รู้ว่าควรจะถามใครดี เพราะไม่สนิทกับใครเลย จะให้รอคุยกับหัวหน้าในตอนเย็นที่มีนัดกันทุกวัน บางเรื่องก็อาจไม่ทันการณ์
ดังนั้นจึงควรมีการจับคู่พนักงานใหม่กับพนักงานคนอื่นในทีมที่ทำงานมานานแล้ว เป็นเหมือน Buddy ที่คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการทำงานและเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัท เวลาพนักงานใหม่มีปัญหาเขาจะได้รู้ว่าต้องถามใคร ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเป็นการรบกวนคนอื่น ๆ ในทีม ช่วยลดความเครียดและความกดดัน รวมทั้งทำให้เขาไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวอีกด้วย
ซึ่งคนที่ควรจะเลือกมาให้เป็น Buddy กับพนักงานใหม่นั้น ควรเลือกคนที่ทำงานมาสักระยะแล้ว รู้จักและเข้าใจการทำงานรวมทั้งองค์กรเป็นอย่างดี สามารถไว้ใจและเชื่อถือได้ ที่สำคัญก่อนจะจับคู่เขากับพนักงานใหม่ ต้องสอบถามความสมัครใจจากเขาก่อนด้วย เพราะอาจกระทบกับเวลาในการทำงานของเขา
การมีพนักงานใหม่เข้ามาร่วมทีมย่อมมีปัญหาติดขัดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราต้องเรียนรู้ ปรับตัว และหาวิธีที่เหมาะสมให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ทั้งพนักงานใหม่ หัวหน้า หรือเพื่อร่วมงานคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศหรือทำงานที่บ้าน
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 200,000 members |
|
|
|
ที่มา:
enterprisersproject.com
resources.workable.com
workology.com
hr.pitt.edu