สุชาดา นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาในไม่ช้า เธอจึงศึกษาตลาดงาน เพื่อเตรียมตัวก่อนที่เธอจะต้องลงสนามสมัครงานจริงในไม่กี่เดือนที่จะถึง นั่นทำให้เธอพบกับองค์กรที่เรียกตัวเองว่า Social Enterprise เธอเองเคยได้ยินคำนี้ผ่าน ๆ มาบ้าง แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าจริงๆ แล้ว Social Enterprise นั้นแตกต่างอะไรจากองค์กรทั่วๆ ไปกันแน่
หลาย ๆ คนก็คงจะเคยได้ยินคำว่า Social Enterprise ผ่านหู หรืออ่านผ่านตากันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่เข้าใจคำคำนี้เหมือนกับสุชาดา JobThai จึงมาแนะนำความพิเศษของ Social Enterprise ให้ทราบกัน
- Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม คือองค์กรธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง
- โดยมุ่งเน้นที่จะทำธุรกิจเพื่อหากำไรและแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อม ๆ กัน
- แตกต่างจาก CSR ขององค์การต่างๆ ตรงที่ CSR จะเป็นเพียงโครงการขององค์กรเท่านั้น แต่ Social Enterprise คือรูปแบบธุรกิจประเภทหนึ่งเลย ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการ
- Social Enterprise ที่แตกต่างจาก NGOs และมูลนิธิต่าง ๆ ที่ องค์กรทั้ง 2 นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ในการหากำไรใดๆ แต่ Social Enterprise จะแสวงหากำไรควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างสมดุลกัน
|
|
Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม คือธุรกิจที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมส่วนรวม โดยจะมีการนำโมเดลธุรกิจมาใช้เพื่อหารายได้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ หรือหากำไรเพื่อตอบแทนกลับคืนแก่ชุมชน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับองค์กรที่ทำธุรกิจแบบแสวงหาผลกำไรโดยทั่วไป ต่างกันตรงที่ Social Enterprise จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการตอบโจทย์ของสังคมไปพร้อมๆ กับหาโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ ซึ่งในปัจจุบัน Social Enterprise ก็มีหลายประเภทแบ่งตามรูปแบบธุรกิจของตัวองค์กรเอง หรือ ประเด็นที่อยากแก้ไขในสังคม เช่น เรื่องทั่วๆ ไปอย่างเทคโนโลยี การเกษตรแบบยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การท่องเที่ยวชุมชน สุขภาพ พลังงานทดแทน หรือเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวบ้านและเกษตรกรอย่าง การค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น
ความแตกต่างของ ธุรกิจทั่วไปกับ Social Enterprise
จะเห็นได้ว่า Social Enterprise นั้นแทบจะไม่ต่างจาก องค์กรธุรกิจโดยทั่วไปนักในแง่ของโครงสร้างธุรกิจในการหารายได้หรือเงินทุน แต่กลับมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพราะธุรกิจส่วนมากนั้นแสวงหาผลกำไรสูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ส่วน Social Enterprise จะคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับสังคม หากเป็นธุรกิจทั่วไปจะต้องมีการคำนึงถึงส่วนต่างของรายได้และรายจ่าย ได้กำไรหรือขาดทุน มุ่งเน้นแต่ผลประกอบการที่มากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ส่วน Social Enterprise จะดูว่าผลประกอบการที่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่เดือดร้อนได้มากแค่ไหน กลุ่มธุรกิจอาจคำนึงถึงผู้ถือหุ้นเพียงไม่กี่คน แต่ Social Enterprise นั้นจะต้องก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากองค์กรซึ่งก็คือคนในสังคมโดยรวมนั่นเอง
Social Enterprise และ CSR ของบริษัททั่วไปต่างกันอย่างไร
หากมองโดยผิวเผิน Social Enterprise และ CSR ต่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำประโยชน์ หรือช่วยแก้ปัญหาสังคมด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันตรงที่ลักษณะโครงสร้างของ Social Enterprise นั้น ก็คือรูปแบบของธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่แสวงหาผลกำไรไปพร้อมๆ กับการได้ช่วยเหลือสังคม ในขณะที่ CSR หรือ Corporate Social Responsibility นั้นส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่โครงการ แคมเปญ หรือหน่วยงานหนึ่งในองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารให้คนในสังคมได้รับรู้ว่าองค์กรเหล่านั้นให้ความสำคัญกับสังคมโดยรวมในแง่มุมต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ การศึกษา เป็นต้น ทำให้ลักษณะการทำงานของ CSR ที่ว่านี้เป็นไปเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ซึ่งอาจไม่ส่งผลต่อเรื่องรายได้ขององค์กรโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่องค์กรอยากทำเพื่อเป็นการตอบแทนหรือคืนกำไรกลับคืนสู่สังคมบ้าง
NGOs ต่างจาก Social Enterprise หรือไม่
NGOs (Non-Governmental Organizations) หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน นั้นมีคำจำกัดความที่ค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ องค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรอาสาสมัครเอกชน องค์กรการกุศล หรือ องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งโดยรวมแล้ว NGOs ก็คือ องค์กรที่ก่อตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไข ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากผลกระทบของการพัฒนา ส่วนความแตกต่างระหว่าง NGOs กับ Social Enterprise ที่เห็นได้ชัดก็คือ NGOs จะไม่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรใดๆเลย แต่อาศัยเงินทุนในการบริหารองค์กรจากการบริจาคหรือสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆในสังคมที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันและต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ในขณะที่ Social Enterprise ยังคงต้องการรายได้หรือผลกำไรอยู่บ้าง จึงอาจพูดได้ว่าเป้าหมายขององค์กรทั้ง 2 ประเภทเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือสังคมเหมือนกัน แต่ต่างกันด้วยวิธีการหารายได้เข้าสู่องค์กร
หากอยากเป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมต้องทำอย่างไร
หากใครที่ต้องการจะเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือ หรือตอบแทนสังคม การลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมอาจไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เพราะในปัจจุบัน แหล่งทุนมีอยู่ทั่วไป ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆต้องขยันแสวงหาช่องทางการระดมทุนตามเวทีต่างๆ ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การขอทุนสนับสนุนทั้งจากภาครัฐหรือเอกชน หรืออาจเริ่มต้นระดมทุนจากคนรู้จักและมีความคิดเห็นตรงกัน อยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเหมือนๆกัน การเริ่มต้นธุรกิจ Startup ที่เป็น Social Enterprise พื้นฐานก็เหมือนธุรกิจทั่วๆ ไป คือเราจะต้องรู้ว่าถ้าจะสร้างสินค้าหรือบริการอะไร แต่ยังต้องพิจารณาประเด็นการแก้ไขปัญหาของสังคมด้วย จึงทำให้การทำกิจการเพื่อสังคมดูยากขึ้นเป็นสองเท่าจากการทำธุรกิจทั่วไปเพราะต้องตอบโจทย์ให้ได้ ทั้งรายได้ทางธุรกิจและผลประโยชน์ของสังคม ผู้ที่สนใจในธุรกิจประเภทนี้จึงควรทดลองทำเป็นโมเดลเล็กๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยับขยายไปสู่การก่อตั้งเป็นองค์กรแบบเต็มตัว
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา:
changefusion.org
untltd.in.th
gotensum.blogspot.com
oknation.net