6 หลักการที่คนคิดจะเป็น Startup ต้องจำให้ขึ้นใจ

15/08/17   |   10.7k   |  

“ผมตั้งใจว่าจะออกไปเปิดบริษัทของตัวเองครับ”

คือเหตุผลที่ปิติบอกกับหัวหน้า เมื่อถูกถามว่าทำไมเขาถึงลาออกทั้ง ๆ ที่เขาก็ดูมีความสุขกับการทำงาน และเมื่อการประเมินการทำงานกลางปีที่ผ่านมา หัวหน้าก็ได้บอกกับปิติไปแล้วว่าเขานั้นเป็นคนที่มีโอกาสได้เติบโตในสายงานที่ทำอยู่นี้มากกว่าคนอื่น ๆ

การก้าวหน้าในสายงานคงจะเป็นเรื่องที่คนทำงานต่างต้องการ หากแต่สิ่งที่ปิติต้องการมากกว่าการก้าวหน้าในสายงาน ก็คือการได้ออกมาทำตามความฝัน นั่นก็คือการมีบริษัท Startup เป็นของตัวเอง

ความฝันและแรงบันดาลใจเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่จะทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้ แต่การจะทำให้ธุรกิจคงอยู่ และเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง แค่สองสิ่งนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ยังต้องมีการจัดการในเรื่องต่าง ๆ อีกมากมาย JobThai จะพาไปดูว่า ถ้าคุณอยากมีธุรกิจ Startup เป็นของตัวเองเช่นเดียวกับปิติ หลักการสำคัญอะไรบ้างที่คุณควรจะใช้ในการจัดการธุรกิจเบื้องต้น

 

 

  • เลือกทีมงานที่มีประสบการณ์ มีศักยภาพ และเข้าใจหน้าที่ในการทำงานของตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจเริ่มต้นได้อย่างมั่นคง อาจเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างสะดวก
  • แบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทไม่ว่าจะเป็นคำติชมจากลูกค้า หรือแม้แต่ผลกำไรหรือขาดทุนต่าง ๆ ให้กับคนในทีม เพื่อให้พวกเขารู้สึกเชื่อมั่น และเอาผลตอบรับต่าง ๆ มาปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงระบบการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้สามารถประสานงานได้อย่างคล่องตัว และปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงให้อิสระกับคนในทีมในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละคนอย่างชัดเจน
  • ใส่ใจและดูแลคนในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อพวกเขาได้รับการดูแลที่ดี เขาก็จะทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการทำงานของพวกเขา ส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จของธุรกิจ
  • ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า และพัฒนาคุณภาพของสินค้า รวมทั้งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

 

1. เริ่มต้นธุรกิจด้วยทีมงานเล็ก ๆ

การเริ่มต้นด้วยทีมที่มีจำนวนไม่กี่คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน คุณต้องเลือกเฟ้นทีมงานที่มีศักยภาพ ประสบการณ์ และเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการทำงานของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อให้ธุรกิจใหม่ของคุณสามารถเริ่มต้นได้อย่างมั่นคงตั้งแต่แรก นอกจากนี้ทีมงานที่มีจำนวนไม่มากจะทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารที่ผิดพลาดน้อย ทำให้การคิด การตัดสินใจในการทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว ส่งผลให้กระบวนการทำงานสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

 

2. ระบบการทำงานที่โปร่งใส

ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทของคุณ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข รายได้ รายจ่าย การขาดทุน หรือกำไรต่าง ๆ ไปจนถึงข้อมูลที่น่าประทับใจ หรือเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์จากลูกค้า ก็ควรจะแบ่งปันให้ทุกคนในทีมได้รับรู้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และคนในทีมจะได้นำผลตอบรับที่ตรงไปตรงมานั้นไปปรับปรุงการทำงานของตนเอง เพื่อประโยชน์โดยรวมของธุรกิจของคุณ

 

3. ไม่มีระบบที่ซับซ้อนมากจนเกินไป

ระบบการทำงานที่ต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นหลายตอนมากจนเกินไป จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวตามคนอื่นไม่ทัน หากคุณพบว่าระบบการทำงานของคุณเกิดความล่าช้า ลองพิจารณาว่าปัญหานั้นเกิดจากระบบการทำงานที่ซับซ้อน หรือขาดการวางระบบที่ดีหรือเปล่า Startup ที่ดีจะต้องมีความคล่องตัวสูงในการประสานงาน และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

 

4. มีอิสระในการทำงาน

นอกจากทีมงานจะต้องมีขนาดพอเหมาะกับปริมาณของงานในธุรกิจของคุณแล้ว สมาชิกของทีมแต่ละคนยังจะต้องมีอำนาจและมีอิสระในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้าของธุรกิจ อิสระในการทำงานนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดขอบเขต อำนาจ รวมถึงแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันอย่างชัดเจน  และไม่มีการทับซ้อนกันของแต่ละตำแหน่งของคนในทีม 

 

5. มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการของคุณเพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจ

อย่าลืมว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดในโลกที่มีการแข่งขันสูงได้นั้นไม่ได้มีเพียงปัจจัยจากภายในบริษัทของคุณเพียงอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญก็คือลูกค้าที่อุดหนุนสินค้าของคุณ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ นอกจากคุณจะต้องมีสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว การเอาใจใส่ลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งการให้ความสำคัญกับลูกค้าของคุณสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง การดูแลในเรื่องบริการหลังการขายหรือลูกค้าสัมพันธ์ หรือทำสิ่งใดก็ตามให้ลูกค้าเชื่อมั่นในธุรกิจของคุณและยืนยันที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณในระยะยาว และไม่หันไปใช้ของบริการธุรกิจของคู่แข่ง 

 

6. ให้ความสำคัญกับสมาชิกในทีมทุกคน

ยิ่งบริษัทมีขนาดเล็ก สมาชิกในทีมยิ่งต้องมีศักยภาพมากเพื่อที่จะให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ การใส่ใจในทีมงานที่ทำงานให้คุณ และให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่คนคิดจะสร้างธุรกิจใหม่ควรให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ ค่าตอบแทนในการทำงาน การจัดหาสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคนในทีม หรือแม้กระทั่งการใส่ใจในสุขภาพ และ Work-Life Balance ของทีมงานของคุณ ปัจจัยทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนในทีม ซึ่งผลการทำงานของพวกเขาจะเป็นตัวตัดสินความสำเร็จในการทำธุรกิจของคุณ

 

 

JobThai.com/REACH มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา:

inc.com

tags : งาน, การทำงาน, คนทำงาน, startup, เจ้าของกิจการ, ธุรกิจ, career & tips, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม