ต้องยอมรับว่า “หัวหน้า” คือคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำงาน หน้าที่ของคนเป็นลูกน้องอย่างเราคือต้องทำตามที่มอบหมายให้ดีที่สุด ถ้าทำได้ดีเกินความคาดหมายของหัวหน้าก็จะยิ่งดี แต่บางครั้งคนทำงานอาจได้เจอกับปัญหาที่ว่าตัวเองมีหัวหน้างานที่สื่อสารไม่เก่ง ซึ่งอาจมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น หัวหน้าเราอาจเป็นคนถนัดลงมือทำมากกว่าพูด เขาอาจไม่ถนัดการเรียบเรียงประเด็น หรือเป็นคนบรีฟงานไม่ละเอียด ส่งผลให้งานที่เราทำออกมาไม่ตรงใจหัวหน้า เพราะก็ไม่ชัวร์ว่าหัวหน้าเรามีภาพในหัวเป็นยังไงกันแน่
แทนที่เราจะทายใจหัวหน้าไปเรื่อย ๆ มันคงจะดีถ้าเราหาทางสื่อสารกับเขาได้ JobThai เลยอยากขอเอาวิธีรับมือกับหัวหน้าที่สื่อสารไม่เก่งมาฝาก
เมื่อเราต้องทำงานที่มีหลายขั้นตอนหรือกินเวลานาน แต่หัวหน้าดันไม่ใช่คนที่ชอบเล่าความคืบหน้าอะไรให้ฟังมากมาย เราอาจต้องเป็นฝ่ายเริ่มคุยเองโดยเกริ่นถึงหัวข้อที่สงสัยเพื่อเปิดประเด็น ระหว่างที่ฟังก็จับประเด็นว่าหัวหน้าให้ความสำคัญกับอะไรมากเป็นพิเศษไหม เช่น ในโปรเจกต์นี้หัวหน้าเราดูจะพูดถึงความพึงพอใจของลูกค้าบ่อยกว่ามุมอื่น ๆ
ถ้าเราอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม ก็ให้ถามหัวหน้าจนเห็นภาพว่าเขาต้องการอะไรบ้างในงานชิ้นนั้น เราจะได้ทำงานออกมาให้ตรงโจทย์ ไม่มีตรงไหนที่ขาดหรือเกิน
ถ้าหัวหน้าเราเป็นคนที่บรีฟอะไรไม่ค่อยเคลียร์ ฟังแล้วไม่ชัวร์ว่าตกลงเราต้องทำงานนี้ออกมาแบบไหนกันแน่ เราเองก็ต้องรู้จักฟังจับใจความให้ได้ ถ้าเกิดว่าหัวหน้าพูดถึงงานชิ้นนึงแบบลอย ๆ เราก็ต้องรีบนึกย้อนว่าเขาหมายถึงงานไหน และเราทำงานชิ้นนั้นไปถึงไหนแล้ว นอกจากนี้ยังต้องกลั่นกรองสิ่งฟังออกมาให้ได้ว่าที่หัวหน้าพูดอยู่นั้นเป็นการพูดในแง่ความเห็นส่วนตัว หรือเป็นการชี้ข้อบกพร่องให้เห็นเพื่อให้นำไปปรับแก้ต่อ
ไม่ว่าเราจะมีหัวหน้าที่สื่อสารเก่งหรือไม่ สิ่งที่คนทำงานต้องทำความเข้าใจก็คือสไตล์การทำงานของหัวหน้าและทิศทางในการนำทีม ลองสังเกตดูว่าหัวหน้าเรามักจะโฟกัสอะไรเป็นหลัก หัวหน้าบางคนชอบคิดวิเคราะห์ บางคนมีวิธีการทำงานโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่เป็นหลักเป็นแหล่ง บางคนให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของงาน เมื่อเราจับทางของหัวหน้าและปรับมุมมองไปในทางเดียวกับเขาแล้ว การคุยงานก็จะง่ายขึ้น โดยนอกจากเราจะสังเกตจากการพูดคุยของเราเองแล้ว เรายังสามารถสังเกตจากเวลาที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นคุยกับหัวหน้าก็ได้ว่าพวกเขามีวิธีสื่อสารระหว่างกันเป็นยังไง
ถึงหัวหน้าเราจะเป็นคนที่ไม่ถนัดการสื่อสาร ยังไงเราก็ยังต้องพูดคุยกับหัวหน้าอย่างให้เกียรติอยู่ เราไม่มีควรที่จะทำพฤติกรรมแย่ ๆ ใส่เขาเพียงเพราะมองว่า ‘เขาเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง’ หัวหน้าก็คือคนทำงานคนนึงที่ต้องการแรงสนับสนุนไม่ต่างจากเรา ถ้าเราเห็นว่าไอเดียที่หัวหน้าเสนอมามันดีมาก ๆ เราจะเอ่ยชมหัวหน้าสักนิดก็ไม่ผิดอะไร ขอแค่พูดเพื่อส่งเสริมความคิดกันเพื่อให้งานของทีมออกมาดี ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์การทำงานที่ดีกับหัวหน้าก็จะทำให้สามารถทำงานร่วมกันไปได้ยาว ๆ
บางครั้งการที่หัวหน้าสื่อสารกับเราไม่ค่อยเคลียร์อาจมีสาเหตุมาจากเวลาที่จำกัด เขาอาจเป็นผู้บริหารหรือผู้จัดการที่มีตารางงานและประชุมรัดตัว เราสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ง่าย ๆ เพียงหาเวลานัดคุยงานกับหัวหน้าสัปดาห์ละครั้ง หรืออาจนัดสัปดาห์ละ 2 ครั้งไปเลยถ้างานของเรามีดีเทลเยอะ โดยควรเป็นการคุยในวันและเวลาเดิมของทุก ๆ สัปดาห์เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ จะคุยสัก 15 นาที หรือนานกว่านั้นก็ลองดูตามความสะดวกของทั้งสองฝ่าย ซึ่งการคุยแบบนี้ควรคุยในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น ห้องประชุมขนาดเล็กที่มีความเป็นส่วนตัวและไม่มีสิ่งรบกวนมารบกวนสมาธิ
บางออฟฟิศมีการใช้ช่องทางติดต่อภายในองค์กรที่หลากหลาย ทั้งอีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือใช้โปรแกรมแชท เราควรสังเกตให้ดีว่าจากที่เคยติดต่อหัวหน้าไปในแต่ละช่องทาง หัวหน้าเรามักจะตอบช่องทางไหนบ่อยที่สุดและไวที่สุด บางคนอาจจะตอบอีเมลช้ามากแต่สะดวกรับโทรศัพท์ตลอดวัน พอรู้แล้วก็ยึดช่องทางติดต่อนั้นเป็นช่องทางหลักไปเลย
เราทุกคนต่างมีจุดอ่อนและเรื่องที่ไม่ถนัดกันทั้งนั้น หัวหน้าเราก็เช่นกัน ถึงเขาจะไม่ถนัดเรื่องการสื่อสารจนอาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานไปบ้าง แต่เขาก็ต้องมีจุดแข็งที่ทำให้เขาได้มายืนอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าได้ เมื่อเรารับมือและมองข้ามจุดอ่อนเหล่านั้นได้แล้วก็อย่าลืมที่จะสังเกตวิธีการทำงานจากเขาเพื่อนำมาพัฒนาตัวเองต่อไป
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 300,000 members |
|
|
|
ที่มา:
fool.com
ideapod.com