- ไม่ใช่แค่ไปตรงเวลา แต่ต้องไปถึงก่อนเวลา เพื่อที่จะได้มีเวลาเตรียมตัว และถ้ามีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไปไม่ทัน ต้องรีบโทรศัพท์ไปแจ้ง
- อย่าพาพ่อ แม่ หรือเพื่อนไปด้วย เพราะจะทำให้ดูไม่เป็นผู้ใหญ่ ดูแลตัวเองไม่ได้
- การไหว้ กล่าวสวัสดี ขอบคุณ รวมไปถึงการปิดโทรศัพท์มือถือ เป็นมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญมาก
- อย่าพูดเรื่องโกหกเด็ดขาด การเตรียมคำตอบสำหรับคำถามสัมภาษณ์ที่มักเจอบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง และเป็นตัวของตัวเอง
- สบตาผู้สัมภาษณ์เสมอ และอย่าแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือสร้างความรำคาญให้กับผู้สัมภาษณ์ เช่น เขย่าขา หรือเคาะโต๊ะ
- ตอบคำถามอย่างชัดเจน ฉะฉาน และไม่พูดเสียงดังหรือเบาเกินไป
|
|
ถ้าคิดว่าแค่เตรียมเอกสารครบ ศึกษาข้อมูลบริษัทมาอย่างดี และเตรียมคำตอบสำหรับคำถามสัมภาษณ์เรียบร้อย ก็จะทำให้การสัมภาษณ์ของเราราบรื่นแล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะไม่ใช่แค่เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะถึงวันสัมภาษณ์งานเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องระวังในวันสัมภาษณ์งาน ซึ่งมีเรื่องอะไรบ้างที่เรามักจะพลาด JobThai มีคำตอบ
อย่าไปถึงแบบฉิวเฉียด ใกล้เวลานัด
เป็นคนตรงเวลามันก็ดีอยู่หรอก แต่จะดีกว่าถ้าวันที่มีนัดสัมภาษณ์งาน เราไปถึงก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง เพราะนอกจากจะทำให้เราดูเป็นคนมีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลาแล้ว เรายังมีเวลาที่จะได้สำรวจความเรียบร้อยของตัวเองอีกรอบด้วย
JobThai Mobile Application หางานที่ตรงใจได้ด้วยมือถือ
|
|
แต่ถ้าวันที่สัมภาษณ์ดันเกิดเรื่องสุดวิสัยจนทำให้เราไม่สามารถไปถึงที่นัดได้ตรงเวลาจริง ๆ ก็ต้องโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเพื่อขอเลื่อนเวลาด้วย อย่าเงียบหายไปเฉย ๆ เด็ดขาด
ไม่พาคนอื่นไปเป็นเพื่อนถึงหน้าห้องสัมภาษณ์
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ก็หมายความว่าเราไม่ใช่เด็กที่จะต้องมีผู้ปกครอง หรือเพื่อนไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลาอีกแล้ว ในวันสัมภาษณ์ก็เช่นกัน การพาคนอื่น ๆ ไปนั่งรอที่บริษัทด้วยจึงเป็นอะไรที่ไม่ควรทำเอามาก ๆ เพราะมันจะทำให้เราดูไม่เป็นผู้ใหญ่ และไม่สามารถพึ่งพาตัวเองหรือรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องพาคนอื่นไปด้วย ก็ควรให้พวกเขารออยู่นอกบริษัท เช่น ร้านกาแฟ หรือ ห้างสรรพสินค้าบริเวณนั้นแทน
อย่าละเลยเรื่องมารยาท
ตั้งแต่ก้าวเข้ามาถึงบริษัท สิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องมารยาท ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การกล่าวสวัสดี และการขอบคุณ แม้ในเรื่องเล็กน้อย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่คนที่สัมภาษณ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่เจอตั้งแต่เข้ามาในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับ หรือฝ่ายบุคคล
อีกเรื่องที่หลายคนมักจะทำพลาดก็คือ เรื่องโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะระหว่างสัมภาษณ์ เราควรที่จะปิดเครื่องให้เรียบร้อย เพราะการเปิดระบบสั่นอาจยังไม่พอ และการมีเสียงรบกวนที่เกิดจากโทรศัพท์ดังขึ้นนอกจากจะทำให้ทั้งตัวเราเองและผู้สัมภาษณ์เสียสมาธิแล้ว ยังเป็นการไม่ให้เกียรติผู้สัมภาษณ์ด้วย
ห้ามพูดโกหก เพราะคนสัมภาษณ์ดูออก
ความซื่อสัตย์คือสิ่งที่ทุกคนควรจะมี การศึกษาคำถามที่มักพบบ่อยในการสัมภาษณ์งาน และลองคิดคำตอบเอาไว้ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสร้างคำตอบที่ดูดีให้กับตัวเองโดยไม่ตรงกับความจริง อย่าชะล่าใจคิดว่าโกหกไปก็จับไม่ได้ เพราะคนที่มาสัมภาษณ์ต่างเป็นคนที่มีประสบการณ์ผ่านการสัมภาษณ์มาเป็นจำนวนมากแล้วทั้งนั้น พวกเขาจึงมักจะดูออกทันทีว่าคนไหนพูดความจริง หรือคนไหนกำลังโกหก
นอกจากนั้นก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาระหว่างการสัมภาษณ์ด้วย เพราะบางครั้งคนสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ต้องการจะรู้แค่ว่าเรามีความสามารถอะไร แต่พวกเขาก็อยากจะรู้ด้วยว่าเรามีนิสัยยังไง เข้ากับทีมได้หรือไม่
เลี่ยงการพูดถึงบริษัทเดิมแบบไม่ดี
ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกจากงานเก่าแบบสวย ๆ แต่การพูดไม่ดีถึงบริษัทเก่า หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่บริษัทเดิม ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะพูดออกไป เพราะมันจะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ และเอาแต่โยนความผิดให้คนอื่น ที่สำคัญอาจจะทำให้คนที่สัมภาษณ์รู้สึกว่าวันนึงเราอาจจะเอาเขาไปพูดเสีย ๆ หาย ๆ ให้คนอื่นฟังเหมือนกัน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้โกหกเมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยนงาน เพียงแค่เราเลือกที่จะปรับคำพูด และตอบโดยไม่โยนความผิดให้คนอื่นได้ เช่น ถ้าลาออกเพราะหัวหน้าเอาแต่สั่งโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร แทนที่จะบอกไปว่าลาออกเพราะหัวหน้าเป็นคนไม่ฟังใคร เราก็เลี่ยงไปอธิบายว่ารูปแบบ และทัศนคติในการทำงานของเรากับหัวหน้าไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แค่นี้เราก็ไม่ต้องโกหก หรือพูดถึงหัวหน้าเก่าแบบไม่ดีแล้ว
อย่าถามคำถามที่ไม่มีประโยชน์ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์
เวลาที่คนสัมภาษณ์ถามว่า “มีคำถามอะไรเพิ่มเติมไหม” เขาไม่ได้ถามตามมารยาทเพื่อจบการสัมภาษณ์เฉย ๆ แต่เขาอยากดูความกระตือรือร้นและความสนใจของเราด้วย ดังนั้นอย่าตอบว่า “ไม่มี” เด็ดขาด เราควรจะถามคำถามที่เกี่ยวกับเนื้องาน หน้าที่ความรับผิดชอบ รูปแบบการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร หรือเรื่องที่สงสัยซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์งาน อย่าเริ่มด้วยคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน หรือการเลื่อนขั้น โดยที่บริษัทยังไม่ได้บอกว่าจะรับเราเข้าทำงาน
การถามคำถามเหล่านี้จะทำให้เราได้ข้อมูลเพื่อมาประเมินด้วยว่าเราเหมาะที่จะทำงานในตำแหน่งงานและองค์กรนี้จริง ๆ รึเปล่า
ไม่พูดมากหรือน้อยเกินไป
เวลาที่คนสัมภาษณ์ถามคำถามจบ ไม่ต้องรีบตอบออกไปทันที ตั้งสติสักแป๊บนึง เพื่อนึกและเรียบเรียงคำตอบคร่าว ๆ ก่อนค่อยตอบออกไป หรือหากต้องใช้เวลาในการคิดจริง ๆ ก็บอกคนสัมภาษณ์ไปตรง ๆ เลยก็ได้ว่าขอเวลาคิดสักครู่
นอกจากนั้นอย่าลืมว่าการสัมภาษณ์งานคือการพูดคุยกัน ไม่ใช่การพูดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราควรจะพูดและตอบคำถามให้พอดี กระชับและตรงประเด็น อย่าครองบทสนทนาอยู่ฝ่่ายเดียว ถ้าเป็นการตอบคำถามที่ต้องใช้การอธิบาย ก็ให้เล่าเฉพาะจุดที่สำคัญจริง ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ถามคำตอบคำ ไม่อธิบายอะไรเลยทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่ควรให้รายละเอียด
อย่าตื่นเต้นจนควบคุมพฤติกรรมไม่ได้
เป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะรู้สึกประหม่าหรือตื่นเต้นเวลาสัมภาษณ์งาน แต่เราต้องควบคุมมันให้ได้ อย่าเผลอทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา ไม่ว่าจะเป็น เคาะโต๊ะ เขย่าขา หรือขยับตัวไปมา เพราะการกระทำพวกนี้จะสร้างความรำคาญ และทำลายสมาธิคนสัมภาษณ์
อีกอย่างก็คืออย่าลืมมองตาคนสัมภาษณ์เราเสมอ การหลบตาขณะกำลังตอบคำถามสัมภาษณ์นอกจากจะเสียมารยาทแล้ว ยังอาจทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าเรากำลังโกหกอยู่ก็ได้ และนอกจากสายตาแล้วน้ำเสียงที่ใช้ตอนสัมภาษณ์ก็สำคัญ เราควรพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่ดังหรือเบาเกินไป ตอบคำถามทุกอย่างด้วยความมั่นใจ ชัดเจน และมีหางเสียงทุกครั้ง รวมทั้งต้องระวังคำพูดประเภท “เอ่อ...” หรือ “อืม...” ขณะกำลังคิดด้วย
สรุป
วันสัมภาษณ์งานถือเป็นที่อาจชี้ชะตาได้ว่าเราจะได้งานนั้น ๆ รึเปล่า ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานที่ฝันไว้ได้ ทั้งการเดินทางไปถึงก่อนเวลา ใส่ใจกับเรื่องมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่พูดโกหกตอนสัมภาษณ์ ไม่ต่อว่าที่ทำงานเก่า ฯลฯ เคล็ดลับเหล่านี้ต่างมีส่วนทำให้องค์กรมีภาพจำที่ดีเกี่ยวกับตัวเราและช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ตั้งแต่เจอกันครั้งแรกพบจนจบกสนสัมภาษณ์
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 24 มีนาคม 2016 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai
ที่มา:
quintcareers.com
businessnewsdaily.com
allbusiness.com