-
ไม่มีประสบการณ์การทำงาน เพราะไม่เคยฝึกงาน หรือทำงาน Part-time ตอนเรียน
-
ไม่กล้าลองทำงานอื่น ๆ เพื่อหาประสบการณ์ไปก่อน
-
ทักษะหรือความสามารถที่มีไม่โดดเด่นเพียงพอ
-
เนื้อหาในเรซูเม่และจดหมายสมัครงานไม่ดึงดูด
-
ไม่เตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปสัมภาษณ์งาน จนเกิดความผิดพลาดระหว่างการสัมภาษณ์
-
ไม่รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อน รุ่นพี่ อาจารย์ หรือคนที่เคยฝึกงานด้วย ทั้งที่พวกเขาอาจช่วยแนะนำงานให้ได้
-
เรซูเม่ตกหล่นหรือเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการแจ้งผล แล้วผู้สมัครไม่สนใจที่จะติดตามผล
-
เอาแต่โทษสิ่งรอบข้าง โดยไม่มองหาและแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเอง
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!
|
|
ทำไมเด็กจบใหม่ถึงหางานยาก คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่คอยวนเวียนอยู่ในหัวของกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่หางานไม่ได้สักทีอยู่เสมอ ยิ่งในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดด้วยแล้ว ก็ส่งผลให้หางานยากเข้าไปใหญ่ ซึ่งเหตุผลจริง ๆ ของการหางานไม่ได้สักทีก็มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย ทั้งเนื้อหาในเรซูเม่ ทักษะ หรือคุณสมบัติที่องค์กรต้องการซึ่งเรายังมีไม่พอ แล้วสงสัยกันไหมว่านอกจากปัจจัยเหล่านี้ยังมีอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่อย่างเราหางานยาก JobThai ได้หาคำตอบสำหรับข้อสงสัยนั้นมาให้แล้ว
ไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน
“ประสบการณ์” ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่นักศึกษาจบใหม่มักต้องเผชิญ หลายคนใช้เวลาช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยไปกับการเรียน ในขณะที่บางคนก็เรียนแค่ให้ผ่านไปในแต่ละปีเพียงอย่างเดียวและใช้เวลาว่างไปกับการเที่ยวเล่น พอได้เข้ามาสู่ชีวิตวัยทำงานจึงตระหนักได้ว่าหลายองค์กรต้องการประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน และถ้าเราไม่มีประสบการณ์การทำงานเลย เรื่องนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราหางานไม่ได้สักที
หากเราไม่มีโอกาสได้ทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือการยอมทำงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานไปก่อน เพราะนอกจากจะทำให้มีประสบการณ์การทำงานแล้ว เราก็อาจได้รับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดไปถึงการได้ทำงานในองค์กรที่เราชอบในอนาคตก็ได้
ทักษะหรือความสามารถ ยังไม่โดดเด่นมากพอ
ทักษะหรือความสามารถ เป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ในการทำงาน ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้งานคือ “ไม่มีทักษะหรือความสามารถที่เพียงพอ” รวมถึงไม่มีทักษะอะไรโดดเด่นที่ทำให้แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ มากพอที่จะทำให้บริษัทเกิดความสนใจ ซึ่งนอกจากทักษะความสามารถที่เป็น Hard Skills ซึ่งจำเป็นในแต่ละสายอาชีพแล้ว ทักษะสำคัญที่ไม่ว่าอาชีพหรือคนทำงานในตำแหน่งใดก็ตามควรจะมีด้วยก็คือ Soft Skills ต่าง ๆ เช่น ทักษะการเข้าสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่น การคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสาร รวมไปถึงทัศนคติในการทำงาน
ถ้าเราสนใจอยากร่วมงานกับองค์กรนี้จริง ๆ นอกจากทักษะความสามารถที่จำเป็นในแต่ละสายอาชีพแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำคือ สังเกตประกาศรับสมัครงานของบริษัทนั้นให้ดี ว่าเขาต้องการคนทำงานแบบไหนและทักษะอะไรที่จำเป็นต่อตำแหน่งนี้ เพราะรายละเอียดในใบสมัครงานนี่แหละ ที่จะทำให้รู้ว่าเราควรพัฒนาทักษะอะไร และต้องวางเป้าหมายไปทางไหน
เรซูเม่และจดหมายสมัครงานไม่น่าสนใจ
เรซูเม่และจดหมายสมัครงานเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้บริษัทได้ทำความรู้จักกับผู้สมัครและเป็นตัวตัดสินว่าจะเรียกไปสัมภาษณ์งานไหม เราจึงควรใส่ใจทุก ๆ รายละเอียดของเนื้อหาในเรซูเม่ ศึกษาวิธีการเขียนจดหมายสมัครงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งตรวจทานเนื้อหาเพื่อไม่ให้มีคำที่สะกดผิดหรือคำที่ตกหล่น เมื่อเขียนเอกสารทั้งสองอย่างเสร็จแล้วก็อาจลองนำไปให้เพื่อน หรือคนที่มีประสบการณ์ช่วยตรวจดูให้อีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเรซูเม่และจดหมายสมัครงานของเรานั้นสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
ขาดทักษะในการสัมภาษณ์งาน
การสัมภาษณ์เป็นเหมือนประตูด่านสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการที่องค์กรจะตัดสินใจเลือกใครสักคนเข้ามาทำงาน ซึ่งในขั้นตอนนี้เองก็ทำให้ใครหลายคนพลาดโอกาสที่จะได้งาน เพราะไม่มีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะไปสัมภาษณ์งาน เช่น ไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร ไม่ศึกษาเส้นทางการเดินทาง และไม่ฝึกตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เมื่อถูกองค์กรติดต่อให้ไปสัมภาษณ์งาน เราควรหาข้อมูลเกี่ยวกับงานและบริษัทนั้น ๆ รวมถึงศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำและอะไรคือสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งานด้วย เพื่อให้การสัมภาษณ์งานครั้งนี้สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้สัมภาษณ์และเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
รู้จักคนน้อย
การมีคอนเน็กชันที่กว้างขวางก็เป็นเหมือนการสร้างโอกาสให้มากขึ้น เพราะหลายคนได้งานทำผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่เคยฝึกงานด้วย ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจผิดกับคำว่า “มีคอนเน็กชัน” อยู่และมองคำนี้ไปทางด้านลบ แต่จริง ๆ แล้วการมีคอนเน็กชันไม่ได้หมายถึงว่าเราจะได้รับการฝากเข้าทำงานโดยใช้เส้นสาย แต่มันจะช่วยให้เรามีโอกาสมากขึ้นจากการที่คนรอบตัวแนะนำตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัครในบริษัทที่พวกเขาหรือคนรู้จักของพวกเขาทำงานอยู่ รวมถึงการเป็นบุคคลอ้างอิงให้
นอกจากนั้นหากมีโอกาสได้สมัครงานในบริษัทที่มีคนที่รู้จักทำงานอยู่ และเขาเป็นบุคคลที่คนในบริษัทให้ความเชื่อถือ การขอให้เขาเป็นบุคคลอ้างอิงให้ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการได้งานได้เหมือนกัน แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีคุณสมบัติที่เหมาะสมจริง ๆ เพราะหากทำงานได้ไม่ดี ก็จะส่งผลเสียถึงคนที่แนะนำได้เช่นกัน
ไม่ติดตามผลการสมัครงานหรือยอมแพ้ง่าย ๆ
ถ้าเราส่งเรซูเม่ไปสมัครงานหรือไปสัมภาษณ์แล้วไม่ได้รับการติดต่อกลับหรือแจ้งผลการสัมภาษณ์ ก็อย่าลังเลหรือกลัวที่จะส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ไปสอบถาม เพราะบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดอะไรบางอย่างขึ้น อย่างเช่น บริษัทไม่ได้รับอีเมลที่ส่งไปสมัครงาน หรือลืมติดต่อกลับมาแจ้งผล นอกจากนั้นในกรณีที่เราสมัครงานและไปสัมภาษณ์หลายที่แล้ว แต่ยังไม่ได้งานสักทีก็อย่าเพิ่งท้อ ยอมแพ้ และเอาแต่โทษสิ่งรอบข้าง แต่ให้ลองมองหาจุดบกพร่องของตัวเองและพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นแทน
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน