ทุกวันนี้การเก่งเพียงทักษะการทำงาน ไม่ว่าจะ Hard Skills หรือ Soft Skills อาจไม่เพียงพออีกต่อไป คนทำงานในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องทำงานเก่งแล้ว ยังต้องรู้จักสร้างความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัย หรือ Character ในการทำงานที่ดี ให้เป็นที่จดจำในหมู่เพื่อนร่วมงานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เราได้พร้อมอยู่เสมอสำหรับความก้าวหน้าและโอกาสใหม่ ๆ ในที่ทำงาน
สำหรับคนที่ทำงานมาสักระยะแล้ว อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรเราถึงจะก้าวหน้าไปอีกขั้นได้ JobThai ได้รวบรวมเคล็ดลับในการฝึกฝนตัวเองให้มีคุณลักษณะที่โดดเด่นจนทำให้คุณได้เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการเลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับความไว้วางใจในการมอบหมายงาน Project ใหญ่ ๆ มาให้แล้ว
จริงอยู่ที่คนทำงานยุคใหม่ควรจะเก่งและรอบรู้ในทุกเรื่องเพื่อตามโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ทัน แต่สำหรับคนที่ยังนึกไม่ออกว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไร เราก็พอจะมีวิธีฝึกฝนให้เราทำงานอย่างสมบูรณ์ขึ้นได้ ด้วยหลักการ “เสริมจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน” เพราะคนทำงานแต่ละคนมีความถนัดหรือสไตล์ในการทำงานแตกต่างกัน ให้เราลองประเมินตัวเองดูก่อนว่าเราเก่งอะไร สิ่งไหนที่เราทำได้ดีที่สุด แล้วเริ่มจากการพัฒนาความสามารถด้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย การอาสาทำงานที่ท้าทายแต่ได้โอกาสในการเติบโต หรือจะหาความรู้เพิ่มเติมนอกเวลางานจากการฝึกอบรมก็ได้ทั้งนั้น ในท้ายที่สุดเราก็จะพร้อมสำหรับการเป็น Candidate เวลามีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาไม่ว่าเล็ก หรือ ใหญ่ ลองนึกถึงตอนที่มีน้องใหม่เข้ามาทำงาน แล้วเพื่อนรวมงานหรือ พี่ ๆ HRแนะนำว่าเราเก่งด้านนี้มากเลย เบอร์หนึ่งของแผนกเลยทีเดียว ฟังดูดีใช่ไหมล่ะ
ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดีก็ดูได้จากว่าทักษะของเราเป็นที่ยอมรับแค่ไหนแล้ว เช่น ระดับทีมหรือแผนกเดียวกัน เพื่อนรวมงานต่างแผนก ไปจนถึงผู้บริหาร ยิ่งถ้าคนทั้งบริษัทรู้ว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แล้ว ก็แทบจะการันตีได้เลยว่าอนาคตจะต้องสดใสแน่นอน ส่วนคนไหนที่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งหลาย ๆ ด้านก็ลองวิเคราะห์จุดอ่อนของตัวเองและปิดจุดอ่อนนั้น จะฝึกฝนให้พอเป็นงาน หรือ จะฝึกจนก้าวข้ามขีดความสามารถเดิมของตัวเองจนเป็น Perfectionist ที่เก่งรอบด้านก็แล้วแต่การวางเป้าหมายการทำงานของเราเลย ถ้าทำได้ตามนี้ เวลามีการคัดเลือกคนที่เก่งรอบด้าน เราก็จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากเก่งเรื่องงานแล้ว คุณสมบัติอื่น ๆ อย่างอุปนิสัยส่วนตัว พฤติกรรมในการทำงาน และการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน บางครั้งก็มีผลต่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความทุ่มเทให้กับองค์กร ความตรงต่อเวลา ความยุติธรรม ความมีน้ำใจ มนุษยสัมพันธ์ที่ดีและการปฏิบัติกับเพื่อนร่วมองค์กรอย่างเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างบางส่วนของปัจจัยที่อาจถูกนำมาพิจารณาร่วมกับความสามารถและทักษะในการทำงาน เพราะนอกจากจะเป็นค่านิยมที่ดีแล้ว การที่เราเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษย่อมแสดงว่าเรามีความสามารถโน้มน้าวให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้ คนทำงานที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมงานในองค์กรได้จึงมีลักษณะของความเป็นผู้นำอยู่ในตัว ซึ่งสิ่งนี้เองคือคุณสมบัติสำคัญของคนที่จะได้รับการ Promote ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น และมีโอกาสได้นำทีม แผนก หรือขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต
เมื่อเราทำงานมาสักระยะหนึ่ง ไม่ว่าเราจะทำงานในแผนกอะไร เราจะมีความเชี่ยวชาญในงานที่ทำและมีองค์ความรู้ที่สามารถสอนน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงาน แชร์ให้เพื่อนร่วมงาน หรือ เสนอแนะและอัปเดตข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับหัวหน้าหรือผู้บริหารได้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร กฎระเบียบ นโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการทำงาน เทรนด์ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่ หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ที่อาจจำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กร และทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้
สังคมการทำงานในบางครั้งก็เปรียบเสมือนครอบครัวที่ต้องพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญงานขององค์กรก็ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยคนคนเดียวได้ คนที่มีองค์ความรู้อยู่กับตัวแล้วไม่แบ่งปันก็อาจถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่อยากเห็นคนอื่นได้ดีกว่า หรือเก่งแซงหน้าตัวเอง ถ้าเรารักและอยากเติบโตไปพร้อมกับองค์กร เราก็ควรมองเห็นผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก แบ่งปันข้อมูล ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ทำให้พวกเขาเห็นว่าเราหวังดีต่อองค์กรอย่างจริงใจ ไม่ได้กลัวใครจะเก่งกว่า ผู้ใหญ่ที่เขามองออกก็จะเห็นว่าเรามีความตั้งใจในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนากำลังคนขององค์กร และยินดีที่จะสนับสนุนเราให้ก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อเราทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดีแล้ว ลองมองหาโอกาสใหม่ ๆ ภายในองค์กรด้วยการรับอาสาทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือแม้แต่อาจจะมีคนเคยทำแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ การอาสาริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ และนอกกรอบ นอกจากจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงบินให้กับตัวเองแล้ว เรายังอาจได้ประสบการณ์ หรือ ทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับการทำ Project สำคัญในอนาคตก็ได้ ให้คิดอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะงานเล็ก งานใหญ่ งานสำคัญ หรือ งาน Routine ทุกงานล้วนเป็นบันไดไปสู่ความก้าวหน้าได้ทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้น หากงานสำเร็จ ผู้ใหญ่ก็จะเห็นว่าเราทำงานนี้ได้ และก็จะได้รับความไว้วางใจ มอบหมายงานที่ใหญ่ขึ้นอีก เพราะเราได้พิสูจน์แล้วว่าเรารับผิดชอบงานใหญ่ได้ หรือต่อให้เราไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้และปรับปรุงตัวเองในครั้งต่อไป ทัศนคติแบบอาสานี้ยังไงก็ได้ใจหัวหน้าไปเต็ม ๆ
สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองไม่มีทักษะโดดเด่น ไม่กล้าแสดงออก หรือพูดไม่ค่อยเก่ง อย่าเพิ่งปิดประตูแห่งโอกาสของตัวเองเพียงเพราะคิดว่าเรายังไม่ดีพอ ไม่เก่งเหมือนกับคนอื่น เพราะการพิจารณาเลื่อนขั้น หรือ มอบหมาย Project สำคัญ บางทีคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเขาก็จะดูความเหมาะสมตามแต่ละตำแหน่ง บางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องนำเสนอเก่ง เพียงแค่สามารถอธิบายให้คนอื่น ๆ ที่ร่วมกันทำงานได้เข้าใจก็เพียงพอแล้ว ตราบใดที่เราไม่ได้มีปัญหาในการสื่อสารขั้นร้ายแรง ชนิดที่ว่าสื่อสารให้ใครฟังก็ไม่เข้าใจ เพราะในที่สุดแล้วคนที่ได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าทีม ก็ยิ่งต้องสื่อสารกับลูกทีมและแผนกอื่น ๆ บ่อยขึ้นกว่าตอนทำงานเป็นลูกทีมแน่นอน
ถ้าเราเป็นคนทำงานสาย Introvert ที่ชอบทำงานเงียบ ๆ เข้าสังคมไม่เก่ง ไม่ชอบออกสื่อ แต่มั่นใจในทักษะเฉพาะทาง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทำไม่เป็นรองใคร เราก็ยังมีโอกาสจะเติบโตกับเขาได้เช่นกัน แต่ถ้าเราหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่ได้จริง ๆ แถมรู้สึกไม่มั่นใจกับการสื่อสาร ก็ต้องลองดูว่าจะปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองได้ยังไงบ้าง เช่น ถ้ารู้สึกว่าพูดผิดและประหม่าตลอดเวลานำเสนอต่อหน้าคนเยอะ ๆ ก็ต้องซ้อม Present งานให้มากกว่าปกติ เตรียมแผนสำรอง ทำการบ้านให้หนักและเตรียมคำตอบที่คาดว่าคนฟังจะต้องถามแน่ ๆ เพราะบางครั้งต่อให้เป็นคนที่พูดเก่งเองเวลาตื่นเวทีก็อาจสะดุด และลืมสิ่งที่จะพูดได้เหมือนกัน นอกจากจะได้พัฒนาจุดด้อยของตัวเองแล้ว ผลพลอยได้ก็คือคนรอบข้างก็จะเห็นถึงความพยายามในการก้าวออกจาก Comfort Zone ของเราและอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนในทีมได้อีกด้วย พัฒนาการที่ดีในการทำงานของเราก็จะเป็นที่จดจำในสายตาของคนในองค์กร และอาจถูกหมายตาไว้สำหรับการพิจารณาเลื่อนขั้นครั้งต่อไป
การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการกู้ชื่อเสียงที่เสียไปแล้วกลับอาจฟังดูเปลี่ยนเรื่องยาก แต่มนุษย์เราย่อมผิดพลาดกันได้เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนที่อาจจะเคยทำอะไรผิดพลาดมาก่อน ถ้าเราตั้งใจที่จะปรับปรุงนิสัยให้ดีขึ้น ลงมือทำและแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ ย่อมมีคนเห็นในความพยายาม แม้เราอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรก ๆ ในการได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เพราะชื่อเสีย หรือความผิดพลาดในการทำงานที่เคยทำไว้ในอดีต แต่ถ้าเราพิสูจน์ให้เห็นว่าเรากลับตัวกลับใจเป็นคนใหม่แล้ว และผลงานในปัจจุบันนั้นมีคุณค่าและโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่มที่ถูกเลือก เราก็อาจจะได้รับความไว้วางใจและโอกาสในการทำงานสำคัญที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพได้เช่นกัน
เมื่อเราพัฒนาตัวเองและแสดงคุณลักษณะเฉพาะตัวจนกลายเป็น Branding ของเราไปแล้ว เพื่อนรอบงานรอบตัว คนในองค์กร หรือแม้แต่ฝ่าย HR ก็จะรับรู้ได้ว่าเราโดดเด่นด้านไหนบ้าง เวลาที่ผู้บริหารจะพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง พวกเขาก็จะจดจำเราได้ และใช้ประกอบการตัดสินใจ หรือแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าทีม จำไว้ว่าการสร้างชื่อเสียงที่ดี สามารถสร้างได้ตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน หัวใจสำคัญ คือ การหา Character ของเราให้เจอแล้วพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเรามีทักษะการทำงาน ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ชื่อเสียงในการทำงานที่โดดเด่นก็จะช่วยส่งเสริมหรือปูทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้เราอีกแรง
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
apa.org, content.wisestep.com, forbes.com, meltwater.com, money.usnews.com, monster.com, opentextbc.ca