ชายหนุ่มคนหนึ่งวางโทรศัพท์ลงอย่างหัวเสีย เมื่อพบว่าหุ้นที่เขาเพิ่งลงทุนไปได้ไม่นานนั้นมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
การลงทุนทางการเงินด้วยการเล่นหุ้นเป็นเรื่องที่เสี่ยง ซับซ้อน และดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนที่ทำงานกินเงินเดือนทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ใช่สำหรับชายหนุ่มคนนี้ ที่ตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนหนึ่งไปลงทุน หลังจากเริ่มต้นทำงานได้ไม่นาน ด้วยหวังว่ามันจะทำให้เขามีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินเดือนจากการทำงานประจำ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาหวังกลับไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด ซึ่งอาจเป็นเพราะเขายังไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็อาจจะยังไม่ได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบ วันนี้ JobThai จึงจะพาไปดูว่าหากคุณคิดจะลงทุนทางการเงินด้วยวิธีนี้ มีอะไรบ้างที่คุณควรจะศึกษา และเตรียมตัวเอาไว้ เพื่อไม่ให้คุณเสียเปรียบ และเกิดปัญหาจากการลงทุน
- ทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงทุน เพราะหากมีความรู้ไม่ชัดเจน อาจทำให้ตัดสินใจพลาด จนนำไปสู่การสูญเสียเงินจำนวนมาก
- เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะจะทำให้มีประสบการณ์ก่อนคนอื่น ๆ และยิ่งลงทุนเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทน และเห็นพัฒนาการในการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น
- วางแผนการลงทุนแบบระยะยาว และจัดสรรเงินที่จะลงทุนให้ดี รวมทั้งอย่าลืมประเมินผลอยู่เป็นประจำ เพื่อปรับเปลี่ยนแผนหากจำเป็น แต่ต้องระวังอย่าใจร้อน หรือหวั่นไหวเมื่อการลงทุนกับสภาพที่เลวร้ายของตลาดหุ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
- ในการตัดสินใจที่จะลงทุน หรือไม่ลงทุนอะไรบางอย่าง ให้หาข้อมูลให้ดี และใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึก เพราะหากคุณมั่นใจ และไม่ยอมลงทุนทั้ง ๆ ที่มีข้อมูลสนับสนุนที่ดีพอ อาจทำให้คุณพลาดโอกาสดี ๆ ไปได้
- แยกเงินสำหรับลงทุนออกจากเงินในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และใช้เฉพาะเงินก้อนนั้นในการลงทุน เพราะหากการลงทุนมีปัญหา อย่างน้อยมันก็จะไม่กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และมีวินัยในการใช้เงิน จะทำให้คุณมีเงินสำหรับการลงทุนเพื่อความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและอนาคตของคุณมากขึ้น
- ลงทุนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเปิดโอกาสให้คุณเอง และเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่การลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดขาดทุนขึ้นมา
|
|
1. ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งก่อนตัดสินใจลงทุน
การลงทุนโดยไม่รู้รายละเอียดอย่างลึกซึ้งถือเป็นหายนะทางการเงินอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจธรรมชาติหรือแก่นแท้ของการลงทุนประเภทที่คุณกำลังให้ความสนใจอยู่ คุณจะมองไม่เห็นว่าสิ่งใดที่สำคัญ และควรกระทำ ซ้ำร้าย คุณจะมองข้ามปัจจัยที่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้คุณตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่ จนนำไปสู่การสูญเสียเงินจำนวนมากได้
2. รีบลงทุนตั้งแต่วันนี้
ยิ่งคุณเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ผลตอบแทนและพัฒนาการในการลงทุนก็จะยิ่งทวีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นักลงทุนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย จะได้เปรียบผู้อื่นในด้านการมีชั่วโมงบินที่สูงกว่า รวมถึงจะก้าวนำหน้านักลงทุนคนอื่น ๆ เพราะได้ผ่านประสบการณ์การฝึกความอดทนในการปฏิบัติตามกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาวก่อนใครเพื่อน และทำให้ในท้ายที่สุด พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะรอคอยผลตอบแทนที่คุ้มค่าและพบกับความสำเร็จทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
3. วางแผนการเงินอย่างเหมาะสมและทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
ไม่มีสิ่งใดจะสำคัญไปกว่าการวางแผนและการจัดการพอร์ตการลงทุนของคุณ แม้จะเป็นหลักการง่าย ๆ แต่ก็มีความสำคัญอย่างมากต่อนักลงทุนทุกคนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมืออาชีพ ให้คุณเริ่มตั้งเป้าการลงทุนของคุณไว้ล่วงหน้าตลอดระยะเวลาการทำงานของคุณ (นับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงก่อนเกษียณอายุ) จัดสรรเงินไว้สำหรับการลงทุนในแต่ละเดือน และปฏิบัติตามแผนการจัดการกระแสเงินสดทั้งเข้าและออกที่ได้จากการลงทุนของคุณ ประเมินผลและปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสมควรหากจำเป็นหรือเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น การทำตามแผนการดังกล่าวจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายในการลงทุนได้ในบั้นปลายของชีวิต
4. ใช้เหตุผลเหนือความรู้สึกในการปฏิบัติตามเป้าหมายทางการเงิน
การไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายในการลงทุน จะทำให้การตัดสินใจในการลงทุนมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น ถ้าคุณเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการลงทุนในธุรกิจใหม่บางประเภท คุณอาจเลือกที่จะไม่เสี่ยง และความรู้สึกไม่มั่นคงของคุณนี้เองที่อาจทำให้คุณพลาดโอกาสในการลงทุนประเภทใหม่ที่อาจเติบโตและทำกำไรให้คุณได้ในอนาคต ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณใช้เหตุผลจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการวิเคราะห์ธุรกิจดังกล่าว คุณจะมองเห็นศักยภาพของกลุ่มธุรกิจนั้นและไม่กลัวที่จะแสวงหาความสำเร็จจากการลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ที่คุณยังไม่เคยลองมาก่อน
5. ควบคุมงบประมาณการใช้จ่าย
คนที่ไม่มีเงินเก็บเหลือพอสำหรับการลงทุน มักจะเสียเงินเสียทองไปกับสิ่งที่ต้องการ มากกว่าสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ที่สามารถประหยัดได้ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าเคเบิลทีวี ค่าเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ ส่งผลให้เงินรายได้ในแต่ละเดือนที่หักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นออกไปแล้ว ไม่เพียงพอสำหรับการต่อยอดด้วยการลงทุน หากคุณต้องการให้เงินของคุณงอกเงย คุณจำเป็นต้องมีวินัยในการใช้เงิน และรู้จักแยกแยะความต้องการและความจำเป็นออกจากกัน เพื่อความมั่นคงในปัจจุบันและอนาคตของตัวคุณเอง
6. แยกเงินสำหรับการลงทุนและเงินสดสำหรับใช้จ่ายออกจากกัน
การแบ่งเงินก้อนหนึ่งไว้สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะนอกเหนือจากบัญชีเงินสดสำหรับการใช้ปกติ จะทำให้คุณไม่มีปัญหาตามมาในอนาคตเมื่อคุณขาดทุนในการลงทุน พูดง่าย ๆ คือ ต่อให้คุณสูญเสียเงินไปกับการลงทุน มันก็จะไม่มีผลกระทบต่อบัญชีสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำของคุณ ให้จำไว้ว่าเงินที่จะจำมาลงทุนต้องเป็นเงิน “เย็น” ที่ไม่ได้มีการนำออกมาใช้ และต้องไม่ใช่เงินก้อนเดียวกับเงินออมที่สำรองไว้สำหรับการใช้จ่ายในยามจำเป็นเร่งด่วน
7. รู้จักกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนหลากหลายรูปแบบ
อย่าปิดกั้นโอกาสของตัวคุณเองด้วยการลงทุนในประเภทที่คุณคุ้นเคยเพียงอย่างเดียว เพราะความผิดพลาดของนักลงทุนหลายต่อหลายคนมักเกิดจากการลงทุนที่กระจุกอยู่แต่เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยไม่มองหาโอกาสอื่น ๆ ในตลาด ในทางกลับกัน การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเดียวกันแต่คนละกลุ่มธุรกิจ เช่น หุ้นพลังงาน หุ้นธนาคาร หุ้นอุตสาหกรรม หรือจะเป็นรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การลงทุนหุ้น กองทุนรวม หรือ อสังหาริมทรัพย์จะทำให้คุณได้เปรียบในการลงทุนมากกว่าทั้งในด้านผลตอบแทนและการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะคุณจะยังมีรายได้จากการลงทุนรูปแบบอื่นไว้ชดเชยในยามที่คุณขาดทุนจากการลงทุนบางประเภท
8.ประเมินสถานการณ์ด้วยการมองระยะยาว
หลายครั้งที่การที่หุ้นตกทำให้นักลงทุนมือใหม่เกิดอาการจิตตกตามไปด้วย จำไว้ว่าการลงทุนเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยเวลานานและเป็นการหวังผลตอบแทนในระยะยาว อย่าใจร้อนและหวั่นไหวง่าย ๆ กับสภาพที่เลวร้ายของตลาดหุ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ และปรับกลยุทธ์การลงทุนด้วยการมองภาพรวมอยู่เสมอ
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา:
money.usnews.com
bangkokbiznews.com