“We don’t have to be smarter than the rest,
we have to be more disciplined than the rest.”
Warren Buffett
เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะจากชีวิตนิสิต นักศึกษามาสู่ชีวิตคนทำงาน เป้าหมายของการใช้ชีวิตของหลาย ๆ คนก็จะเปลี่ยนไป บางคนตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อเป็นทุนสร้างธุรกิจของตัวเอง บางคนก็ตั้งใจเก็บเงินเพื่อความฝันที่จะไปเที่ยวรอบโลก แต่ไม่ว่าจะมีฝันอะไรหลายคน ๆ คงจะเจอกับตัวเองเข้าแล้วว่าหนทางของการเก็บเงินเพื่อทำตามความฝันนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เพราะเวลาที่เงินเข้ามาหา เราก็มักรู้สึกมีอิสระเรื่องการใช้เงินมากขึ้น อาจเพราะเป็นเงินที่หามาด้วยตัวเองก็คิดว่าควรให้รางวัลแก่ตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้าที่อยากได้ การกินอาหารตามห้างสรรพสินค้า หรือการไปปาร์ตี้เพื่อปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการทำงาน พอมารู้ตัวอีกทีตอนสิ้นเดือน ก็ตกอยู่ในสถานะอย่างที่เขาว่ากันว่า “สิ้นเดือน เหมือนสิ้นใจ” เสียแล้ว
JobThai จะไม่ปล่อยให้บรรดาคนทำงานทั้งหลายต้องตกอยู่ในเขาวงกตนี้อีกต่อไป วันนี้เราจะมาชวนกันพูดคุยถึงเรื่อง "การลงทุน" ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำทางเราให้ออกไปจากวังวนนี้กัน
- การลงทุนคือการนำเงินส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่เงินออมมาสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจะให้ผลตอบที่สูงขึ้น แต่คุณสามารถลดความเสี่ยงลงได้เพียงทำความเข้าใจตนเอง
- นอกเหนือจากการเปิดบัญชีออมทรัพย์แล้ว ยังมีทางเลือกสำหรับลงทุนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตราสารทุน ตราสารหนี้ และกองทุนรวม ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าการเปิดบัญชีเงินฝากประจำได้
- ก่อนเริ่มต้นลงทุนจริง ควรสำรวจความชอบของตัวเองเพื่อหารูปแบบการลงทุนในแบบที่เหมาะสมกับคุณ โดยอาจดูได้จากความต้องการในชีวิต การตั้งเป้าหมายว่าอายุเท่าไหร่ คุณต้องการมีอะไร หรือทำอะไรในชีวิตบ้าง
- สรุปรูปแบบการลงทุน เช่น กองหุ้นรวม ตราสารหนี้และหุ้นฉบับ อ่านง่าย
- คุณรู้หรือไม่ ทำไมคนไทยถึงเรียก "หุ้น" ว่าหุ้น
|
|
รู้ว่าควรลงทุน แต่อ่านเรื่องลงทุนแล้วปวดหัวทุกที
"รออายุเยอะกว่านี้ก่อน ค่อยศึกษาก็ได้" นี่คงเป็นความในใจของใครหลาย ๆ คน บางคนเมื่อเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือการลงทุนก็กลับไม่รู้จะเริ่มต้นกับหนังสือเล่มไหนดี พอคิดจะอ่านในเว็บไซต์ก็เจอแต่คำศัพท์ที่ไม่เข้าใจเต็มไปหมด แล้วจะเริ่มจากอะไรดี ? ถ้ากำลังตกอยู่ในปัญหาที่กล่าวมานี้ เราแนะนำให้ติดตาม บทความความรู้ทางการเงินของ JobThai มาเริ่มกันเลยว่าการลงทุนคืออะไร ?
"การลงทุนคือการให้เงินช่วยทำงาน"
ปกติแล้วเมื่อเราทำงานเราก็จะได้รับผลตอบแทน ส่วนการลงทุนก็คือการปล่อยให้เงินไปทำงาน เมื่อเงินไปทำงานเงินก็จะได้รับผลตอบแทนเหมือนกับเรานั่นเอง ทำให้จากปกติที่เรามีรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว เราก็จะมีตัวช่วยหาเงินเพิ่มขึ้น ก็กลายเป็นว่าเราจะมีรายรับถึง 2 ทาง
แล้วเงินทำงานได้อย่างไร ?
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นชินกับการเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารเพื่อเก็บออมเงิน ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่ให้เงินไปทำงาน โดยเมื่อเงินเดินทางออกจากบ้านไปธนาคารแล้ว ธนาคารก็จะรวบรวมเงินเพื่อไปหารายได้ เมื่อเงินของเราหารายได้เสร็จ ธนาคารก็จะให้ผลตอบแทนแก่เงินของเรา ในชื่อ “ดอกเบี้ย” เข้าใจง่ายดีใช่ไหม ? แต่ว่าการลงทุนนั้นไม่ได้มีเพียงการฝากเงินกับธนาคารอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอย่างอื่นอีกมากมายหลายวิธีเลยทีเดียว
เอาเงินฝากธนาคารแล้วจะลงทุนทำไมอีก
ถ้าการฝากเงินคือ การลงทุน ซึ่งก็เข้าใจง่ายดีแล้ว เราจะไปลงทุนในเรื่องที่เข้าใจยาก ๆ เช่น พวกหุ้น กองทุนรวม หรืออื่น ๆ อีกทำไม ? เหตุผลหลักเลยก็คือการลงทุนนั้นเพื่อให้เรามีผลตอบแทนมากขึ้นและสำหรับการลงทุนนั้น "ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็(อาจ)จะสูง (High Risk, High Return)" และอย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนอยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ บางคนอาจจะอยากได้รถหรูสักคัน ซึ่งก็อย่างที่เห็นกันอยู่การฝากเงินในธนาคารอย่างเดียวนั้นได้ดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้รวดเร็วอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้ ในส่วนนี้เองที่การลงทุนจะช่วยเสริมให้เงินของเราเติบโตได้เร็วขึ้น ทำงานเก่งขึ้น หรืออาจจะหารายได้มากกว่าเงินเดือนของเราเสียอีก
แล้วถ้าไม่ได้อยากได้อะไร ต้องลงทุนไหม ?
บางครั้งชีวิตคนเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินโดยที่เราเองไม่ทันเตรียมแผนรับมือไว้ เช่น วันดีคืนดีคนที่เรารักเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็คงอยากให้เขาได้รับการรักษาที่รวดเร็ว แต่บริการที่ดีและรวดเร็วนั้นก็ต้องใช้เงินมากพอสมควร ไม่เช่นนั้นคงต้องทำงานในบริษัทที่ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลสูง ๆ หรือหากเลื่อนอินสตาแกรมมาเจอเพื่อนไปแช่ น้ำสีเทอร์ควอยซ์ ที่โคโลราโด อาบธารน้ำแร่ ปามุกคาเล ที่ตุรกี ดื่มชายามบ่าย ที่เคนซิงตัน จากที่ไม่เคยคิดอยากจะไป เราก็อาจจะอยากมีประสบการณ์เหล่านี้บ้าง ซึ่งสิ่งที่จะช่วยทำให้เราไปถึงสถานที่เหล่านี้ได้นอกจากการเก็บเงินไปเรื่อย ๆ แล้วก็คือ "การลงทุน" นั่นเอง
นอกจากนี้อย่าลืมว่าไม่ว่าจะทำงานได้เงินเท่าใดก็ตาม วันหนึ่งก็ต้องเกษียณจากงานที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราอาจจะขาดรายได้ไปเลย การเตรียมตัวเกษียณยิ่งเร็ว จึงยิ่งเป็นสิ่งที่ดี และจะยิ่งดีขึ้นไปอีกถ้าหากเราสามารถเกษียณงานได้เร็ว เพราะนั่นหมายถึงว่าเราจะมีเวลาไปทำกิจกรรมที่สร้างสมดุลให้กับชีวิตเราได้มากขึ้นด้วย
สมมติ ถ้าคิดง่าย ๆ ว่าเราต้องการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท หลังเกษียณ และเราจะอายุถึง 80 ปี เราจะต้องมีเงินถึง 15,000 บาท x (20 ปี x หนึ่งปีมี 12 เดือน) หรือเท่ากับ 3,600,000 บาท
แล้วคุณล่ะต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไหร่?
ต้องการใช้เงินเดือนละ กดที่นี่
จะต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่
ตอนนี้คุณอายุเท่าไหร่ กดที่นี่
*อัตรานี้ไม่ได้คิดรวมอัตราเงินเฟ้อที่อาจทำให้เงินของคุณลดมูลค่าลง
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่า แม้เราจะไม่ได้อยากมีบ้านหลังใหญ่โต หรือไปเที่ยวรอบโลก เราก็ยังจำเป็นที่จะต้องหาเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและยามเกษียณ ซึ่งแค่การฝากเงินในธนาคารอย่างเดียวนั้นคงทำให้เราเหนื่อยอย่างแน่นอนถ้าจะต้องใช้เงินในเวลานั้น
ถ้าพร้อมเริ่มต้นลงทุนแล้วล่ะก็ 3 ขั้นตอน ต่อไปนี้จะชี้ทางให้เอง
เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเพราะเหตุใดจึงควรลงทุน เราก็สามารถใช้ขั้นตอนเหล่านี้เป็นพื้นฐานกว้าง ๆ เพื่อตรวจสอบตนเอง และทำความเข้าใจก่อนว่า “ความรู้ทางการเงิน” นั้นไม่มีอะไรที่ยุ่งยากให้หนักใจ มีเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับเริ่มต้น คือ
- มองดูตัวตน
- ค้นหาวิธี
- มีความเข้าใจ
1. ทำความรู้จักคนในกระจก (มองดูตัวตน)
สิ่งสำคัญสำหรับเริ่มต้นเลยก็คือการสำรวจว่าเรามีความรู้ทางการเงินพร้อมหรือยัง ซึ่งความรู้ทางการเงินก็คือ เรารู้ลึก รู้จริงกับการลงทุนแบบต่าง ๆ มาก น้อยเพียงใด แล้วรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ขนาดไหน พูดง่าย ๆ ก็คือเราจะเสียเงินได้ขนาดไหนถึงจะไม่ปวดใจ เป็นต้น
แล้วเราต้องสำรวจอะไรบ้าง ?
ก่อนอื่นเราจะต้องถามตัวเองก่อนว่า เรารู้จักตัวเองมากน้อยอย่างไร เช่น เราอาจเริ่มจากคำถามว่ากิจกรรมยามว่างจากงานเราชอบทำอะไร เราชอบอ่านหนังสือศึกษาหาความรู้เป็นประจำหรือไม่ เราต้องการชีวิตแบบไหน เราชอบนอนเงียบ ๆ อยู่บ้าน หรือออกท่องเที่ยวดูโลกกว้าง สิ่งเหล่านี้จะช่วยบอกได้ในระดับหนึ่งว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน แล้วนอกจากนี้เราได้วางแผนชีวิตไว้หรือไม่ว่าเมื่ออายุเท่าไหร่ เราต้องการมีอะไร หรือทำอะไรในชีวิตบ้าง เช่น อายุ 30 มีบ้านเป็นชื่อตัวเอง หรืออายุ 40 ฉันจะเดินสายกินกาแฟของประเทศต่าง ๆ ให้ครบทุกรสชาติทั่วโลก
ดังนั้นจึงควรมาทำความรู้จักตัวเองกันก่อน เพื่อ REACH เป้าหมายในชีวิตด้วยกัน เมื่อประเมินสิ่งต่าง ๆ เสร็จ ขั้นตอนถัดไป เราก็เลือกงานที่จะให้เงินของเราไปทำงานได้เลย
2. เลือกงานให้เงินไปทำ (ค้นหาวิธี)
การทำงานแต่ละงานนั้นได้ค่าตอบแทนไม่เท่ากันเพราะต้องใช้ทักษะที่แตกต่างกัน งานที่ใช้ทักษะสูงผลตอบแทนก็จะสูง การลงทุนก็เช่นเดียวกัน หากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียสูงผลตอบแทนก็ย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งการเลือกงานให้เงินไปทำงาน ก็เหมือนกับตอนที่เราเลือกงานทำ คือเมื่อเราประเมินตัวเองเสร็จ เราก็ศึกษาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจรูปแบบการลงทุนหรืองานนั้น ๆ แล้วประเมินว่าเป็นงานที่เหมาะกับเงินของเราไหม เข้ากับนิสัยของเราหรือเปล่า ซึ่งวันนี้เรารวบรวมความรู้เกี่ยวกับการลงทุนขั้นพื้นฐานมาให้มือใหม่เริ่มต้นได้อย่างไม่มีสะดุด
มีเงินอยู่แต่ยังไม่พร้อมเข้าใจอะไรยาก ๆ ให้ "กองทุนรวม" ช่วยหน่อยดีไหม
กองทุนรวม หรือ Mutual Funds เป็นการลงทุนตามชื่อเลย นั่นก็คือเป็นการเอาทุนมารวมกันให้ได้เป็นกอง การลงทุนแบบนี้จะระดมทุนจากคนจำนวนมากให้เป็นเงินก้อนใหญ่ ๆ แล้วพอมีทุนมากกำลังซื้อก็จะมากขึ้น จุดเด่นของกองทุนรวมคือแต่ละกองทุนมีผู้ที่เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุน นำเงินทั้งกองไปลงทุนตามเงื่อนไขที่ประกาศขาย
เราจะดูอะไรในกองทุนรวม
- กองทุนนั้นมีนโยบายที่จะลงทุนกับอะไรบ้าง
- ลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงขนาดไหน ต่ำ กลาง หรือสูง
- แล้วต้องถือไว้นานขนาดไหน
ประเภทของกองทุนรวมนั้นมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ กองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อการลดหย่อนภาษีอย่างกองทุน LTF หรือกองทุน RMF ผลตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของกองทุนที่เราเลือกลงทุน กองทุนรวมเป็นการลงทุนแบบที่น่าจะเรียกได้ว่า "เหมาะกับผู้เริ่มต้น" เพราะทำงานมาทั้งวันก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปติดตามการลงทุนอีก เราก็เอาเงินไปฝากไว้กับคนที่มีความรู้จริงเรื่องการลงทุน ให้เขานำเงินของเราไปจัดการให้มันงอกเงยแทนเรา "ง่าย สบาย ไม่ยาก"
มีคนดูให้มันไม่น่าไว้ใจ เริ่มเองดีกว่า แต่ก็ไม่ยังไม่อยากเสี่ยง ปล่อยกู้ด้วย "ตราสารหนี้" ช่วยได้
ตราสารหนี้ หรือ Bond ที่แปลว่า "ข้อผูกมัด" นั่นก็หมายถึงการที่เราปล่อยกู้หรือ "เป็นเจ้าหนี้" ให้กับคนที่มายืมเงินเรา ซึ่งเวลาปล่อยกู้เราก็ต้องคิดดอกเบี้ยใช่ไหม และดอกเบี้ยของการปล่อยกู้ก็มักจะแพงกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ทำให้การซื้อตราสารหนี้ก็เลยมีดอกเบี้ยที่เราได้สูงกว่าดอกเบี้ยที่เราได้จากฝากเงินกับธนาคารด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนเราขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัดแต่ปรากฏว่าขายไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อนเลยมาขอยืมเงินเรา โดยอาจจะเอาเงินไปใช้เพื่อไปตกแต่งสถานที่ใหม่ หรือเพื่อจะเอาไปใช้จ่ายส่วนตัวก็ตาม ก็ทำให้เรามีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของเพื่อนแล้ว ซึ่งเพื่อนของเราก็มี "ข้อผูกมัด" ที่จะต้องเอาเงินมาคืนเราพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้
แต่ว่าปล่อยกู้ทีไร ทวงยาก ทวงเย็น น้ำตาจะไหล
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเราอาจจะปล่อยกู้ให้กับคนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เราเลยมักจะประสบปัญหาเช่นนี้ แต่สำหรับตราสารทุนนั้นจะเป็นการปล่อยกู้ให้กับสถาบัน หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้ตราสารหนี้มีข้อดีคือความเสี่ยงต่ำ เพราะในฐานะเจ้าหนี้ ลูกหนี้มี "ข้อผูกมัด" ที่จะต้องเอาเงินมาคืน ผลตอบแทนก็ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยตราสารหนี้ที่หลายคนอาจจะผ่านหู ผ่านตามาบ้างก็เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน นอกจากนี้ยังมีช่องทางขายตราสารหนี้ที่หลากหลาย ประกาศขายอยู่บ่อย ๆ
เมื่อเราซื้อตราสารนี้แล้ว ตั๋วตราสารก็ยังอยู่กับเราอีก ทีนี้คนทำงานอย่างเรา ๆ ก็อุ่นใจได้ว่าเงินที่อุตส่าห์หามาทั้งเดือนจะไม่หายไปไหน ไม่เหมือนกองทุนรวมที่ให้คนไม่รู้จักเอาเงินเราไปจัดการ
รู้ว่าเสี่ยง แต่ยิ่งเสี่ยง ยิ่งเร้าใจ ยิ่งใช่ตัวเรา "หุ้น" ไง จะอะไรล่ะ ?
อันที่จริง คำว่าหุ้นมาจากภาษาแต้จิ๋ว "หุ่ง" คือสมัยก่อนที่คนจีนมาตั้งรกรากก็มีการช่วยเหลือกันทางการเงิน เช่น เอาเงินมา หุ่ง กันเพื่อเปิดร้านขายของ คนไทยเลยเรียก "หุ้น" กันจนคุ้นเคย แต่ความจริงแล้วหุ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าตราสารทุน (Instruments) คำว่า ตราสาร หรือ Instrument ก็คือ เอกสารที่บอกว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ตราสารที่เราอาจจะเคยได้ยินก็เช่น เช็ค และธนาณัติ เป็นตราสารที่สามารถแลกเป็นเงินได้ และตราสารทุนยังมีอีกหลากหลายประเภท
ได้ยินมาว่า "เล่นหุ้นก็เหมือนเล่นพนัน" เสี่ยงดี ชอบ
ถ้าคิดเช่นนั้น อย่างแรกที่ต้องทำความเข้าใจใหม่เลยก็คือว่า "การซื้อหุ้น" ไม่ใช่การเล่นพนัน ไม่ใช่การดูตัวเลขขึ้นและลง สีเขียวชนะ สีแดงคือแพ้ ดังนั้นไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบการพนันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารทุน แต่การซื้อหุ้นหมายถึง การร่วมทุน "การเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการ" ร่วมกับผู้ที่เขาดำเนินกิจการนั้น ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหุ้นจึงต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในกิจการที่เราอยากจะเป็นเจ้าของ
สมมติว่า เพื่อนเราขายเสื้อผ้าที่ตลาดนัด แล้วเราก็อยากขายบ้าง แต่เราไม่มีเวลาไปขายเพราะต้องทำงานประจำ เราก็เอาเงินให้เพื่อนไปเพื่อซื้อเสื้อเพิ่ม แล้วก็เอาไปขายแทนเรา ส่วนกำไรก็เอามาแบ่งกันตามที่ตกลง
ดังนั้นสำหรับคนที่รู้สึกว่า การซื้อตราสารหนี้มาเก็บไว้เฉย ๆ เป็นงานที่ง่ายเกินไป อยากที่จะเอาเงินมาบริหารด้วยตัวเอง ก็มีทางเลือกในการลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ความแตกต่างกันของสองอย่างนี้ก็คือว่าตราสารหนี้เราเป็น “เจ้าหนี้” แต่ตราสารทุนนั้นเราเป็น “เจ้าของกิจการร่วม” กับคนที่เขาอยากให้เราไปร่วมด้วย หรือไปเป็นหุ้นส่วน ก็หมายความว่าการเป็นหุ้นส่วนคือเราเป็นเจ้าของ ถ้ากิจการไปไม่รอด เราก็ไม่รอดด้วยกัน ก็เลยมีความเสี่ยงสูงกว่าเป็นเจ้าหนี้เพราะถ้าเป็นเจ้าหนี้ ถึงกิจการจะไปไม่รอด ลูกหนี้ก็ยังคงต้องหาเงินมาคืนอยู่ดี
3. เรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมองความเสี่ยงเป็นบทเรียน (มีความเข้าใจ)
เมื่อเราสำรวจตัวเองและค้นหารูปแบบของการลงทุนที่เหมาะกับตัวเราแล้ว สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องมีคือการแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ข่าวสารรอบตัวก็ควรอ่านบ้างไม่ว่าจากทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ สิ่งเหล่านี้ต่างก็ช่วยทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนความคิดอะไร ๆ ได้ทันต่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ และหากการลงทุนเกิดความผิดพลาดไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้ เราก็ควรที่จะทบทวนจากสถานการณ์รอบตัวว่าเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง และให้เข้าใจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกวินัยทางการเงินเพื่อจะได้ไม่ลำบาก เมื่อถึงคราวจำเป็น
คำแนะนำ: การลงทุนก็เหมือนการปลูกดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะบานหรือไม่นั้นเราต้องทำความเข้าใจสายพันธุ์และการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
อ่านเพิ่มเติม:
allbusiness.com
เว็ปไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย