อยากลงทุนทางการเงินต้องวางแผน ถ้าไม่อยากพลาดเป้าหมาย

อยากลงทุนทางการเงินต้องวางแผน ถ้าไม่อยากพลาดเป้าหมาย
24/01/20   |   7.5k   |  

 

  • คนที่อยากเริ่มต้นลงทุน แต่กลับไม่วางแผนอย่างจริงจังสุดท้ายก็อาจจะล้มเลิกความตั้งใจไปได้
  • ผลการสำรวจจาก Harvard Business School สรุปว่าคนที่มีแผนการและจดแผนการเหล่านั้นเอาไว้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
  • เคล็ดลับ 6 ขั้นตอนในการทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริง ได้แก่
    • ประเมินสมรรถนะของตนเอง
    • รวบรวมค่าใช้จ่าย
    • ประเมินการใช้เงินในอนาคต
    • เรียงลำดับความสำคัญและออกแบบแผนการลงทุน
    • เริ่มต้นลงมือทำ
    • ตั้งรับความเปลี่ยนแปลง
  • สิ่งที่อันตรายที่สุดของการลงทุนคือการพูดว่า "รู้แล้วน่า" แต่ไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง

 

 

JobThai Mobile Application หางานใหม่ ง่ายกว่าที่คิด

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

การมีความตั้งใจที่จะลงทุนเป็นเรื่องดี แต่แค่คิดเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ความตั้งใจนั้นสำเร็จขึ้นมาได้ เพราะความสำเร็จอยู่ที่การมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และลงมือทำอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คนที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คนต่างก็ต้อง เรียนรู้ อดทน ฝึกฝนเพื่อไปถึงเป้าหมาย JobThai จึงอยากทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเขียนแผนการและจะเผยเคล็ดลับ 6 ขั้นตอนในการทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริง

 

เริ่มต้นดีแต่ไม่มีเป้าหมายก็พังได้เหมือนกัน

สมมติว่าเราอยากไปเชียงใหม่แต่ไม่ศึกษาเส้นทาง จองที่พัก รวมถึงการค้นหาว่าถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินจะติดต่อขอความช่วยเหลือจากที่ใดได้บ้าง สุดท้ายแล้วความมุ่งมั่นที่จะไปเชียงใหม่ของเราก็อาจจะหาย หรือไม่ได้ไปในที่สุด เหมือนคนที่อยากเริ่มต้นลงทุน มีความมุ่งมั่น แต่กลับไม่วางแผนอย่างจริงจังสุดท้ายก็อาจจะล้มเลิกความตั้งใจไปได้เหมือนกัน ดังนั้นการมีแผนที่ทางเดินที่ชัดเจน จะช่วยเป็นเข็มทิศชี้ทางให้เราเดินได้ง่ายขึ้น มีการสำรวจจาก Harvard Business School ที่บอกว่าการลงมือเขียนแผนนั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไม่คิดเพียงอย่างเดียว โดยสำรวจชีวิตชาวอเมริกาแล้วพบว่า

  • มีคนมากถึง 83% ของกลุ่มประชากรที่สำรวจไม่มีแผนในชีวิตที่ชัดเจน
  • 14% ในกลุ่มประชากรที่สำรวจมีแผนในใจแล้วแต่ไม่ได้เขียนบันทึกเอาไว้ชัดเจน
  • มีเพียง 3% เท่านั้นที่มีแผนการชัดเจนและจดบันทึก รวมถึงมั่นตรวจสอบว่าตอนนี้ความสำเร็จไปถึงขั้นใดแล้ว และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

จะเห็นว่าหากเรามีเป้าหมายแล้วอีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน ก็คือการเขียนแผนการเพื่อย้ำเตือนไม่ให้เราหลงทางออกไป แต่ถ้ายังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเป้าหมาย ก็ควรที่จะเริ่มจากการค้นหาเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจนก่อน จากนั้นก็จดบันทึกรวมทั้งติดตามผลสม่ำเสมอ 

 

6 ขั้นตอนวางแผน แสนสบาย

ทันทีที่เริ่มมีความคิดที่จะลงทุน ให้เริ่ม "จดบันทึก” เพราะการจดเป้าหมายจะช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจมากขึ้น และเพื่อเอาไว้ใช้เป็นแบบประเมินว่าระหว่างก่อนหน้านี้ที่เราไม่มีแผนการที่ชัดเจน กับต่อจากนี้ไปที่เราจะเขียนแผนการทีชัดเจนให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันหรือไม่ เริ่มจากการประมวลผลต่าง ๆ ให้เรียบแล้วจดทุกอย่างที่นึกออก ไปเริ่มกันเลย

 

1. ประเมินตัวเอง

ขั้นแรกให้ลอง "ประเมินตัวเอง" ก่อน เพื่อดูว่าที่ผ่านมานั้นเรามีพฤติกรรมทางการเงินเป็นอย่างไรบ้าง โดยอาจจะลองตั้งคำถามดังต่อไปนี้

  • ตั้งแต่ทำงานเริ่มเก็บเงินบ้างหรือไม่
  • มีเงินออมตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แล้วหรือไม่
  • จดบันทึกรายรับ – รายจ่าย เป็นประจำหรือไม่
  • เก็บใบเสร็จสำคัญ ๆ ไว้บ้างหรือไม่
  • อดใจไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่

คำตอบเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นจุดบกพร่องทางการเงินของตัวเองมากขึ้น แล้วยังช่วยให้เราวางแผนป้องกันสิ่งที่เป็นปัญหา และอาจจะประเมินเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเงินได้ด้วย เช่น ที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีบ้างหรือเปล่ารวมเข้าไปด้วยเพื่อให้เห็นว่าเราเป็นคนที่ทำอะไรสำเร็จมากน้อยขนาดไหน 

2. หลักฐานรายรับ-รายจ่าย

รวบรวมรายรับและรายจ่ายของแต่ละเดือนให้ชัดเจน ถ้ามีสลิปเงินเดือน หลักฐานทางการเงินที่เป็นรายรับทั้งหมด ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟและใบเสร็จที่เป็นรายจ่ายประจำ จะทำให้เราเห็นว่า รายรับ - รายจ่ายประจำของเราอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เช่น

 

รายรับประจำ

สำหรับพนักงานบริษัทก็อาจจะเป็นเงินเดือนและโบนัสหรือค่าคอมฯ ส่วนเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอิสระก็เป็นหลักฐานรายรับแล้วเอามารวมกันของแต่ละเดือนเป็นต้น

รายรับพิเศษ

บางคนอาจจะมีรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง โดยมาจากการหารายได้เสริม เช่น ขายของออนไลน์ สอนพิเศษ หรือรับแปลเอกสาร รายได้เหล่านี้อาจจะไม่ได้เข้ามาสม่ำเสมอแต่ก็พอจะทำให้เราเฉลี่ยรายได้ในส่วนนี้ตลอดทั้งปีได้ 

รายจ่ายประจำ

ได้แก่ ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมทั้งค่าน้ำและค่าไฟ บางคนก็อาจจะมีค่าผ่อนสิ่งของอยู่ หรืออาจจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย และที่สำคัญเลยคือค่าใช้จ่ายในส่วน "เงินออม"

รายจ่ายพิเศษ

ในปีหนึ่งเรามีรายจ่ายที่ไม่ได้ตั้งใจเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า เช่น รถเฉี่ยวชน ค่ารักษาพยาบาล ค่าซื้อของลดราคาทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ลองเฉลี่ยดูว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่

 

3. คาดการณ์เป้าหมายในอนาคต

เมื่อประเมินเหตุการณ์ในอดีตเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องประเมินเหตุการณ์ในอนาคตด้วย ลองสำรวจตัวเองดูว่าในปีถัด ๆ ไปหรือต่อจากนี้ ชีวิตเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ๆ หรือไม่ เช่น การซื้อบ้านใหม่ การออกรถใหม่ หรือแผนการใหม่ในชีวิตที่ต้องใช้เงินเยอะ

สำหรับบางคนยังมีเรื่องของการแต่งงาน การมีลูกและค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มเข้ามาในส่วนของรายจ่ายประจำต่อจากนี้อีกด้วย หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นรายจ่ายประจำไปเลย

 

4. ลำดับความสำคัญและออกแบบการลงทุน

เราอยากจะให้ทุกคนเรียงลำดับค่าใช้จ่ายที่สำคัญ ๆ จากมากไปน้อย ในส่วนของรายรับก็ทำเช่นเดียวกัน และให้เพิ่มให้ส่วนของเป้าหมายใหม่ ๆ ลงไปด้วย

 

ความสำคัญ รายรับ รายจ่าย
1 เงินเดือน ต้องมีบ้านหลังใหม่
2 รับออกแบบหน้าเว็บ ต้องซื้อรถใหม่
3 (ฉันจะ) ขายของออนไลน์ ค่าเทอมและค่าเรียนพิเศษของลูก

 

หลังจากที่รวบรวมรายรับรายจ่ายได้หมดเรียบร้อยแล้ว เราก็ประเมินว่าเราจะลงทุนในสิ่งใดบ้าง เราต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่ถึงจะพอใจ และต้องใช้เวลานานขนาดไหนถึงจะได้ผลตอบแทนดังกล่าว เช่น

 

ระยะเวลาของแผน ผลตอบแทนที่มุ่งหวัง ความเสี่ยง รูปแบบการลงทุน
สั้น 7 % ของเงินที่ลงไป ขอเสี่ยงมากอยากได้เงินสด หุ้น เน้นถือไม่นาน
กลาง 10 % ของเงินที่ลงไป เสี่ยงบ้างแต่ไม่มากนัก ตราสารหนี้และกองทุนรวม
ยาว 12 % ของเงินที่ลงไป ขอเสี่ยงน้อย ถือยาว ๆ กองทุนรวม

 

5. ลงมือทำ

เมื่อมีเป้าหมายเรื่องค่าใช้จ่ายก็ต้องมีเป้าหมายเรื่องการลงทุนด้วยเช่นกัน ในแผนระยะสั้นเราตั้งเป้าหมายเอาไว้กี่เดือน หรือวัน ในส่วนของระยะกลางและยาวก็ต้องวางระยะเวลาที่ชัดเจนเอาไว้เพื่อจะได้ดูว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้เราได้เงินตามที่ต้องการแล้วหรือไม่

ควรที่จะศึกษาด้วยว่าการลงทุนในแบบต่าง ๆ นั้นให้ผลตอบแทนต่างกันอย่างไร อย่างกองทุนรวมจะเลือกกองทุนที่ลงทุนในอะไรเป็นหลัก แล้วเราคิดว่าเราจะได้เงินคืนตามจำนวนที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ดังนั้นการเลือกช่องทางก็สำคัญ นอกจากการหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรามั่นใจจะลงทุนเพื่อให้เป้าสำเร็จจนมั่นใจแล้ว ก็ควรสอบถามผู้ที่ขายผลิตภัณฑ์นั้นให้เราเพื่อความมั่นใจก่อนจะจ่ายเงินจริง

 

6. ติดตามผลและปรับเปลี่ยนให้ทันเหตุการณ์

การติดตามผลขึ้นอยู่กับเวลาว่าง และเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ แต่เมื่อแผนใดสำเร็จแล้วก็ให้เริ่มมุ่งมั่นกับแผนที่ยังเหลือให้เสร็จ และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงควรศึกษาหาความรู้ที่นอกเหนือจากสายงานอาชีพที่ทำงานอยู่ด้วย เพื่อนำมาเป็นแนวทางสำหรับปรับเปลี่ยนแผนการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

สิ่งที่อันตรายที่สุดของการลงทุนคือการพูดว่า "รู้แล้วน่า" แต่ไม่ลงมือทำ

แม้มันอาจจะยากหรือลำบากในช่วงแรก แต่ให้คิดเสียว่าการลงทุนก็เหมือนการออกกำลังกายที่ต้องทำจนเป็นนิสัย จากนั้นเราก็จะไม่รู้สึกฝืน รู้สึกยากหรือต้องเจ็บตัวอีกต่อไป เพราะการลงทุนก็เหมือนการปลูกดอกไม้ ซึ่งดอกไม้จะบานหรือไม่นั้นเราต้องทำความเข้าใจสายพันธุ์และการเลี้ยงดูที่ถูกวิธี

 

สมัครสมาชิกกับเรา เพื่อเป้าหมายการหางานที่ชัดขึ้น

 

JobThai เปิด Official Group แล้ว

ถ้ากำลังหางาน หาคน หรืออยากพูดคุยทุกเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน มา Join กับเราเลย 

 

 

ที่มา :

เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

wanderlustworker.com

tags : คนทำงาน, การลงทุน, การลงทุนสำหรับคนทำงาน, คนทำงานกับการเริ่มลงทุน, กองทุนรวมสำหรับคนทำงาน, ไลฟ์สไตล์, lifestyle, การออมเงิน, บริหารการเงิน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม