ปีใหม่ อยากได้บ้านใหม่! เรื่องที่คนทำงานต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน-คอนโด ปี 2023

06/02/23   |   4.3k   |  

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ช่วงปีใหม่ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานปีที่แล้วมาทั้งปีคนทำงานหลายคนอาจอยากได้สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของขวัญให้กับตัวเอง ในขณะที่บางคนอาจมีสิ่งที่อยากได้ใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ หรือแม้กระทั่งบ้านหลังใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขกับครอบครัวอันเป็นที่รัก บ้านจึงเปรียบเสมือนที่พักกายและใจ ทำให้เราได้ผ่อนคลายและชาร์จพลังใหม่ ก่อนไปลุยงานในแต่ละวัน เมื่อเรื่องบ้านสำคัญขนาดนี้ การตัดสินใจซื้อบ้านใหม่สักหลัง จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ    

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตั้งเป้าว่าอยากจะซื้อคอนโด หรือ บ้านในปี 2023 นี้ JobThai ได้รวบเคล็ดลับและเรื่องราวที่ควรรู้สำหรับคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองมาฝากกัน

 

ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าไลฟ์สไตล์ของเราเหมาะกับที่อยู่อาศัยแบบไหน

ไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการใช้ชีวิตนั้นเป็นปัจจัยอันดับแรกที่เราควรนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยแบบถาวร เพราะถ้าไม่นับเวลาที่เราอยู่ที่ทำงานและระหว่างการเดินทางไปทำงานแล้ว บ้านนั้นคือสถานที่สำคัญที่เราใช้เวลามากที่สุดในแต่ละวัน อย่างไรก็ตามแต่ละคนก็มีเป้าหมายในการหาอยู่อาศัยใหม่ที่ต่างกัน บางคนบ้านเก่าอาจจะทรุดโทรม หรือเล็กเกินไป อยากขยับขยายให้ใหญ่ขึ้น บางคนอาจอยากแยกครอบครัว อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักทีหลังจากทำงานเก็บเงินมานาน หรือบางคนได้งานที่มั่นคงลง อยากหลักปักฐานและต้องการซื้อบ้านที่ใกล้ที่ทำงาน

  

นอกจากนี้ยังมีเรื่องรูปแบบของการอยู่อาศัยที่ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการบ้านเดี่ยวหลังใหญ่เพราะมีครอบครัวขนาดใหญ่มีผู้อยู่อาศัยทั้งพ่อแม่หรือลูกน้อยที่ต้องดูแล ในขณะที่บางคนที่เป็นคู่รักอาจต้องการแค่บ้านทาวน์โฮมอยู่กันเพียงสองคน หรือคนที่เพิ่งจบใหม่และเริ่มต้นชีวิตการทำงานไม่นานก็อาจจะอยากได้แค่คอนโดติดรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางไปทำงานได้อย่างสะดวก ไม่ต้องมาปวดหัวกับปัญหารถติด และเอาเวลาที่เหลือในแต่ละวันไปพัฒนาตัวเอง หรือผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าในแต่ละวัน ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าของไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อการเลือกรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันออกไป

 

ดูตำแหน่งงานน่าสนใจตามเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ทั้งหมดได้ ที่นี่

 

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังโควิด-19  ไม่ว่าจะเป็นการที่คนทำงานมองว่าเรื่องของความยืดหยุ่น ทั้งเรื่องของเวลาและสถานที่ทำงานเป็นสวัสดิการที่สำคัญ รวมถึงหลายบริษัทก็ปรับให้นโยบายการทำงาน Work from Home หรือ Hybrid Working ที่ผสมผสานระหว่างการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศและการทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงการทำงานนอกสถานที่ คนทำงานที่อยากมีบ้านจึงควรนำปัจจัยนี้มาพิจารณาเช่นกัน เพราะรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปย่อมต้องส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย เช่น ถ้าบริษัทของเรามีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน ให้อิสระในการเลือกเวลาเข้างาน และเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ได้อย่างอิสระ เราอาจจะไม่ต้องกังวลมากนักเรื่องความใกล้-ไกลของบ้านและที่ทำงาน ในทางกลับกันถ้าบริษัทของเรายังคงต้องการให้พนักเข้าทุกคนเข้าออฟฟิศเวลาเดียวกัน การเลือกบ้านที่มีทำเลเดินทางได้สะดวกหรืออยู่ใกล้ที่ทำงานก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า

 

ที่อยู่อาศัยแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่บ้านที่มีบริเวณกว้าง ๆ แต่การจะจับจองโครงการใหม่ก็ต้องไปหาทำเลชานเมือง หรือการอยู่คอนโดที่เดินทางสะดวกสบายในเมือง แต่อาจจะมีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบ้านเดี่ยว ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกแบบไหน ยิ่งยุคนี้ทางเลือกในการอยู่อาศัยก็มีให้เราเลือกได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น คนที่อยากเลี้ยงน้องหมา น้องแมว ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านหลังใหญ่เสมอไป เพราะปัจจุบันคอนโดหลายโครงการก็มีการเปิดเฟสพิเศษที่ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ เรียกว่าเอาใจลูกค้าที่รักสัตว์สุด ๆ เมื่อเรารู้จักไลฟ์สไตล์ของเราเป็นอย่างดี รู้ว่าจะต้องมองหาโครงการบ้านหรือคอนโดที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเราได้ที่ไหนบ้าง และใช้เวลาศึกษาโครงการเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง การตัดสินใจเพื่อให้ได้บ้านที่เหมาะกับเราที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องยาก

 

การเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการ

ต่อไปก็ถึงเวลาที่เราจะเลือกทำเลโครงการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม แน่นอนว่าทำเลที่ชอบของแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน บางคนมองว่าทำเลที่ดีควรต้องตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนที่เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก ใกล้สถานที่สำคัญ อย่างห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงเรียน หรือ อยู่ติดทางด่วน ในขณะที่บางคนอาจต้องการโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นส่วนตัวสูง คนไม่พลุกพล่าน เพื่อความสงบในการพักผ่อนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้คนทำงานหลาย ๆ คนก็น่าจะอยากได้ที่ทำงานที่สะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านที่อยู่ใจกลางเมือง หรือ คอนโดที่ติดรถไฟฟ้า 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาของที่อยู่อาศัยแพงขึ้นหรือถูกลงก็ขึ้นอยู่กับทำเลของโครงการด้วยเช่นกัน เพราะบ้านในเขตเมืองจะมีราคาสูงกว่าบริเวณชานเมือง หรือคอนโดโครงการที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน โดยเฉพาะบางโครงการที่เดินเพียงไม่กี่ก้าวก็ถึงรถไฟฟ้า ย่อมแพงกว่าโครงการที่อยู่ในซอยลึกและเดินทางลำบากกว่า ทำให้โครงการที่อยู่ในที่พื้นที่ชุมชนและเดินทางง่ายก็จะมีที่ดินแพงขึ้นตามไปด้วย ทำเลของโครงการที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องที่เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เราอาจจะต้องตัดสินใจว่ายอมจ่ายราคาแพงขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในเมือง หรือเราจะยอมต้องเดินทางระยะไกลขึ้น ใช้เวลาเดินทางมากขึ้น แต่ได้บ้านที่ราคาถูกกว่า

 

วางแผนการเงินและเตรียมตัวยื่นเรื่องกู้เงินเพื่อการซื้อบ้าน  

เมื่อเราตัดสินใจได้คร่าว ๆ แล้วว่าอยากได้โครงการที่อยู่อาศัยประมาณไหน สิ่งที่เราต้องทำคือกลับมาดูงบประมาณของเรา โดยประเมินตัวเองในหลาย ๆ ด้าน เช่น เงินเก็บที่เรามี ราคาของบ้านที่เราอยากได้ ภาระหนี้สินเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ หรือพูดง่าย ๆ ก็ คือ เรามีความสามารถในการผ่อนค่าบ้านได้เดือนละเท่าไรที่ไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในแต่ละเดือน ยังไม่นับค่าดำเนินการและธรรมเนียมต่าง ๆ ตลอดการซื้อบ้านหลังใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ค่าจอง ค่าทำสัญญา และเงินดาวน์ รวมถึงค่าต่อเติมและตกแต่งที่มีโอกาสบานปลายได้ง่าย ๆ หากไม่วางแผนการเงินให้ดีตั้งแต่ต้น

 

อายุเท่านี้ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงเรียกว่า "พอ" 

 

  • ประเมินพฤติกรรมการเงินของตัวเองให้ดีก่อนคิดจะกู้เงิน
    ถ้าเราไม่ได้มีเงินพอที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสด เราก็ต้องเตรียมตัวขอสินเชื่อเพื่อกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งปกตินอกจากข้อมูลเรื่องวงเงินกู้และโครงการที่อยู่อาศัยที่เราอยากได้แล้ว ธนาคารก็จะขอข้อมูลส่วนตัวของเราอย่างอาชีพ รายได้ และประวัติทางการเงินเพื่อจะประเมินว่าเรามีความน่าเชื่อถือขนาดไหน และเรามีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารยังอาจจะมีเกณฑ์ในการอนุมัติเงินกู้ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกที่ก็จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์พฤติกรรมทางการเงินในอดีตของเรา เช่น ประวัติการชำระหนี้ ภาระหนี้สินที่มีอยู่ โดยจะพิจารณาประกอบกับอีกหลายปัจจัยอย่างรายได้ปัจจุบัน อายุการทำงาน รวมถึงมูลค่าของหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม ไม่หมายความว่าถ้าเรามีรายได้สูงแล้วจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายเสมอไป แม้เราจะมีเงินเดือนเยอะ แต่ก็มีหนี้เยอะ หรือ เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจจะถูกประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ และอาจจะกู้ไม่ผ่านได้ หากคำนวณคร่าว ๆ แล้วว่าผ่อนคนเดียวไม่น่าไหว อาจจะต้องพิจารณาการกู้ร่วม กับ คู่สมรส พ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 

    อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้นั่นก็คือการไม่มีหนี้เลยไม่ได้แปลว่าเราจะได้รับการอนุมัติเงินกู้ง่ายกว่าคนที่มีหนี้ เพราะคนที่ไม่มีหนี้ ไม่เคยสมัครบัตรเครดิตใด ๆ ธนาคารเองก็จะมองไม่เห็นว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะไม่เคยมีประวัติในการชำระหนี้ให้เห็น ในทางตรงกันข้ามการมีหนี้ที่สามารถจัดการได้จะช่วยสร้างเครดิตการเงินให้เรา นั่นก็เพราะว่า ธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ จะสามารถตรวจสอบประวัติของเรา และวิเคราะห์การชำระหนี้ของเรา ถ้าเรามีประวัติที่ดี จ่ายหนี้ตรงเวลาทุกครั้ง ไม่เคยมีการผิดชำระหนี้ สิ่งนี้จะถูกบันทึกในฐานข้อมูลในบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรนั่นเอง หากใครอยากได้ความน่าเชื่อถือทางการเงินมากขึ้น ลองพิจารณาสมัครบัตรเครดิตและซื้อสินค้าแบบผ่อนเป็นงวด ๆ ดูบ้าง เพื่อเป็นการปูทางให้ธนาคารและสถาบันการเงินเห็นว่าเรามีวินัยทางการเงิน มีความสามารถในการชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี และมีแนวโน้มที่จะเป็นลูกหนี้ที่ดีหากได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามวงเงินที่ขอมา       

 

พฤติกรรมทางการเงินที่คนเพิ่งเริ่มทำงานควรรีบแก้ไข

 

  • เตรียมเอกสารสำคัญประกอบการกู้เงิน  
    สำหรับการเตรียมข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ นอกจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่อยู่อาศัยที่เราจะซื้อแล้ว เอกสารที่เราจะต้องเตรียมให้ครบก่อนการขอยื่นกู้กับธนาคารนั้น ส่วนมากจะประกอบด้วยเอกสาร 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก คือ เอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ประเภทที่สอง เอกสารการเงิน เช่น หนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน สมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน บัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน และประเภทที่สาม เอกสารสินทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน หรือหลักฐานแสดงการถือครองสินทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งหากเตรียมเอกสารได้ครบถ้วนตั้งแต่ครั้งแรก ก็จะได้รับผลอนุมัติสินเชื่อที่เร็วรวดขึ้น

 

เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคาร

แน่นอนว่าในแต่ละธนาคารนั้นให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน เราจึงควรศึกษาทางเลือกของแต่ละธนาคารในมิติต่าง ๆ  อย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เราต้องชำระ ระยะเวลาในการกู้ ค่างวดผ่อนชำระ เพราะบางธนาคารอาจะมีดอกเบี้ยถูกกว่า แต่เปิดโอกาสให้เราผ่อนได้นานกว่า เมื่อคิดรวม ๆ แล้ว ในท้ายที่สุดเราอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมแพงกว่าเดิมเพราะระยะเวลาการผ่อนที่ยาวนานกว่า ทั้งนีี้ธนาคารส่วนใหญ่มักเรียกเก็บ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ หรือที่เรียกว่า MRR (Minimum Retail Rate) จากลูกค้ารายย่อยที่ต้องการขอสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันได้ เช่น มีการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) ในระยะเวลาสั้นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ 1-3 ปี หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) ซึ่งสามารถขึ้น-ลง ได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และต้นทุนทางการเงินของธนาคารนั้น ๆ  

 

เราจึงควรเปรียบเทียบดูว่าข้อเสนอลักษณะไหนที่เหมาะสมกับความต้องการของเราบ้าง แล้วลองยื่นขอกู้อย่างน้อย 3 ธนาคาร เพื่อให้เรามีตัวเลือกที่หลากหลาย หลังจากที่ธนาคารทำการพิจารณาดอกเบี้ยและวงเงินตามความเสี่ยงและภาระของเราแล้ว หากเราเป็นลูกค้าชั้นดี มีภาระหนี้สินน้อย มีรายได้ที่มั่นคงและมีที่มาของรายได้ที่ชัดเจน ธนาคารก็อาจพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ได้มาก รวมถึงเสนอตัวเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงเพื่อจูงใจเราได้ แต่หากธนาคารประเมินแล้วว่าเรา ยังไม่พร้อมที่จะเป็นหนี้ หรือมีความเสี่ยงสูงที่เราจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติวงเงินและดอกเบี้ยตามที่เราต้องการ หรือโชคร้าย ธนาคารอาจปฏิเสธการให้กู้สินเชื่อบ้านของเราก็เป็นได้

 

ตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน-คอนโด ปี 2566 (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566):

ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย

*อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เป็นไปตามเงื่อนไขที่แต่ละธนาคารกำหนด และเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์เท่านั้น

 

อย่าลืมติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และมาตรการจากภาครัฐเกี่ยวกับการซื้อบ้าน

นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับธนาคารและการกู้เงินแล้ว ลองตรวจเช็กดูว่าทางภาครัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือออกมาตรการใหม่เกี่ยวกับกับซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง เพราะอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หรือ ลดลงได้ เช่น ล่าสุด ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับเกณฑ์ของมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกกันว่า Loan-to-Value: LTV  โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

 

ราคาบ้านที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

-สัญญาที่ 1 ไม่ต้องวางเงินดาวน์ กู้ได้เต็ม 100% และยังกู้สินเชื่อTop-Up เพื่อตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ได้เพิ่มอีก 10% ของมูลค่าบ้าน 

-สัญญาที่ 2 ต้องมีเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% กู้ได้ไม่เกิน 90% หากผ่อนสัญญาที่ 1 ไปแล้วมากกว่า 2 ปี หรือต้องมีเงินดาวน์ 20% กู้ได้ 80% หากผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่า 2 ปี 

-สัญญาที่ 3 ขึ้นไป ต้องมีเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30% และกู้ได้ไม่เกิน 70% ของมูลค่าบ้าน

 

ราคาบ้านมากกว่า 10 ล้านบาท

-สัญญาที่ 1 วางดาวน์ขั้นต่ำ 10% กู้ได้ไม่เกิน 90% 

-สัญญาที่ 2 วางดาวน์ขั้นต่ำ 20% กู้ได้ไม่เกิน 80% 

-สัญญาที่ 3 ขึ้นไป วางดาวน์ขั้นต่ำ 30% กู้ได้ไม่เกิน 70%

 

ความจริงแล้วมาตรการ LTV ถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ได้รับการผ่อนปรนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีเพดานการกู้ได้เต็ม 100% ไม่ว่าจะเป็นการทำสัญญาหลังแรก หลังที่สอง หรือ หลังที่สามขึ้นไป โดยมีผลตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 จนในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินใจไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว ด้วยเหตุผล 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ประการที่สอง การสิ้นสุดการผ่อนคลายมาตรการ LTV ไม่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากเกือบทั้งหมดกู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งมาตรการ LTV ปัจจุบันสำหรับซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทนั้นผ่อนคลายมากอยู่แล้ว และ ประการที่สาม การขยายเวลาผ่อนคลายมาตรการอาจเอื้อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินในระยะต่อไปได้ เช่น การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์โดยผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง และอาจส่งผลต่อระดับหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

 

พูดง่าย ๆ มาตรการนี้จึงเป็นการควบคุมการทำสัญญากู้ซื้อบ้านหรือคอนโดพร้อมกันหลาย ๆ หลังมากกว่า ไม่ได้ส่งผลต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรก คนทำงานที่อยากมีบ้านหลังแรกที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทจึงมั่นใจได้ว่าสามารถกู้ได้เต็ม 100% แน่นอน

 

สุดท้ายแล้ว การขออนุมัติสินเชื่อให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่การเตรียมเอกสารก่อนกู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมาเรามีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีมากแค่ไหน  คนทำงานที่ฝันอยากจะได้บ้านและไม่อยากพบกับความผิดหวังในการขอกู้ซื้อบ้านจึงต้องรักษาประวัติและสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีไว้แต่เนิ่น ๆ เมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นกู้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการอนุมัติตามวงเงินที่เราต้องการ และเมื่อได้ผลอนุมัติการกู้เงินจากธนาคารต่างๆแล้ว ลองเปรียบเทียบกันดูอีกครั้งว่าข้อเสนอของแต่ละแห่งนั้นมีรายละเอียดแตกต่างอย่างไรบ้าง แผนไหนเหมาะสมกับเราและไม่เป็นภาระต่อการใช้ชีวิตตลอดระยะเวลาการผ่อนบ้านที่กินเวลาหลายสิบปี แล้วค่อยเลือกใช้บริการธนาคารที่เราเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

หวังว่าข้อมูลที่ JobThai รวบรวมมาให้จะเป็นประโยชน์กับคนทำงานที่กำลังวางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดในปี 2023 นี้ หรือ ใครที่กำลังลังเลหรือยังไม่กล้าตัดสินใจในปีนี้ ก็ลองเอาประเด็นที่เราได้นำเสนอไปประเมินความพร้อมดูก่อนก็ได้ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะพร้อมมีบ้านแล้วก็เป็นได้! 

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

bot.or.th, businesstoday.co, ddproperty.com, krungsri.com, moneybuffalo.in.th, pruksa.com, thinkofliving.com, ttbbank.com, sansiri.com

tags : jobthai, lifestyle, ไลฟ์สไตล์, ไลฟ์สไตล์คนทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, การเงิน, hybrid working, work from home, remote working, วางแผนซื้อบ้าน, กู้ซื้อบ้าน, บ้าน, คอนโด



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม