First Jobber ยื่นภาษีอย่างไรให้ถูกต้องตามเกณฑ์สรรพากร มีคำตอบ!

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

First Jobber ยื่นภาษีประเภทไหน? เป็นคำถามยอดฮิตของเด็กจบใหม่ ที่เพิ่งมีรายได้ประจำเป็นครั้งแรก และยังไม่รู้ขั้นตอนการยื่นภาษีประจำปี ความกังวลเหล่านี้จะหมดไป เพราะ JobThai สรุปคำตอบมาให้แล้ว

 

Resume กับ CV ต่างกันยังไง? ใช้อะไรในการสมัครงาน?

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร ใครบ้างที่ต้องเสีย

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ จำนวนเงินที่เรียกเก็บจากผู้มีรายได้ทุกคนตามกฎหมายภาษีเงินได้ พ.ศ. 2469 โดยรัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ทุกประเภท

 

ประเภทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้ 

  • เงินได้ประเภท 40(1) เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินค่าจ้าง เงินเดือน เงินโบนัส

  • เงินได้ประเภท 40(2) เงินได้จากการทำงานไม่ประจำ ไม่ได้เป็นลูกจ้าง เช่น ค่าคอมมิชชัน ค่าจ้างงานฟรีแลนซ์

  • เงินได้ประเภท 40(3) เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิ์ รวมทั้งเงินจากพินัยกรรม นิติกรรมอื่น ๆ

  • เงินได้ประเภท 40(4) เงินได้จากการลงทุน

  • เงินได้ประเภท 40(5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน

  • เงินได้ประเภท 40(6) เงินได้จากค่าวิชาชีพอิสระ ได้แก่ แพทย์และพยาบาล, ประกอบโรคศิลปะ, ประณีตศิลป์, สถาปนิก, ทนายความและวิศวกร

  • เงินได้ประเภท 40(7) เงินได้จากการรับเหมา

  • เงินได้ประเภท 40(8) เงินได้นอกเหนือจาก 40(1) - 40(7)

 

มีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษี

ผู้มีรายได้ทุกคนต้องยื่นภาษี แต่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณรายได้สุทธิ หากรายได้สุทธิอยู่ที่ 0 - 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

 

ทำความเข้าใจแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91

แบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91 จะรวมเงินได้สองประเภทเข้าด้วยกัน ได้แก่

  • ภ.ง.ด. 90 หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1)-40(8) แห่งประมวลรัษฎากรหลายประเภทหรือประเภทเดียว แต่มิใช่เงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียว โดยมีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป

  • ภ.ง.ด. 91 หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรประเภทเดียว โดยมีกำหนดยื่นแบบภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีภาษีถัดไป

ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์ มักยื่นภาษีในรูปแบบนี้

 

First Jobber ยื่นภาษีต้องรู้อะไรบ้าง

 

8 ขั้นตอนยื่นภาษีครั้งแรกสำหรับ First Jobber

หลังจากทำความรู้จักประเภทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเข้าใจแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91 กันไปแล้ว หัวข้อนี้ JobThai จะมาสรุปขั้นตอนการยื่นภาษีฉบับเข้าใจง่าย 

 

1. เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

เริ่มต้นจากเข้าสู่เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/landing.html

 

2. สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานระบบ

สำหรับ First Jobber ยื่นภาษีครั้งแรกต้องสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสู่ระบบ โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก จากนั้นกดช่อง “ฉันไม่ใช่โปรแกรมอัตโนมัติ” 

 

3. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วน

กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ถูกต้องและสร้างรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบ e-Filing 

 

4. เข้าระบบ e-Filing เพื่อยื่นภาษี

หลังจากลงทะเบียนเสร็จแล้ว สามารถเข้าสู่ระบบ e-Filing เพื่อยื่นภาษีออนไลน์ได้ทันที โดยกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักพร้อมรหัสผ่าน จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP 6 หลักไปยังเบอร์มือถือที่ลงทะเบียน เป็นการยืนยันตัวตน 

 

5. เลือกแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91

อ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน กดยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข จากนั้นเข้าสู่ระบบและเลือกแบบยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ได้เลย 

 

6. ระบุแหล่งที่มาของรายได้

ระบุแหล่งที่มาของรายได้ตามประเภทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 40(1) - 40(8) ให้ถูกต้อง 

 

7. กรอกข้อมูลการลดหย่อนภาษี

First Jobber ยื่นภาษีครั้งแรก อย่าลืมกรอกข้อมูลลดหย่อนภาษี โดยส่วนใหญ่จะเป็นค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ครอบครัว และประกันสังคม ส่วนผู้ประกอบอาชีพรายได้สูง เราแนะนำให้วางแผนลดหย่อนภาษีไว้ล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุน กลุ่มการบริจาค กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ 

 

8. ตรวจสอบและยืนยันการยื่นภาษี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและกดยืนยันการยื่นภาษีออนไลน์ได้เลย

 

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นภาษี

เอกสารประกอบการยื่นภาษี มีดังนี้

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เราเรียกกันว่าใบ 50 ทวิ เป็นเอกสารแสดงรายได้ทั้งปีที่ได้เราได้รับ โดยเป็นรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เรารับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า หรือค่าบำเหน็จจากบริษัท เราจะได้รับใบ 50 ทวิภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถ้าเราลาออกระหว่างปีทำงาน บริษัทจะออกใบ 50 ทวิให้ภายระยะเวลาใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออก แต่ในกรณีที่เรารับเงินในฐานะฟรีแลนซ์ นายจ้างจะออกใบ 50 ทวิให้หลังจบงานโดยมีอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย 0-3% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจ้างงาน 

  • เอกสารแสดงการลดหย่อนภาษี

 

วิธียื่นภาษีสำหรับ First Jobber

 

การยื่นภาษีอาจไม่ได้มีสอนในตำราเรียน ทำให้คราวที่ First Jobber ยื่นภาษีครั้งแรกอาจรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าต้องยื่นอย่างไรจึงจะถูกต้องตามเกณฑ์สรรพากร แต่จริง ๆ แล้วการยื่นภาษีไม่ได้ยากและน่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแค่ทำตามขั้นตอนที่ JobThai อธิบายไปด้านบนให้ครบถ้วนก็ยื่นภาษีอย่างถูกต้องได้แล้ว หลังจากทำความเข้าใจการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องด้วยการยื่นภาษีเงินได้ในทุก ๆ ปีกันด้วยนะ!

 

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, career and tips, งาน, ทำงาน, คนทำงาน, ยื่นภาษี, เด็กจบใหม่, first jobber, ฟรีแลนซ์, พนักงานออฟฟิศ, ยื่นภาษีครั้งแรก, สอนยื่นภาษี, วิธียื่นภาษี, เอกสารยื่นภาษี



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม