สำหรับคนยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม First Jobber การลงทุนนับว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนกันมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะยิ่งเริ่มต้นลงทุนไว ก็ยิ่งช่วยให้เรามีความมั่นคงและเป็นอิสระทางการเงินได้เร็วขึ้น แต่อย่างที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นก่อนจะเริ่มลงทุนอะไรก็ควรศึกษาให้ดีก่อน แล้วหัวใจสำคัญก่อนเริ่มต้นลงทุนคืออะไร? First Jobber ต้องรู้อะไรบ้างก่อนลงสนาม? JobThai มีคำตอบให้!
หัวใจสำคัญที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นลงทุนมี 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ ระยะเวลา เงินต้น และผลตอบแทน หัวข้อนี้จะมาเจาะลึกความสำคัญของระยะเวลาว่า First Jobber ที่เริ่มต้นลงทุนเร็วได้เปรียบอย่างไร?
สามารถรับความเสี่ยงขาดทุนจากการลงทุนได้มากกว่า
การเริ่มต้นลงทุนไวช่วยสร้างความได้เปรียบ เพราะ First Jobber ที่มีอายุน้อย ส่วนใหญ่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายไม่เยอะมาก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน ต่างจากผู้ใหญ่ที่มักมีภาระทางค่าใช้จ่ายสูงกว่า บางคนต้องเลี้ยงดูส่งเสียบุตรหลาน หรือบางคนก็มีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระทุกเดือน ทำให้อาจรับความเสี่ยงขาดทุนได้น้อยกว่าเนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินต่ำกว่า
ช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดี
หากเริ่มตั้งเป้าหมายที่จะลงทุน สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยคือวินัย เพราะการลงทุนที่ดีต้องมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนด้วยวิธี DCA หรือการทยอยลงทุนด้วยเงินในจำนวนเท่า ๆ กัน สะสมไปเรื่อย ๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างวินัยที่ดีในการใช้เงิน ทำให้เรารู้จักแบ่งเงินมาลงทุนก่อนนำไปใช้จ่ายนั่นเอง
ผลตอบแทนดีกว่าในระยะยาว
ข้อได้เปรียบของ First Jobber ที่เริ่มต้นลงทุนเร็ว จะได้รับผลตอบแทนแบบทบต้น กล่าวคือ ลงทุนเงินต้นน้อยกว่าแต่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า โดยตัวแปรสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาในการลงทุน ยิ่งเริ่มต้นลงทุนเร็ว ยิ่งได้รับผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นจากการนำกำไรที่ได้มากลับเข้าไปลงทุนต่อโดยไม่ถอนออกมาใช้จ่ายส่วนตัว
ตัวอย่าง
เริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 20,000 บาท โดยมีกำไรเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี โดยมีการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปทุกปีที่ 20,000 บาท และลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยไม่ถอนเงินออกมาใช้จ่ายเลยในส่วนนี้
-
ปีที่ 1: 20,000 x 1.04 = 20,800 บาท
-
ปีที่ 2: (20,800 + 20,000) x 1.04 = 42,432 บาท
-
ปีที่ 3: (42,432 + 20,000) x 1.04 = 64,929.28 บาท
-
ปีที่ 4: (64,929.28 + 20,000) x 1.04 = 88,326.45 บาท
-
ปีที่ 5: (88,326.45 + 20,000) x 1.04 = 112,659.51 บาท
-
ปีที่ 6: (112,659.51 + 20,000) x 1.04 = 137,965.89 บาท
-
ปีที่ 7: (137,965.89 + 20,000) x 1.04 = 164,284.52 บาท
-
ปีที่ 8: (164,284.52 + 20,000) x 1.04 = 191,655.91 บาท
-
ปีที่ 9: (191,655.91 + 20,000) x 1.04 = 220,122.14 บาท
-
ปีที่ 10: (220,122.14 + 20,000) x 1.04 = 249,727.03 บาท
จะเห็นได้ว่าจากเงินลงทุนทั้งหมด 200,000 บาทตลอดระยะเวลา 10 ปี จะได้ผลตอบแทนกลับมาที่ 249,727.03 บาท หากไม่นำเงินออกมาใช้จ่ายเลย ซึ่งตัวเลขอาจสูงกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนส่วนบุคคล
การวางแผนลงทุนเร็วเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต แต่ก่อนเริ่มต้นลงทุน เหล่า First Jobber ทั้งหลายมี 6 สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรู้ดังต่อไปนี้
นักลงทุนมือใหม่ต้องแยกให้เป็นระหว่างเงินออมเพื่อการลงทุนกับเงินสำรองฉุกเฉิน หากไม่แยกเงินสองก้อนนี้ให้ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันอาจทำให้กระบวนการในการลงทุนต้องหยุดชะงัก แนะนำให้มีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือน 12,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 36,000-72,000 บาท หลายคนอาจจะมองว่าเป็นจำนวนที่เยอะ แต่ค่อย ๆ เก็บออมโดยหักจากเงินเดือนประมาณ 20% จะทำให้การออมเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
First Jobber อาจมองว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าเรารู้จักวางแผนเร็ว เราก็จะรู้เป้าหมายในการเก็บเงินและสามารถบริหารจัดการเงินเพื่อลงทุนให้ได้ตามเป้าได้ดียิ่งขึ้น สำหรับการวางแผนนั้น เราต้องตั้งเป้าหมายโดยกำหนดอายุที่เราจะเกษียณ และคำนวณจำนวนเงินเก็บที่ต้องมี เพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณ
แนะนำสูตรคำนวณเงินสำหรับเกษียณดังนี้
ยกตัวอย่างเช่น 20,000 บาทคือค่าใช้จ่ายต่อเดือนในปัจจุบัน นำมาคำนวณตามสูตรดังนี้ (20,000 x 70%) x 12 = 168,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี จากนั้นวางแผนต่อว่าหลังเกษียณจะใช้ชีวิตถึงอายุเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น เกษียณตอนอายุ 60 คาดว่าจะใช้ชีวิตไปอีก 20 ปี เราก็จะต้องเอา 168,000 x 20 = 3,360,000 บาท เป็นจำนวนเงินเก็บที่ต้องจัดเตรียมเพื่อแผนเกษียณในอนาคต
จำนวนเงินทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นที่ควรมีสำรองเมื่อเกษียณ ยังไม่คำนวณรวมอัตราเงินเฟ้อจากเศรษฐกิจที่ทำให้จำนวนเงินที่เราต้องเก็บเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีเรื่องของฐานเงินเดือนที่อาจปรับขึ้นตามอายุงาน และการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนช่องทางอื่น ซึ่งอาจช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้นกว่าที่คาดคิดได้
การเปิดบัญชีแยกเพื่อการเกษียณเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำงานเป็นพนักงานเงินเดือน หรือทำอาชีพอิสระอย่างฟรีแลนซ์ อย่าทำงานจนหลงลืมวางแผนในวัยเกษียณ สามารถเริ่มต้นลงทุนทีละน้อยและรอรับผลตอบแทนระยะยาว
เราจะสามารถหาเงินได้อย่างยั่งยืนจากสิ่งที่รู้หรือมีความเชี่ยวชาญ การเริ่มต้นลงทุนก็เช่นกัน แนะนำให้ศึกษาข้อมูลแนวทางการลงทุนที่สนใจ หรือเลือกขอคำแนะนำจากที่ปรึกษามืออาชีพ จะช่วยร่นระยะเวลาให้สามารถเริ่มลงทุนได้เร็วขึ้น
First Jobber ส่วนใหญ่ไม่มีหนี้สินและเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์เริ่มต้น ควรเริ่มลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างเช่น เงินฝากปลอดภาษี พันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมตราสารหนี้
การลงทุนเป็นทักษะที่ต้องหมั่นฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อค้นหาแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ทริกง่าย ๆ สำหรับมือใหม่ แนะนำให้เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อย จากนั้นไต่ระดับขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ กองทุนรวมหุ้น ทองคำ โดยเลือกตามระดับความเสี่ยงที่สามารถจัดการได้
เป็นอย่างไรกันบ้าง พอเห็นภาพสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นลงทุนเพื่อความมั่นคงกันหรือยัง สำหรับ First Jobber ที่มีข้อได้เปรียบเรื่องอายุ แนะนำให้ศึกษาข้อมูลการลงทุนและลงสนามจริง เพื่อพัฒนาทักษะและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำ 3 หัวใจสำคัญในการลงทุนไปปรับใช้ ได้แก่ ระยะเวลา เงินต้น และผลตอบแทน แต่การจะเก็บเงินมาลงทุนได้ก็ต้องมีงานที่มั่นคง สำหรับใครที่กำลังมองหางานที่มั่นคง และมีสวัสดิการที่ตอบโจทย์ สามารถเข้ามาหางานที่ JobThai ได้เลย!
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน