Employee Listening กรุณาฟังเสียงจากพนักงานของคุณหน่อย

23/11/23   |   9.2k   |  

 

หากเปรียบเทียบว่าองค์กรธุรกิจเป็นเหมือนครอบครัวหนึ่งที่ผู้บริหารหรือผู้นำขององค์กรเป็นเหมือนพ่อแม่คอยดูแลลูก ๆ พนักงานในองค์กรเป็นเหมือนพี่คนโตที่ต้องคอยดูแลน้อง และลูกค้าก็เปรียบเสมือนลูกคนเล็ก ในโลกธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดและลูกค้าก็เป็นเป้าหมายหลักที่ทุกคนต้องดูแลเป็นพิเศษ บางครั้งองค์กรอาจจะเอาใจลูกค้าจนหลงลืมการใส่ใจพนักงานของตัวเองไป แม้คุณจะคิดว่าได้ให้ค่าตอบแทน สวัสดิการและทุ่มเททรัพยากรให้พนักงานของคุณอย่างสมน้ำสมเนื้อแล้ว แต่สำหรับพนักงานตัวเล็ก ๆ พวกเขาอาจมีเรื่องบางอย่างที่อยากจะคุยกับองค์กรมากกว่าเรื่องงานและเรื่องเงินก็เป็นได้

วันนี้ JobThai เลยอยากชวนให้องค์กรคิดถึงความสำคัญของการรับฟังความต้องการของพนักงานผ่านการทำEmployee Listening และแนะนำวิธีการที่จะทำให้ “พี่คนโต” อย่างพนักงานของคุณทำงานอย่างมีความสุขและเติบโตไปพร้อมกันกับองค์กร

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

Employee Listening คืออะไร

Employee Listening คือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงหรือพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น การรับฟังความต้องการของพนักงานจะทำให้องค์กรรู้จักพนักงานของตัวเองได้ดีขึ้น เข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคล ทัศนคติ อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อการทำงานและองค์กร ตลอดจนพัฒนาการของบุคลากร เรียกได้ว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้นใหม่ก็แก้ปัญหาได้ทันที แถมยังเป็นการป้องกันปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นปัญหาสะสมและเกิดผลกระทบร้ายแรงในอนาคตได้ เพราะฉะนั้น Employee Listening จึงไม่ใช่แค่การรับฟังแบบขอไปที แต่เป็นสิ่งที่องค์กรควรทำอย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาหรือความต้องการใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตราบใดที่องค์กรต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง   

 

Recognition วัฒนธรรมที่สร้างพลังบวกในการทำงาน

 

ข้อดีของการทำ Employee Listening

การทำ Employee Listening เป็นเครื่องมือขององค์กรที่ใช้ได้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เป็นทั้งจุดเริ่มต้นของการตอบสนองและแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นแล้วให้กับพนักงาน การเก็บข้อมูลเพื่อปรับปรุงสวัสดิการและความเป็นอยู่ของพนักงานนอกเหนือจากเรื่องงาน และยังทำให้องค์กรเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายของโลกธุรกิจได้อีกด้วย มาดูกันว่าประโยชน์ของการรับฟังความต้องการขององค์กรมีอะไรบ้าง  

 

1. ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง

การประเมินผลการปฏิบัติงานทั่วไปอาจจะตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาองค์กรให้ขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายธุรกิจ แต่ Employee Listening เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้องค์กรรับรู้ความเป็นไปของพนักงานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น การเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้แสดงความต้องการทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวตามความสมัครใจ อาจทำให้องค์กรได้ข้อมูลเชิงลึกที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น พนักงานอาจอธิบายอย่างละเอียดว่าทำไมพวกเขาถึงมีหรือไม่มีความสุขกับการทำงานกับองค์กร เพื่อนร่วมงานแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง ปรับตัวได้ดีแค่ไหนกับหน้าที่ใหม่ที่ได้รับมอบหมาย หรือในช่วงนี้พวกเขาอาจจะมีความจำเป็นบางอย่าง หรือกำลังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ 

 

จากผลการศึกษาของ Ancor ในประเด็นด้านสวัสดิการที่พนักงานต้องการ ซึ่งสำรวจคนวัยทำงานกว่า 5,000 คน อายุระหว่าง 20-60 ปี ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 3,837 คนอยากให้บริษัทสนับสนุนความช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือจากสวัสดิการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น การมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดหาเงินทุนสำหรับการกู้บ้าน การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ คำปรึกษาทางการเงิน การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต การทำงานในรูปแบบ hybrid หรือการทำงานทางไกล การสนับสนุนทางด้านกฎหมาย และการดูแลบุตรระหว่างชั่วโมงการทำงาน การสำรวจนี้ยังพบว่าบริษัทมักจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการประเภทประกันสุขภาพ วันหยุดพิเศษ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากเป็นอันดับต้น ๆ ในขณะเดียวกันมีคนจำนวน 3,490 คนที่มองหาสวัสดิการในรูปแบบความช่วยเหลือทางการเงินในยามฉุกเฉิน การรับฟังพนักงานในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการจึงทำให้องค์กรรู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อพัฒนาการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพวกได้

 

Employee Listening นอกจากจะทำให้องค์กรสามารถจัดลำดับความสำคัญของการทำงานใหม่ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือเป้าหมายให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจและสภาพความเป็นจริงของการทำงานตามที่ได้รู้มาจากพนักงานแล้ว ยังช่วยทำให้พนักงานได้รับประสบการณ์การทำงานโดยรวมที่ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกันด้วย ไม่ต้องกังวลไปว่าพนักงานอาจจะยังไม่กล้าพูดอย่างเต็มที่ในช่วงที่เพิ่งเริ่มทำ Employee Listening ใหม่ ๆ หากมีตัวอย่างให้เห็นว่าองค์กรนำ Feedback ของพวกเขาไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้จริง พนักงานก็จะเปิดใจแล้วยินดีที่จะแชร์ประสบการณ์กันมากขึ้น

 

รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ด้วย 6 วิธีง่าย ๆ

 

2. ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีพนักงานในองค์กรเป็นศูนย์กลาง

แน่นอนว่าองค์กรแต่ละที่มีโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งอาจจะมีทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรจากผู้ก่อตั้งบริษัทหรือคณะผู้บริหารที่เน้นการสั่งการจากบนลงล่าง (Top-Down Management) ถ่ายทอดจากนโยบายของผู้บริหารไปสู่การปฏิบัติงานจริงของพนักงาน ในขณะที่บางองค์กรอาจมีโครงสร้างแบบ Flat Organization ที่แทบทุกตำแหน่งในองค์กรมีอำนาจในการตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็นที่เสมอภาคกันและมีความยืดหยุ่นในการบริหารงาน แต่จะเป็นองค์กรแบบไหน หากต้องการพัฒนาให้องค์กรทำงานได้อย่างราบรื่นก็คงหนีไม่พ้นการให้ความสำคัญกับพนักทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหน้างานคอยดูแลลูกค้า หรือบางคนอาจทำงานสนับสนุนองค์กรอยู่เบื้องหลัง

 

แนวคิดนี้เรียกว่า Employee-Centric Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์กรนั่นเอง  องค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานจะมีการสื่อสารภายในองค์กรที่ชัดเจนและเปิดกว้าง เน้นการกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจขององค์กร โดยเฉพาะอย่างเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน เพราะ Feedback ของพนักงานในทุกตำแหน่งจะถูกสะท้อนออกมาจากการทำงานจริง และทำให้องค์กรรู้ว่าจะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์นี้ไปปรับปรุงกลยุทธ์หรือออกมาตรการอะไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพนักงาน ซึ่ง Employee Listening ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาไปเป็นองค์กรแบบนี้ได้

 

3. ช่วยรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร

การรับฟังพนักงานเมื่อพวกเขาต้องการไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน สวัสดิการหรือความจำเป็นส่วนตัวและทำตามคำขอของพนักงานอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในองค์กรเป็นการแสดงออกอย่างจริงใจว่าบริษัทห่วงใยพนักงานของตัวเองมากขนาดไหน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความผูกพันให้พนักงานกับองค์กร ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ ได้มีสิทธิ์มีเสียงและเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งเพราะสิ่งที่เขาแนะนำให้องค์กรได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาองค์กรที่พวกเขารัก ตรงกันข้ามหากองค์กรไม่ยอมฟังเสียงพนักงาน พวกเขาก็จะหมดกำลังใจ ไม่อยากคุยปัญหากับระดับหัวหน้าที่ดูแลอยู่ หรือ มองหาโอกาสใหม่ ๆ ในองค์กรที่ยอมฟังพวกเขาแทน เพราะฉะนั้นการทำ Employee Listening จึงเป็นมาตรการเชิงรุกที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่จะเกิดขึ้นนั้นบานปลายใหญ่โต กว่าจะรู้อีกทีพนักงานก็ยื่นใบลาออกไปเสียแล้ว

 

ทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์พนักงานลาออกตามกัน (Turnover Contagion)

 

4. ช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงาน

จากการฟังความต้องการและข้อเสนอแนะจากพนักงานจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพนักงานกับองค์กร แถมยังทำให้พนักงานมีความมั่นใจ และมีกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้ Productivity ในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะพนักงานรู้สึกว่าข้อเสนอแนะที่พวกเขาเสนอไปนั้นเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการทำงาน เมื่ออุปสรรคในการทำงานได้รับการแก้ไขโดยองค์กรแล้ว พวกเขาจะมั่นใจว่าทุกครั้งต่อไปเมื่อเจอเรื่องติดขัด องค์กรก็พร้อมที่จะรับฟังและสนับสนุนให้พวกเขาได้ทำงานอย่างราบรื่น เมื่อไม่มีเรื่องที่ต้องกังวลพนักงานที่เชื่อในกระบวนการ Employee Listening จะตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง และอยากแชร์ อยากเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่จะขับเคลื่อนองค์กรของตัวเองให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ 

 

4 ขั้นตอนการทำ Employee Listening เพื่อฟังพนักงานให้มากขึ้น

1. ประเมินเบื้องต้นว่าพนักงานในองค์กรของคุณเป็นยังไง อาจมีปัญหาหรือต้องการอะไร 

ต้องเข้าใจว่าพนักงานในองค์กรของเรานั้นมีภูมิหลังที่หลากหลาย รวมไปถึงอายุ ไลฟ์สไตล์ และความต้องการบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนทำงานวัยกลางคนที่มองเรื่องความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญอาจต้องการสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัวเพิ่มเติมจากเงินเดือนปกติ ในขณะที่คน Gen Z อาจต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและ Work-Life Balance ตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของแต่ละบริษัทที่ต้องประเมินและทำความรู้จักพนักงานของตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเรารู้จักพนักงานดีพอ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การทำงาน อุปนิสัยส่วนตัว หรือคุณสมบัติอื่น ๆ เราก็จะพอมีไอเดียตั้งต้นคร่าว ๆ ว่าคนในองค์กรอาจมีความคาดหวังต่อองค์กรอย่างไร เมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือขึ้นมาจริง ๆ  เราก็พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและหาวิธีตอบสนองพวกเขาได้ถูกจุด

 

ทำความเข้าใจ Gen Z อยากดึงดูดพนักงานวัยนี้ต้องทำยังไง?

 

2. ตัดสินใจเลือกรูปแบบและวิธีในการเก็บข้อมูลความต้องการ

วิธีการที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น แบบสำรวจ การพูดคุยแบบตัวต่อตัว แบบเป็นกลุ่ม หรือการเจาะลึกปัญหาแบบละเอียดอย่างการจัด Focus Group รวมไปถึงการเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ก็สามารถทำได้เช่นกัน ที่สำคัญควรออกแบบการเก็บข้อมูลและคำอธิบายให้ดี ไม่ให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ หรือเป็นการบังคับให้กรอกข้อมูล การเก็บข้อมูลด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรและพฤติกรรมของพนักงานของคุณจะทำให้พวกเขาเปิดใจในการให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมามากขึ้น เพราะพนักงานบางคนอาจถนัดหรืออยากแชร์เรื่องราวผ่านบางวิธีเท่านั้น เช่น บางคนเวลามีเรื่องอะไรที่ติดขัดก็อยากปรึกษาหัวหน้างานโดยตรง บางคนอาจจะชอบกรอกข้อมูลมากกว่าการพูดให้คนฟัง หรือถ้าองค์กรรู้อยู่แล้วว่ามีประเด็นไหนที่ต้องจับตามองหรืออยากระดมความคิดของพนักงานในเรื่องนั้น ๆ ก็อาจมีการ Brainstorm กันเพื่อหาไอเดียในการแก้ปัญหาเพิ่มเติมก็ได้ เมื่อเราใช้วิธีที่เหมาะสม ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้พนักงานได้แสดงความต้องการที่แท้จริงออกมามากขึ้น

 

3. สื่อสารให้พนักงานรู้อย่างชัดเจนว่าเราต้องการทำ Employee Listening

ประกาศนโยบายให้ชัดเจนเลยว่ากำลังเก็บข้อมูลเพื่อไปปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น ใช้เครื่องมืออะไร และพนักงานสามารถพูดคุยได้ผ่านทางช่องทางไหนบ้าง พนักงานจะได้อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้เกิดความกระตือรือร้นและเกิดความเชื่อมั่นกับกระบวนการรับฟังความต้องการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ และไม่ลืมที่จะใช้หลักการที่ถูกต้องในการเก็บข้อมูลเช่น การรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคล หรือความเป็นส่วนตัวของพนักงานในเรื่องที่พวกเขาแชร์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา 

 

4. ลงมือเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผล

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ขั้นต่อไปคือการจัดการข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นการจัดเรียงหมวดหมู่ จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เรื่องไหนต้องแก้ทันที เรื่องไหนต้องนำไปปรับให้เข้ากับการดำเนินกลยุทธ์หรือเป้าหมายระยะยาวขององค์กร ให้หยิบยกประเด็นสำคัญออกมา และอาจทำให้เห็นภาพรวมหรือประเด็นเฉพาะเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารพิจารณา ประเด็นไหนที่มีแววว่าจะได้ทำต่อ หรือมีแผนที่จะทำในอนาคตก็อย่าลืมอัปเดตให้พนักงานที่เราเก็บข้อมูลมาได้รับรู้โดยทั่วกันด้วย

 

ตัวอย่างของบริษัทหนึ่งที่มีชื่อว่า Nexans ในประเทศสวีเดน ในทุกสัปดาห์จะเปิดโอกาสให้พนักงานตอบแบบสอบถาม 4 ข้อ ในหัวข้อเดิม โดยไม่ต้องระบุชื่อ และผลสำรวจนี้ก็จะถูกจัดทำเป็นรายงานให้ทุกคนในองค์กรได้รู้ข้อมูล ปัจจัยความสำเร็จของวิธีการนี้คือการที่ผู้จัดการทั้งหลายจะนำผลของรายงานความต้องการที่เกิดขึ้นมาคุยกันกับทีมในทุก ๆ สัปดาห์ ที่น่าสนใจคือยอดของการตอบคำถามนั้นสูงถึง 93 % และบริษัทก็ได้ผลรวมของการความพึงพอใจในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย แสดงให้เห็นว่าพนักงานรู้สึกมีคุณค่าเมื่อเสียงของพวกเขามีคนฟัง 

 

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการทำ Employee Listening เท่านั้น การกำหนดช่วงเวลาหรือความถี่ในการเก็บข้อมูลอาจขึ้นอยู่กับลักษณะวัฒนธรรมองค์กรของคุณ บางทีอาจจะเหมาะกับการเก็บข้อมูลรายสัปดาห์หรือรายเดือน แต่ถ้าคุณมีเครื่องมือหรือวิธีการพร้อมอยู่เสมอและสื่อสารอย่างชัดเจนว่าองค์กรต้องการจะนำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง พนักงานอาจจะให้ Feedback ที่จริงใจและบ่อยกว่าที่คุณคิด เพราะพวกเขามองเห็นแล้วว่าองค์กรพร้อมที่จะฟังอยู่เสมอ

 

อย่างที่บอกไปแล้วว่า Employee Listening เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อรู้แล้วว่าประเด็นไหนเป็นสิ่งที่พนักงานหลาย ๆ คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรได้รับการแก้ไขก่อนปัญหาอื่น เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองพนักงานจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาจมีขั้นตอนตามมา เช่น ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยวิธีการต่าง ๆ   เมื่อเราทำความเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเขาได้อย่างถ่องแท้แล้ว องค์กรอาจจะได้ข้อมูลที่สดใหม่ เจอจุดแข็งหรือจุดอ่อนขององค์กรที่ไม่เคยรู้ และนำมาพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นต่อไปได้

 

การสร้างให้เกิด Employee Listening ในทุกระดับของการทำงาน

กระบวนการรับฟังพนักงานควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรทำให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอกับหัวหน้างานและสมาชิกภายในทีม ซึ่งอาจเป็นไปในรูปแบบการประชุมแบบตัวต่อตัว หรือการสนทนาผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ ใจความสำคัญของการประยุกต์ใช้ Employee Listening จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่วิธีการหรือ Platform ที่ใช้เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรักษาความต่อเนื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวแทนขององค์กรในฝั่งบริหารอย่างผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานกับลูกทีมที่ทำงานด้วยกัน เพราะพวกเขาเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุด และเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับฟัง Feedback ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในการทำงาน ความกังวล หรือ ความต้องการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแนะนำมาถ่ายทอดสื่อสารให้ฝ่ายบริหารขององค์กรตัดสินใจดำเนินการต่อ สำหรับองค์กรที่อยากทำ Employee Listening แต่ยังนึกว่าไม่ออกว่าจะใช้วิธีไหนดี ลองเริ่มต้นด้วยวิธีง่าย ๆ ด้วยการมอบหมายให้พนักงานระดับหัวหน้างานทำหน้าที่รับฟังความต้องการของพนักงานดูก่อน เพื่อศึกษาแนวโน้มและเสียงตอบรับจากพนักงานและพัฒนากลยุทธ์ที่เหมาะกับองค์กรของคุณต่อไป 

 

Employee Listening ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการทำงานของพนักงานในระดับเดียวกันได้ด้วย เช่น การรับฟังความต้องการของเพื่อนร่วมงาน หรือการแชร์ข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานระหว่างสมาชิกภายในทีมกันเอง เมื่อความใส่ใจในความเป็นอยู่ในการทำงานที่ดีถูกซึมซับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่สมาชิกในทีมต่างฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ หัวหน้าที่เข้าใจและใส่ใจคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ ผู้บริหารที่รับฟังไอเดียที่สดใหม่และน่าสนใจพอที่จะทำให้เกิดเป็นแผนงานและปฏิบัติให้กลายเป็นจริงได้ ถ้าองค์กรไหนทำได้แบบนี้ องค์กรนั้นก็จะเติบโตได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการสั่งสมปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ

 

ท้ายที่สุดแล้วการใส่ใจและแสดงออกอย่างจริงใจให้พนักงานเห็นว่าองค์กรรักพวกเขามากแค่ไหนด้วยนโยบายหรือสวัสดิการของบริษัทที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญต่อองค์กร เมื่อพนักงานของคุณมีความสุขและมีกำลังใจในการทำงาน พวกเขาก็พร้อมที่จะตอบแทนด้วยการตั้งใจทำหน้าที่ “พี่คนโต” ในการดูแล “น้องเล็ก”หรือลูกค้าของคุณอย่างเต็มที่

สมัครสมาชิกกับ JobThai ได้ Candidate ที่ใช่ง่าย ๆ คลิกเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 23 ตุลาคม 2023 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

ที่มา:

aihr.com, cultureamp.com, mckinsey.com, qualtrics.com, quantumworkplace.com

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, employee listening, hr, people management, ทรัพยากรบุคคล, เคล็ดลับการทำงาน, human resource, รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร, คนทำงาน, ความสุขในการทำงาน, ทำงานให้มีความสุข



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม