ถ้า Work from Home ออกมาดี แล้วยังต้องมีออฟฟิศอยู่ไหมหลัง COVID-19

21/09/20   |   6k   |  

 

 

 

 

JobThai Platform แพลตฟอร์มที่จะทำให้การหาผู้สมัครที่ใช่ กลายเป็นเรื่อง “ง่าย”

 

ก่อนจะมี COVID-19 ออฟฟิศเป็นสิ่งที่องค์กรมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ และสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กร แต่พอมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้น องค์กรต่าง ๆ ก็มีนโยบายให้พนักงาน Work from Home กัน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น หลายองค์กรก็เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิม ในขณะที่บางองค์กรเริ่มมองเห็นว่าออฟฟิศอาจไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งนั่นทำให้เกิดคำถามว่าในเมื่อที่ผ่านมาเราทำงานแบบ Remote Working ทำงานที่บ้านกันได้ แล้วถ้า COVID-19 หายไป ทำไมเรายังต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบเดิมอีก

 

การทำงานที่บ้าน ให้ผลลัพธ์ที่ดีกับคนทำงานและองค์กรมากกว่าที่คิด

ผลการสำรวจของ McKinsey บอกว่า 80% ของคนทำแบบสำรวจรู้สึกเอ็นจอยกับการทำงานที่บ้าน 41% บอกว่าการทำงานที่บ้านทำให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 28% บอกว่าการทำงานที่บ้านให้ผลลัพธ์ได้ดีไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ นอกจากนั้นยังทำให้คนทำงานหลายคนที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานไกล ๆ มีเวลาในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น บาลานซ์ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น จนชอบที่จะทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศไปแล้ว และหลายคนก็ยังพบว่าจริง ๆ แล้วเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานระหว่างที่ Work from Home นั้นก็มีประสิทธิภาพไม่น้อยเลย 

 

ในขณะที่ฝั่งองค์กรก็สามารถเข้าถึงแคนดิเดตที่มีศักยภาพได้มากขึ้น เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางมาทำงานลดลง มีโอกาสได้ลองนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับออฟฟิศลงได้ ซึ่งองค์กรชั้นนำหลายแห่งก็มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านกันต่อไปยาว ๆ เช่น Facebook ที่ให้ Work from Home ได้ถึงปี 2021 หรือ Twitter ที่บอกว่าพนักงานของเขาสามารถทำงานที่บ้านต่อไปได้นานตามที่ต้องการ 

 

ข้อดีต่าง ๆ ที่คนทำงานและองค์กรค้นพบจากการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทำให้หลายคนคิดว่า ในเมื่อการทำงานที่บ้านก็เป็นไปได้ด้วยดี เราก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเลย แต่ก็มีหลายคำถามเกิดขึ้นเช่นกันหากออฟฟิศถูกลดบทบาทลงจริง ๆ เช่น การที่คนทำงานไม่ได้เจอหน้าพูดคุยกันแบบตัวเป็น ๆ อาจส่งผลต่อเรื่องของการสื่อสาร หรือทำให้วัฒนธรรมองค์กรจางหายไป ไอเดียดี ๆ ที่มักจะได้จากการพูดคุยหรือทำงานร่วมกันอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือหัวหน้าไม่มีโอกาสที่จะได้แนะนำ สอนงาน และช่วยลูกทีมพัฒนาทักษะการทำงาน และที่ Work from Home ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จนั้น จริง ๆ แล้วเพราะมันอยู่กับเราแค่ชั่วคราวหรือเปล่า ถ้าเราต้อง Work from Home ตลอดไป สุดท้ายผลลัพธ์อาจจะไม่ดีแบบนี้ก็ได้

 

สรุปแล้วออฟฟิศยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม?

เรื่องนี้ไม่มีคำตอบแบบ One-size-fits-all คำตอบก็คืออาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร เพราะแต่ละแห่งก็มีรูปแบบการทำงานหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป รวมทั้งขึ้นอยู่กับพนักงานในองค์กรด้วย บางคนอาจจะสนุกกับการทำงานแบบ Remote Working แต่บางคนก็รู้สึกเหนื่อยล้ากับมัน การคุยงานกันผ่าน Video Conference อาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไรกับบางคน แต่บางคนก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น หรือในระหว่างทำงานบางคนอาจจะมีการพูดคุยกับเพื่อนในทีม ปรึกษากันเหมือนทำงานที่ออฟฟิศแบบปกติ ในขณะที่บางคนกลับถูกหลงลืมไป

 

ทำให้แต่ละองค์กรต้องพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสมกับองค์กรของตัวเองจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความจำเป็นและความต้องการของพนักงาน สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ เช่น โฟกัสเรื่องการทำงานร่วมกันแค่ไหน ซึ่งแม้แต่ในองค์กรเดียวกันก็ไม่ได้จำเป็นว่าทุกคนทุกแผนกต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือ Work from Home ต่อไปเหมือนกันหมดด้วย

 

จะรู้ได้ยังไงว่าองค์กรเราควรเลือกทางไหน?

ลองประเมินและพูดคุยกับพนักงานดูว่ากระบวนการทำงานต่าง ๆ ของแต่ละแผนกที่ทำในช่วง Work from Home นั้นจุดไหนมีปัญหา หรือจุดไหนเป็นไปอย่างราบรื่น จากนั้นก็ทดลองกระบวนการทำงานต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของ Remote Working และ เข้ามาที่ออฟฟิศ เช่น เมื่อต้องมีการนำเสนองาน ครั้งแรกให้เป็นการนำเสนอที่ห้องประชุมในออฟฟิศ โดยมีคนที่เกี่ยวข้องทุกคนมาเข้าร่วม หลังจากนั้นก็ทดลองนำเสนอผ่าน Video Conference รวมถึงทดลองการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ โดยใช้รูปแบบที่แตกต่างกันด้วย เช่น มาประชุมวางแผนงานร่วมกันที่ออฟฟิศ เมื่อถึงขั้นตอนของการดำเนินการ ก็ทำงานแบบ Remote Working การทำแบบนี้จะทำให้เราเปรียบเทียบและเห็นว่าวิธีไหนกันแน่ที่เวิร์ก

 

นอกจากกระบวนการทำงานต่าง ๆ แล้ว องค์กรควรพิจารณาถึงสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ และวัฒนธรรมขององค์กรด้วย เช่น ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องการช่วยเหลือและให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของพนักงาน ก็อาจจะถามพนักงานด้วยว่าการให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาซึ่งปกติจะเกิดขึ้นเวลาทำงานด้วยกันในออฟฟิศนั้นยังสามารถทำต่อไปได้หรือไม่ถ้าต้องทำงานแบบ Remote Working 

 

เมื่อประเมินและพิจารณาเรียบร้อยแล้ว คำตอบที่ได้ก็อาจจะเป็นได้ทั้ง ให้ทำงานที่บ้าน หรือ Remote Working แบบ 100% กลับมาทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% หรือผสมกันระหว่างการมาทำงานที่ออฟฟิศ และ Work from Home ก็ได้

 

ถ้ายังคงมีออฟฟิศอยู่ รูปแบบของออฟฟิศอาจเปลี่ยนไป

เมื่อก่อนเวลาพูดถึงออฟฟิศทุกคนก็จะเห็นภาพคล้าย ๆ กันคือ เป็นสถานที่ทำงานที่เต็มไปด้วยโต๊ะทำงาน มีห้องประชุม มีอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน แต่หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ออฟฟิศต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป

 

องค์กรที่ให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 100% ก็จะต้องมีมาตรการความสะอาด หรือการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การเว้นระยะห่าง หรือการทำความสะอาดออฟฟิศและอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ 

 

สำหรับองค์กรที่ผสมกันระหว่างการมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือ Work from Home ก็อาจจะต้องจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้เหมาะสม เช่น ถ้าจุดประสงค์ของการมีออฟฟิศคือเพื่อให้พนักงานได้มาทำงานร่วมกัน หรือ Brainstorm ไม่ใช่การมานั่งทำงานของใครของมัน ออฟฟิศก็ควรที่จะมีพื้นที่สำหรับการประชุมเป็นส่วนใหญ่ และจัดโต๊ะทำงานเป็นแบบ Hot Desk แทนการมีโต๊ะประจำ หรือบางองค์กรอาจจะเปลี่ยนเป็นการใช้พื้นที่ทำงานที่เป็นแบบ Flexible Space แทน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในบางส่วนได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ทั้งราคาที่ต้องซื้อและค่าใช้จ่ายในการดูแลได้

 

สุดท้ายแล้วออฟฟิศยังจำเป็นอยู่หรือไม่นั้นคงจะไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างชัดเจน เพราะแต่ละองค์กรก็แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญก็คือองค์กรเองต้องประเมินรูปแบบการทำงานรวมถึงพนักงานของตัวเอง และเลือกสิ่งที่เหมาะสมและซัพพอร์ตการทำงานได้อย่างดีที่สุดต่างหาก

 

ดูแลพนักงานใหม่ยังไงถ้าบริษัท Work from Home

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 23,411 members
Join Group
 

 

 

ที่มา:

hbr.org

mckinsey.com

bbc.com

tags : hr, work from home, ฝ่ายบุคคล, การดูแลพนักงาน, ทรัพยากรบุคคล, organization development, covid-19, โควิด-19, สถานที่ทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม