Body Language การสื่อสารด้วยภาษากาย Soft Skill ที่ทรงพลังสำหรับคนเป็นหัวหน้า

15/03/24   |   12.7k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางาน เรื่องง่าย ทำได้ผ่านทางมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อพูดถึงการเป็นหัวหน้าคน เราก็จะนึกถึงทักษะการเป็นผู้นำและการตัดสินใจที่เด็ดขาด แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่คนเป็นหัวหน้าขาดไปไม่ได้โดยเด็ดขาดก็คือทักษะการสื่อสาร ซึ่งนอกจากการสื่อสารเนื้อหาด้วยการเขียนหรือพูดอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การใช้ Body Language หรือ ภาษากายที่ช่วยส่งสารถึงคู่สนทนาประกอบไปกับคำพูดก็สำคัญเช่นกัน เพราะทุก ๆ การกระทำของเราตั้งแต่การพูด ท่าทาง สายตา สามารถบ่งบอกอะไรบางอย่างได้มากกว่าแค่เนื้อความที่พูดออกมา ดังนั้น JobThai จะพาไปดูว่ามี Body Language แบบไหนบ้างที่หัวหน้าสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการทำงาน

 

Body Language แห่งความน่าเชื่อถือ

เมื่อหัวหน้าต้องการวางตัวให้ดูมีความน่าเชื่อถือในเวลาที่พูดเรื่องสำคัญ อย่างเช่นในตอนที่กำลังเล่าเรื่องทิศทางการทำงานในห้องประชุม ภาษากายที่จะช่วยเราได้ก็คือการยืนตัวตรง ไหล่ผาย และสามารถออกท่าทางจากมือให้มากขึ้น ใช้พื้นที่ในการวาดมือที่กว้างขึ้นกว่าการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว ซึ่งมันก็จะส่งผลให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นและทำให้คนฟังรู้สึกว่าเราเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังพูดอยู่ โดย Amy Cuddy นักจิตวิทยาและอาจารย์จาก Harvard ได้พูดใน TED Talk เกี่ยวกับการใช้ Body Language ว่า การใช้ท่าทางที่ดูมีพลังไม่ได้ทำให้เราแค่รู้สึกว่าตัวเองมีพลัง แต่เราจะมีพลังเพิ่มขึ้นมาจริง ๆ

 

ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่งอตัวในขณะพูดจะดูตัวเล็กลงในสายตาของผู้ฟังและจะใช้พื้นที่สำหรับการทำท่าประกอบการพูดในระยะที่แคบลงกว่าเดิม พลังที่ส่งออกมาก็น้อยตามลงไป ยิ่งถ้าเราเป็นคนชอบเผลอก้มหน้าก้มตาในขณะพูด ก็จะยิ่งดูเหมือนกับเป็นผู้นำที่ดูไม่มั่นใจในเวลาที่ตัดสินใจ

 

เทคนิคการพูดในที่สาธารณะยังไงให้ดูโปร

 

Body Language แห่งความเข้าถึงง่าย

การใช้พื้นที่ในการออกท่าทางประกอบการพูดในลักษณะที่แคบอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือ แต่ก็ไม่ได้มีผลที่ไม่ดีเสมอไป ถ้าเราอยู่ในจุดที่ต้องการให้คนฟังรู้สึกว่าหัวหน้าคนนี้เป็นคนเข้าถึงง่าย เราก็สามารถเปลี่ยนมาแสดงท่าทางในวิธีดังกล่าวได้ บวกกับเรายังสามารถใช้รอยยิ้มช่วยสื่อถึงความมั่นใจและความอบอุ่นใจแก่ผู้ฟังได้ด้วย และมันก็ยังดีกับเราเองตรงที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดให้เราเช่นกัน โดย Body Language ที่เราใช้จะต้องเป็นของจริงที่ออกมาจากความรู้สึกจริง ๆ และสอดคล้องกับข้อความที่สื่อออกไป เราไม่ควรจะ Fake มันออกมาจนไม่เป็นธรรมชาติถ้าเราไม่ได้รู้สึกอะไร

Body Language แห่งความใส่ใจ

ถึงคนเป็นหัวหน้าจะต้องอยู่กับความเร่งรีบและตารางเวลาที่ยุ่งแทบจะตลอดวัน แต่ก็อย่าลืมว่าลูกน้องของเราก็คือมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีความหวัง มีเรื่องที่ไม่สบายใจ ทุก ๆ การกระทำส่งผลต่อความรู้สึกของเขาอยู่เสมอ ดังนั้นถึงจะอยู่ในจุดที่วุ่นวายสุด ๆ หัวหน้าก็ควรแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อลูกน้อง อย่างน้อยผ่าน Body Language เป็นตัวช่วย เช่น การใช้น้ำเสียงที่ถูกต้องและใช้ท่าทางที่แสดงถึงการเอาใจใส่และความเข้าอกเข้าใจ ช่วยให้คู่สนทนาไม่รู้สึกอึดอัดในเวลาที่คุยกับเรา

 

ในระหว่างพูดคุยอย่าลืมรักษา Eye Contact หรือการสบตากับคู่สนทนาด้วย และจะต้องระวังไม่ให้สายตาตัวเองเหม่อลอย เพราะมันจะดูเหมือนว่าเรากำลังจดจ่อกับสิ่งอื่น โดยการใช้ Eye Contact ควรจะอยู่ในช่วงเวลาที่พอเหมาะ การสบตาคนแค่ 2-3 วินาทีไม่นับเป็น Eye Contact อีกทั้งจะยังทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญอีกด้วย

 

Body Language แห่งการรับฟัง

ต่อจากเรื่องของการใส่ใจคือเรื่องของการ “รับฟัง” เพราะหัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่รับฟังเสียงจากลูกน้องแบบเปิดหูและเปิดใจรับฟังโดยแท้จริง ไม่ใช่แค่รับฟังเพื่อรอตอบเท่านั้น ซึ่งการใช้ Body Language ให้ลูกน้องรู้สึกว่าเรากำลังตั้งใจฟังเขาอยู่จริง ๆ สามารถทำได้ด้วยการนั่งตัวตรง มี Eye Contact และพุ่งความสนใจไปยังคู่สนทนา ถึงแม้เรื่องที่เขากำลังพูดจะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ต้องโฟกัสอยู่ตลอดและไม่เสียสมาธิไปกับสิ่งรบกวนต่าง ๆ ถ้ามันไม่จำเป็นจริง ๆ อย่างเช่น ข้อความแจ้งเตือนในโทรศัพท์

 

ฟังอย่างไรให้เข้าใจและได้ใจคนในทีม เทคนิคการฟังที่ดีสำหรับหัวหน้างาน

 

Body Language แบบกระจกสะท้อนกลับ

เรื่องที่เรารู้กันเกี่ยวกับกระจกเงาคือการที่มันจะสะท้อนสิ่งที่อยู่ตรงหน้าออกมา เมื่อต้องพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับใครสักคน ให้เราคิดซะว่ามีกระจกเงาล่องหนกั้นกลางระหว่างเรากับคู่สนทนา และถือว่าคู่สนทนาเป็นเหมือนคนที่ยืนอยู่หน้ากระจก และมีเราเป็นเงาสะท้อนอยู่ในกระจก หมายความว่าระดับ Body Language ที่เราใช้จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับอีกฝ่าย โดยให้เราสังเกตสิ่งต่าง ๆ ทั้งการเคลื่อนไหวของคู่สนทนา จังหวะการพูดว่าเขาพูดเร็วหรือพูดช้า ระยะห่างระหว่างเรากับเขาเป็นยังไงบ้าง และถ้าไม่รู้สึกฝืนก็ลองปรับจังหวะการพูดหรือการเคลื่อนไหวให้ใกล้เคียงกับเขาดู มันจะช่วยให้อีกฝ่ายจะเริ่มรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับเรามากขึ้น เป็นการช่วยละลายพฤติกรรมไปในตัว

 

Body Language หรือการใช้ภาษากายในการสื่อสาร คือ Soft Skill ที่หลายคนมักมองข้ามแต่กลับสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราไปใช้มันอย่างไม่ถูกต้อง มันก็อาจทำให้เนื้อความที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปมันเบาบางลง ดังนั้นคนเป็นหัวหน้าควรที่จะหมั่นฝึกซ้อมทักษะนี้อยู่เสมอ เพื่อให้การสื่อสารกับคนในทีมและคนในองค์กรมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

forbes.com

enterprisersproject.com

tags : jobthai, body language, career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, หัวหน้า, หัวหน้ามือใหม่, เจ้านาย, ชีวิตการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม