- บอกให้พนักงานรู้ถึงเป้าหมาย และความคาดหวังของคุณให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานทำงานไปเรื่อย ๆ โดยไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วเป้าหมายของการทำงานนั้นทำเพื่ออะไร
- สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาหรือการเข้าใจผิดเกิดขึ้น และใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ และเอ่ยชมเมื่อพนักงานทำงานได้ดี เพราะมันจะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงานให้ออกมาดีมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ให้ความสำคัญกับวิธีพัฒนาทักษะการทำงานของพนักงาน หาโอกาสให้คนในทีมได้ทำงาน หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาทักษะที่ยังไม่เชี่ยวชาญ และได้พัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น
- รักษาคำพูด และยอมรับผิด ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากคุณ ปฏิบัติต่อคนในทีมอย่างมืออาชีพ และให้เกียรติพวกเขา โดยไม่มองว่าพวกเขาด้อยกว่า
- คอยช่วยชี้แนะให้พนักงานสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จตามเป้าหมาย ให้คำแนะนำเมื่อพวกเขามีปัญหา และสอนให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วย
- สร้างบรรยากาศการทำงาน หรือรูปแบบการทำงานที่ทำให้เขาเห็นคุณค่าของงานที่ทำ และรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นี้ เป็นงานที่เขาภูมิใจ รวมทั้งกระตุ้นให้พนักงานทุ่มเททำงาน และมอบหมายงานที่เหมาะสมให้พวกเขา เพื่อที่เขาจะได้ประสบความสำเร็จตามสายงานได้ในอนาคต
|
|
“คนเป็นหัวหน้า แค่ทำงานเก่งยังคงไม่พอ”
การเป็นผู้นำที่ดีต้องมีอะไรมากกว่าการมีความรู้ความสามารถในการทำงาน ผู้นำที่ดีจะต้องดูแลเอาใจใส่สมาชิกทุกคนที่อยู่ในความรับผิดชอบ นอกจากการเอาใจใส่และสนับสนุนพนักงานในทุกวิถีทางอย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อตัวพนักงานรายบุคคลและการทำงานของทีมแล้ว การทำเช่นนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าขององค์กรของคุณโดยรวมอีกด้วย ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงจะมาบอกว่ามีอะไรบ้างที่พนักงานต้องการจากคนเป็นผู้นำ
1. สิ่งที่คาดหวังและเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน
ไม่ว่าใครก็ชอบความชัดเจน ดังนั้นให้กำหนดบทบาท เป้าหมาย และหน้าที่ความรับผิดชอบให้พนักงานทุกคนเข้าใจอย่างชัดเจน อาจจะบอกตัวต่อตัว หรือและบอกพร้อมกันทั้งทีม ย้ำชัดถึงเป้าหมายของทีมอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือตลอดทั้งปี ไม่งั้นการทำงานอาจเกิดปัญหา เพราะพนักงานจะทำงานไปเรื่อย ๆ โดยขาดความเข้าใจในเป้าหมายหรือความคาดหวังที่ถูกต้องชัดเจน
2. การยอมรับและชื่นชม
เมื่อพนักงานได้รับการชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งมีแรงบันดาลใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายมากขึ้นเท่านั้น เอ่ยคำชมเมื่อพวกเขาทำงานได้ดี ที่สำคัญคุณต้องให้ความสำคัญกับทีมไปพร้อม ๆ กับการการชมเชยพนักงานที่ทำงานดีเด่นเป็นรายบุคคล การยอมรับและเห็นคุณค่าของพนักงานอย่างเท่าเทียมจะทำให้พวกเขามีกำลังใจในการทำงานร่วมกันและทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
3. การสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารหรือการประสานงานที่ดีระหว่างกันในการทำงานทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจในงานของตน ยิ่งมีข้อมูลมากและชัดเจนเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดก็น้อยลง โดยการสื่อสารที่ดีต้องเกิดขึ้นในทุกช่องทาง ได้แก่ การประชุมทีม การสนทนาตัวต่อตัว การใช้โทรศัพท์ อีเมล การสื่อสารทางไกลด้วยวิดีโอ ผ่านข้อความหรือตัวหนังสือบนหน้ากระดาษเอกสาร
อย่างไรก็ตามให้ระวังการสื่อสารที่ผิดวิธี เช่น วิธีการส่งอีเมลหรือข้อความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการแจ้งข่าวร้าย เพราะเป็นช่องทางที่ไม่มีการโต้ตอบระหว่างกันในทันทีและพวกเขาอาจเกิดความรู้สึกในแง่ลบได้ ดังนั้นผู้นำทั้งหลายควรมองว่าเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญและละเลยไม่ได้
4. ความก้าวหน้าในอาชีพ
พนักงานจะตั้งใจทำงานมากขึ้นเมื่อเห็นว่าองค์กรมีสภาพแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เอื้ออำนวยให้พวกเขาพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ มอบหมายงานให้พนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่าย ๆ ก็คือ “ใช้คนให้ถูกงาน” ให้โอกาสทีมของคุณได้ลองทำงานใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในสิ่งที่พวกเขาไม่เก่ง นอกจากพวกเขาจะสามารถพัฒนาทักษะส่วนบุคคลและทีมได้แล้ว ยังจะทำให้องค์กรของคุณเติบโตไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
5. ความเชื่อมั่นและไว้ใจ
ทำให้ได้ตามที่คุณสัญญาไว้ ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและรักษาคำพูดของคุณ ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในทีม ถ้าคุณทำผิดพลาด คุณก็ต้องยอมรับผิดอย่างสง่าผ่าเผย และไม่เอาแต่โทษลูกน้องที่ทำผิดพลาดเพราะการตัดสินใจที่มาจากตัวคุณเอง เมื่อพวกเขาเห็นตัวอย่างที่ดีจากผู้นำ พวกเขาจะเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ
6. ความรับผิดชอบ
คนทำงานทุกคนล้วนอยากเก่งในงานที่พวกเขาทำและพึ่งพาตัวเองได้ แต่ถ้าเขายังไม่เก่งพอ นั่นเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องชี้แนะให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหา และทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ คุณต้องสอนงานพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ รวมถึงถามไถ่ว่าแก้ปัญหาไปแล้วอย่างไรบ้าง หรือคิดยังไงต่อปัญหาดังกล่าว และสอนให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีของพวกเขาเอง เพื่อที่ว่าครั้งต่อ ๆ ไป พวกเขาจะได้แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง
7. ความเคารพจากหัวหน้า
พนักงานหลายคนไม่ค่อยได้ความเคารพจากหัวหน้า ผู้นำที่ดีไม่ควรมีความลับกับคนในทีม เพราะพวกเขาจะรู้สึกด้อยค่า และรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก ควรปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างมืออาชีพและไม่มองว่าพวกเขาด้อยกว่าไม่ว่าจะในเชิงคุณวุฒิหรือวัยวุฒิ เปิดเผยและซื่อตรงให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ คุณต้องสร้างทีมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ผู้นำที่มีอำนาจเหนือกว่าแต่เพียงผู้เดียว เมื่อคุณให้เกียรติพนักงานหรือคนในทีม พวกเขาก็จะให้เกียรติคุณเช่นเดียวกัน
8. ความภูมิใจในงานที่ทำ
ทุกคนต่างอยากมีงานที่พูดได้อย่างเต็มปากว่า นี่คือ “งานที่ฉันภูมิใจ” การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน จะทำให้พนักงานมีแรงกระตุ้นในการทำงาน หัวหน้าจึงควรสร้างรูปแบบการทำงานในเชิงบวก เช่น การมีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นกันเอง หรือสร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุกไปพร้อม ๆ กับการทำงานอย่างขยันขยันแข็ง สอนให้พวกเขารู้จักทำงานเป็นทีม และเห็นคุณค่าในงานที่ทำ ท้ายที่สุดผลของการทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่นั้นจะผลิดอกออกผลให้กับทั้งคุณที่เป็นผู้นำ และคนในทีมของคุณเอง
9. การเรียนรู้ในที่ทำงาน
การพัฒนาทักษะการทำงานเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในทุกสาขาอาชีพ องค์กรที่ดีควรให้ความสำคัญกับวิธีการพัฒนาทักษะการทำงาน ด้วยการจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ เช่น สื่อการเรียนรู้อย่างห้องสมุด หรือคลังความรู้แบบออนไลน์ ตลอดจนการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงานให้แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานของคุณก้าวทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วให้ทัน
10. การประสบผลสำเร็จ
ใครจะไม่อยากเป็นผู้ชนะ กระตุ้นให้พนักงานทุ่มเทกับการทำงานและให้ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับพวกเขา เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้ประสบความสำเร็จตามสายงานที่พวกเขาถนัดได้ในอนาคต กำจัดอุปสรรคในการทำงานและส่งเสริมพวกเขาอย่างเต็มที่ อย่าเปลี่ยนแนวทางหรือแผนการไปสู่เป้าหมายบ่อย ๆ โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ ละเลยกับผลการปฏิบัติงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน หรือตั้งเป้าหมายโดยไม่ดูพื้นฐานความเป็นจริง เพราะคนได้รับผลกระทบโดยตรงคือพนักงานของคุณที่ต้องเจอกับภาวะความกดดันจากความไม่มั่นคงในแนวทางในการทำงานของผู้นำอย่างคุณ จนก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับการทำงานหรือแม้แต่กับตัวคุณ หรืออาจนำไปสู่ความล้มเหลวในเส้นทางอาชีพของพวกเขาได้ในอนาคต
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคม 2016 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai
ที่มา:
linkedin.com