- ใช้วิธีแบ่งงานแบบ 1-3-5 คือ งานใหญ่ 1 ชิ้น งานขนาดกลาง 3 ชิ้น และงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อีก 5 ชิ้น
- ถ้าจัดลำดับความสำคัญของงานไม่ถูก ให้ใช้ Eisenhower box ช่วย โดยแบ่งงานออกเป็น งานสำคัญและเร่งด่วน สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน งานเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และงานที่ทั้งไม่สำคัญไม่เร่งด่วน
- เลือกแอปพลิเคชันที่คิดว่าเหมาะสมมาช่วยในการทำ To-Do List
- ถ้างานที่ต้องทำเป็นงานชิ้นใหญ่ มีขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อน ให้แยกขั้นตอนการทำงานลงมาเขียนใน To-Do List ด้วย
- ขีดฆ่างานที่เสร็จแล้วออกจาก To-Do List ทุกครั้ง นอกจากจะช่วยป้องกันการสับสนแล้ว ยังทำให้เราประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ด้วย
|
|
JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว
|
|
หลายคนอาจจะมี To-Do List เพื่อใช้มันจัดการกับชีวิตการทำงานของตัวเอง และเตือนความจำว่าต้องทำอะไรบ้างให้เสร็จตามกำหนดเวลา แต่ปัญหาคือแม้จะมี To-Do List กำกับไว้แล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็เหมือนจะมี To-Do List ซ้อน To-Do List งอกออกมาเรื่อย ๆ ลิสต์เก่ายังไม่เสร็จก็มีลิสต์ใหม่มาเพิ่มอีกแล้ว และถ้าคุณกำลังเจอปัญหาเช่นนี้ JobThai ขอแนะนำเคล็ดลับง่าย ๆ ที่จะทำให้ To-Do List เสร็จได้จริง ๆ ซักที
1. ใช้วิธีแบ่งงานแบบ 1-3-5 คือ งานขนาดใหญ่ 1 ชิ้น ขนาดกลาง 3 ชิ้น และขนาดเล็ก 5 ชิ้น
วิธีแบ่งงานแบบ 1-3-5 คือแบ่งงานออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ คืองานใหญ่ 1 ชิ้น งานขนาดกลาง 3 ชิ้น และขนาดเล็ก 5 ชิ้น แต่ถ้างานของใครมีแนวโน้มที่จะมีงานด่วน งานแทรก งานเร่งอยู่บ่อย ๆ ให้ลองเผื่อที่ว่างจากงานขนาดกลาง 1 งาน และงานเล็ก อีก 2 งาน ถ้านำกฎนี้มาช่วยจะเท่ากับว่าวันหนึ่งเราจะสามารถสะสางงานได้มากถึง 9 งานต่อวันเลยทีเดียว
2. ถ้ายังจัดลำดับความสำคัญของงานไม่ได้ลองใช้ Eisenhower box เข้ามาช่วย
ถ้ายังไม่รู้ว่าควรจะทำงานไหนก่อนหรือหลัง ยังจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก อะไรก็เร่งไปหมดเลย ลองใช้ Eisenhower Box เป็นตัวช่วยในการจัดลำดับความสำคัญดู วิธีการก็คือวาดตาราง 4 ช่อง โดยตอบคำถามตัวเอง 2 ข้อว่า งานนั้นด่วนหรือไม่ และงานนั้นสำคัญไหม ช่องบนฝั่งซ้ายคืองานสำคัญ และเร่งด่วน ช่องบนฝั่งขวาคืองานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ช่องล่างฝั่งซ้ายคืองานเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และช่องล่างฝั่งขวาคืองานที่ทั้งไม่สำคัญไม่เร่งด่วน
3. เลือกใช้แอปพลิเคชัน To-Do List มาช่วยเพียงแอปฯ เดียว
แอปพลิเคชัน To-Do List มีให้ใช้มากมาย และทุกระบบปฏิบัติการ แต่ให้เลือกมาใช้เพียงแอปฯ เดียว เพราะเราต้องคอยศึกษาทำความเข้าใจ ถ้าใช้หลายแอปฯ อาจจะทำให้ใช้เวลาในการสร้าง To-Do List เป็นวัน แทนที่มันจะช่วยให้งานเสร็จกลายเป็นว่าเพิ่มงานขึ้นมาอีก ใช้เพียง 1 แอปฯ ทำความเข้าใจการใช้งานต่าง ๆ และหัดใช้งานประมาณ 1 เดือน ถ้าใช้งานไม่ถนัดค่อยลองเปลี่ยนไปใช้แอปฯ อื่น หรือทุ่นเวลาด้วยการอ่านบทวิจารณ์ก่อนนำมาใช้ก็ได้
4. ระบุขั้นตอนงานใน To-Do List ให้ชัดเจนเพื่อจะได้ประเมินเวลาทำงานได้
งานบางชิ้นมีความซับซ้อน หรือขั้นตอนเยอะ ดังนั้นเราจะไม่เขียน To-Do List ที่กว้างเกินไป ควรแบ่งขั้นตอนการทำงานนั้น ๆ ลงใน To-Do List อีกที ไม่ใช่โยนงานนั้นลง To-Do List ไปเลยขั้นตอนเดียว เพราะถ้าระบุขั้นตอนไม่ชัดอาจทำให้เราประเมินเวลาในการทำงานผิด แล้วก็จะเบียดบังงานอื่น ๆ ที่เราต้องทำได้ เช่น การเขียนโครงการใหม่ ถ้าไม่แบ่งขั้นตอนออกมา สิ่งนี้อาจจะค้างบน To-Do List ไปเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์เลยก็ได้ ดังนั้นควรแบ่งขั้นตอนว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ก่อนจะเริ่มเขียนโครงการก็ต้องมีขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ศึกษาข้อมูลคู่แข่งก่อน
5. อย่าลืมขีดฆ่างานที่เสร็จแล้วออกจาก To-Do List
เมื่องานเสร็จก็อย่าลืมขีดฆ่าออกจาก To-Do List ด้วย นอกจากป้องกันความสับสนแล้ว ยังเอาไว้ตรวจสอบประสิทธิภาพของการทำงานของเราเองได้อีกด้วย เพราะถ้าเวลาล่วงเลยจนเกือบจะเลิกงานแล้ว แต่ยังไม่ได้ขีดฆ่าอะไรออกไปเลยสักอย่าง ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้เรารู้ว่าการจัดการการทำงานของเรามีปัญหาบางอย่างที่ต้องการแก้ไขโดยด่วน
ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับงานค้างที่กองบนโต๊ะอย่างไร ลองเอาเคล็ดลับง่าย ๆ นี้ไปปรับใช้ดูกันได้ เป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกในการนำไปใช้อาจจะยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือการทำบ่อย ๆ และสม่ำเสมอ ความอดทน และมีวินัยของเราจะทำให้กองงานบนโต๊ะลดลงได้ในไม่ช้า
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 200,000 members |
|
|
|
ที่มา:
themuse.com