วิศรุต มาลสุขุม: นักเศรษฐศาสตร์สายนโยบายการเงิน จากทฤษฎีสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ

22/12/17   |   10.9k   |  

คนมากมายที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ล้วนมีความต้องการที่หลากหลายและไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้เสื้อผ้าสวย ๆรถยนต์เท่ ๆ หรือบ้านเดี่ยวสักหลัง ตามแต่ปัจจัยและความจำเป็นของแต่ละคน ทว่าความต้องการเหล่านั้นอาจไม่ถูกตอบสนองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แรงงาน หรือเงินทุนที่มีไม่มากพอ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งของเหล่านั้นออกมาสนองความต้องการของทุกคนได้อย่างทันท่วงที จึงต้องเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มหนึ่งที่จะต้องเป็นคนศึกษา วิจัย และคาดการณ์ เพื่อหาหนทางที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่านักเศรษฐศาสตร์ นั่นเอง

JobThai ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มไฟแรงจากธนาคารแห่งประเทศไทย คุณโอ วิศรุต มาลสุขุม ที่ค้นพบตัวเองว่าชอบเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย จากการเข้าค่ายเศรษฐศาสตร์ จนสอบเข้าคณะที่มุ่งหวังได้เป็นอันดับหนึ่งของคณะ และหลังจากที่สั่งสมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ในรั้วมหาวิทยาลัยจนได้ใบปริญญา พร้อมกับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งมาครอง สุดท้ายเขาก็ได้เข้าไปทำงานในองค์กรใหญ่ที่เขาและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนใฝ่ฝันนั่นก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อของ แบงค์ชาติ ซึ่งวันนี้คุณโอจะมาถ่ายทอดเรื่องราวของนักเศรษฐ์ศาสตร์ ในมุมมองและบทบาทของเขาให้เราได้รู้จักอาชีพนี้กันมากขึ้น

 

 

  • เศรษฐศาสตร์คือ ศาสตร์การบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากคนเรามีความต้องการไม่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันขึ้น จึงต้องมีการศึกษา วิจัย เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
  • คุณสมบัติของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดี คือมีความรู้ในหลักการ ทฤษฎี และต้องสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่สำคัญต้องหมั่นติดตามข่าวสารในทุก ๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
  • อาชีพนักเศรษฐศาสตร์สามารถแบ่งออกเป็นหลายแขนง เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์แรงงาน และความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น นักวิจัย ผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิชาการทั้งในหน่วยงานรัฐ เอกชน
  • นักเศรษฐศาสตร์สายนโยบายการเงินมีบทบาทในการดูแลรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน  โดยใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบาย เช่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน รวมถึงไม่ก่อปํญหาเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถานที่ทำงานที่เหมาะที่สุดสำหรับคนที่ต้องการทำงานสายนโยบายการเงิน เพราะเป็นหน่วยงานที่ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง

 

 

อยากให้แนะนำตัวเอง และอาชีพปัจจุบันที่ทำอยู่

ผมชื่อวิศรุต มาลสุขุม ชื่อเล่นชื่อโอ จบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ หลังจากเรียนจบ อาจารย์ก็เรียกมาช่วยงานเป็น Research Assistant (ผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์) อยู่ประมาณ 8 เดือนแล้วก็มาสอบที่แบงค์ชาติได้เป็นเศรษฐกร ซึ่งถือเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของแบงค์ชาติ ตอนนั้นอยู่ทีมวิเคราะห์สาขาเศรษฐกิจ แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Warwick ประเทศอังกฤษ ด้านเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และกลับมาทำงานต่อที่แบงค์ชาติ กลับมาคราวนี้ได้ไปอยู่ทีมพยากรณ์เศรษฐกิจ และแบบจำลอง ก็ทำมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ร่วม 2 ปีแล้วครับ

 

 

ทำไมคุณโอ ถึงสนใจเศรษฐศาสตร์ ค้นพบว่าตัวเองชอบศาสตร์นี้ได้อย่างไร

ตอนที่ผมเรียน ม.ปลายได้มีโอกาสเข้าค่ายของธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ที่พี่ ๆ จัดให้เด็กชั้นมัธยมศึกษามาเข้าค่าย ครั้งนั้นรู้สึกสนุกและประทับใจมาก ทำให้สนใจในวิชาเศรษฐศาสตร์เลยตัดสินใจเข้าไปเรียน ซึ่งพอยิ่งเรียนเราก็ยิ่งชอบครับ

 

คำว่า เศรษฐศาสตร์ จริง ๆ แล้วมีความหมายอย่างไร

มันคือการว่าด้วยเรื่องของประสิทธิภาพ บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของคน เป็นหลักวิชาการที่สอนให้เราคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ซึ่งหลายคนจะมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงิน หรือตัวเลขอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วศาสตร์นี้มีความเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งรอบตัวเรา ต้องศึกษาเกือบทุกอย่าง เป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผลกัน

 

เศรษฐศาสตร์จริง ๆ มีกี่แขนง แล้วคุณโอ เป็นนักเศรษฐศาสตร์สายไหน

มีหลายแขนงเลยครับ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งรอบตัวเรา เช่น เศรษฐศาสตร์การเงิน แรงงาน สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ที่ผมทำอยู่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเงิน สายนโยบายการเงิน แต่การเงินในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงพวกไฟแนนซ์หรือว่าเล่นหุ้นนะ แต่จะเป็นการเงินในเชิงการบริหารประเทศ กำหนดนโยบายอย่างไรให้ระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยเครื่องมือที่ใช้คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิง ซึ่งแบงค์ชาติถือว่าเป็นองค์กรสูงสุดของการทำงานสายนี้แล้วครับ เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เป็นองค์กรที่ใครก็อยากจะเข้ามาทำ

อย่างนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเขาก็จะดูว่าโรงงานปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเยอะไหม มลภาวะเหล่านี้เรียกว่าต้นทุนทางสังคม มันก็มี Product ต่าง ๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมคิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ปล่อยปริมาณนี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ถ้าอยากจะผลิตก็จะต้องยอมเสียเพื่อรับผิดชอบกับสิ่งที่จะปล่อยออกมา หรือเศรษฐศาสตร์แรงงาน ก็จะมองแรงงานเป็นสินค้าอย่างหนึ่งในตลาดแรงงาน การที่มีแรงงานเยอะก็อาจจะทำให้ค่าจ้างถูก นี่ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับมันอยู่ที่ความสนใจและความเชี่ยวชาญมันมีหลายสายเลย

 

ความรู้ในห้องเรียนใช้ได้จริงกับการทำงานไหม อยากให้เล่าความรู้สึกของการทำงานช่วงแรก

ช่วงแรกที่มาทำงานรู้สึกตกใจครับ เพื่อน ๆ รุ่นพี่แต่ละคนเก่งมาก ส่วนใหญ่จบจากมหาวิทยาลัยระดับ Top จากเมืองนอกทั้งนั้น เรียกว่าเป็นแหล่งรวมสุดยอดหัวกะทิเลย คือเราเรียนจบมาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ก็คิดว่าเราน่าจะมีความรู้พอสมควร แต่พอเข้าไปทำงานที่แบงค์ชาติ เราด้อยไปเลย แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่าต้องรีบพัฒนาตัวเอง ส่วนเรื่องความรู้ที่ได้จากการเรียนนำมาใช้งานจริงได้หรือไม่นั้น คือเมื่อเราเข้ามาทำงานมันก็อาจจะเอามาใช้งานจริงได้ไม่ 100 เปอร์เซนต์ เราต้องประยุกต์พอสมควร แรก ๆ ก็ยากเหมือนกันนะคือ เราต้องประยุกต์บนพื้นฐานของทฤษฎีจริง ในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งครับ

 

อยากให้เล่าถึงการทำงานตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ ในธนาคารแห่งประเทศไทย

จุดมุ่งหมายของแบงค์ชาติ คือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผมในฐานะพนักงานคนหนึ่งที่อยู่ในสายงานกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเงิน โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  อัตราเท่าไหร่ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กนง. มีทั้งหมด 7 คนที่เป็นคนตัดสิน ซึ่งการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะแบ่งออกเป็น 8 ครั้งต่อปี หรือทุก ๆ หนึ่งเดือนครึ่ง พวกผมเป็นทีมงานมีหน้าที่คอยสนับสนุนในเรื่องของข้อมูล วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อัตราดอกเบี้ยประมาณไหนที่เหมาะสม มีความเสี่ยงตรงไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน พวกผมต้องดูหมดเลย การทำงานก็จะแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เช่น ทางด้าน Supply ก็ดูเรื่องการผลิต เกษตรอุตสาหกรรมเราเป็นอย่างไร แรงงานเป็นอย่างไร การใช้จ่ายของเราเป็นอย่างไร มีฝืดเคืองหรือเปล่า ส่วนผมอยู่ในสายพยากรณ์ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหลายใส่เข้าแบบจำลองที่สามารถจำลองเศรษฐกิจของประเทศไทย และพยากรณ์เศรษฐกิจออกมา 8 ไตรมาสล่วงหน้า เพื่อจะให้เห็นภาพว่าประเทศเรามีแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร

ส่วนช่วงที่ยังไม่มีการประชุม ผมก็มีหน้าที่พัฒนาแบบจำลองไปเรื่อย ๆ เพราะเศรษฐกิจเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมก็ต้องสร้างแบบจำลองที่สามารถรองรับโครงสร้างต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงให้ทันท่วงที หรือบางทีก็นำเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้ โลกเปลี่ยนไปอย่างไรต้องก้าวตามโลกให้ทัน คือเราต้องนำเอาเทรนด์ในอนาคตมาร่วมคาดการณ์อยู่ในโมเดลได้ด้วย

 

อาชีพนักเศรษฐศาสตร์มีเส้นทางการเติบโตอย่างไรบ้าง

คือจริง ๆ แล้วถ้าการทำงานในองค์กรนี้ ก็เจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ ตามโครงสร้างองค์กร แต่คนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์จริง ๆ แล้วมีช่องทางให้เลือกเติบโตมากมาย เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นหลักการกลาง เราอาจจะนำไปเล่นหุ้นก็ได้ เราก็ต้องดูว่าเรามีต้นทุนเท่าไหร่ ลงทุนกับตัวไหนให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ หรือจะไปเป็นนักธุรกิจก็ได้ เราก็ต้องทำการเปรียบเทียบต้นทุน ศึกษาตลาด กลไกการผลิต หรือจะไปเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ และสร้างงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้นก็อาจจะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้อีกด้วยนะ คือถ้าเรามีความรู้ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและความสนใจของเราแล้วว่าจะเลือกเติบโตไปทางไหน

 

แล้วส่วนตัวของคุณโอมีเป้าหมายในการทำงานอย่างไร

สำหรับผมไม่ได้มองถึงขั้นว่าต้องได้ตำแหน่งอะไร เราได้ทำงานในองค์กรที่ทำงานเพื่อคนอื่นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศนี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจแล้ว ที่สำคัญการที่ได้อยู่ในองค์กรแบบนี้มันก็เหมือนเป็นแหล่งความรู้ชั้นดีที่เราได้ฝึกฝนตัวเองด้วย

ส่วนตัวตอนนี้มีเป้าหมายที่จะไปศึกษาปริญญาเอก แล้วค่อยกลับมาทำงานที่แบงค์ชาติต่อ เพราะผมชอบงานนี้และที่นี่คือที่ที่เหมาะที่สุด คือต้องบอกว่าเราจบเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายการเงินไปอยู่ที่องค์กรอื่นก็อาจจะไม่ตรงสาย และเราก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ด้วย เพราะมันมีที่เดียวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ก็คือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

คิดว่าความท้าทายของการเป็นนักเศรษฐศาสตร์สายนโยบายการเงินคืออะไร

ส่วนตัวผมว่างานนี้ท้าทายมาก เราต้องพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บางทีก็เจอกับปัญหาใหม่ ๆ คือเรารู้นะว่ามันกำลังจะเกิด แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยไม่มีเคสให้ศึกษา แต่เราก็ต้องพยายามรับมือปัญหานั้นให้ได้ อย่างเช่นตอน Brexit ก่อนหน้านี้มันไม่เคยมีเลยที่ประเทศใหญ่จะออกจากกลุ่มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขนาดนั้น หรือ Aging Society ที่กำลังจะเกิดขึ้น มันเป็นความท้าทายที่จะต้องรับมือ ต้องคิดให้ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจแบบไหนที่มันเหมาะกับสิ่งเหล่านี้ มันค่อนข้างท้าทายเพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ความท้าทายอีกอย่างคือ องค์กรนี้มีแต่คนเก่ง ๆ เวลาผมต้องพรีเซนต์งานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ศึกษาอยู่ ทีมงานเขาจะลงรายละเอียดกันลึกมาก แต่ละคนก็จะมีมุมมองที่หลากหลายกัน คือเราต้องรู้ลึกรู้จริงต้องเตรียมตัวให้ดี  ซึ่งข้อดีของมัน คือเราก็ได้ฝึกตัวเอง ตอนผมไปเรียนต่อปริญญาโท เจอโปรเฟสเซอร์ถามนี่กลายเป็นง่ายเลย

 

คิดว่าจริง ๆ แล้วคุณสมบัติสำคัญของคนที่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์คืออะไร

ต้องเป็นคนที่มีความคิดที่เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล พอเราคิดเป็นระบบก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ อีกเรื่องหนึ่งคือการประยุกต์ใช้ทฤษฎี การทำงานจริงมันไม่ทางหรอกที่จะตรงกับตำราเรียน คุณจะหยิบเอาทฤษฎีไปใช้อย่างไรในสถานการณ์ที่มันต่างกัน ส่วนเรื่องการเรียนเนี่ยจริง ๆ มันอาจจะไม่ต้องสูงขนาดปริญญาเอกก็ได้ เพราะเราทำงานไปเรื่อย ๆ ก็ได้ความรู้อยู่ตลอดแล้ว แต่การทำงานเราจะหยุดเรียนรู้ไม่ได้ต้องอยู่ใน Research Culture ต้องค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา อย่างตัวผมก่อนที่จะพัฒนาแบบจำลองผมก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องรีบไปปรึกษากับพี่ ๆ มันก็เหมือนมหาวิทยาลัยชีวิตที่เราต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา

 

คิดว่าข้อดีของการได้ทำอาชีพ นักเศรษฐศาสตร์คืออะไร

มันทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง ทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา เราต้องติดตามข่าวสารบ้านเมือง ว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น เราต้องรู้ถึงเศรษฐกิจระดับโลกด้วย ยกตัวอย่าง ถ้า Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) เขาประกาศดอกเบี้ยเราก็ต้องรอดูว่าชาติต่าง ๆ เขาจะทำอย่างไร จะมีนโยบายอะไรออกมาบ้าง ราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวจีนช่วงนี้มากขึ้นหรือลดลงอย่างไร เราต้องติดตามและศึกษาเรียนรู้ตลอด หยุดนิ่งไม่ได้เลยเพราะทุกอย่างสำคัญหมด

 

ส่วนตัวคุณโอมีแนวคิดในการทำงานอย่างไรในฐานะนักเศรษฐศาสตร์

อย่างแรกเลยผมคิดว่าผมไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเอง แต่ผมทำเพื่อคนหลาย ๆ คนในประเทศ สุดท้ายถ้าสังคมมันดีขึ้น เรื่องดี ๆ มันก็จะกลับมาที่ตัวผมเองที่อยู่ในสังคมนี้ด้วย สองคือ ผมไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ผมทำคืองานแต่มันคือการพัฒนาตัวเองและเราชอบเรียนรู้ในสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ด้วยก็เลยมีความสุขที่จะทำ

 

 

อยากให้ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังสนใจอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์

อยากจะให้น้อง ๆ ลองอ่านงานวิจัยเยอะ ๆ ทั้งของไทยและเมืองนอกเราก็จะได้ตัวอย่างที่หลากหลาย ต้องฝึกการคิดให้เป็นระบบไม่ใช่มองแต่เรื่องบทเรียน แต่ต้องฝึกการประยุกต์ทฤษฎีให้ใช้งานได้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว อย่างเมื่อก่อนผมมอง รถติด ผมก็ใช้ทฤษฏีเกมมาอธิบายการเกิดรถติดได้ ซึ่งพอทำแบบนี้ได้แล้วเราก็จะสนุกกับมัน คือต้องขยันคิดขยันอ่าน เพื่อที่เราจะได้ประยุกต์ความรู้จากการเรียนให้เข้ากับการทำงานได้ สุดท้าย ผมขอฝากคำพูดของ Kevin Durant นักบาสที่ผมชอบไว้ด้วยเลยละกัน   “Hard work beats talent when talent fails to work hard.” ถ้าคุณขยัน คุณก็สามารถเอาชนะคนมีพรสวรรค์ได้เช่นกันครับ

 

นักเศรษฐศาสตร์ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการบริโภค อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ สิ่งแวดล้อม แรงงาน คนที่ประกอบอาชีพนี้จึงต้องเป็นคนที่รอบรู้ทั้งในหลักทฏษฎี และมีความสามารถในการประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่งศาสตร์ความรู้ที่นักเศรษฐศาสตร์มียังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายสาขาอาชีพ เรียกได้ว่ามีเส้นทางให้เดินมากมายหลายอุตสาหกรรม และสุดท้ายถ้าแนวคิดหรือทฤษฎีใดถูกนำมาใช้แล้วสร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการคิดค้นก็ถือได้ว่ามีบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองได้อีกด้วย

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, นักเศรษฐศาสตร์, career & tips, เคล็ดลับการทำงาน, หางาน, สมัครงาน, jobthai, การทำงาน, นักเศรษฐศาสตร์นโยบายการเงิน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม