กรกฎ ติโลกวิชัย: นักเขียนอิสระ อาชีพที่ประกอบไปด้วยความรัก จินตนาการ วินัย และการลงมือทำ

25/02/17   |   16.6k   |  

จินตนาการเป็นโลกที่ใกล้ชิดกับชีวิตวัยเด็กของใครหลายคน อาชีพที่ใช้จินตนาการขับเคลื่อนหลายอาชีพจึงกลายเป็นเป้าหมายของเด็ก ๆ เช่นกัน หนึ่งในหลายอาชีพนั้นคืออาชีพนักเขียน ผู้สร้างจินตนาการผ่านตัวหนังสือ ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้เหล่าหนอนหนังสือได้อ่านกัน แต่ใครจะรู้ว่าอาชีพนี้ทำงานหนักไม่ต่างจากอาชีพอื่น ไม่ได้ทำงานสบายอย่างที่หลายคนคิดและยังต้องมีวินัยในตนเองเป็นอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จได้
 

วันนี้ JobThai จะพาไปทำความรู้จักกับอาชีพนักเขียนอิสระให้มากขึ้น ผ่านการสนทนากับนักเขียนอิสระรุ่นใหม่ไฟแรงนามปากกา “ธรากร” ที่แม้จะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่แต่เขาสร้างสรรค์งานเขียนไว้หลากหลายแนว ตั้งแต่นวนิยายรักชวนฝัน นวนิยายแฟนตาซี ไปจนกระทั่งบทกวีนิพนธ์ นอกจากนี้นวนิยายของเขายังถูกหยิบไปทำเป็นละครโทรทัศน์อีกด้วย

 

 

  • อาชีพนักเขียนอิสระ เป็นอาชีพที่ทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  • คุณสมบัติที่นักเขียนอิสระควรมี คือ รักการเขียน รักการอ่าน ชอบเรื่องเล่า และอยากจะเล่าเรื่องที่คิดขึ้นเองให้ผู้อื่นฟัง
  • ถ้าอยากเป็นนักเขียนอิสระ ควรอ่านหนังสือหลากหลายประเภท เพื่อประยุกต์หาแนวทางของตนเองให้เจอ
  • อาชีพนักเขียนอิสระ ต้องมีวินัยในการทำงานสูงมาก เพราะความยากของอาชีพนี้คือ “การเขียนให้จบ”
  • รายได้ของนักเขียนอิสระมักจะเป็นรายได้ก้อนใหญ่ แต่ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับความนิยมของผลงานด้วย
  • รายได้ของนักเขียนมาจากส่วนแบ่งของราคาขายคูณยอดพิมพ์ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ไปทำเป็นละครหรือสื่ออื่น ๆ
  • งานเขียนจะเป็นลิขสิทธิ์ไปตลอดชีวิตและส่งต่อให้ลูกหลานเป็นเจ้าของได้อีก 50 ปี

 

 

แนะนำตัวจริงของ “ธรากร” และการศึกษาที่จบมาหน่อยค่ะ

ชื่อ กรกฎ ติโลกวิชัย จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก็จบทางด้านการประพันธ์มาโดยตรงครับ


รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียน

จริง ๆ แล้วชอบการเขียนการแต่งกลอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ประกวดเรียงความหรือแต่งกลอนก็จะได้รางวัลมาตลอด ในสมัยนั้นคนที่เป็นนักเขียนที่รู้จัก คือ คุณกฤษณา อโศกสิน คุณทมยันตี มีแต่รุ่นใหญ่ทั้งนั้น เลยรู้สึกว่าเราเป็นเด็กเราจะเขียนได้ยังไง จนกระทั่งมีหนังสือนวนิยายเรื่อง The White Road ของดอกเตอร์ป๊อปที่อายุไล่ ๆ กันออกมา เค้าอายุมากกว่าเราแค่ปีเดียว ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะเขียนได้

 


ทำอย่างไรจึงได้เข้าสู่วงการนักเขียนมืออาชีพ

นักเขียนเมื่อก่อนเกิดยากเพราะต้องไปลงนิตยสาร พอยุคหลัง ๆ มันมีโลกออนไลน์ แล้วเรารู้มาว่า The White Road ดังจากเว็บเด็กดี เราอยากเป็นแบบนั้นบ้างก็เลยลองเอานิยายไปลง พอลงไปก็มีคนมาคอมเมนต์มารออ่าน เป็นการสร้างฐานคนอ่านอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยม หลังจากนั้นเริ่มมีการนำวรรณกรรมในโลกออนไลน์มาตีพิมพ์ ตอนนั้นพี่ที่เป็น บ.ก. หนังสือหัวขโมยแห่งบารามอส ได้เข้ามาอ่านเรื่อง เซน วีรบุรุษสุดขอบฟ้า ที่เขียนลงไว้ในเว็บเด็กดี เค้าก็ติดต่อมาว่าอ่านเรื่องนี้แล้วสนใจ มีคนติดต่อมาตีพิมพ์หรือยัง ช่วงนั้นเรื่องนี้บนออนไลน์ก็กำลังจะจบแล้ว พอเขียนจบพี่เค้าก็ขอไปตีพิมพ์เลย


ถ้าไม่ได้จบด้านการประพันธ์มาจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ไหม

เป็นได้และปัจจุบันมีเยอะมากนะ บางคนจบปิโตรเลียม จบวิศวะฯ อะไรก็เป็นได้ อาชีพนักเขียนมันเป็นอาชีพที่เกิดจากการรักการเขียน รักการอ่าน เสพสื่อที่เป็นเรื่องเล่าอย่างละครหรืออะไรก็ตาม นักเขียนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้จบเอกภาษาไทย แต่ว่าการที่เราจบเอกภาษาไทย หรือด้านวรรณกรรมมาโดยตรงก็จะทำให้เราเขียนอย่างรู้หลักการ คือ ศาสตร์ทุกแขนงมันมีองค์ความรู้ของมัน มีหลักทฤษฎีต่าง ๆ เช่น เปิดเรื่องเปิดอย่างไร หรือการสร้างตัวละครเพื่อจะสื่อสารบางอย่างสร้างอย่างไร มันก็จะทำให้เกิดวรรณกรรมหรืองานเขียนหลายเกรด เราไม่ได้บอกของเราเกรดสูงนะ แต่ถ้าเป็นนักเขียนเกรดผู้ใหญ่หน่อย เขาก็จะคิดก่อนสร้างว่าตัวละครตัวนี้ต้องการบอกอะไรกับคนดู ทำไมตัวละครสองตัวถึงมาเจอกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องสื่อถึงอะไร ก็จะเป็นเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกระดับนึง

 

กว่าจะออกมาเป็นนวนิยายหนึ่งเล่ม นักเขียนต้องทำอะไรบ้าง

ถ้าเป็นเรื่องแรกของนักเขียนที่ยังไม่มีชื่อเสียงอย่างผมมีสำนักพิมพ์ติดต่อมา แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการเขียนต้นฉบับเสร็จแล้วก็ไปเสนอผ่านเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ในคอลัมน์รับต้นฉบับ โดยเขาจะแจ้งเงื่อนไขว่าต้องการความหนากี่หน้าและรับแนวไหนบ้าง เรื่องแรกของเราก็จะต้องเป็นการทำต้นฉบับให้เสร็จก่อนนำไปเสนอ ถ้าเกิดผ่านได้ตีพิมพ์ เริ่มมีผลงานเริ่มมีชื่อเสียง เรื่องต่อไปถ้าเราสนิทกับสำนักพิมพ์ก็อาจจะใช้วิธีเข้าไปคุย Plot เรื่องที่สองกับสำนักพิมพ์ ในสมัยนี้ไม่ยากแล้วนักเขียนหน้าใหม่ก็ได้พิมพ์กันค่อนข้างเยอะ

 

 

คนส่วนใหญ่คิดว่างานนักเขียนเป็นงานสบาย สบายจริงไหม

เป็นนักเขียนคนจะมองว่าสบาย ได้เงินก้อนใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งคือการเป็นนักเขียนคุณต้องมีวินัยสูงมาก คุณเป็นนักเขียนคุณไม่ได้เป็นลูกน้องใครแต่คุณต้องเป็นเจ้านายตัวเองให้ได้ อยากเป็นนักเขียน แต่วันนี้ง่วงไม่เขียน วันนี้เที่ยวไม่เขียน ไม่มีผลงานออกมา มันจะทำให้คุณมีแต่ฝัน ฝันว่าวันนึงเราจะเขียนให้จบ แต่ความฝันนั้นไม่ได้ถูกผ่านกระบวนการที่ทำให้เป็นจริง ซึ่งกระบวนการที่ทำให้ความฝันเป็นจริงนี้ย่อมยากกว่าที่เราคิดไว้เฉย ๆ อยู่แล้ว อย่างตัวผมเองในหนึ่งวันจะแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา ก็จะได้โดยประมาณอยู่ที่ห้าหน้า วันไหนที่เราเกเรกับตัวเองก็จะมีการชดใช้คืน มันก็มีวันที่ชดใช้คืนไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็พยายามรักษาวินัยของตัวเองให้มากที่สุด

 

ตอนเด็กเราจะได้ยินคำว่านักเขียนไส้แห้ง นักเขียนมีรายได้เป็นอย่างไรบ้าง

ขึ้นอยู่กับการสร้างผลงาน ความขยันและแนวที่เขียนว่าเป็นที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ไหม เช่น แนวรักก็มีโอกาสขายดีกว่าแนวสืบสวน นักเขียนทั่วไปเมื่อได้พิมพ์ก็จะได้เงินมาก้อนหนึ่งเป็นก้อนแรกสำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 1  จำนวนก็แล้วแต่การตกลงกับสำนักพิมพ์ ส่วนใหญ่ก็จะประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของราคาปกคูณยอดพิมพ์ ถ้าได้พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ถึงจะได้อีก แต่ถ้าได้รับการติดต่อซื้อไปทำเป็นละครก็จะได้ราคาค่อนข้างสูง แต่ละท่านจะได้ไม่เท่ากัน มีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลายแสน มันเป็นเหมือนกำไรที่ได้จากเขียนหนังสือไปได้เรื่องหนึ่งเพราะมันถูกต่อยอดไปได้หลายอย่าง

ข้อดีของการเป็นนักเขียน คือ ลิขสิทธิ์เป็นของเราไปตลอดชีวิต จนเราตายไปก็ยังส่งต่อลิขสิทธิ์ให้เป็นของลูกได้อีกห้าสิบปี ถ้างานเรื่องหนึ่งคุณเขียนแล้วเป็นที่นิยมมันจะเป็นรายได้ที่งอกเงยไม่จบไม่สิ้น แต่งานก็ต้องอยู่ในระดับที่เป็นที่รู้จักด้วย นักเขียนใหม่งานเล่มแรก ๆ อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก เราก็สั่งสมบารมีด้วยการเขียนไปเรื่อย ๆ ก่อน

 

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เคยท้อแท้บ้างไหม

มีหลายครั้งมาก เช่น จังหวะที่หนังสือออก อาจไปชนกับช่วงที่ไม่ดีทำให้ยอดขายไม่ดีตามไปด้วย มันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ตอนแรกเราคาดหวังไว้และความคาดหวังเรามันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากคาดหวังให้มีคนอ่านในเน็ต ก็เพิ่มเป็นได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ได้พิมพ์หนึ่งครั้งก็อยากให้มีครั้งที่สอง อยากให้เอาไปทำเป็นละคร อยากไปเขียนบทละครโทรทัศน์ สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็มีหลายครั้งที่ไม่เป็นอย่างที่เราหวัง

อย่างเรื่อง “เกมดาริกา” ที่ได้ทำเป็นละครโทรทัศน์ก็เคยส่งไปสองสำนักพิมพ์แล้วเขาตอบกลับมาแค่ไม่ผ่าน ไม่ผ่านเพราะอะไรก็ไม่ให้เหตุผล พอไม่ผ่านก็เสียใจสักพักหนึ่งแหละ แล้วเรารู้สึกว่าต้องสู้ต่อ รู้สึกว่าจะต้องทำมันให้ได้

 

ในฐานะนักเขียน มีอะไรที่จะต้องรับผิดชอบต่อคนอ่านบ้าง

เยอะมาก อย่างผมเองที่แน่นอน คือ เรื่องที่ดูหมิ่นสถาบันและเรื่องที่ทำร้ายสังคมมาก เช่น ลูกฆ่าพ่อฆ่าแม่ เรื่องข่มขืน หรือเรื่องที่อิโรติคมาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ควรออกจากงานเราเพื่อให้คนอ่านเสพอะไรแบบนี้ พยายามรักษามาตรฐานงานเราให้เป็นงานที่มีคุณภาพ เพราะเราก็อยากให้งานของเราชี้นำสังคม

 

 

คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นนักเขียนที่ดี คุณกรคิดว่ามีอะไรบ้าง

อย่างแรกเลยต้องรักหนังสือ รักการอ่าน ชอบดูอะไรที่เป็นเรื่องเล่า และอยากที่จะเล่าเรื่องที่คิดขึ้นเอง ที่สำคัญต้องลงมือทำ หลายคนจะบอกว่ารออายุเยอะก่อน รอความรู้แน่นก่อนหรือรอเกษียณก่อนค่อยเขียน การเขียนมันคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ ยิ่งเดี๋ยวนี้การติดต่อนักเขียนที่เราชื่นชอบก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก มี Social Media ก็เข้าไปฝากเนื้อฝากตัวขอคำแนะนำ ถ้าท่านใจดีอาจจะช่วยอ่านงานให้ ช่วยแนะนำงานให้ เราก็ต้องเรียนรู้ต้องพัฒนาไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการลงมือเขียนแล้วเขียนให้จบ เพราะตราบใดที่คุณอยากเป็นนักเขียนแต่คุณไม่ลงมือทำก็จะไม่ได้เป็นสักที

นอกจากนี้ต้องมีวินัย อย่าท้อแท้ และต้องขวัญแข็ง บางครั้งได้รับคำวิจารณ์แรง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่รุ่นเราที่เจอ แต่นักเขียนรุ่นใหญ่เค้าก็เคยเจอ แต่เค้าก็อยู่ได้ งานเขียนเป็นงานสาธารณะ พอออกมาแล้วทุกคนก็ต้องมีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ได้ แต่เราต้องหนักแน่นว่าอะไรคือจุดยืนของเรา อะไรเอามาปรับใช้พัฒนางานของเราได้ อะไรเป็นการด่าเอาสนุกปาก เปิดใจรับฟังคำติชมเพื่อเอามาพัฒนา ไม่ใช่หนักแน่นแล้วไม่รับฟังคำแนะนำ แล้วก็ต้องเป็นคนพัฒนาไม่หยุด อย่างเช่นตอนนี้เราเขียนแนวนี้ ต่อไปเราก็ต้องสร้างงานให้ดีขึ้น

 

ความยากของการเป็นนักเขียนคืออะไร

ความยากของการเป็นนักเขียนคือการเขียนให้จบ เพราะต้องมีความมุ่งมั่นที่สูงมาก ต้องเขียนงานที่หนามีต้นฉบับสองร้อยกว่าหน้า คนปกติเขียนงานหน้าเดียวก็ตายแล้ว แล้วเราต้องเขียนวันละนิดละหน่อย เพื่อรวมกันออกมาให้ได้สองร้อยหน้า บางเล่มผมใช้เวลาเขียนนานเก้าเดือนแม้ว่าจะเป็นเก้าเดือนที่ไม่ได้ต่อเนื่อง แต่ถ้านับวันแรกจนวันสุดท้ายก็ประมาณเก้าเดือน

 

ความประทับใจและกำลังใจในการทำงานของคุณกรคืออะไร

ส่วนใหญ่จะเป็นความคิดเห็นจากคนอ่าน มีแฟนนิยายมาตามแฟนเพจตามเว็บไซต์และมาเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ค เข้ามาชม เข้ามาคอมเม้น บางทีเรายุ่ง ๆ ไม่ได้เขียนต่อก็จะมีคนเข้ามาถามถึง เข้ามาบอกว่ารออยู่นะ มันทำให้รู้สึกว่ามีคนอ่านรอเราอยู่ การชื่นชมหรือการเรียกร้องว่าอยากอ่านต่อก็เป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไป

 

 

มีเรื่องที่คนเป็นนักเขียนอิสระต้องยอมรับให้ได้ไหม

มันเป็นงานที่อยู่กับตัวเองต้องคุมตัวเองให้อยู่ไม่ต้องตอกบัตร เขียนตีสามตีสี่ก็ไม่มีใครว่าแต่ต้องเขียนให้จบนักเขียน บางคนจะกำหนดว่าปีหนึ่งจะมีผลงานออกมาสี่เล่ม หมายความว่าสามเดือนได้หนึ่งเล่ม เล่มละสามร้อยหน้า ดังนั้นจะต้องเขียนวันละกี่หน้า แต่ละคนก็จะมีเป้าหมายและการวางแผนที่แตกต่างกันเพราะนักเขียนบางคนทำงานประจำ ต้องออกแบบการทำงานให้เหมาะกับตัวเองและนิสัยตัวเองด้วย
 

อยากให้คุณกรฝากข้อแนะนำถึงคนที่อยากเป็นนักเขียนแบบคุณกรบ้าง

ต้องเริ่มจากการมีใจรัก ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องอ่านนิยายให้เยอะ ทั้งรุ่นครูรุ่นใหม่ หลากหลายแนว บางแนวที่เราไม่ชอบก็ต้องลองอ่าน เพื่อจะประยุกต์หาแนวทางของตนเอง เพื่อให้มีลายเซ็นต์ของเรา ให้เป็นที่จดจำว่านี้เป็นงานเขียนของเรา ที่สำคัญมีความรักที่จะเขียนให้จบทำมันให้จบ แม้ว่าเล่มแรกของคุณจะไม่ได้ตีพิมพ์ แต่การเขียนให้จบก็เป็นการชนะใจตัวเองแล้ว อย่าท้อแท้ วางความฝันไว้ ตั้งความฝันไว้แล้วก็ต้องทำมันให้สำเร็จด้วย

 

บทสนทนาระหว่าง “ธรากร” กับ JobThai จบลงเหมือนการอ่านหนังสือเล่มบางที่จบอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนการอ่านบทความนี้คงเป็นการแนะนำให้คุณเปิดอ่านหนังสือที่ชื่นชอบซักเล่ม หรือจะเลือกเปิดคอมพิวเตอร์แล้วสัมผัสปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์เพื่อพาความฝันของคุณเข้าสู่กระบวนการทำให้มันเป็นจริงก็ได้ เพราะไม่ว่าฝันคุณจะเป็นอาชีพหรือการทำอะไรก็ตามไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าคุณไม่ลงมือทำ

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, นักเขียนอิสระ, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, การทำงาน, freelance



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม