Career Insight: 5 เรื่องที่ต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนตอบตกลงเข้าร่วมงาน

Career Insight: 5 เรื่องที่ต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนตอบตกลงเข้าร่วมงาน
26/07/17   |   28.7k   |  

หลักไมล์อีกหนึ่งหลักในชีวิตของคนเราก็คือการเข้าสู่โลกของการทำงาน น้อง ๆ นักศึกษาจบใหม่หลายคนก็เริ่มได้งานกันในช่วงนี้ หรือแม้แต่คนทำงานก็ดีการเปลี่ยนงานเองก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่เราจะต้องออกไปเจอสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ ๆ ที่ก็ต้องเสี่ยงว่าจะดีกว่าเดิมหรือเปล่า
 

มานึกย้อนกลับไปในวัยที่พี่เพิ่งเริ่มหางาน ตอนที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทแจ้งมาว่ารับพี่เข้าทำงาน พี่เองก็สนใจแค่ว่าเขาจะรับเราเข้าทำงานด้วยเงินเดือนเท่าไหร่ เป็นไปตามที่อยากได้หรือเปล่า จนลืมสนใจรายละเอียดและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ควรจะต้องรู้ไปในทันที
 

พี่คิดว่าน่าจะมีน้องทั้งที่จบใหม่หรือเคยผ่านการสัมภาษณ์งานมาแล้วหลายคนคงจะเคยเป็นมาบ้าง บางคนไม่ได้พลาดครั้งเดียว แต่พลาดหลายครั้งในประเด็นที่แตกต่างกันไป กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เราเสียผลประโยชน์เหล่านั้นไปแล้ว หรือข้อตกลงที่ไม่ได้คุยกันนั้นอาจจะกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานในองค์กรนั้นต่อไปได้  เกริ่นมาไกลขนาดนี้แน่นอนว่าพี่เดือนได้รวบรวมข้อมูลที่เราควรจะต้องสอบถามและทำความเข้าใจกับ HR ก่อนจะตอบตกลงร่วมงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาให้ทุกคนได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมไว้ในบทความนี้แล้วค่ะ

 

 

เมื่อทราบว่าบริษัทตอบรับเราเข้าทำงานแล้ว

... แม้ว่าเราทราบดีอยู่แล้วว่างานที่สมัครคือตำแหน่งอะไรและมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง

...เราก็ควรสอบถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ...


 

อย่างแรกที่ควรจะคุยกับ HR ให้ชัดเจนเมื่อทราบว่าบริษัทตอบรับเราเข้าทำงานแล้ว คือตำแหน่งและขอบเขตของงานที่เราจะต้องเข้าไปทำ แม้ว่าเราทราบดีอยู่แล้วว่างานที่สมัครคือตำแหน่งอะไรและมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง แต่ในวันที่มีเจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งว่ารับเข้าทำงาน เราก็ควรสอบถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่าเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เราสนใจจริงหรือเปล่า และหน้าที่รับผิดชอบเป็นไปตามที่เราไหม
 

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริง ๆ กับเพื่อนของพี่เดือนเองที่สมัครงานเข้าไปตำแหน่งผู้จัดการแผนกการตลาด เมื่อถึงเวลาไปทำงานจริง ๆ ตำแหน่งที่ได้ทำคือ Supervisor เท่านั้นเอง ดังนั้นการสอบถามเพื่อยืนยันตำแหน่งงานและหน้าที่รับผิดชอบ พี่เดือนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ควรจะสอบถามค่ะ

 

 

... เรื่องที่ควรสอบถามเกี่ยวกับเงินเดือนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวนเงินเท่านั้น

แต่ควรสอบถามถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนด้วย ...

 

 

เรื่องที่ 2 คือเรื่องของเงินเดือนค่ะ ไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวนเงินเท่านั้นนะคะ แต่ควรสอบถามถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนด้วย เช่น เงินเดือนออกทุกวันที่เท่าไหร่ หรือยอดเงินเดือนที่แจ้งมานี้รวมกับเบี้ยพิเศษอื่น ๆ เช่น ค่าตำแหน่ง หรือค่าภาษาด้วยหรือเปล่า
 

ตัวอย่างของข้อนี้เป็นสิ่งที่พี่เดือนประสบมาเองค่ะ ในตอนนั้นพี่ได้เข้าทำงานที่หนึ่งด้วยเงินเดือน 28,000 บาท แต่เมื่อพี่ตอบตกลงมาทำงานแล้วพี่จึงได้ทราบว่าเงินเดือนถูกแบ่งจ่ายเป็น 2 รายการ คือ เป็นเงินเดือนจำนวน 25,000 บาท ส่วนอีก 3,000 บาทเป็นค่าตำแหน่ง ซึ่งเงินจำนวนนี้จะส่งผลต่อโบนัสประจำปีเพราะทางบริษัทจะจ่ายโบนัสตามเงินเดือนเท่านั้น
 

เมื่อเรามาเข้าใจชัดเจนหลังจากเข้ามาทำงานพี่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้วนอกจากปล่อยเลยตามเลย ดังนั้นถ้าได้รับการยืนยันว่าบริษัทรับเราเข้าทำงานแล้ว พี่คิดว่าเรื่องเงินเดือนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรคุยรายละเอียดให้ชัดเจนค่ะ

 

 

... การสอบถามข้อมูลสวัสดิการ

ก็จะเป็นรายละเอียดที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับบริษัทดีหรือไม่ ...

 

 

เรื่องที่ 3 ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องสวัสดิการพิเศษนอกเหนือจากสวัสดิการพื้นฐาน เช่น มีโบนัสหรือไม่ หากมีการันตีกี่เดือนหรือดูตามผลงาน ผลประกอบการหรือเปล่า มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไหม หรือในบางตำแหน่งที่จะได้ค่าคอมมิชชันก็ควรจะต้องสอบถามให้ชัดเจนว่ามีรอบการเบิกจ่ายเงินค่าคอมมิชชันอย่างไร
 

รวมไปถึงมีประกันสุขภาพให้เพิ่มเติมนอกเหนือจากประกันสังคมหรือไม่ เพราะในปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลราคาค่อนข้างสูง การมีประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ การสอบถามข้อมูลสวัสดิการก็จะเป็นรายละเอียดที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมงาน เพราะเป็นผลประโยชน์ของคนทำงานทุกคนที่ต้องทราบว่าบริษัทมีนโยบายดูแลพนักงานอย่างไร
 

นอกจากสวัสดิการเหล่านี้แล้ว ยังมีสวัสดิการที่จะมีให้เฉพาะในระดับผู้บริหารขึ้นไป หลาย ๆ คนที่กำลังจะได้เลื่อนตำแหน่งไปอยู่ในสายงานบริหารก็ควรจะสอบถามถึงสวัสดิการเหล่านี้ได้ค่ะ เช่น ค่าที่จอดรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าโทรศัพท์ คนขับรถ รถประจำตำแหน่ง หรือในบางบริษัทจะมีการให้  Stock Options ซึ่งก็คือการให้พนักงานคนดังกล่าวซื้อหุ้นของบริษัทได้ในราคาพิเศษ หรือในบางกรณีอาจเป็นการให้เปล่าค่ะ

 

 

... ควรสอบถามวันและเวลาในการทำงาน ...

... เพราะแต่ละบริษัทก็จะมีวิธีบริหารจัดการวันลาของพนักงานที่ไม่เหมือนกัน ...

 

 

เรื่องที่ 4 ควรสอบถามก็คือเรื่องของวันและเวลาในการทำงาน ตั้งแต่วันที่จะให้เริ่มงานไปจนถึงวันลาประเภทต่าง ๆ ที่เราควรจะได้รับ เช่น เราได้รับวันลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อนอย่างละกี่วัน นอกจากจะทราบจำนวนวันลาแล้ว อย่าลืมสอบถามระเบียบอื่น ๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลาด้วยนะคะ เช่น วันพักร้อนใช้ได้เลยหรือไม่ หากใช้ไม่หมดสะสมได้หรือเปล่า หรือเปลี่ยนเป็นเงินได้ไหม เพราะแต่ละบริษัทก็จะมีวิธีบริหารจัดการวันลาของพนักงานที่ไม่เหมือนกันค่ะ

 

 

... ควรสอบถามกฎระเบียบสำคัญของบริษัท

หรือวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ควรทราบก่อนเข้าทำงาน ...

 

 

เรื่องกฎระเบียบสำคัญของบริษัท ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะถามเช่นกันค่ะ กฎระเบียบสำคัญ เช่น นอกจากตัวเนื้องานแล้ว สิ่งอื่นที่องค์กรให้ความสำคัญที่สุดในการประเมินผลงานของพนักงานคืออะไร  บริษัทมีนโยบายห้ามพนักงานรับงานพิเศษหรือไม่ หรือบริษัทมีวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ทางเราเองควรทราบก่อนเข้าทำงานหรือเปล่า เช่น คนที่จะร่วมงานกับ JobThai จะได้รับการแจ้งว่าเราให้ความสำคัญในเรื่องของการมาทำงานให้ตรงเวลา ดังนั้นการมาทำงานสายจะส่งผลต่อการประเมินผ่านงานนั่นเองค่ะ

 

ทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้พี่เดือนคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่เราควรสอบถามเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะตอบตกลงหรือปฏิเสธที่จะร่วมงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เมื่อพูดคุยปากเปล่ากันเป็นที่เข้าใจดีแล้ว คิดว่าเป็นที่ที่เราอยากจะร่วมงานด้วยก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเซ็นสัญญาจ้างงานค่ะ

 

 

... อย่าลืมตรวจสอบว่าข้อมูลที่ผ่านการพูดคุยมาก่อนหน้านี้

ถูกระบุอยู่ในเอกสารสัญญาจ้างงานแล้ว ...

... และข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ...

 

 

การเซ็นสัญญาจ้างเป็นการทำความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายให้ตรงกันด้วยเอกสาร ซึ่งชัดเจนกว่าการพูดปากเปล่าที่ไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิดหรือไม่ ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบว่าข้อมูลสำคัญที่ผ่านการพูดคุยมาก่อนหน้านี้ถูกระบุอยู่ในเอกสารสัญญาจ้างงานแล้ว และข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ นอกจากการตรวจสอบข้อมูลที่เราได้พูดคุยปากเปล่าให้ครบถ้วนแล้ว ควรอ่านเอกสารสัญญาจ้างงานอย่างละเอียดด้วยนะคะ เพราะในเอกสารสัญญาจ้างงานมักจะมีกฎระเบียบพิเศษอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากที่เราได้พูดคุยตกลงกัน เช่น บางบริษัทจะมีข้อกำหนดว่าหากลาออกจากบริษัทจะต้องไม่ย้ายไปร่วมงานกับบริษัทในธุรกิจประเภทเดียวกันเป็นระยะเวลา 2 ปี  หรือในบางประเภทธุรกิจอาจจะมีข้อบังคับในเรื่องของลิขสิทธิ์ผลงานในขณะที่ร่วมงานกับบริษัท เป็นต้น

 

ถ้าหลายคนอ่านบทความนี้จบแล้วยังรู้สึกประหม่าไม่กล้าสอบถามข้อมูลเหล่านี้จาก HR พี่เดือนอยากจะให้ทุกคนมั่นใจอีกครั้งว่าเรื่องเหล่านี้นั้นเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องสอบถามอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดเลยค่ะ สถานการณ์ที่เราพูดถึงกันในวันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับการตอบรับเข้าร่วมงานกับองค์กรแล้ว และทาง HR ย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความต้องการทราบข้อมูลเหล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมงานกับบริษัท

 

นอกจากนี้ถ้าเราปล่อยให้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านเลยไปเมื่อมาทราบทีหลัง แม้ว่าเราจะรู้สึกไม่พอใจมากแค่ไหนก็จะไม่สามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของตนเองได้แล้วนะคะ พี่เดือนขอให้น้อง ๆ ที่กำลังมองหางานอยู่พบงานที่เหมาะสมกับตนเองไว ๆ แล้วอย่าลืมพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีก่อนตอบตกลงร่วมงานนะคะ

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงานที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเพื่อน

tags : งาน, หางาน, สมัครงาน, สัมภาษณ์งาน, interview, สัญญาจ้างงาน, career insight



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม