“ถ้าตกลงทำงานกับบริษัท A แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มงาน หลังจากนั้นเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากทำงานในบริษัท A แล้ว จะบอกยกเลิกอย่างไรดีคะ”
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีน้อง ๆ ได้เปิดประเด็นสนทนานี้ขึ้นมาให้พี่เดือนช่วยแนะนำ เรื่องนี้พี่รู้สึกว่าตอบยากมาก ที่บอกว่ายากไม่ใช่เพราะไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร แต่เป็นเพราะการปฏิเสธที่จะร่วมงานกับบริษัทที่ตอบตกลงไปแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ถ้าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการรับมือที่ดีที่สุด ซึ่งข้อมูลตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คนได้ พี่เดือนจึงอยากนำมาเล่าให้น้อง ๆ ที่ติดตาม Career Insight ได้ทราบกันด้วยค่ะ
ก่อนจะตอบตกลงร่วมงานกับใครหรือกับบริษัทใดก็ตาม
ควรคิดให้รอบคอบก่อน
เพราะเมื่อตอบตกลงไปแล้วจะเปลี่ยนใจในภายหลังก็จะทำได้ยากแล้ว
พี่ขอบอกก่อนเลยว่าการปฏิเสธที่จะร่วมงานหลังตอบตกลงไปแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะคะ คำแนะนำแรกของพี่ คือ ก่อนจะตอบตกลงร่วมงานกับใครหรือกับบริษัทใดก็ตาม ควรคิดให้รอบคอบก่อน เพราะเมื่อตอบตกลงไปแล้วจะเปลี่ยนใจในภายหลังก็จะทำได้ยากแล้วนะคะ ดังนั้นถ้าฝ่ายบุคคลแจ้งว่ารับเข้าทำงานแล้ว น้องสามารถขอเวลาจากฝ่ายบุคคลได้ 1-2 วัน เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ได้มาอีกรอบหนึ่งก่อนที่ให้คำตอบกลับไป แต่ถ้าตอบตกลงไปแล้วแต่เกิดอยากจะเปลี่ยนใจขึ้นมาจริง ๆ พี่เดือนก็มีวิธีแจ้งฝ่ายบุคคลของบริษัทที่เราจะปฏิเสธมาแนะนำ เพื่อรักษาชื่อเสียงของตัวเราเองและรักษาความสัมพันธ์กับบริษัทที่เราปฏิเสธงานไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สิ่งแรกที่พี่เดือนคิดว่าต้องทำหลังจากที่ตัดสินใจว่าเราจะเปลี่ยนใจไม่ร่วมงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คือ แจ้งฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นให้ทราบโดยเร็วที่สุดค่ะ เราต้องเห็นใจบริษัทที่เตรียมตัวรับเราเข้าไปทำงานด้วยนะคะ เขาอาจจะเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ หรือมีงานสำคัญที่จะให้เราเข้าไปรับผิดชอบรออยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงไม่ควรหายไปเงียบ ๆ โดยไม่บอกกล่าว เพราะทางบริษัทอาจจะบันทึกไว้ว่าเรามีพฤติกรรมที่ไม่ดีในการสมัครงาน ซึ่งข้อมูลตรงนี้ถ้าถูกส่งต่อไปให้กับฝ่ายบุคคลที่บริษัทอื่น ๆ ก็จะทำให้เราสมัครงานยากขึ้นนะคะ
โทรศัพท์ไปแจ้งฝ่ายบุคคลโดยตรง
ว่าต้องการปฏิเสธที่จะร่วมงานกับบริษัทของเขา
ควรอธิบายให้เขาทราบด้วยว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนใจ
…อย่าลืมกล่าวคำขอโทษที่ทำให้ทางบริษัทของเขาเสียเวลาด้วย
วิธีการแจ้งที่ดีที่สุดในความคิดของพี่ คือ การโทรศัพท์ไปแจ้งฝ่ายบุคคลโดยตรงว่าต้องการปฏิเสธที่จะร่วมงานกับบริษัทของเขา ควรอธิบายให้เขาทราบด้วยว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนใจ เช่น ได้รับข้อเสนอที่ดีจากอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเราได้พิจารณาแล้วว่าตรงกับความต้องการของเรามากกว่า จึงอยากขอปฏิเสธข้อตกลงที่คุยกันไว้ เหตุผลตรงนี้ควรแจ้งไปตามความจริงนะคะ ไม่ควรโกหกหรือสร้างสถานการณ์ขึ้นใหม่ เมื่ออธิบายเหตุผลทั้งหมดแล้วก็อย่าลืมกล่าวคำขอโทษที่ทำให้ทางบริษัทของเขาเสียเวลาด้วย การเจรจาด้วยคำพูดดี ๆ ก็พอจะช่วยลดความรู้สึกที่ไม่ดีลงไปได้บ้างค่ะ
แต่ถ้าน้อง ๆ ไม่กล้าที่จะเจรจากับฝ่ายบุคคลโดยตรง เปลี่ยนเป็นการเขียนอีเมลแจ้งก็ได้นะคะ เนื้อหาที่ควรเขียนลงในอีเมลก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่พี่แนะนำไปก่อนหน้านี้ ว่าควรอธิบายถึงเหตุผลที่เราขอยกเลิกข้อตกลงที่จะร่วมงานกับเขา อย่าลืมใช้รูปแบบจดหมายที่เป็นแบบทางการด้วยนะคะ เพื่อให้เกียรติบริษัทที่ให้โอกาสรับเราเข้าทำงานและยังช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทนั้นไว้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าในอนาคตเราจะต้องวนกลับมาร่วมงานกับบริษัทนี้อีกหรือเปล่า
ระมัดระวังในกรณีที่เซ็นสัญญาจ้างงานไปแล้วด้วย
เพราะสัญญาจ้างงานจะมีผลบังคับตามกฎหมาย
การทำผิดสัญญาจึงอาจส่งผลกระทบตามมา
การปฏิเสธที่จะร่วมงานหลังจากตกลงรับงานไปแล้ว พี่อยากให้ระมัดระวังในกรณีที่เซ็นสัญญาจ้างงานไปแล้วด้วยนะคะ เพราะสัญญาจ้างงานจะมีผลบังคับตามกฎหมาย การทำผิดสัญญาจึงอาจส่งผลกระทบตามมา เช่น ในบางตำแหน่งงานที่มีผู้ค้ำประกันการสมัครงาน การบอกปฏิเสธงานก็อาจจะทำให้ผู้ค้ำประกันเดือนร้อนไปด้วย ดังนั้นถ้าเซ็นสัญญาจ้างงานแล้วก็ไม่ควรยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด หากต้องการยกเลิกสัญญาจริง ๆ ควรดูรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาให้ดีหรือปรึกษาฝ่ายบุคคลของบริษัทที่รับเราเข้าทำงานโดยตรงเลยดีกว่าค่ะ
เหนือสิ่งอื่นใด พี่ขอย้ำอีกครั้งว่าพี่ไม่แนะนำให้ปฏิเสธงานหลังจากตอบตกลงไปแล้วนะคะ เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อตัวน้องเอง บางบริษัทอาจถึงขั้น Blacklist รายชื่อน้องไว้ หรือถ้าน้องสมัครงานในบางสาขาอาชีพที่วงการค่อนข้างแคบ ชื่อเสียงของน้องก็อาจจะถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดี ทำให้โอกาสได้งานในสายงานยากขึ้นด้วยค่ะ ดังนั้นก่อนตอบตกลงควรคิดและพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนนะคะ พี่เดือนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกการตัดสินใจของน้อง ๆ ที่กำลังหางานค่ะ
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน