เทคนิคเพิ่มพลังสร้างสรรค์งาน สำหรับคนทำงานสาย Creative จาก Taika Waititi ผู้กำกับ Thor: Love and Thunder

11/07/22   |   2.5k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หลายปีที่ผ่านมา Marvel Studios ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ภายใต้บริษัทแม่อย่าง Disney ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ที่ครองใจผู้ชมทุกวัย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยได้เริ่มปลุกกระแสความนิยมของฮีโร่ Marvel ให้ขึ้นมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์นับตั้งแต่การฉายของบุรุษเหล็กIRONMAN ภาคแรกในปี 2008 ทั้งนี้การจะยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงในระยะยาวได้จำเป็นต้องอาศัยไอเดียสดใหม่และการสร้าง Content ที่ดึงดูดใจกลุ่มลูกค้าให้อยู่หมัดอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งกระบวนการสร้างความแตกต่างในการแข่งขันทางธุรกิจนี้ต้องอาศัยพลัง Creative จากคนทำงานที่ผลิตงานที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่านอกจากการถือครองลิขสิทธิ์ในการทำหนังจากตัวละครฮีโร่ที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมากที่เป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งแล้ว Marvel ยังขึ้นชื่อเรื่องการคัดเลือกคนเก่งที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรในการพัฒนาและสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน 

 

วันนี้ JobThai จึงขอนำเสนอเทคนิคสร้างสรรค์ไอเดียสุดบรรเจิดของ Taika Waititi ผู้กำกับที่มากับไอเดียสุดแหวก จน Marvel และ Disney ยังต้องยอมรับในความสามารถและไว้ใจให้มากำกับภาพยนตร์ของ Thor ถึงสองภาค คือ Thor: Ragnarok ในปี 2017 และ Thor: Love and Thunder ในปี 2022 นี้ มาดูกันว่าสำหรับคนทำงานในสาย Creative คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือ คนทำงานสายอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ต้องทำอย่างไรบ้าง ไอเดียของเราถึงจะปัง และทำให้งานของเราประสบความสำเร็จ เหมือนกับผู้กำกับคนนี้  

 

ดูงานสาย Marketing/ Advertising/ Creative ทั้งหมด ได้ ที่นี่

 

พลังแห่งการสร้างสรรค์ (Creativity) Soft Power ที่องค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญ

Marvel Studios ถือเป็นค่ายหนังยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จกับการทำหนัง ทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ของหนัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการสร้างภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ในปัจจุบัน คือ ความสดใหม่ในการเล่าเรื่อง ยิ่งเป็นตัวละครใหม่ที่อยากแนะนำให้คนดูรู้จัก ยิ่งหลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องตามโครงสร้างของการเขียนบทตามสูตรสำเร็จไม่ได้ ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องก็มักจะเริ่มต้นด้วยการปูภูมิหลังของตัวละคร ตามด้วยการเจอกับอุปสรรคของตัวละคร และสุดท้าย คือ การเอาชนะอุปสรรคนั้นจนได้ในที่สุด นั่นทำให้คนดูเริ่มอิ่มตัวกับหนังแนวนี้ที่ยังติดกรอบกับวิธีการเล่าเรื่องแบบเดิม ๆ จะเห็นได้ว่าแม้แต่บริษัทชั้นนำในธุรกิจบันเทิงระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ยังต้องหาวิธีพัฒนาตนเองเพื่อการแข่งขัน ปรับกลยุทธ์และปลุกพลังความสร้างสรรค์ที่ต้องไม่ซ้ำกับคู่แข่ง และต้องก้าวข้ามตัวตนของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน 

 

นอกเหนือไปจากความเป็น Action ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่อยู่แล้ว ในระยะหลัง Marvel ได้ปรับแผนใหม่ ออกแบบให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีเอกลักษณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย  เห็นได้จาก Spider-Man ที่เป็นหนังแนววัยรุ่นเรียนรู้วิธีการโตไปเป็นผู้ใหญ่ (Coming-of-Age) ในขณะที่ Ant-Man and the Wasp ก็เป็นแนว Romantic Comedy หรือ หนังภาครวมพลังฮีโร่อย่าง Avengers: Infinity War ก็ถูกออกแบบการสร้างให้เป็นแนวโจรกรรม (Heist Movie) ที่เปลี่ยนจากการปล้นธนาคารมาเป็นการที่ Thanos ตัวร้ายของเรื่องวางแผนแย่งชิงอัญมณีมาจากเหล่าฮีโร่แทน นอกจากนี้สิ่ง Marvel ทำได้ดีมาตลอด ก็คือกระบวนการในการคัดเลือกผู้กำกับเพื่อมารับหน้าที่สำคัญในการทำให้ตัวละครฮีโร่จากการ์ตูนอันเป็นที่รักของบรรดาแฟน ๆ นั้นออกมาโลดแล่นและมีชีวิตในจอภาพยนตร์จนทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจและรอคอยให้มีภาคต่อไป

 

เป็นที่รู้กันในวงการว่า Marvel เก่งเรื่องการเฟ้นหาผู้กำกับที่แม้จะยังไม่ใช่ผู้กำกับชื่อดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เมื่อได้มากำกับหนังของ Marvel แล้วก็สามารถทำให้หนังประสบความสำเร็จได้เช่นกัน และหนึ่งในผู้กำกับมากความสามารถก็คือ Taika Waititi ที่แฟน ๆ คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เราจะไปดูกันว่าทำไม Taika Waititi ผู้กำกับมาดกวนคนนี้ถึงถูกทาบทามจาก Marvel ให้มาพลิกโฉมตัวละครThor แบบใหม่หมดจด ผ่านการถอดบทเรียนความสำเร็จของชีวิตการทำงานในวงการ Creative ของเขา

 

รักในความเป็นตัวเอง ใส่ตัวตนที่เป็น Signature เข้าไปในงานที่ทำ 

Taika David Cohen หรือ Taika Waititi เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาตินิวซีแลนด์ที่แฟนภาพยนตร์หลายคนเริ่มคุ้นหน้าค่าตากันมากขึ้น นอกจากเขาจะเป็นผู้กำกับแล้ว เขายังเป็นคนเขียนบท และรับงานแสดงเป็นครั้งคราวอีกด้วย ภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักของเขามีตั้งแต่หนังฟอร์มเล็กอย่าง Boy (2010), What We Do in the Shadows (2014), Hunt for the Wilderpeople (2016) และ Jojo Rabit (2019) ไปจนถึงหนังฟอร์มยักษ์ของ Marvel อย่าง Thor: Ragnarok (2017) ผลงานของ Taika นั้นขึ้นชื่อเรื่องการสอดแทรกอารมณ์ขันไว้ในภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เขาทำ เพราะนั่นคือตัวตนที่แท้จริงของเขา Taika Waititi มักจะให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งถึงการใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไปในงานที่ทำ เพราะการใช้คนอื่นเป็นแรงบันดาลใจ หรือ การเป็นศิลปินที่ไล่ตามเงาของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา อาจจะทำให้เราไม่มีความสุขเท่ากับการที่ได้เป็นตัวของเราเอง แม้การเป็นตัวเองจะไม่สมบูรณ์แบบ หรือแปลกว่าชาวบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล นอกจากนี้ Taika Waititi ยังเลือกที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนของคนพื้นเมืองเมารีตามสายเลือดทางฝั่งพ่อของเขา  ผ่านการเขียนบทภาพยนตร์ทั้งเรื่อง Boy และ Hunt for the Wilderpeople ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครมีเชื้อสายคนพื้นเมือง ตลอดจนการสร้างตัวละครที่มีมิติซับซ้อนและคลุมเครือได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในวงการภาพยนตร์ในปัจจุบัน ด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ และมุมมองในการเล่าเรื่องที่แตกต่างผ่านผลงานการกำกับภาพยนตร์และการเขียนบทนี้เอง ทำให้ Taika Waititi เริ่มโด่งดังในวงกว้าง อีกทั้งผลงานของเขายังได้รับรางวัลจากหลายเวที และได้เป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์มากขึ้นในปี 2020 ด้วยการชนะรางวัลในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) จากภาพยนตร์เรื่อง Jojo Rabbit  

 

ไม่มีใครรู้จักเราดีกว่าตัวเอง คนที่ทำงานสร้างสรรค์ Content หลาย ๆ คนอาจได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจส่วนตัว ความถนัด หรือ สิ่งที่เราทำได้ดี ทักษะหรือประสบการณ์ที่เรามีอาจกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยต่อยอดในการพัฒนาไอเดียในเชิงสร้างสรรค์ได้  เมื่อเราสร้างผลงานที่มีคุณภาพผ่านกระบวนการคิดและพัฒนามาเป็นอย่างดีแล้ว ให้ลองใส่เอกลักษณ์ของเราเข้าไปในการทำงานด้วย ผลงานนั้นก็จะหลอมรวมกันและกลายเป็น Signature ที่ใครเห็นก็จดจำได้ซึ่งอาจสร้างความโดดเด่นในชื่อเสียงการทำงานและอาจกลายเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในอนาคต   

 

5 นิสัยเฉพาะตัวของคนที่ประสบความสำเร็จ

 

ทำลายทุกข้อจำกัด ใส่ไอเดียสร้างสรรค์ให้เต็มที่เท่าที่มีโอกาส  

“กฎระเบียบนั้นมีไว้ให้คนปฏิบัติตาม แต่สำหรับบางคน กฎก็มีไว้ให้ฉีก” หลายคนคงเคยได้ยินสำนวนทำนองนี้กันมาบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงสำหรับ Taika Waititi ที่ได้เปลี่ยนตัวละครในจักรวาล MCU (Marvel Cinematic Universe) อย่าง Thor เทพเจ้าแห่งสายฟ้าที่มีเนื้อเรื่องสุดเชยและดำเนินเรื่องตาม Comic เป๊ะ ๆ เป็นการสร้างรสชาติใหม่และทำให้ตัวละครน่าสนใจขึ้น ด้วยการเปลี่ยนโทนการเล่าเรื่อง ใส่ความตลก และไอเดียแหวกแนวที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าจะได้เห็น Thor ในลักษณะนี้ทำให้คนดูกลับมาสนใจหนังเดี่ยวของ Thor อีกครั้ง 

 

ในการทำงานก็เช่นกัน ถ้าเราทำงานเหมือนเดิมทุกอย่าง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะออกมาแบบเดิม ๆ ลองหัดตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังถูกตีกรอบการทำงานด้วยกฎเกณฑ์เดิม ๆ ที่คนอื่นบอกว่าดี หรือ ทำตาม ๆ กันมาบ้างหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ การทำงานในบางเรื่องนั้นมาพร้อมกับกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกกำหนดมาให้คนนั้นทำตามเพื่อผลลัพธ์ที่ตายตัว แต่การทำงานในยุคใหม่ที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยและซับซ้อน หรือความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและมีทางเลือกมากขึ้น การทำงานตามขั้นตอนเดิม ๆ จึงอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป คำตอบจึงอยู่ที่ คนทำงานอย่างเรานี่แหละที่จะต้องกล้าคิดนอกกรอบ หาไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกของการทำงาน ระลึกไว้เสมอว่าการแก้โจทย์ในการทำงานจริงอาจจะไม่ได้ตายตัวเหมือนสูตรคณิตศาสตร์ที่เราเรียนในตำรา และอาจไม่ได้มีเพียงวิธีการเดียวที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ลองทบทวนดูว่างานที่ทำอยู่มีตรงไหนที่พอจะปรับเปลี่ยน หรือ ทำให้ดีขึ้นโดยไม่ทำตามแบบอย่างเดิม ๆ ได้อย่างไรบ้าง การใส่ไอเดียที่แตกต่างและสดใหม่ในการทำงานจึงต้องมาพร้อมกับการเตรียมความพร้อมและการศึกษาเรื่องที่เราจะทำให้ดี ซึ่งต้องใช้ทักษะทั้งการค้นคว้า การวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง และการเชื่อมโยงภาพรวมทุกส่วนของงานเข้าด้วยกัน

 

คุณสมบัติจากตัวละคร MARVEL ที่คนทำงานต้องมี หากอยากเป็นฮีโร่ในที่ทำงาน

 

ตัวอย่างที่ Taika Waititi แสดงให้เราได้เห็น คือ นอกจากการเขียนบทเพื่อให้นักแสดงเล่นตามแบบเป๊ะๆ ซึ่งเป็นวิธีการทำงานตามปกติแล้ว เขาสังเกตว่าการแสดงของ Chris Hemsworth ในบท Thor และ Tom Hiddleston ในบท Loki นั้นมีเคมีที่เข้ากันได้อย่างดี โดยเฉพาะฉาก Improvise หรือการเล่นนอกบทในฉากที่ต้องต่อมุกจิกกัดแสบ ๆ คัน ๆ ตามประสาพี่น้องตามท้องเรื่องอยู่แล้ว (ทั้งคู่ฉายแววความฮาออกมาจากการปรากฏตัวในหนัง Avengers ภาคก่อน และผู้ชมก็ชื่นชอบมาก ๆ) เขาจึงต่อยอดจากจุดนี้และปรับบทและโทนของเรื่องให้สนุกมากขึ้น โดยเน้นไปที่อารมณ์และความสัมพันธ์ของตัวละคร มากกว่าการเขียนบทให้ตัวละครทำภารกิจที่สำคัญต่อการดำเนินเรื่องเพียงอย่างเดียว

 

เมื่อส่วนผสมที่ลงตัวของการเขียนบทที่แหวกแนว ผสมกับความสามารถในการแสดงในโทนเบาสมองของนักแสดงที่มีเคมีเข้ากันทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Thor: Ragnarok กลายเป็นกระแสอีกครั้งเพราะคนดูบอกกันปากต่อปากว่า Thor ภาคใหม่นี้สนุกและตลกกว่าภาคก่อนมาก แม้ในอดีตหนังเดี่ยวของเทพบุตรสายฟ้าถูกมองว่าน่าเบื่อ และดูโบราณเกินไป แต่ Taika Waititi ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้ Thor กลายเป็นฮีโร่สายฮานั้นเป็นไปได้ ถ้าวิเคราะห์ลึก ๆ แล้ว หนังซูเปอร์ฮีโร่แทบทุกเรื่องแม้จะอ้างอิงจากเนื้อเรื่องและลักษณะของตัวละครในฉบับการ์ตูน แต่การทำภาพยนตร์ฉบับคนแสดงจริงยังเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหรือคนเขียนบทสามารถดัดแปลงให้เหมาะกับTrend ของยุคสมัยหรือความชอบของคนดูที่เปลี่ยนไปได้

 

เทคนิคนี้เราสามารถประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริงเช่นกัน ถ้าเราทำการบ้านมาดีพอ ได้ศึกษางานของเราจนมองเห็นภาพรวมและรู้ว่าตรงไหนควรปรับเพิ่ม ตรงไหนที่ควรรักษาของเดิมไว้ แม้จะมีกฎระเบียบ หรือเป้าหมายที่ถูกกำหนดมาแล้ว แต่ก็ยังมีพื้นที่ว่างพอให้เราจะใส่ไอเดีย หรือความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ ทำให้การทำงานตามเป้าหมายนั้นไม่น่าเบื่อ เปลี่ยนจากการทำตาม ๆ กันมาเพราะเขาบอกว่าดี เป็นพยายามหาวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งกับการพัฒนาตัวเราเอง การทำงานของทีม และบรรลุเป้าหมายขององค์กรในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เรียกได้ว่า Win-Win กันทุกฝ่าย

 

หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากเปลี่ยนทีมให้เป็นสุดยอดครีเอทีฟทีม

 

กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เคยมีใครบอกคุณว่า “ไอเดียนี้ทำไม่ได้หรอก เคยลองดูแล้ว อย่าเสียเวลาเลย” บ้างไหม? Taika Waititiเป็นผู้กำกับคนแรกที่กล้านำเสนอตัวร้ายหลักที่เป็นผู้หญิง ในจักรวาล MCU โดยตัวละคร Hela ซึ่งแสดงโดย Cate Blanchette นั้นมีตัวตนอยู่ในหนังสือการ์ตูนของ Marvel อยู่แล้ว แต่ Taika Waititi ได้ปรับบทและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของตัวละครใหม่ให้เข้ากับบริบทของฉบับภาพยนตร์ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้แฟนบางกลุ่มไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากนี้ก่อนที่เขาจะได้รับหน้าที่กำกับ Thor: Ragnarok บทของหนังในภาคนี้ถูกวางไว้ให้มีความ Dark มากกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ของ Marvel แต่ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้กำกับใหม่ ๆ เขาก็กล้าที่จะเผชิญกับเสียงคัดค้านจากคนที่ไม่เห็นด้วย และได้เปลี่ยนโทนของหนังเรื่องนี้จากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

บางครั้งไอเดียที่สร้างสรรค์อาจจะไม่ต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดก็ได้  เรื่องบางเรื่อง คนอื่นอาจจะเคยมีคนคิดจะทำแต่ไม่กล้าทำเสียที หรือ ลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวคนกลุ่มนั้นก็อาจจะคัดค้านไอเดียของเราด้วยความหวังดี หรือ ทำตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเราก็ได้ ตัวอย่างของ Taika Waititi คือ การกล้าที่จะลงมือทำ และไม่กลัวงานยาก หากมีคนอื่นคอยเตือนว่าเคยลองทำแล้วแต่ไม่สำเร็จก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทำไม่ได้ นอกจากนี้ การที่เขากล้าปรับให้ตัวละคร Thor มีภาพลักษณ์ใหม่จนคนดูแทบจำไม่ได้ แสดงว่าเขาเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีและรู้จักที่จะสรรหาไอเดียใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับงานที่เขาทำสำหรับ Marvel ในขณะเดียวกันการเล่าเรื่องที่ไม่ซ้ำใครของเขาในหนังเรื่องอื่น ๆ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน 

 

คนทำงานในสาย Creative ยิ่งน่าจะเข้าใจดีว่า งานบางอย่างตัดสินกันที่ความเฉียบขาดของไอเดียจริง ๆ นั่นทำให้การทำงานเพื่อตามกระแสให้ทันอย่างเดียวอาจไม่พอ บางครั้งเราต้องเรียนรู้และกล้าที่จะเป็นผู้นำ Trend เองบ้าง  เช่นเดียวกับคนที่ทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คนที่มีไอเดียที่แตกต่างเท่านั้นถึงจะได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด การสร้างสิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเราเอง และสิ่งนั้นไม่มีใครในตลาดลอกเลียนแบบได้ หรือ หากทำได้ก็ไม่ดีเท่ากับเรา ถ้าเราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการในลักษณะนี้ออกมาได้ สามารถคิด Solution ให้กับสังคมในประเด็นที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน โอกาสในการประสบความสำเร็จก็จะเป็นของเรา

 

แน่นอนว่าไอเดียที่แปลกใหม่ อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกระทบกับคนบางกลุ่มไม่ว่าจะลูกค้าขององค์กร หรือ เพื่อนร่วมงานของเราที่อาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับไอเดียของเรา การพัฒนาไอเดียที่สร้างสรรค์และไม่เคยมีใครทำมาก่อน บางครั้งเราก็ต้องประเมินสถานการณ์และยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะตามมาก่อนลงมือจริง ลองศึกษาและทำความเข้าใจผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียให้ดี และใช้วิธีการเข้าหาที่นุ่มนวลเพื่อโน้มน้าวคนที่ไม่เห็นด้วยมีท่าทีที่โอนอ่อนผ่อนตาม ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล ตลอดจนเคารพและให้เกียรติเพื่อให้คนที่เห็นต่างเปิดรับไอเดียของเรามากขึ้น แล้วชีวิตของเราจะง่ายขึ้นอีกเยอะ

 

ทัศนคติในการทำงานสไตล์ Benedict Cumberbatch ที่ทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นเหมือนใช้พลังของ Doctor Strange

 

ทำตัวให้เป็น Game Changer หรือ คนที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างดีขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับไป ภาพยนตร์ Thor สองภาคแรก ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าน่าเบื่อเกินไปเมื่อเทียบกับหนังของฮีโร่อื่น ๆ ทำให้ Marvel Studios เริ่มมองหาผู้กำกับหน้าใหม่เพื่อมาคุม Project นี้ ซึ่ง Taika Waititi ก็ได้กลายมาเป็นผู้กำกับที่เป็น Game Changer ผู้เข้ามาพลิกฟื้นให้ตัวละคร Thor มีสีสันมากขึ้นและกลับมาน่าสนใจได้อีกครั้ง เขายังได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ร่วมงานกับ Marvel เพราะผู้บริหารต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Marvel น่าจะไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วว่าเขามีศักยภาพมากพอ ด้วยทักษะที่โดดเด่น และประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำหนังเรื่องก่อน ๆ ซึ่งน่าจะช่วยยกระดับให้งาน Production ที่มีคุณภาพดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น ตลอดจนช่วยเติมเต็มรสชาติที่ยังขาดหายไปในจักรวาล MCU 

 

แน่นอนว่า หนังของ Marvel นั้นมักจะมีมุกตลกสอดแทรกอยู่บ้าง แต่ก็มีไม่กี่เรื่องที่จะจัดเต็มความฮาได้แบบไม่มีพักแบบ Thor: Ragnarok ซึ่งการตัดสินใจปรับโทนเรื่องให้เบาสมองมากขึ้นก็อาจจะไม่ถูกใจแฟน ๆ ไปเสียทุกคน แฟนบางกลุ่มที่มองว่าเป็นการบิดเบือนตัวตนของตัวละครจากต้นฉบับมากเกินไป หรือ ความแปลกใหม่นี้อาจจะแตกต่างจากเดิมจากภาพจำที่พวกเขาคุ้นชินจนทำให้ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใจยอมรับ ส่วนนี้จึงต้องอาศัยความหนักแน่นในการแสดงจุดยืนว่าไอเดียใหม่นี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรที่ต้องการให้คนดูกลับมาสนใจ Thor (ซึ่งตรงเป้าหมายของ Marvel ในการ Soft-Reboot ภาพลักษณ์ของ Thor) บวกกับความเป็นผู้นำในลักษณะ Transformational Leaderที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับคนในทีมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ นอกจากการดูแลรายละเอียดองค์ประกอบของหนัง ใส่ใจเรื่องการแสดงของนักแสดง และมอบหมายภารกิจให้ทีมงานแต่ละคนแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ในการเจรจาต่อรองกับผู้สร้างภาพยนตร์ และคณะผู้บริหารของค่ายหนังที่มีหน้าที่อนุมัติและมีสิทธิ์ชี้ขาดในการกำหนดทิศทางของหนังที่จะสร้างด้วย เรียกได้ว่าการจะเป็น Game Changer ได้นั้น นอกจากจะต้องเก่งเรื่องการสร้างสรรค์ไอเดียแล้ว ยังต้องใช้ทักษะอื่น ๆ ในการบริหารคนและงานไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น การเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ทีมงานและนักแสดงเชื่อมั่นว่าผลงานนั้นจะออกมาดีตามแผนที่วางไว้ การแสดงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้คนในทีมเห็นภาพความเป็นไปได้ในการแปลงไอเดียสุดบรรเจิดที่เรามีให้กลายเป็นจริงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรือแม้แต่ การเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างคนในทีมของเราที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงและผู้บริหารที่คอยกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรในภาพรวม ไอเดียของเราถึงจะกลายเป็นจริงได้ ไม่ใช่ไอเดียที่ดีแต่ถูกแขวนไว้จนฝุ่นเกาะ

 

Taika Waititi จึงเป็นตัวอย่างของคนที่เป็น Game Changer ตัวจริง เป็นผู้สร้าง Dynamic ใหม่ให้ทีม ทำตัวเองเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ใคร ๆ ก็ต้องการได้มาร่วมทีม เห็นได้จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Thor: Ragnarok ที่ทำรายได้ทั่วโลกไป 854 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,790 ล้านบาท) และได้ไฟเขียวจาก Marvel ให้มากำกับภาคต่อใน Thor: Love and Thunder ในปีนี้

 

ตั้งหลักให้มั่นด้วยไอเดียแรกที่มี แต่ต้องเหลือพื้นที่ไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในตอนท้าย

Taika Waititi พูดถึงบทเรียนการเขียนบทภาพยนตร์ไว้ว่า การเขียนงานฉบับร่างครั้งแรก หรือไอเดียแรกอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกสุดท้ายหรือไอเดียที่ดีที่สุดเสมอไป แต่ก็เป็นรากฐานที่ดีในการต่อยอดงานจนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีสุดได้ สำหรับเทคนิคในการในการถ่ายทำภาพยนตร์ของ Taika Waititi หลังจากเขาที่เขียนบทเสร็จแล้ว บางครั้งเขาก็ยังต้องทดลองดูว่าจะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากันระหว่างโทนตลกเบาสมอง กับความดราม่าสะเทือนอารมณ์ ซึ่งนี่ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่การพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพิสูจน์ว่าไอเดียที่เขียนบทไว้ดีจริงหรือไม่ เมื่อได้ลองทำจริง  เช่น ในการถ่ายทำแต่ละฉาก เขาจะมีแผนเบื้องต้นที่ชัดเจน แต่จะแบ่งให้ฉากนั้นมีสถานการณ์หรือตัวเลือกที่หลากหลาย และจะลองให้นักแสดงลองแสดงในหลาย ๆ โทน เช่น ครั้งแรกเล่นตามบทเป๊ะ ๆ แต่ครั้งที่สองลองเพิ่มการอารมณ์ขันเข้าไปบ้าง นอกจากนี้ในบ้างฉากเขาอาจจะปรึกษากับนักแสดงก่อนว่ามีความคิดเห็นอย่างไร อยากเพิ่มบทหรือปรับแก้อะไรตรงไหนบ้าง Taika Waititi เป็นคนที่ชอบเรื่อง Improvisation หรือการด้นสดอยู่แล้ว และบางครั้งการเปิดโอกาสให้นักแสดงได้แสดงอย่างอิสระมากขึ้น ไม่ยึดติดกับตัวบทจนเกินไปอาจทำให้เกิด Magical Moment ที่น่าประทับใจกว่าบทที่เขียนไว้และกลายเป็นฉากที่น่าจดจำสำหรับคนดูก็เป็นได้

 

การคิดไอเดียใหม่ไม่ว่าจะเป็นไอเดียของงาน Creative สาย Production ผลิตสื่อ หรือ การวางแผนธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ขั้นแรกต้องเริ่มจากการทำการบ้าน ค้นหาแรงบันดาลใจและการพัฒนาไอเดียต่อจากสิ่งที่เราสนใจ บางคนอาจจะมาจาก Passion หรือเป็นสิ่งที่เราถนัด หรือมีทักษะอยู่แล้ว หรือ ถ้าคิดไม่ออกจริง ๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นจากไหนดี การเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือการได้สนทนากับคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา ก็อาจทำให้เราได้เห็นมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างของคนอื่น และเข้าใจกระบวนการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เมื่อเราคิดว่าได้ไอเดียที่เหมาะสมแล้ว ก็อย่ายึดติดกับไอเดียใดไอเดียหนึ่งมากเกินไป ต่อให้เราคิดมาแล้วว่าไอเดียนี้ดีไม่มีที่ติ หรือ เราวางแผนมาดีแล้ว แต่ถึงเวลาปฏิบัติหรือสร้างผลงานออกมาจริง ๆ อาจจะมีอุปสรรคเกิดขึ้น หรือ เราอาจพบวิธีที่ดีกว่าไอเดียที่เราวางแผนมาแล้วก็เป็นได้ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถพลิกแพลงปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ดีแค่ไหน เพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด 

 

ดูงานสาย Creative/ งานศิลปะ/ ออกแบบ/ ช่างภาพ ทั้งหมด ได้ ที่นี่

 

ตัวอย่างจากผู้กำกับภาพยนตร์สุดแนว และ การกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจของ Marvel Studios ทำให้เราเห็นแนวทางในการทำงานที่เป็นประโยชน์กับทั้งคนที่ทำงานสาย Creative คนคิด Content ไม่ว่าจะทำงานกับ บริษัท หรือ เป็น Freelance อีกทั้งยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่คิดจะทำธุรกิจมีกิจการเป็นของตัวเองได้ลองวิธีการเพิ่มพลังสร้างสรรค์เหล่านี้ไปใช้เพื่อสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับงาน ด้วยการกล้าทำในสิ่งที่เรารัก ผสมผสานกับตัวตนของเรา แต่หากเราคิดว่าการคิดไอเดียสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ยาก ลองทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า เราทำไม่ได้เพราะติดอยู่กับกรอบเดิม ๆ หรือ จริง ๆ แล้ว เป็นเพราะเรายังไม่กล้าที่จะแตกต่างมากกว่า JobThai หวังว่าบทความนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับคนทำงานทุกคนในการค้นหาวิธีการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเราเอง

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

cbc.ca, collider.com, gq.com, hollywoodreporter.com, independent.co.uk, nofilmschool.com, nzedge.com, popmatters.com, screencraft.org, screenrant.com, stuff.co.nz, wired.co.uk

tags : jobthai, marvel, งาน, หางาน, การทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, ทักษะ, talents, creative, ความคิดสร้างสรรค์, คิดนอกกรอบ, marvel studios, thor, thor love and thunder, taika waititi, ซูเปอร์ฮีโร่, ฮีโร่, ภาพยนตร์, นักแสดง, ผู้กำกับ, แนวคิดในการทำงาน, แรงบันดาลใจ, หัวหน้างาน, เพื่อนร่วมงาน, ความสำเร็จ, ประสบการณ์, ไอเดีย



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม